Monday, August 13, 2018

BURNING (2018, Lee Chang-dong, South Korea, A+30)


BURNING (2018, Lee Chang-dong, South Korea, A+30)

SPOILERS ALERT

1.ดูนานแล้ว แต่ไม่ได้เขียนถึงเลย และก็พบว่าหลายๆคนเขียนถึงสิ่งที่เราอยากเขียนไปหมดแล้ว รู้สึกว่าการรอในครั้งนี้เป็นสิ่งที่คุ้มค่า รอให้หลายๆคนเขียนไปก่อน เราจะได้ไม่ต้องเขียน ประหยัดเวลา 555

ชอบที่หลายๆคนเขียนมากๆ และพบว่าหลายๆคนก็มีทั้งที่เขียนตรงกับที่เราคิด หรือแตกต่างไปจากที่เราคิด ชอบมากๆที่หนังมันกระตุ้นให้คนคิดแตกต่างกันไปได้มากขนาดนี้ เหมือนหนังมันเล่าเรื่องตรงไปตรงมาก็จริง แต่มันก็ intriguing มากๆผ่านทางความลึกลับบางอย่างที่ไม่คลี่คลายในเรื่อง (ตรงนี้อาจจะทำให้นึกถึง L’AVVENTURA) และผ่านทางคำพูดแฝงปรัชญาของตัวละคร

ประเด็นนึงที่ชอบมากที่หลายคนเขียนถึง คือเรื่องความจริง/ไม่จริงของหลายสิ่งหลายอย่าง ทั้งละครใบ้ที่เป็นการเล่นกับความมีอยู่จริงหรือไม่มีอยู่จริงของสิ่งต่างๆ (ละครใบ้ที่ทำให้คนเห็นในสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ทำให้นึกถึง BLOW-UP ของ Michelangelo Antonioni), แมวของนางเอก ที่ไม่รู้ว่ามีอยู่จริงหรือเปล่า และมันเป็นตัวเดียวกับแมวในบ้านของเบนหรือเปล่า, บ่อน้ำที่ไม่รู้ว่ามีอยู่จริงหรือเปล่า, การเผาเรือนเพาะชำ ที่ไม่รู้ว่าเบนทำจริงหรือแค่แต่งเรื่องขึ้นมาเล่นๆ, ช่วงท้ายของหนัง ที่ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือจินตนาการของพระเอก

เราว่าประเด็นเรื่องละครใบ้ ทำให้เรานึกถึงเรื่อง “การสำเร็จความใคร่” ด้วย เพราะการสำเร็จความใคร่หลายๆครั้งก็คือการจินตนาการถึงสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงเหมือนกัน 555

อีกประเด็นที่ชอบมากที่คนอื่นเขียนถึง คือที่คุณ Thanawat Numcharoen เขียนถึงนัยยะทางเพศในฉากจบของหนัง ซึ่งตรงกับสิ่งที่เราคิด ผ่านทางมีดของจงซู, ลิปสติกของเบน, การใช้มีดแทง, ใบหน้าของเบนที่บอกไม่ได้ว่าเจ็บปวดหรือพึงพอใจในช่วงท้าย, การที่จงซูถอดเสื้อจนเปลือยเปล่า คือมันเหมือนกับว่าฉากฆาตกรรมนี้เป็นการร่วมรักในแบบหนึ่งด้วย

2.แต่สิ่งที่คนอื่นๆคิดต่างจากเรา แล้วเราประหลาดใจมากๆที่ได้อ่าน คือการมองว่าเบนเป็นคนร้าย, ซาตาน, ฆาตกรโรคจิต ฯลฯ 555555 คือตอนดูเราชอบเบนมากกว่าจงซูน่ะ เราก็เลยไม่ได้มองเบนในทางลบสักเท่าไหร่ตอนดูหนัง เพราะฉะนั้นพอได้มาอ่านความเห็นของคนอื่นๆ เราก็เลยชอบมาก เพราะเราไม่ได้มองเบนในทางลบแบบนั้นมาก่อนเลย

คือช่วงแรกของหนังเราก็ชอบทั้งเบนทั้งจงซูนะ อยากกินทั้งสองคนในระดับพอๆกัน แต่ความชอบจงซูดิ่งฮวบลงตอนกลางเรื่องน่ะ เพราะเรารับไม่ได้ที่เขาพูดกับนางเอกว่า “เธอไม่ควรเปลือยกายต่อหน้าผู้ชายคนอื่น มีแต่กะหรี่ที่ทำแบบนั้น” หรืออะไรทำนองนี้ คือเราเกลียดผู้ชายแบบนี้มากๆน่ะ คือมึงเป็นใคร มึงมีสิทธิอะไรมาควบคุมการใช้ร่างกายของกู กูจะเปลือยกายต่อหน้าใครมันก็เป็นสิทธิของกูหรือเปล่าวะ คือถ้าหากจงซูให้เหตุผลว่า “เธอไม่ควรเปลือยกายในที่ดินของฉัน เพราะเดี๋ยวตำรวจมาหาเรื่องฉัน เธอควรไปเปลือยกายนอกที่ดินของฉัน หรือนอกเขตรั้วบ้านของฉัน” หรืออะไรทำนองนี้ เรายังรับเหตุผลนี้ได้นะ เพราะคำพูดแบบนี้มันยังเป็นการยอมรับสิทธิในการเปลือยกายของคนอื่น เพียงแต่ต้องไม่มาละเมิดสิทธิในที่ดินของเราน่ะ

คือพอจงซูพูดแบบนั้น เราก็เข้าใจนางเอกในทันที ว่าทำไมเธอถึงดูอารมณ์เสีย แล้วไปกับเบน แล้วก็หายไปจากชีวิตจงซูไปเลย

แล้วพอช่วงท้ายเรื่อง การฆาตกรรมเบนก็ไม่ justified ในความเห็นของเราด้วย เพราะมันไม่มีหลักฐานว่าเบนเป็นฆาตกรโรคจิตน่ะ และไม่มีหลักฐานว่าเบนเผาเรือนเพาะชำร้างใดๆด้วย เพราะฉะนั้นการฆ่าเขาด้วยความเกลียดชังที่ไม่มีเหตุผลหรือหลักฐานรองรับอะไรแบบนี้ มันก็เลยทำให้เราเกลียดจงซูมากยิ่งขึ้น เราก็เลยรู้สึกว่า เราชอบเบนมากกว่า เพราะเขาอาจจะไม่ได้เผาเรือนเพาะชำร้างใดๆก็ได้ และเขาอาจจะไม่ได้เป็นฆาตกรโรคจิตก็ได้

และอย่างที่เราเคยเขียนไปแล้วว่า การหาวของเบนทำให้เรา identify กับเขา เพราะเวลาที่เราอยู่กับเพื่อนๆ cinephiles เราก็หาวบ่อยๆ อย่างตอนไปกินข้าวที่โคมแดงครั้งล่าสุด เราก็หาวไปไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง เพราะร่างกายของกูต้องการการพักผ่อน แต่กูไม่ได้เบื่อใครแต่อย่างใด 55555

มันก็เลยเหมือนกับว่าทุกการกระทำของเบนในหนังเรื่องนี้ มันเอื้อให้คนดูหลายๆคนนำไปตีความในทางลบได้มากมาย ทั้งการหาว, ฐานะที่ดี, การพูดว่าเขาไม่เคยร้องไห้, การพูดเรื่องการเผาเรือนเพาะชำร้าง โดยตั้งอยู่บนตรรกะที่เลวร้าย, แมว, เครื่องประดับมากมายของผู้หญิงในห้องน้ำ คือหลายๆอย่างมันเอื้อให้คนดูคิดว่าเขาอาจจะเป็นฆาตกรโรคจิตเหมือนอย่างพระเอกหนังเรื่อง AMERICAN PSYCHO (2000, Mary Harron) ก็ได้ แต่เราไม่คิดแบบนั้น เราคิดว่าเบนอาจจะเป็นหรือไม่เป็นฆาตกรโรคจิตก็ได้ นางเอกอาจจะหนีเจ้าหนี้ไปตั้งต้นชีวิตใหม่ที่ไหนก็ได้ หรือนางเอกอาจจะถูกแก๊งเจ้าหนี้ฆ่าตายไปแล้วก็ได้ เราจะไม่เกลียดเบนจนกว่าจะมีหลักฐานมัดตัวเขาอย่างแน่นหนาว่าเขาเผาเรือนเพาะชำจริง หรือฆ่าคนจริงๆค่ะ 555 (นี่แหละค่ะ พลังของความเงี่ยน Steven Yeun)

3.ชอบตัวละครนางเอกมากๆเลยนะ รู้สึกว่าเธอซับซ้อนดี เธอไม่ใช่แค่ผู้หญิงจนๆที่หวังจับผู้ชายรวยๆ แต่เธอต้องการอะไรจากชีวิตมากกว่านั้น

ที่เธอเล่าเรื่องจงซูเคยช่วยเธอจากบ่อน้ำ เรามองว่ามันอาจจะเป็นอุปมาอุปไมยก็ได้นะ คือนางเอกในวัยเด็กอาจจะเกลียดครอบครัวมากๆ และมีชีวิตที่เป็นทุกข์ มันก็เลยเหมือนกับการตกอยู่ในบ่อน้ำน่ะ แต่สิ่งที่ช่วยชุบชูใจนางเอกในวัยเด็ก ให้มีชีวิตอยู่ต่อไป ก็คือเพื่อนบ้านอย่างจงซู ที่นางเอกอาจจะแอบชอบตั้งแต่วัยเด็ก

อย่างไรก็ดี จงซูก็ทำร้ายจิตใจนางเอกอย่างรุนแรงในตอนวัยรุ่น เมื่อเขาด่าเธอว่าหน้าตาน่าเกลียดมาก (หน้าตาก่อนทำศัลยกรรมของนางเอกเป็นอย่างไร ก็ขอให้ดูจากใบหน้าของพี่สาวของนางเอก) นั่นก็เลยคงเป็นแรงผลักดันให้เธอทำศัลยกรรม และอาจจะเป็นสาเหตุนึงที่ทำให้เธอมีหนี้สินก็ได้ และคำด่านั้นอาจจะทำให้เธอตั้งเป้าหมายในการเผด็จศึกจงซูให้ได้ด้วย และพอจงซูติดบ่วงเสน่ห์ของเธอแล้ว ก็เหมือนเธอทำภารกิจสำเร็จแล้ว ปมฝังใจของเธอในวัยเด็กได้รับการชำระแล้ว เขาดูเหมือนจะเป็นเพื่อนที่ดีได้คนนึง แต่พอเขาต้องการจะเป็นมากกว่าเพื่อน และเข้ามาด่าเธอเรื่องการเปลือยกาย เธอก็เลยอาจจะรู้สึกว่า เขากลายเป็นคนที่มี “โทษ” มากกว่ามี “ประโยชน์” ต่อชีวิตของเธอ เพราะฉะนั้นกูก็หนีมึงไปพร้อมๆกับการหนีเจ้าหนี้ดีกว่า 555 อันนี้คือในกรณีที่นางเอกหายตัวไปเพราะหนีเจ้าหนี้นะ แต่ก็มีความเป็นไปได้เหมือนกันแหละที่นางเอกอาจจะหายตัวไปเพราะถูกเจ้าหนี้หรือเบนฆ่าตาย

4.อีกสิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกสะเทือนใจมากๆ คือทางเลือกในชีวิตของพ่อพระเอกน่ะ ถ้าเราจำไม่ผิด ตัวละครตัวนึงเล่าให้พระเอกฟังว่า ตอนพ่อพระเอกยังหนุ่ม เขาเคยมีโอกาสในการเอาเงินไปซื้อที่ดินในกังนั้ม แต่เขาดันไม่เลือกเส้นทางนั้น เขาดันเลือกที่จะกลับมาทำไร่ในชนบทเหมือนเดิม

คือฟังแล้วมันเศร้ามากน่ะ คือถ้าหากพ่อพระเอกเอาเงินไปซื้อที่ดินในกังนั้มตั้งแต่หลายสิบปีก่อน ป่านนี้จงซูก็คงจะมีสถานะใกล้เคียงกับเบนไปแล้ว คือพอจงซูเห็นเบน เราจะแอบรู้สึกว่า เขาจะนึกเหมือนเราหรือเปล่าว่า ถ้าหากพ่อกูเลือกเส้นทางชีวิตที่ถูกต้องเมื่อหลายสิบปีก่อน ป่านนี้กูก็อาจจะเป็นเพื่อนบ้านของเบนไปแล้วก็ได้

5.ชอบมากที่คำพูดของเบนเรื่องการเผาเรือนเพาะชำ ทำให้จงซูหวาดระแวง จนแทบจะกลายเป็นผู้ร้ายเสียเอง เพราะจงซูไปด้อมๆมองๆเรือนเพาะชำบางแห่ง จนเหมือนเป็นผู้ร้าย และเขาก็เคยทดลองจุดไฟใส่เรือนเพาะชำด้วย

จุดนี้มันทำให้เรานึกถึงตัวเราเองน่ะ เพราะความหวาดระแวงมากเกินไปของเราในบางครั้ง มันทำให้เราแทบจะกลายเป็นผู้ร้ายเสียเองเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น ในอพาร์ทเมนท์ของเรานั้น บางทีคนที่ย้ายเข้ามาใหม่ๆ เขาไม่รู้ว่าควรต้องปิดประตูหน้าห้องตลอดเวลาน่ะ เพราะไม่งั้นเสียงอะไรต่างๆนานาจากห้องของเขา มันจะดังออกไปรบกวนห้องอื่นๆ

เราเองเวลาพอได้ยินเสียงอะไรดังๆ รบกวน จนนอนไม่หลับ เราก็เลยต้องคอยเปิดประตูไปดูว่า เสียงมันดังมาจากห้องไหนที่ไม่ยอมปิดประตูหน้าห้องหรือเปล่า แล้วถ้าเจอต้นตอ เราก็จะไปขอให้เขาปิดประตูหน้าห้องซะ

ทีนี้ในบางครั้ง เราก็เหมือนหวาดระแวงมากเกินไป พอได้ยินเสียงอะไรดังๆ บางทีเราก็เปิดประตูออกไปดู และก็พบว่าทุกห้องปิดประตูสนิทแล้ว

และเราก็พบว่า การที่เราเปิดประตูออกไปเช็คดูบ่อยๆว่า เสียงมันดังมาจากห้องไหน มันก็อาจจะเป็นการส่งเสียงรบกวนได้เหมือนกัน คือเสียงเปิดปิดประตูห้องของเรา มันก็เป็นเสียงรบกวนน่ะ เราไม่ควรทำบ่อยๆโดยไม่จำเป็น

มันก็เลยเหมือนกับว่า การที่เราหวาดระแวงมากเกินไปว่าห้องอื่นๆจะทำเสียงดัง มันก็เลยทำให้เรากลายเป็นคนที่ทำเสียงดังรบกวนห้องอื่นๆเสียเอง 555 เพราะฉะนั้นพอเราเห็นความหวาดระแวงของจงซูทำให้จงซูแทบจะกลายเป็นผู้ร้าย หรือกลายเป็นคนที่เผาเรือนเพาะชำเสียเองแบบนี้ เราก็เลยชอบมากๆ เราว่ามันเป็นลักษณะที่น่าสนใจอย่างนึงมากๆของมนุษย์

6.ฉากเต้นรำตอนกลางเรื่อง classic มากๆอย่างที่ทุกคนเขียนจริงๆ เรารู้สึกเลยว่า “แสงอาทิตย์” กลายเป็นเหมือนตัวละครสำคัญอีกตัวในเรื่อง ทั้งแสงอาทิตย์ที่ตกกระทบโซลทาวเวอร์ และแสงอาทิตย์ยามอัสดงในฉากสำคัญช่วงกลางเรื่อง

7.สรุปว่าก็เป็นหนังที่ชอบสุดๆนะ และคงติดอันดับประจำปี แต่คงไม่ถึงขั้น TOP TEN เพราะมันเป็นหนังที่ intriguing หรือ thought-provoking มากๆสำหรับเรา แต่เราก็ไม่ได้อินกับตัวละครตัวไหนเป็นการส่วนตัวน่ะ เราเกลียดจงซู ทั้งๆที่ในหนังส่วนใหญ่เราจะอินกับตัวละครคนจน, นางเอกก็หายไปช่วงกลางเรื่อง ส่วนเบนก็รวยเกินไปและลึกลับเกินไปจนเราก็ไม่อินด้วย

แต่ถ้าหากพูดถึงหนังรักสามเส้าระหว่างคนรวย-คนจนที่เราอินสุดๆแล้ว ก็คงต้องเป็นเรื่อง DREILEBEN: BEATS BEING DEAD (2011, Christian Petzold) ที่เคยติดอันดับประจำปีของเราไปแล้ว อันนั้นเป็นเรื่องของสาวรวยกับสาวจนที่ตกหลุมรักชายหนุ่มคนเดียวกัน และเราอินกับตัวละครสาวจนในหนังเรื่องนี้อย่างรุนแรงสุดๆ เราก็เลยให้ BEATS BEING DEAD ติด TOP TEN ประจำปีของเราไปเลย ทั้งๆที่ BEATS BEING DEAD ของ Petzold ไม่ได้แฝงปรัชญาลึกซึ้งอะไรแบบ BURNING

No comments: