Monday, September 03, 2018

STRANGER IN THE MOUNTAINS (2018, Lee Li-shao, Taiwan, documentary, 140min, A+30)


STRANGER IN THE MOUNTAINS (2018, Lee Li-shao, Taiwan, documentary, 140min, A+30)

1.เหมือนเป็น doppelganger ของหนังเรื่อง VILLAGE PEOPLE RADIO SHOW (2007, Amir Muhammad, Malaysia, documentary) 555 เพราะ VILLAGE PEOPLE RADIO SHOW นำเสนอชีวิตของคอมมิวนิสต์มาเลเซียที่หนีภัยการเมืองในมาเลเซียมาใช้ชีวิตอยู่ในภาคใต้สุดของไทย เหมือนไทยยินดีต้อนรับ “คอมมิวนิสต์” หรืออดีตคอมมิวนิสต์ เหล่านี้ แต่ในภาคเหนือสุดของไทยนั้น ชาวจีนที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับคอมมิวนิสต์ ก็ได้หนีร้อนมาพึ่งร้อนในไทยเหมือนกัน (ไม่อยากจะเรียกว่า “หนีร้อนมาพึ่งเย็น” เมื่อดูจากความยากลำบากของชีวิตพวกเขาในไทย 555)

เลยรู้สึกว่าสถานะของไทยในหนังสองเรื่องนี้น่าสนใจดี เพราะไทยเป็นทั้งที่ลี้ภัยของคอมมิวนิสต์และฝ่ายตรงข้ามกับคอมมิวนิสต์

2.หนังดีงามมากๆในการเล่าให้เราฟังถึงชีวิตของคนกลุ่มนี้ ซึ่งดูเหมือนจะมีชีวิตที่ยากลำบากมาก พวกเขาหนีการสังหารหมู่ในยูนนาน มาอยู่พม่า มาอยู่ไทย แล้วพอมาอยู่ไทย ก็ต้องยังชีพด้วยการเป็นทหารรับจ้าง สู้กับคอมมิวนิสต์ในไทยอยู่นานเป็นสิบปี ปรากฏว่าพอสงครามสงบ ชีวิตพวกเขาก็ดูเหมือนยังมีปัญหาอยู่ อย่างเช่นเรื่องบัตรประชาชนไทย

การได้รับรู้ชีวิตของคนกลุ่มนี้ มันเหมือนช่วยเติมเต็มสิ่งที่เราอาจจะยังไม่ได้รับรู้จากหนังเรื่องอื่นๆน่ะ ในแง่หนึ่งหนังเรื่องนี้ทำให้นึกถึงหนังชาวเขา/ชาติพันธุ์ของกลุ่มเกี่ยวก้อยของคุณ Supamok Silarak เพราะหนังกลุ่มนี้กับหนังกลุ่มเกี่ยวก้อยมันดีงามในทางเดียวกัน มันช่วยบอกเล่าเรื่องราวของ ethnic ต่างๆในไทย และหนังเรื่องนี้ก็พูดถึงกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงในหนังไทยเรื่องอื่นๆ

3.แต่สิ่งที่ชอบสุดๆก็คือการบอกเล่าถึงบทบาทของคนกลุ่มนี้ในช่วงสงครามเย็นในไทย มันเหมือนกับว่าคนกลุ่มนี้เป็นตัวละครสำคัญอีกกลุ่มหนึ่งในช่วงสงครามเย็นที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงในหนังไทยมาก่อน

คือตอนที่เรายังเป็นเด็กในทศวรรษ 1980 นั้น เราเติบโตมากับการถูกปลูกฝังให้หวาดกลัวคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรงน่ะ ซึ่งการถูกปลูกฝังนี้อาจจะเห็นตัวอย่างได้จากหนังอย่าง สิงห์สำออย (1977, Dogdin Gunyamal) และ หนุมานเผชิญภัย (1957, ปยุต เงากระจ่าง) ภาพคอมมิวนิสต์ในจินตนาการของเราในวัยเด็ก จะเป็นผู้ร้ายที่น่ากลัว จับทุกคนที่ใส่แว่นไปฆ่า จับเด็กไปไถนา (ซึ่งก็อาจจะตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นใน กัมพูชา) เพราะหนังที่เผยแพร่ให้เราดูในวัยเด็ก เป็นหนังที่เล่าจากมุมมองของ “ทางการไทย” เป็นส่วนใหญ่

พอสหภาพโซเวียตล่มสลายในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ภัยคอมมิวนิสต์ก็หมดสิ้นไป เราเริ่มมองภาพคอมมิวนิสต์ตามความเป็นจริงได้มากขึ้น หนังสือ ใบไม้ที่หายไป ของจิระนันท์ พิตรปรีชา ได้ซีไรท์ และก็มีหนังอย่าง THE MOONHUNTER (2001, Bhandit Rittakol) ออกมา เราได้ดูหนังอย่าง ไผ่แดง (1978, เพิ่มพล เชยอรุณ) เหมือนภาพคอมมิวนิสต์ที่เราได้รับรู้ในยุคนี้ จะเป็นคนธรรมดา เรามองคอมมิวนิสต์กับ “ทางการไทย” ในแบบที่เสมอๆกัน

แต่พอในยุค 10 ปีที่ผ่านมา ความเลวร้ายจากการปราบปรามคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็น ก็เริ่มได้รับการบอกเล่ากันมากขึ้น เราได้ดูหนังอย่าง UNCLE BOONMEE WHO CAN RECALL HIS PAST LIVES (2010, Apichatpong Weerasethakul), A COMRADE มิตรสหายท่านหนึ่ง (2013, Abhichon Rattanabhayon, Watcharee Rattanakree), PIGEON (2017, Pasit Promnumpol), THE TIGER CASTLE (2016, Patana Chirawong), เงาสูญสิ้นแสง (2018, Kritsada Nakagate ) SOUTHERN FOLKTALE (2018, Supawit Buaket) ภาพของยุคนั้น ก็เลยเริ่มกระจ่างมากขึ้นในสายตาเรา เหมือนเราได้รับการบอกเล่าเรื่องราวจากทางฝ่ายอดีตคอมมิวนิสต์มากยิ่งขึ้น หรือจากชาวบ้านที่ตกเป็นเหยื่อความโหดร้ายของทางการไทยมากยิ่งขึ้น

แต่ jigsaw หนึ่งที่หายไปในยุคนั้น ก็คงเป็นเรื่องของชาวจีนกลุ่มนี้ใน STRANGER IN THE MOUNTAINS ชาวจีนที่สู้รบกับคอมมิวนิสต์ไทยมานานเป็นสิบปี บางทีถ้าหากเราไม่ได้ดูหนังเรื่องนี้ เราอาจจะเกลียดชาวจีนกลุ่มนี้ไปโดยไม่รู้ตัวก็ได้นะ เราอาจจะเข้าใจผิดไปว่าพวกเขาเป็น “ทหารรับจ้าง” ที่ฆ่าคนเพื่อเงิน เป็นทหารโหดร้าย ที่ไม่ได้สู้เพื่อประเทศชาติ หรือหน้าที่ แต่ฆ่าคนเพื่อเงิน และคนกลุ่มที่พวกเขาฆ่า ก็เป็นคนกลุ่มที่เราเห็นใจ

พอได้ดูหนังเรื่องนี้ เราก็เลยได้เข้าใจอะไรหลายๆอย่างมากขึ้น หนังมันช่วยลบล้างความเข้าใจผิดที่มีต่อพวกเขา และทำให้เราเข้าใจความยุ่งยากซับซ้อนและความยากลำบากของคนหลายๆกลุ่มในยุคนั้น

4.ดูแล้วนึกถึงหนังสั้นไทยบางเรื่อง ที่ใช้ setting เป็นภาคเหนือ และมีอะไรจีนๆเหมือนกัน ดูแล้วก็สงสัยว่า หนังสั้นเหล่านี้ใช้ setting เดียวกันหรือเปล่า หรือเป็นคนจีนคนละกลุ่มกัน

หนังสั้นที่เรานึกถึง ก็ได้แก่เรื่อง

4.1 GROWTH หลังรอยต่อหน้ากำแพงผ้า (2013, Jiranan Chaloemsitthipong)

4.2 เหลียง (2017, กฤตภาส ธาราภันธ์)

และเหมือนมีหนังยาวของไทย/ไต้หวันเรื่องนึงด้วย ที่มาลงโรงฉายแบบปกติในไทย เป็นหนังโรแมนติก ที่ใช้ setting เป็นภาคเหนือสุดของไทย และตัวละครก็จีนมากๆ แต่เรานึกชื่อหนังไม่ออก มีใครนึกออกบ้าง

No comments: