Thursday, August 30, 2018

THE SILENCE OF THE SEA (1949, Jean-Pierre Melville, France, A+30)


THE SILENCE OF THE SEA (1949, Jean-Pierre Melville, France, A+30)

คลาสสิคจริงๆ ชอบความอารยะขัดขืนของนางเอกมากๆ คือในหนังทั้งเรื่องนี้นางเอกต่อต้านพระเอกที่เป็นทหารนาซีด้วยการไม่ยอมพูดกับพระเอกเลยตลอดทั้งเรื่อง ยกเว้นเพียงแค่ “คำเดียว” เท่านั้น พอดูจบแล้วเราก็เลยรู้สึกเหมือนมีอะไรหน่วงอยู่ในใจอย่างรุนแรงมาก มันเหมือนกับว่าการที่นางเอกต่อต้านด้วยการไม่พูดอะไรเลย มันเลยทำให้มวลความรู้สึกต่างๆจากนางเอกมันมาอัดอั้นอยู่ภายในตัวเรา โดยไม่ได้รับการระบายออกไป

ชอบความเข้มแข็งของนางเอกมากๆ คือถ้าหากมองในตอนแรก เราจะรู้สึกว่า หนังเรื่องนี้นำเสนอภาพทหารนาซี “คนหนึ่ง” ในแง่เห็นอกเห็นใจอย่างมากๆ (ถึงแม้หนังนำเสนอภาพทหารนาซีโดยรวมในฐานะคนชั่วร้ายตามความเป็นจริง) แต่พอดูจบแล้ว เรากลับรู้สึกว่าหนังมันถ่ายทอดพลังของความเข้มแข็งจาก French Resistance มายังคนดูได้ด้วย โดยผ่านทาง “การไม่พูด” ของนางเอก คือในขณะที่หนังนำเสนอภาพทหารเยอรมันอย่างเห็นอกเห็นใจ หนังก็สามารถเชิดชูความเข้มแข็งของชาวฝรั่งเศสผู้รักชาติได้ด้วยวิธีการที่แยบยลในขณะเดียวกัน

ชอบที่การต่อต้านในหนังเรื่องนี้เป็นการต่อต้านที่ประหลาดไปจากหนังเรื่องอื่นๆ อย่างเช่น ARMY OF SHADOWS (1969, Jean-Pierre Melville), BLACK BOOK (2006, Paul Verhoeven) และ SOPHIE SCHOLL: THE FINAL DAYS (2005, Marc Rothemund) คือในขณะที่การต่อต้านในหนังเรื่องอื่นๆเป็นการลุกขึ้นมาประท้วงโดยตรง, การทำตัวเป็นสปาย หรือการทำตัวเป็น “นักรบใต้ดิน” การต่อต้านในหนังเรื่องนี้กลับเป็นการนิ่งเงียบ และไม่พูดอะไรเลย เราก็เลย relate กับการต่อต้านในหนังเรื่องนี้มากๆ เพราะเราไม่ใช่คนที่กล้าหาญชาญชัยและฉลาดหลักแหลมมีไหวพริบปฏิภาณแบบ Sophie Scholl  และนักรบในสงครามโลก เราไม่มีความกล้าหาญและความเข้มแข็งมากเท่ากับวีรบุรุษและวีรสตรีในหนังเหล่านั้น แต่นางเอกหนังเรื่อง THE SILENCE OF THE SEA ไม่ต้องลุกขึ้นมาจับปืนไล่ฆ่าทหารนาซี เธอแค่ถักนิตติ้งตลอดทั้งเรื่องและไม่พูดอะไรเลย แต่นั่นก็เป็นความเข้มแข็งอย่างมากในแบบของเธอเองแล้ว เราก็เลยนับถือเธอมากๆ และรู้สึกว่าเธอเป็นแรงบันดาลใจในแบบที่ใกล้ตัวเรามากกว่าหนังเรื่องอื่นๆ

แต่การต่อต้านแบบนี้ มันก็เหมาะกับ “ผู้รุกราน” ที่เป็นคนดีแบบพระเอกในหนังเรื่องนี้นะ คือถ้าหากผู้รุกรานเป็นคนดีแบบนี้ เราก็ต่อต้านด้วยการไม่ใช้ความรุนแรงกับคนๆนั้นได้ แต่ถ้าหากเป็นผู้รุกรานในแบบอื่นๆ ก็คงต้องมีการด่าทอสาดเสียเทเสีย, ตบด้วยตีน หรือใช้วิธีการอื่นๆที่แตกต่างออกไป

ดู THE SILENCE OF THE SEA แล้วนึกถึง SOMEONE FROM NOWHERE (2017, Prabda Yoon) และ PRIVATE (2004, Saverio Costanzo) ด้วย เพราะหนังทั้งสามเรื่องนี้ เป็นเรื่องของ “การบุกรุก” หรือ “การรุกราน” เหมือนกัน โดยที่เนื้อหาเกือบทั้งหมดในหนัง เกิดขึ้นในห้องเพียงห้องเดียวหรือบ้านเพียงหลังเดียวตลอดทั้งเรื่อง แต่เนื้อหาที่เกิดขึ้นในห้องเพียงห้องเดียวในหนังทั้งสามเรื่องนี้ กลับสะท้อนความเป็นไปของประเทศทั้งประเทศได้เหมือนๆกัน

No comments: