Sunday, November 17, 2024

APRIL


เห็นด้วยกับคุณเต้ ไกรวุฒิ จริง ๆ ที่บอกว่า APRIL (2024, Dea Kulumbegashvili, Georgia, A+30) นี่มาเพื่อปะทะกับ Philippe Grandrieux และ Sharunas Bartas ของจริง

 

อยากให้มีคนทำหนัง found footage เพื่อเอาหนังเหล่านี้มาปะทะกัน

 

1. APRIL (2024, Dea Kulumbegashvili, Georgia, A+30) นำแสดงโดย Ia Sukhitashvili

 

2. CHANGE NOTHING (2009, Pedro Costa, Portugal/France) นำแสดงโดย Jeanne Balibar

 

3. THE CORRIDOR (1995, Sharunas Bartas, Lithuania) นำแสดงโดย Yekaterina Golubeva

 

4. SOMBRE (1998, Philippe Grandrieux, France) นำแสดงโดย Elina Löwensohn

 

5. พญาโศกพิโยคค่ำ THE EDGE OF DAYBREAK (2021, Taiki Sakpisit) นำแสดงโดย Manatsanun Phanlerdwongsakul

 

รู้สึกว่าหนัง 5 เรื่องข้างต้นมี “สไตล์” ที่เหมาะจะนำมาเปรียบเทียบกันมาก ๆ

 

แต่ถ้าหากพูดถึงเนื้อหาของ APRIL แล้ว เรานึกไปถึงหนังเรื่อง PUSH! PUSH! (1997, Park Cheol-su, South Korea, A+30) ที่เคยมาฉายใน Bangkok Film Festival สมัยยังจัดที่ห้างเอ็มโพเรียมด้วย เพราะ PUSH! PUSH! เล่าเรื่องของหมอสูตินารีสาวที่ทำงานทั้งช่วยคนคลอดลูกและช่วยผู้หญิงทำแท้งด้วยเหมือนกัน แต่เหมือนในเกาหลีใต้นั้น การทำแท้งสามารถทำได้อย่างถูกกฎหมายในบางกรณีมั้ง ถ้าจำไม่ผิด แต่ PUSH! PUSH! เป็นหนังที่เล่าเรื่องอย่างสมจริงเป็น fragments ไปเรื่อย ๆ เพื่อนำเสนอคนไข้รายต่าง ๆ ที่น่าสนใจเป็นจำนวนมากมายหลายคน เพราะฉะนั้น PUSH! PUSH! ก็เลยไม่ได้มีสไตล์ที่คล้ายกับ APRIL แต่อย่างใด

 

จำได้ว่าตอนที่ PUSH! PUSH! มาฉายที่ห้างเอ็มโพเรียม หนังเรียกเสียงฮือฮามาก ๆ เพราะบางฉากในหนังเกาหลีใต้เรื่องนี้ กล้องจะถ่ายจากมุมมองของ “อวัยวะเพศหญิง” คือเหมือนดวงตาของผู้ชม (หรือกล้องของหนัง) จะอยู่ตรงจุดเดียวกับอวัยวะเพศหญิง และเห็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ แยงเข้ามาที่กล้อง (หรือดวงตาของผู้ชม)

 

ส่วน APRIL นั้น ก็มีการเลือกใช้ตำแหน่งของกล้อง หรือการเฟรมฉากบางฉาก ได้อย่างสุดตีนมาก ๆ เช่นกัน

+++

สรุปว่าดู YOUTH ของ Wang Bing ไปแล้วทั้ง 3 ภาค ซึ่งมีความยาวรวมกันเพียงแค่ 590 นาที หรือ 9 ชั่วโมง 50 นาทีแล้วก็ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่า เราอยากได้ใครเป็นสามีมากกว่ากัน ระหว่าง “เสียวเว้ย” กับ “เฉินชิงเต่า” เพราะเราหลงรักแรงงานหนุ่มทั้งสองคนนี้มาก ๆ ปวดหัวมาก ๆ ไม่รู้ว่าจะเลือกใครดี แต่ในที่สุดเราก็บอกตัวเองว่า เราไม่เห็นจำเป็นจะต้องเลือกใครคนใดคนหนึ่งระหว่างสองคนนี้เลย เพราะทั้งสองคนนี้เขาก็ไม่ได้เลือกเราอยู่ดี จบ

 

หวังว่าจะมีคนเอา CRUDE OIL (2008, Wang Bing, 14hrs) มาฉายให้เราได้ดูก่อนตายนะคะ

++++

การที่หนังเรื่อง SNOW LEOPARD ฉายต่อจาก THE CATS OF GOKOGU SHRINE (2024, Kazuhiro Soda, Japan, documentary, A+30) นี่มันคือ perfect double bill มาก ๆ

 

+++

 

ในที่สุดเราก็ขอน้อมนำหลักคำสอน “มัชฌิมาปฏิปทา” หรือ “ทางสายกลาง” ของศาสนาพุทธมาใช้ ด้วยการดูหนังในวันเสาร์ที่ 16 พ.ย.เพียงแค่ 4 เรื่องพอ

 

อย่างที่เราโพสท์ไปก่อนหน้านี้ว่า ตอนแรกเรากะจะดูหนัง 5 เรื่อง ซึ่งได้แก่

 

1. YOUTH (HOMECOMING) (2024, Wang Bing, documentary, 152min, A+30)

 

2.THE CATS OF GOKOGU SHRINE (2024, Kazuhiro Soda, Japan, documentary, 119min, A+30)

 

3. SNOW LEOPARD (2023, Pema Tseden, China, 109min, A+30)

 

4. APRIL (2024, Dea Kulumbegashvili, Georgia, 134min, A+30)

 

5. KANGUVA (2024, Siva, India, 152min) ที่ PARAGON รอบ 21.30 น.

 

แต่พอเราดู APRIL เสร็จ เราก็ลังเลใจว่าเราจะไปดู KANGUVA ต่อดีมั้ย แล้วก็เหมือนมีเสียงคนพูดในหัวเราว่า “ยึดหลักทางสายกลาง มัชฌิมาปฏิปทา” ดีกว่า ดูหนังโรง 4 เรื่องต่อวัน มันก็น่าจะเป็นทางสายกลางสำหรับคนวัย 51 ปีอย่างเราแล้ว ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป เราก็เลยตัดสินใจ ยึดหลักทางสายกลาง ด้วยการกลับอพาร์ทเมนท์เลย ไม่ได้ดูหนังเรื่องที่ 5 ต่อ

 

นึกถึงสมัย 20 กว่าปีก่อน ตอนนั้นการดูหนังโรง 6 เรื่องต่อวันในช่วงเทศกาลภาพยนตร์ ถือเป็นเรื่องปกติ และก็มีวันนึงที่เราเคยดู 7 เรื่องต่อวันด้วย ซึ่งก็คือวันที่ 30 ก.ย. 2000 ซึ่งวันนั้นเราได้ดูหนังเรื่อง

 

1. WILLOW AND WIND (1999, Mohammad Ali-Talebi, Iran, 81min, A+30)

2. SANTA FE (1997, Andrew Shea, 97min, A+15)

3. RETURN OF THE IDIOT (1999, Sasa Gedeon, Czech, 99min, A+30)

4.THE NINTH GATE (1999, Roman Polanski, France/Spain, 133min, A+30)

5.MY FIRST MISTER (2000, Christine Lahti, 109min, A+15)

6. THE CORNDOG MAN (1999, Andrew Shea, 83min, A-)

7.RHYTHM THIEF (1994, Matthew Harrison, 88min, A+20)

 

วันนั้นเราได้ดูหนังทั้ง 7 เรื่องที่ Emporium ในเทศกาล Bangkok Film Festival

 

แต่ตอนนั้นเราก็อายุแค่ 27 ปีนะ การดูหนังโรง 7 เรื่องต่อวันมันก็เป็นสิ่งที่ทำได้สบายอยู่แล้วสำหรับคนอายุ 27 ปี แต่ตอนนี้เราอายุ 51 ปีแล้ว คิดว่า “ทางสายกลาง” สำหรับเราในวัยนี้ ก็คงเป็น 4 เรื่องต่อวันนี่แหละ จบ

 

 

No comments: