ต้องขอขอบคุณน้อง merveillesxx เป็นอย่างยิ่งค่ะที่อุตส่าห์จุดธูปเรียกดิฉันขึ้นมาจากหลุม แถมยังให้ของเซ่นไหว้แก่ดิฉันเป็นรูปของน้อง TSUMABUKI อีกต่างหาก
http://xq28.net/s/viewtopic.php?t=3437&start=3725
ช่วงนี้ไม่มีกะจิตกะใจจะเขียนถึงหนังเลยค่ะ จิตใจไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัวเท่าไหร่ ทำงานก็ไม่มีสมาธิ ดูหนังก็ไม่มีสมาธิ แต่ก็ยังคงออกไปดูหนัง และจะพยายามเขียนถึงหนังบ้างเป็นครั้งคราว เพราะดิฉันคิดว่าตัวเองคงไม่มีความสามารถที่จะแก้ไขสถานการณ์ใดๆในชีวิตตัวเองให้ดีขึ้นได้ การได้ฆ่าเวลาไปกับการอยู่ในโลกของหนังในช่วงนี้ อาจจะช่วยให้ดิฉันผ่านพ้นเวลาช่วงนี้ไปได้โดยไม่ต้องเสียเวลาไปกับการกลัดกลุ้มกับปัญหาที่ตัวเองไม่มีทางแก้ได้
รู้สึกเหมือนช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวเองแก่ลงไปสิบปี
หนังที่ได้ดูในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา
1.THE CHILD (2005, JEAN-PIERRE DARDENNE + LUC DARDENNE, A+)
ชอบช่วงครึ่งหลังของเรื่องมาก ที่เน้นไปที่เรื่องของพระเอกกับเด็กหนุ่มอีกคนหนึ่ง ฉากที่ทำให้ดิฉัน “ลุ้น” ที่สุดในหนังเรื่องนี้คือฉากที่พระเอกพยายาม “ให้ความอบอุ่นทางร่างกาย” แก่เด็กหนุ่มอีกคน โฮะๆๆๆๆ
2.WORK HARD, PLAY HARD (2003, JEAN-MARC MOUTOUT, A+)
หนังเรื่องนี้ก็นำแสดงโดย JEREMIE RENIER เหมือนกับ THE CHILD ดิฉันได้ดูหนังสองเรื่องนี้ติดๆกัน และก็รู้สึกว่า JEREMIE RENIER เล่นได้สุดยอดมากๆ ทั้งสองเรื่อง ดิฉันรู้สึกว่าเขาแสดงได้ดีใน THE CHILD แต่บทชายหนุ่มไร้ที่ยึดเหนี่ยวของเขาใน THE CHILD ก็คล้ายคลึงกับบทที่เขาเคยแสดงมาแล้วใน THE THIRD EYE (2002, CHRISTOPHE FRAIPONT, A+) จนแทบจะเหมือนกับว่าเป็นตัวละครคนเดียวกัน ก็เลยทำให้ดิฉันไม่รู้สึกตื่นเต้นสุดขีดกับการแสดงของเขาใน THE CHILD มากนัก แต่บทของ JEREMIE RENIER ใน WORK HARD, PLAY HARD เป็นบทที่มีบุคลิกแตกต่างจากใน THE CHILD อย่างสิ้นเชิง เพราะในเรื่องนี้เขารับบทเป็นหนุ่มออฟฟิศผมทองหน้าตาใส และดวงตาของเขาดูมีความหวังและดูฉ่ำมากในช่วงต้นๆของเรื่อง มันช่างแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากดวงตาของเขาใน THE CHILD ที่ดูแห้งผากและสิ้นหวังต่อชีวิต
อย่างไรก็ดี บทของ JEREMIE RENIER ในหนังสามเรื่องนี้ก็มีจุดที่เหมือนกัน เพราะทั้งสามเรื่องนี้เขาต่างรับบทเป็นคนที่มีปัญหาเรื่องการหาเลี้ยงชีพอย่างรุนแรง
ถึงแม้เขาจะรับบทเป็นหนุ่มออฟฟิศชนชั้นกลางใน WORK HARD, PLAY HARD เขาก็ได้เรียนรู้ว่า การที่เขาจะได้ทำงานมีเงินเดือนต่อไปนั้น มันไม่ใช่เรื่องง่ายแต่อย่างใดเลย มันต้องแลกกับทั้งความรัก, ชีวิตครอบครัว, มนุษยธรรม การที่เขาจะได้ทำงานต่อไปนั้น มันต้องแลกกับการที่เขาต้องทำให้คนอีก 80 คนตกงานให้ได้
หนังเรื่องนี้พูดถึงความกลัวที่พนง.บริษัทเอกชนหลายคนคงสัมผัสเข้าใจได้เป็นอย่างดี นั่นก็คือความกลัวที่ว่าตัวเองอาจจะถูกไล่ออกจากงานได้ทุกเมื่อ
ฉากที่ซึ้งที่สุดใน WORK HARD, PLAY HARD คือฉากที่ SUZANNE (MARTINE CHEVALIER) ซึ่งเป็นผู้หญิงวัย 50 กว่าปีต้องไปสมัครงานใหม่ และต้องเจอกับคู่แข่งที่เป็นผู้หญิงวัยกลางคนอีกหลายคน มันเป็นฉากที่น่าเศร้ามาก ก่อนหน้านี้ดิฉันเคยได้เห็นฉากหญิงสาววัย 20-30 กว่าปีต้องไปเข้าคิวยาวเพื่อสมัครงานในหนังฝรั่งเศสราว 2-3 เรื่อง ดิฉันเคยรู้สึกว่าฉากดังกล่าวมันน่าเศร้ามาก แต่มันอาจจะไม่น่าเศร้าเท่ากับฉากหญิงวัย 50 กว่าปีต้องไปหางานใหม่ทำในหนังเรื่องนี้
คิดว่าประเด็นเรื่องความก้าวหน้าทางอาชีพที่สวนทางกับชีวิตครอบครัว เป็นประเด็นที่พบได้บ่อยมากในหนังหลายเรื่อง ซึ่งรวมถึง CLICK (B+) และเดาว่าคงได้รับการนำเสนอในภาพยนตร์เรื่อง “THE DEVIL แดกปลาร้า” ด้วยเช่นกัน แต่รู้สึกว่า WORK HARD, PLAY HARD หาทางออกให้ตัวละครได้ดี และดีที่หนังเรื่องนี้จบโดยไม่ต้องมีการกล่าวสุนทรพจน์ของพระเอกแบบในหนังเรื่อง IN GOOD COMPANY (2004, PAUL WEITZ, A)
3.DINING TIME (2006, SHIGEAKI IWAI, A)
อันนี้เป็นงาน INSTALLATION ที่ JAPAN FOUNDATION โดยมีการฉายวิดีโอการกินข้าวในรูปแบบต่างๆลงบนโต๊ะกินข้าว 3 โต๊ะ รู้สึกชอบไอเดียนี้มากๆที่มีการดัดแปลง “โต๊ะกินข้าว” ให้กลายเป็นจอภาพยนตร์ได้ด้วย
4.WORLD TRADE CENTER (2006, OLIVER STONE, A)
5.REINCARNATION (2005, TAKASHI SHIMIZU, A)
http://www.imdb.com/title/tt0456630/
เห็นด้วยกับคุณอ้วนที่ว่า หนังเรื่องนี้มีแนวคิดบางอย่างคล้าย COLIC เด็กเห็นผี (2006, พัชนนท์ ธรรมจิรา, A+)
6.DRAGON SQUAD (2005, DANIEL LEE, A-)
http://www.imdb.com/title/tt0446313/
7.YUMECHIYO (1985, KIRIRO URAYAMA, A-)
8.RE-CYCLE (2006, OXIDE PANG + DANNY PANG, B+)
--ความรู้สึกในช่วงนี้
รู้สึกดีใจมากที่ได้เจอคุณ LUNAR กับคุณเก้าอี้มีพนักที่สมาคมฝรั่งเศสขณะไปดู WORK HARD, PLAY HARD เมื่อวันเสาร์ เพราะถึงแม้เราสามคนจะไม่ได้เจอกันแค่ 1 สัปดาห์ แต่ช่วงหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมามันเป็นหนึ่งสัปดาห์ที่รุนแรงมาก และทำให้ดิฉันรู้สึกราวกับว่าพวกเราไม่ได้เจอหน้ากันมานาน 1 ปี ดิฉันรู้สึกเหมือนกับว่าตัวเองเป็นลูกสาวที่พลัดพรากกับคุณพ่อ (คุณ LUNAR) และคุณแม่ (คุณเก้าอี้มีพนัก) ในยามสงคราม (พยายามอุปมาอุปไมยให้ตัวเองดูมีอายุน้อยค่ะ โฮะๆๆๆๆ) และได้กลับมาเจอกันอีกครั้งขณะที่สงครามยังคงดำเนินต่อไป
หลังจากดูหนังเสร็จ ก็เลยไปนั่งคุยกันต่อที่สีลมจนเกือบถึงเที่ยงคืน รู้สึกดีมากๆเลย และทำให้นึกถึงสมัย 5-6 ปีก่อน ที่ดิฉัน, คุณสนธยา กับเพื่อนๆคุณสนธยามักจะมาเจอกันบ่อยๆที่ GOETHE INSTITUTE กับสมาคมฝรั่งเศสเพื่อดูหนัง และหลังจากดูหนังเสร็จ พวกเราก็จะไปนั่งคุยกันต่อที่สีลมจนถึงตีหนึ่งตีสอง
แต่น่าเสียดายที่ร้าน BASKIN ROBBINS ที่สีลม ที่พวกเรามักใช้เป็นสถานที่คุยกันในยามวิกาล กำลังจะปิดกิจการลงเสียแล้วในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ดิฉันก็เลยเล็งๆไว้ว่าถ้าหากเกิดเหตุการณ์ฝนตกขี้หมูไหล และพวกเราได้มาเจอกันที่สมาคมฝรั่งเศสอีก สถานที่ที่พวกเราอาจใช้คุยกันอาจจะเปลี่ยนไปเป็นที่ BURGER KING แทน เพราะรู้สึกว่าที่สาขาสีลมจะปิดตี 3 (หวังว่าเมืองไทยคงไม่มีการประกาศภาวะการ์ฟิลด์ หรืออะไรทำนองนี้ในอนาคตอันใกล้นะ)
--ช่วงนี้นึกถึงประโยคที่คิดว่าตัวเองน่าจะเคยได้อ่านจากนิยายของ “ทมยันตี” แต่จำไม่ได้ว่าเรื่องอะไร บางทีอาจจะเป็นเรื่อง “ล่า” ประโยคนั้นออกมาในทำนองที่ว่า “เวลาที่คนเราหัวเราะ เขาจะรู้ตัวไหมนะว่าบางทีนั่นอาจจะเป็นครั้งสุดท้ายที่เขาได้หัวเราะ เพราะหลังจากนั้นชีวิตของเขาอาจจะดำดิ่งลงสู่ความมืดมนอนธกาล จนเขาไม่มีความสามารถที่จะหัวเราะแบบเดิมได้อีก”
รู้สึกว่าช่วงสุดสัปดาห์ที่แล้ว เป็นหนึ่งในสุดสัปดาห์ที่มีความสุขมาก ได้ดูหนัง+ละครเวทีกับเพื่อนๆที่แสนดี, ได้เขียนถึงเทศกาลหนังโตรอนโต และได้อ่านที่น้อง merveillesxx เขียนถึง THINGS YOU CAN’T TELL JUST BY LOOKING AT HER BREASTS เอ๊ย ไม่ใช่ HER EYES เป็นสุดสัปดาห์ที่เปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะสำหรับดิฉัน แต่ไม่รู้เหมือนกันว่าอีกนานเท่าไหร่ที่จะยิ้มและหัวเราะแบบสุดสัปดาห์ที่แล้วได้อีก
“เหตุการณ์ที่ทำให้เราไม่สามารถหัวเราะแบบเดิมได้อีกต่อไป” ทำให้นึกถึงอีกเหตุการณ์นึงที่เกิดขึ้นกับดิฉันสมัยม.ปลาย มันเป็นเหตุการณ์ที่ดิฉันไม่ได้คิดถึงมานานแล้ว แต่หนังเรื่อง SEASONS CHANGE เพิ่งทำให้ดิฉันหวนรำลึกถึงเหตุการณ์นี้ขึ้นมาได้อีกครั้ง
ใน SEASONS CHANGE มีเนื้อหาช่วงนึงที่พระเอกบอกกับเพื่อนๆว่าเขาไม่สามารถลงแข่งประกวดวงดนตรีกับเพื่อนๆได้ แต่เพื่อนๆของพระเอกก็ดูจะไม่ได้รับความลำบากเดือดร้อนจากการกระทำของพระเอกมากนัก พวกเขาดูเหมือนจะสามารถหามือกลองคนใหม่มาแทนพระเอกได้อย่างง่ายดาย และประสบความสำเร็จในการแข่งขันได้อย่างไม่ยากมากนัก พวกเขาไม่ได้โกรธเคืองอะไรพระเอกสักเท่าไหร่
เหตุการณ์นั้นทำให้ดิฉันนึกถึงประสบการณ์แบบ coming of age ของตัวเองสมัยม.ปลาย ดิฉันยังจำวันนั้นได้ดี วันนั้นเป็นวันที่ดิฉันกับเพื่อนๆหัวเราะกันอย่างสุดเสียง ตอนกลางวันวันนั้นพวกเราคุยเรื่องโฆษณานีเวียกัน และก็พยายามล้อเลียนโฆษณานี้กันอย่างสนุกสนานในช่วงพักเที่ยง ดิฉันยังจำได้ดีว่า ช่วงพักเที่ยงวันนั้น ดิฉันหัวเราะอย่างรุนแรงเป็นเวลาติดต่อกันยาวนานมากๆ บางทีอาจจะเป็นการหัวเราะที่ยาวนานที่สุดในชีวิตดิฉัน
แต่อยู่ดีๆช่วงบ่าย ดิฉันก็ได้ทราบความจริงว่า เพื่อนสนิทบางคนที่ร่วมหัวเราะกับดิฉันในช่วงพักเที่ยงวันนั้น ไม่ยอมให้ดิฉันกับเพื่อนๆอีกกลุ่มนึงเข้าร่วมทีมกีฬาเดียวกัน (การแข่งขันกีฬาเป็นทีมในครั้งนั้นเป็นส่วนหนึ่งของคะแนนวิชาพละศึกษา) ทั้งๆที่สัญญากันไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่าจะอยู่ทีมเดียวกัน เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ดิฉันรู้สึกเจ็บปวดมากๆ ดิฉันกับเพื่อนๆกลุ่มที่โดนทิ้งสามารถหาทีมใหม่ได้อย่างไม่ยากมากนัก การโดนทิ้งในครั้งนั้นไม่ได้สร้างความลำบากทางร่างกายอย่างรุนแรงให้แก่ดิฉันแต่อย่างใด แต่มันทำให้ดิฉันร้องไห้ที่ได้เรียนรู้ว่า คำสัญญาของเพื่อนสนิทเป็นสิ่งที่เชื่อถือไม่ได้เลย
หลังจากนั้นดิฉันก็เลยไม่สามารถหัวเราะแบบสุดเดชอย่างวันนั้นได้อีก เพราะพอเจอเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกอยากหัวเราะอย่างสุดเดชขึ้นมาทีไร ก็จะต้องหวนนึกถึงเหตุการณ์ในวันนั้นทุกครั้ง และทำให้เสียงหัวเราะของดิฉันต้องหยุดลงโดยอัตโนมัติทุกครั้ง
ในช่วงเย็นวันนั้น ดิฉันรู้สึกอยากร้องไห้มากๆที่โดนเพื่อนสนิททิ้งทั้งๆที่สัญญากันไว้แล้ว แต่ปรากฏว่า “ISABELLA” ซี่งเป็นเพื่อนผู้ชายอีกคนที่โดนทิ้งเหมือนกับดิฉัน เขากลับไม่มีอาการโศกเศร้าแต่อย่างใดเลย เขาพูดทำนองที่ว่า “มันก็อย่างนี้แหละ” ISABELLA มองว่าการถูกเพื่อนสนิทโกหกหรือการถูกเพื่อนสนิททิ้งมันเป็นเรื่องธรรมดาๆ
ดิฉันงงกับปฏิกิริยาของเขามาก แต่มันก็ทำให้ดิฉันหยุดร้องไห้และเลิกสงสารตัวเอง มันทำให้ดิฉันได้ตระหนักในความจริงที่ว่า ความทุกข์ของดิฉันไม่ได้เกิดจากการที่ดิฉันถูกเพื่อนสนิทโกหกหรือถูกเพื่อนสนิททอดทิ้ง แต่มันเกิดจากการที่ดิฉัน “คาดหวัง” ไปเองว่าเพื่อนสนิทจะต้องไม่ผิดคำสัญญาและจะไม่ทิ้งเรา ถ้าหากดิฉันไม่คาดหวังอย่างนี้เสียตั้งแต่แรก ดิฉันก็จะไม่เป็นทุกข์ และจะมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาๆ
ถ้าหากชีวิตดิฉันเป็นหนัง ดิฉันคิดว่าเหตุการณ์วันนั้นคงจะเป็นเหตุการณ์ประเภทหนึ่งที่ทำให้ดิฉันได้ COMING OF AGE เพราะหลังจากวันนั้น ดิฉันก็เปลี่ยนไป และดิฉันก็ได้คบหากับเพื่อนสนิทกลุ่มเดิมกลุ่มนั้นมาจนถึงปัจจุบันนี้ ดิฉันพบว่าในภายหลังตัวดิฉันเองก็ทำตัวไม่แตกต่างจากเพื่อนสนิทที่ในหลายๆครั้งก็โกหกหรือผิดคำสัญญาต่อเพื่อนสนิทด้วยกันเอง ดิฉันไม่ได้ดีไปกว่าเขาแต่อย่างใดเลย
(ถ้าหากในอนาคตดิฉันทรยศด้วยการแย่งผัวใครในเว็บบอร์ด SCREENOUT ก็ขอให้ถือว่าดิฉันได้เตือนท่านไว้ล่วงหน้าแล้วนะคะ ฮ่าๆๆๆๆ)
และถึงแม้ดิฉันจะไม่สามารถหัวเราะแบบเดิมได้อีกแล้วตลอดชีวิตนี้ แต่บทเรียนที่ดิฉันได้รับในวันนั้นก็ทำให้ดิฉันมีความสุขในชีวิตเพิ่มขึ้นอีกมาก เพราะดิฉันได้เรียนรู้ที่จะไม่คาดหวังให้คนอื่นพูดจริงหรือรักษาคำสัญญาต่อเราอีก เมื่อดิฉันไม่คาดหวังอย่างนั้นเสียตั้งแต่แรก ดิฉันก็เลยไม่เป็นทุกข์
เหตุการณ์นี้ยังทำให้นึกถึงละครโทรทัศน์ชุด “นางพญากระบี่มาร” ที่นำแสดงโดยกงฉือเอินด้วย รู้สึกว่าในละครเรื่องนั้น กงฉือเอินจะสอนลูกศิษย์ว่า “เราต้องทรยศผู้อื่น ก่อนที่ผู้อื่นจะทรยศเรา” แต่ดิฉันไม่ได้ยึดถือคำสอนของละครฮ่องกงมาเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตหรอกค่ะ ดิฉันคิดแต่เพียงแค่ว่า “เราต้องคาดการณ์ล่วงหน้าไว้เสมอว่าผู้อื่นจะทรยศเรา และพร้อมจะให้อภัยเขา ถ้ามันไม่เหลือบ่ากว่าแรงจริงๆ”
รู้สึกชอบมากที่หนังเรื่อง SEASONS CHANGE ช่วยทำให้ดิฉันรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในชีวิตขึ้นมาได้อีกครั้ง ถึงแม้ว่าจริงๆแล้วเหตุการณ์ใน SEASONS CHANGE มันก็แตกต่างจากเหตุการณ์ในชีวิตดิฉันมากพอสมควรเหมือนกัน
ขอแถมด้วยมิวสิควิดีโอเพลง LOVE, TRUTH & HONESTY ของ BANANARAMA ที่เนื้อหาน่าจะเข้ากับข้อความข้างต้น ดูมิวสิควิดีโอได้ที่ลิงค์ข้างล่างนี้ค่ะ
http://www.youtube.com/watch?v=D4Nv2OzTzoQ
Sunday, September 24, 2006
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
2 comments:
แวะมาอ่านครับ
สงสัยต้องไปแจมscreenout มั่งแล้วดิ
แต่ตอนนี้ไม่มีเรี่ยวแรงเขียนถึงหนังอะไรเลยครับ
รัด ปะ หาร ทำเอาเสียศูนย์ไปหมด
เอ้อ ไปดูทองปานกันปะครับ ผมว่าจะไป
มาสิ มาแจมในสกรีนเอาท์กัน
ส่วน "ทองปาน" เราคงไม่ไปดู เพราะเคยดูแล้วเมื่อหลายปีก่อน ชอบมากเหมือนกัน แต่ตอนนี้เราเริ่มนึกไม่ออกแล้วว่าหนังเรื่องนี้มีรายละเอียดอะไรบ้าง
Post a Comment