Saturday, April 13, 2019

FILMS SEEN IN CINEMORE 2019


FILMS SEEN IN CINEMORE 2019

1. RAIN RAIN COME AGAIN (ณภัทรสพล ใจดี, A+30)
ชอบไอเดียหลายๆอย่างในหนังมากๆ ชอบการเล่นเกมกันของสองสาว ที่เกมแต่ละเกมดูไม่ธรรมดา ชอบการจับ moments กิจกรรมขณะฝนตกแบบนี้ และชอบมากๆที่หนังจบลงโดยที่ไม่ต้องมีเหตุการณ์รุนแรงอะไรเกิดขึ้น

2. RUN RAN RUN (ณภัทรสพล ใจดี, A+25)
เหมือนเป็นหนังสะท้อนสังคมแนวเดียวกับ 329 (2014, Tinnawat Chankloi), DON’T WORRY, BE HAPPY ขอให้เมืองนี้มีแต่ความสุขสันต์ (2016, Vasupol Suwanjuta), DOGMATIST (2015, Patipol Teekayuwat), TEN YEARS THAILAND: CATOPIA (2018, Wisit Sasanatieng) อะไรทำนองนี้น่ะ คือหนังแนวนี้จะสร้างโลก dystopia ที่มีกฎเกณฑ์ประหลาดๆขึ้นมา เพื่อสะท้อนการขาดเสรีภาพในโลกแห่งความเป็นจริง

เราว่า RUN RAN RUN ก็คิดไอเดียที่น่าสนใจมากอยู่แหละ แต่เหมือนหนังยังไปไม่สุด เราก็เลยยังไม่ได้ชอบถึงขั้น A+30

3.คาสโนว่า หน้าเหี้ย (พงศธร ศรีแอ, A+25)
ชอบการล้อเลียน genre หนังแบบนี้มากๆ เพราะการล้อเลียนแบบนี้ผู้สร้างหนังน่าจะเข้าใจลักษณะเฉพาะตัวของ genre นั้นๆ และ cliche ที่มักปรากฏซ้ำๆซากๆในหนัง genre นั้นๆ แล้วหยิบมันมาล้อเลียน

จุดที่ชอบมากก็คือ การล้อเลียน slow motion น่ะ เพราะในหนังเรื่องนี้ มันจะมีฉากเปิดตัวตัวละครสำคัญ และตัวละครจะเดินมาเข้าฉากในจังหวะ slow motion ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจพบได้บ่อยๆในหนัง action thriller ที่ตัวละครที่มีศักดา น่าเกรงขาม จะต้องเปิดตัวด้วยการเดินมาในจังหวะ slow แบบนี้

แต่ใน คาสโนว่า หน้าเหี้ย” นี้ ตัวละครเดินมาในจังหวะที่ extremely slow มากๆ เราก็เลยขำมากๆ

4. HIDE AND SEEK (วิรวิชญ์ จิตรปัญญา, A+15)

ชอบไอเดียของหนังมากๆ เรื่องการ “เล่นซ่อนหาคนเดียว” ไม่รู้คิดขึ้นมาได้ยังไง เฮี้ยนมากๆ

ชอบโทนอารมณ์ของหนังมากๆด้วย เหมือนหนังไม่จงใจเร้าอารมณ์มากเกินไป ซึ่งพอทำออกมาแบบนี้ หนังก็เลยดูจริงจัง ดูขลัง และทำให้เรารู้สึกกลัวมากยิ่งขึ้น
เราว่าสิ่งที่น่าสนใจ คือ “สภาพจิตของนางเอก” ด้วยแหละ คือในหนังสยองขวัญทั่วไป นางเอกคือคนธรรมดาที่เจอผีร้าย แต่ในหนังเรื่องนี้ นางเอกไม่ใช่คนธรรมดาน่ะ เพราะคนที่ไปเก็บตุ๊กตาข้างถนน เพื่อมา “เล่นซ่อนหาคนเดียว” นี่ ต้องไม่ใช่คนที่มีสภาพจิตปกติแน่ๆ เพราะฉะนั้นหนังมันก็เลย “เข้มข้น” มากยิ่งขึ้น เพราะเราไม่รู้ว่าเราควรจะกลัวผี หรือกลัวนางเอกดี

5. I WITH PHONE (ทินกร ชัยสมุทร, A+15)
ดูแล้ว nostalgia มากๆ เพราะเราก็เติบโตมากับการใช้ “ตู้โทรศัพท์สาธารณะ” เหมือนกับตัวละครในหนังเรื่องนี้ คือตอนเด็กๆบ้านเราไม่มี “โทรศัพท์” น่ะ บ้านเราเพิ่งติดตั้งโทรศัพท์ตอนประมาณปี 1988 มั้ง หรือตอนเราอยู่ม.4 และก่อนหน้านั้นเราต้องใช้ตู้โทรศัพท์สาธารณะมาโดยตลอด

6. DIFFFERENCE COLOR (อติชาต หาทรัพย์, ณภัทรสพล ใจดี, A+15)
ชอบความเกย์ ความ homoerotic แต่เหมือนหนังสื่อมันออกมาในแบบที่ดูค่อนไปทาง “ลามก” มากกว่า “งดงาม” 555 (หมายถึงฉากเลียไอติม)

สรุปว่าตอนจบคือตัวละครจินตนาการไปเองใช่ไหม

7. THE BAD FRIEND (ณัฐกิตติ์ รวีวัฒน์ศิริ, A+15)

8. A CAMERA MAN (อานนท์ พิมพ์นนท์, A+15)
ชอบช่วงแรกๆมาก ที่หนังไม่ได้เล่าแค่ความขัดแย้งระหว่างมาเฟียกับนักข่าว แต่หนังพูดถึงความขัดแย้งระหว่างนักข่าวด้วยกันเอง

แต่แอบงงว่า ถ้าหากพระเอกมีปืน แล้วพระเอกจะชิงฆ่าตัวตายไปทำไม ทำไมไม่ลองสู้กับผู้ร้ายดูก่อน คือถ้าจะตายทั้งที สู้ฆ่าผู้ร้ายให้ตายไปด้วยสักคนสองคนก่อน ก็น่าจะดีกว่า

9. DEFINITION OF LOVE (ภิญนภาพรรณ เตมานนท์, A+15)
เหมือนหนัง “หักมุม” มากเกินไป คือหนังเรื่องนี้มีการหักมุมสองตลบ แต่การหักมุมตลบที่สอง มันดูไม่ค่อยน่าเชื่อถือยังไงไม่รู้ เหมือนมันหักมุมตลบที่สองเพียงเพราะว่า หนังแนวนี้นิยมทำกัน หนังเรื่องนี้ก็เลยทำบ้าง ซึ่งเราว่าจริงๆแล้วมันไม่จำเป็นต้องทำตามสูตรสำเร็จแบบนั้นก็ได้

10. FORGET (ภูเบศ รัชดากรธรรม, A+5)
เราว่ามันมีความเป็นธรรมชาติ อยู่บ้างในหนังเรื่องนี้ ชอบที่สามหนุ่มคุยกันเรื่องเพื่อนอกหัก เราว่าตัวละครทั้งสามดูเป็นธรรมชาติดี

11. ตัวจริง (ธรรมบุตร์ ทองนาค, A+5)
มันคือหนังเรื่องที่ตัวละครถกเถียงกันเรื่องการใช้ prop ประกอบฉากใช่ไหม ชอบไอเดียของหนังที่หยิบเอา prop ประกอบฉากมาเป็นประเด็น

12. ลูก/แม่ (เมธัส คอมเพ็ชร, A+5)

13. สิงสู่ขวัญ (อภิชาต พันธุพัฒน์, เมธัส คอมเพ็ชร, A+5)
เหมือนระบบฉายหนังที่ BACC มันมืดเกินไป เลยทำให้เราไม่เห็นรายละเอียดของภาพในหนังมากเท่าที่ควร ดูเหมือนเป็นหนังที่ทำเพื่อเน้นความสามารถด้าน production design

14. ดวง (พัทธพล คำบุ, A+5)

15. PAPER BALL (ภาณุวงศ์ สิทธิศักดิ์, A+)

16. ONWARD (รัชตวรรณ เจียมจำนงค์, A+)
ชอบที่ตัวละครวิ่งตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาจนกระทั่งเป็นหนุ่มออฟฟิศ แต่อยากให้หนังยาวกว่านี้ และรู้สึกว่าบทสรุปของหนังมันง่ายไปหน่อย

17. NO. 208 (วัชรินทร์ แปลกหน้า, A+)
18. UMBRELLA RED (พรนภา เชื้อสามารถ, A)
19. THE ROAD TRIP (บุญฤทธิ์ งามพิทักษ์สิน, A)
20. SEE ME (พรนภา เชื้อสามารถ, A)
21. JOB (ธนาทิพย์ วิริยะวงศ์, A)
22. DRUGS (ศรัญญู คงนิมิตร, A)
23. TIME OUT (วรรณพร แสงสง่า, A-)
24. LOVE LIKE A NIGHTMARE (พชรมณี คงอยู่, A-)
25. MUSIC AND LIFE (อัครพล ฤทธิจันทร์, A-)
26. มือปืนดาวคะนอง (อัครพล ฤทธิจันทร์, B+ )
27. สองสี่กี่เก้า (ณัฐพงศ์ บุณณะจันทร์, B+ )
28. หมี่สุดท้าย (ณัฐพงศ์ บุณณะจันทร์, B+ )     

--เสียดายที่ไม่ได้ดู “เขี้ยวเสือ”

--โดยรวมแล้ว ไม่ค่อยชอบหนังในงานนี้เท่าไหร่นัก แต่ไม่รู้ว่าโจทย์ของหนังแต่ละเรื่องคืออะไร ทำไมหนังส่วนใหญ่ถึงสั้นมากๆ หนังส่วนใหญ่ยาวแค่ 3 นาที ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร อาจารย์กำหนดมาให้ทำหนังที่สั้นมากๆแบบนี้หรือเปล่า หรือว่านิสิตเลือกที่จะทำหนังสั้นแค่ 3 นาทีเอง

คือพอหนังมันสั้นมากๆ แบบนี้ มันก็เลยไม่ค่อยเข้าทางเราเท่าไหร่น่ะ เพราะเราชินกับหนัง Lav Diaz 555 หนังหลายๆเรื่องในงานนี้มันก็เลยมีปัญหา “เล่าเรื่องแล้วเรางง” หนังจบไปโดยที่เราไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ หรือหนังหลายๆเรื่องที่เล่าเรื่องรู้เรื่อง มันก็เหมือนหนังที่คิดมา gag เดียว หรือคิดมุกตลกมามุกเดียว หรือคิดไอเดียเก๋ๆมาไอเดียเดียว พอโชว์ไอเดียเก๋ๆ ไอเดียเดียวเสร็จแล้ว ก็จบเลยใน 3 นาที ซึ่งมันไม่ใช่อารมณ์แบบที่เราคาดหวังว่าจะได้ดูในหนังสั้นทั่วๆไปน่ะ เพราะหนังสั้นทั่วๆไปมันจะต้องมีอะไรที่มากกว่านั้น

--แต่แอบสงสัยว่า หรือว่า “นี่คือความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย” คนดูวัย 46 ปีอย่างเรา กำลังจะตกยุคไปแล้ว และนี่คือ trend ของ “ภาพเคลื่อนไหว” ในสมัยปัจจุบัน

คือเรารู้สึกว่า “หนังสั้น” แบบที่เราชอบและคุ้นเคย มันอาจจะเป็นสิ่งที่นักสร้างหนังสั้นไทยนิยมทำกันเมื่อ 10 ปีก่อนน่ะ แต่ trend ในยุคปัจจุบัน มันอาจจะเป็น viral clip หรือคลิปสั้นๆที่ยาวแค่ 1-3 นาทีที่คนแชร์กันมากมายทาง Facebook, Instagram และ Youtube หรือเปล่า อย่างเช่นคลิป “อยากมีผัว” ของ Sutthiphong Phonluea ที่มียอดวิวไปแล้ว 6.8 ล้านวิว

เราก็เลยแอบสงสัยว่า หรือว่า “ตลาดแรงงาน” อาจจะกำลังต้องการ “นักสร้าง viral clip” หรือคนที่มีความสามารถในการทำคลิปสั้นๆ 1-3 นาที ที่ฮิตติดตลาด คนนิยมดู สั้นๆง่ายๆ แพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็ว ตลาดแรงงานในปัจจุบัน อาจจะไม่ต้องการ “นักสร้างภาพยนตร์ที่ละเอียดอ่อน ลุ่มลึก” มากนักก็ได้ คือถ้าหากคุณเป็นนักสร้างภาพยนตร์ที่เก่ง, ดี, ละเอียดอ่อน, ลุ่มลึก คุณอาจจะพบว่าตลาดแรงงานไทยมีตำแหน่งรองรับคุณเพียงแค่ 10 ตำแหน่ง แต่ถ้าหากคุณเป็นนักสร้าง viral clip สั้นๆง่ายๆที่คนชอบดูกัน ตลาดแรงงานไทยอาจจะมีตำแหน่งรองรับคุณถึง 1000 ตำแหน่งก็ได้ โดยเฉพาะในสายงานโฆษณา online

อันนี้เป็นสิ่งที่เราคิดเอาเองนะ ไม่รู้ว่ามันจริงหรือเปล่า แต่เราว่า trend ความนิยมของคนยุคปัจจุบันคงไม่เหมือนกับยุคของเรา พวกเขาคงหันมานิยมคลิปสั้นๆง่ายๆยาวแค่ 1-3 นาที และบางทีกระแสสังคมแบบนี้หรือเปล่าที่อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หนังในงานนี้ออกมาสั้นแบบนี้

--ถ้าหากพูดถึงความเป็นคลิปสั้นๆแล้ว คลิปที่เราชอบมากในงานนี้คือ PAPER BALL นะ ที่ยาวแค่ 73 วินาที คือ PAPER BALL คงแทบไม่อาจเรียกได้ว่าเป็น “หนังสั้น” แต่มันเป็นคลิปเสียสติ บ้าๆบอๆที่น่ารักดี คลิปแสดงให้เห็นชายคนนึงที่พยายามปากระดาษลงถังขยะหลายครั้ง แต่ปาเท่าไหร่ก็ไม่ลงถังขยะสักที จนในที่สุดกระดาษที่เขาปาไปก็ไปกระเด้งโดนอะไรหลายๆอย่างในห้องแบบเหนือจริงก่อนจะลงถังขยะ คือมันเป็นคลิปที่ดูแล้วไม่มีสาระความหมายอะไรเลย แต่มันดูน่ารักดี และมันทำให้นึกถึงคลิปสั้นๆที่คนชอบแชร์กันทางอินเทอร์เน็ต

--ส่วนหนังที่เรารู้สึกว่า เราดูแล้วงง เหมือนหนังเล่าเรื่องไม่ชัดเจน ก็มีเช่น NO.208, UMBRELLA RED, SEE ME, JOB, DRUGS และสองสี่กี่เก้า

อย่าง NO.208 นั้น เราว่าหนังมันสั้นเกินไป เหมือนผีออกมาแค่แป๊บเดียว แล้วจบเลย แล้วมันคืออะไร, ส่วน UMBRELLA RED นั้น ดูตอนแรกก็ชอบ เพราะมันดูเก๋ดี พูดถึงหญิงสาวที่ใช้ร่มเก่าๆขาดๆ และเหมือนร่มมีเลือดออกด้วย และเหมือนเธอเรียกร่มว่า my boy แต่หลังจากนั้นเธอก็ทิ้งร่มเก่าไปใช้ร่มใหม่เอี่ยม พอดูจบแล้วก็เลยงงว่าหนังต้องการสื่อถึงอะไร

ส่วน SEE ME ดูแล้วก็งง สรุปว่าเกิดอะไรขึ้น นางเอกถูกขังแล้วตายในห้องคอมพิวเตอร์ แล้วกลายเป็นผีเหรอ 555 ส่วน JOB เราก็งงว่า สรุปว่าพระเอกถูกหลอกให้เขียนบทหนังให้ฟรีๆหรือเปล่า ส่วน DRUGS เราก็งงว่า พระเอกถูกยิงทำไม คือถ้าตำรวจ/คนล่อซื้อยาจะมาจับคนค้ายาเสพติดแบบนี้ ก็ไม่ต้องบุกมาแล้วยิงทันทีอะไรแบบนี้นี่นา ส่วนสองสี่กี่เก้านั้น ดูแล้วไม่เข้าใจอะไรทั้งสิ้น 555 ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าหนัง mix เสียงมาไม่ชัด เราก็เลยฟังไม่ค่อยออกว่าตัวละครพูดอะไรกันบ้าง

--ส่วนหนังที่เราดูแล้วรู้สึกว่า เหมือนหนังคิดมาแค่ไอเดียเก๋ๆ ไอเดียเดียว ก็มีอย่างเช่น “ดวง”, MUSIC AND LIFE, มือปืนดาวคะนอง

จริงๆแล้วตอนแรกชอบ ดวง มากพอสมควรนะ เพราะมันนำเสนอตัวละครที่เล่น Russian Roulette แบบชิลๆ สบายๆ นึกว่าอยู่ในหนังอาร์ตนิ่งช้า คือปกติแล้วเวลาพูดถึงการเล่น Russian Roulette เราจะนึกว่ามันต้องออกมาเป็น หนัง thriller เร้าอารมณ์ตื่นเต้น อะไรทำนองนี้ แต่ “ดวง” กลับนำเสนอกิจกรรมนี้ในแบบที่ชิลมากๆ

อย่างไรก็ดี พอหนังมันจบลงด้วยการขึ้นคำสอนว่า มนุษย์เราหวังพึ่งดวงมากเกินไป คำสอนดังกล่าวมันก็ทำลายหนังไปเลย เพราะคำสอนดังกล่าวมันต้องการพูดกับ “คนทั่วไป” น่ะ และคนทั่วไปมันไม่เล่น Russian Roulette อยู่แล้ว คำสอนตอนท้ายมันก็เลยไม่เข้ากับหนังอย่างมากๆ


No comments: