Monday, February 05, 2007

EDEN AND AFTER PART 3

ข้อมูลที่น่าสนใจอื่นๆเกี่ยวกับ ARG

--ARG และ BUTOR มีความเห็นตรงกันว่า “reality” ที่นักแต่งนิยายสร้างขึ้นมา ต้องแตกต่างเป็นอย่างมากจาก REALITY ที่เราใช้ชีวิตอยู่ในโลกแห่งความเป็น
จริง โลกแห่งความเป็นจริงเต็มไปด้วยสิ่งต่างๆมากมายที่เราสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับโลกแห่งจินตนาการของเราได้ แต่โลกแห่งความเป็นจริงไม่มีสิทธิมากำหนดหรือบีบบังคับได้ว่า เราต้องนำ “วัตถุ เอ” ในโลกแห่งความเป็นจริง ไปดัดแปลงเป็น “วัตถุ เอเอ” เท่านั้นในโลกจินตนาการ สิ่งใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับวัตถุเอในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่จำเป็นต้องติดตามวัตถุเอมาด้วยเมื่อมันอยู่ในโลกแห่งจินตนาการ

เสรีภาพในการสร้างงานที่นักเขียนกลุ่ม NEW NOVEL นำมาใช้นี้ เหมือนกับสิ่งที่จิตรกรและนักดนตรีเคยทำมาแล้วก่อนหน้านักเขียนกลุ่มนี้ราว 50 ปี

สิ่งที่ ARG ทำก็คือการแสดงให้เห็นว่านักเขียนสามารถ CREATE โลกจินตนาการขึ้นมาได้ โดยไม่ใช่ทำเพียงแค่ REPRODUCE โลกจินตนาการให้ตรงกับโลกแห่งความเป็นจริงเท่านั้น เพราะในหลายครั้ง คนเรามักจะตัดสินนิยายบางเรื่องว่ามันสะท้อนโลกแห่งความเป็นจริงได้ดีเพียงใด หรือมันสะท้อนสภาพจิตใจของคนในโลกแห่งความเป็นจริงได้ดีเพียงใด ทั้งๆที่เราเองก็ไม่ได้เข้าใจโลกแห่งความเป็นจริงหรือเข้าใจสภาพจิตใจของคนในโลกแห่งความเป็นจริงเท่าใดนัก ในหลายๆครั้ง เราตัดสินนักแต่งนิยายในฐานะ PSYCHOLOGIST หรือ SOCIOLOGIST แต่ไม่ได้ตัดสินเขาในฐานะ CREATOR แต่ ARG ทำงานแต่งนิยายในฐานะ CREATOR และเขาเปิดโอกาสให้จิตใจของผู้อ่านได้เป็นอิสระขณะที่อ่านหนังสือองเขา โดยไม่ต้องคำนึงถึงกฎเกณฑ์ต่างๆในโลกแห่งความเป็นจริงขณะที่อ่านหนังสือของเขา (หรือดูหนังของเขา)

อย่างไรก็ดี นิยายของ ARG ไม่ได้หนีจากโลกแห่งความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง โดยนักวิจารณ์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า นิยายของ ARG แสดงให้เราเห็นว่า ในที่สุดแล้ว เราก็ไม่อาจจะหนีจากโลกแห่งความเป็นจริงได้ (บางทีนี่อาจจะตรงกับตอนจบของ EDEN AND AFTER ที่ตัวละครเกือบทุกคนเหมือนจะกลับมาใช้ชีวิตอย่างน่าเบื่ออีกครั้ง) และ ARG มักจะใช้ “โลกแห่งความเป็นจริง” เป็นเครื่องมือในการทำลายความต่อเนื่องในเนื้อหาในนิยายของเขา และทำให้ผู้ชมตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่าสิ่งที่อ่านอยู่เป็นเพียงเรื่องแต่งเท่านั้น นิยายของเขามักจะตอกย้ำความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างสิ่งจริงกับสิ่งไม่จริง หรือความขัดแย้งกันระหว่าง “สิ่งที่มองเห็น” กับ “สิ่งที่ตัวละครคิดหรือจินตนาการ”

จุดนี้ทำให้นึกถึงบางฉากใน EDEN AND AFTER อย่างเช่น ฉากที่

1.ดิฉันคิดว่าดิฉันเห็นผู้ชายเดินมาในโรงงาน แต่ดิฉันไมแน่ใจว่าดิฉันตาฝาดหรือจำผิดหรือเปล่า

2.เขา “อาจจะ” เห็น MARC-ANTOINE กอดจูบกับ MARIE-EVE

3. กล้องวกกลับมาอีกที เราเห็นไวโอเล็ตเดินมา (แล้วผู้ชายคนก่อนหน้านี้หายไปไหน)

4.กล้องวกกลับไปอีกครั้ง เราเห็น MARIE-EVE ถูก MARC-ANTOINE ใช้แส้ฟาด

ฉากนี้ทำให้ดิฉันไม่แน่ใจว่า ตกลงแล้ว “ใครเห็นใครทำอะไรกันแน่” ไม่แน่ใจว่าสองหนุ่มสาวนั้นกอดจูบกัน หรือกำลังทำกิจกรรมซาดิสท์กัน และไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ไวโอเล็ตเห็น คือเหตุการณ์ที่สองหรือเหตุการณ์ที่สี่ หรือเหตุการณ์ใดเป็นจินตนาการของไวโอเล็ต

หลังจากดูหนังเรื่องนี้จบแล้ว ดิฉันไม่แน่ใจด้วยซ้ำไปว่าการไปโรงงานของไวโอเล็ต

1.เกิดจากแผนการของ FRANZ + เพื่อนๆของไวโอเล็ต

2.ชายแปลกหน้าหลอกไวโอเล็ต เพราะเขาร่วมมือกับฟรานซ์ หรือชายแปลกหน้าไม่ได้หลอกไวโอเล็ต เพราะเขาตกเป็นเหยื่อของฟรานซ์

3.ไวโอเล็ตไปโรงงาน เพื่อเล่นบทบาทถูกตามล่าตามเกมติ๊ต่างที่เธอทำกับเพื่อนๆ

4.ไวโอเล็ตไม่ได้ไปโรงงาน เพราะทั้งหมดเป็นเพียงจินตนาการของเธอขณะอยู่ในห้องนอน


ARG เคยเขียนเรียงความเกี่ยวกับ JOE BOUSQUET ซึ่งเป็นกวีแนวเซอร์เรียลที่กระดูกสันหลังของเขาได้รับบาดเจ็บจากลูกกระสุนในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่เขาสามารถมีชีวิตอยู่ได้อีกกว่า 30 ปี โดยที่เป็นอัมพาตเกือบทั้งตัว และต้องใช้ชีวิตอยู่ในห้องนอนใน CARCASSONNE โดย ARG บอกว่าสภาพการใช้ชีวิตของ BOUSQUET เป็นสภาพของนักเขียนที่แท้จริง เพราะเขาเขียนโดยที่ไม่ต้องยืนยันว่าฉากหรือตัวละครที่เขากำลังบรรยายอยู่มีลักษณะตรงตามโลกแห่งความเป็นจริง โดย ARG เองเคยบอกอีกด้วยว่า ตอนที่เขาแต่งนิยายเรื่อง LE VOYEUR นั้น เขาต้องบรรยายถึงนกนางนวล และเขาก็รู้สึก “อยาก” เป็นอย่างมากที่จะไปตรวจสอบว่านกนางนวลจริงๆเป็นอย่างไร เพื่อที่เขาจะได้บรรยายนกนางนวลให้ถูกต้องตามโลกแห่งความเป็นจริง แต่ในที่สุดเขาก็เอาชนะความอยากนั้นได้ และสามารถบรรยายนกนางนวลตามจินตนาการ โดยไม่ยอมศิโรราบให้กับโลกแห่งความเป็นจริง และไม่ยอมทำให้นกนางนวลในนิยายของเขา “เหมือนกับมีชีวิตจริง”

--นักวิจารณ์บอกว่า จุดนึงที่น่าสนใจในนิยายของ ARG คือการนำสถานที่ที่มีอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงมาใช้ในนิยาย แต่ไม่มีการถ่ายทอดความเป็นจริงของสถานที่ดังกล่าวลงมาในนิยายจนทำให้นิยายดูเหมือนเป็นสารคดี โดยจุดนี้อาจจะเห็นได้จากการใช้ฮ่องกงเป็นฉากหลังในนิยายเรื่อง THE HOUSE OF RENDEZ-VOUS (โดยส่วนตัวแล้ว ดิฉันคิดว่าการใช้เกาะเจอร์บาใน EDEN AND AFTER ก็มีลักษณะคล้ายกัน เพราะหนังเรื่องนี้ไม่ได้เน้นถ่ายทอดความเป็นจริงของเกาะเจอร์บาในตูนิเซียแต่อย่างใด)

นักวิจารณ์บอกว่า ลักษณะนี้ของ ARG มาจาก RAYMOND ROUSSEL ซึ่งเป็นคนที่รวยมากและเป็นนักเดินทางทั่วโลก แต่เป็นที่เชื่อกันว่าเขาเดินทางไปรอบโลกโดยไม่เคยลงจากเรือของเขาเลย เพราะเขาเชื่อว่าภูมิประเทศที่อยู่ในจินตนาการของเขาควรได้รับความสำคัญเหนือกว่าความเป็นจริง

นักวิจารณ์บอกว่า เมืองอีสตันบูลของตุรกีที่อยู่ในหนังเรื่อง L’IMMORTELLE (1963) ของ ARG ก็มีลักษณะแบบเดียวกัน เพราะเมืองอีสตันบูลในหนังเรื่องนี้มีลักษณะเหมือนภาพโปสการ์ด (ภาพโปสการ์ดก็มีบทบาทสำคัญมากใน EDEN AND AFTER ด้วย) และ ARG ก็จงใจทำลายความเหมือนจริงของอีสตันบูลในหนังของเขา เพราะเขาต้องการแสดงให้เห็นถึงพลังอำนาจของจินตนาการ เขาทำให้เหตุการณ์และฉากใน L’IMMORTELLE ดู EXOTIC ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อเตือนผู้ชมว่าสิ่งที่พวกเขากำลังดูอยู่ไม่ใช่ความเป็นจริง

นักวิจารณ์บอกว่า ภาพยนตร์ของ ARG เปรียบเหมือนกับความฝันขณะตื่นอยู่ แต่ถึงแม้ภาพยนตร์ของเขาเปรียบเหมือนกับความฝัน มันก็ไม่ได้เป็นภาพยนตร์ที่ตามเรื่องได้ยากเหมือนกับงานแนวเซอร์เรียลเรื่องอื่นๆ เพราะมันมักจะมีจุดที่ช่วยให้ผู้ชมตามเรื่องหรือเข้าถึงอารมณ์ของเรื่องได้ โดยในความเห็นส่วนตัวของดิฉันนั้น ดิฉันคิดว่าจุดนี้น่าจะจริง เพราะเรื่องราวของ EDEN AND AFTER นั้นพูดถึงการแย่งชิงภาพวาดราคาแพง ซึ่งไม่ใช่จุดที่เข้าใจยาก (จุดที่ยากก็คือว่าการแย่งชิงนั้นเป็นเรื่องจริงหรือเป็นจินตนาการ หรือเป็นการแสดงละครตามจินตนาการ) ในขณะที่หนังอย่าง UN CHIEN ANDALOU นั้น แทบปะติดปะต่ออะไรไม่ได้เลย และเหมือนกับความฝันขณะนอนหลับ

นักวิจารณ์บอกว่าสิ่งที่ทำให้ผลงานของ ARG เข้าถึงได้ง่าย ก็มีเช่น

1.การใช้ตำนานอีดิปุสในนิยายเรื่อง LES GOMMES ซึ่งเป็นตำนานที่คนทั่วไปเข้าใจ

2.อารมณ์ซาดิสท์ มาโซคิสท์ใน

2.1 LE VOYEUR

2.2 LAST YEAR AT MARIENBAD (1961, ALAIN RESNAIS, A+)

2.3 L’IMMORTELLE

3.อารมณ์หึงหวงใน LA JALOUSIE (THE VENETIAN BLIND)


--นักวิจารณ์ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อใดก็ตามที่ ARG บรรยายถึงถนน,ทางเดิน, เฉลียง, บันได หรืออะไรทำนองนี้ เขาจะบรรยายทางเดินเหล่านี้ในแบบที่เป็นเศษเสี้ยว และสร้างความงุนงงให้แก่ผู้อ่าน (ดิฉันเคยเจออะไรแบบนี้มาแล้วตอนอ่านนิยายเรื่อง RECOLLECTIONS OF THE GOLDEN TRIANGLE ของ ARG)

--นักวิจารณ์บอกว่า ผู้เริ่มอ่านนิยายของ ARG บางคนไม่ชอบที่นิยายของเขาไม่ให้ความรู้สึกของความจบบริบูรณ์ในตอนจบ ผู้อ่านกลุ่มนี้รู้สึกว่าในการอ่านนิยายของ ARG พวกเขาไม่ได้รู้สึกเหมือนตัวเองได้นั่งอยู่บนยานพาหนะที่มั่นคงที่ขับเคลื่อนจากจุด เอ ไปยังจุด บี เหมือนนิยายของนักเขียนคนอื่นๆ (ลักษณะนี้ก็น่าจะเหมือนกับหนังเรื่อง EDEN AND AFTER) โดยนิยายหรือหนังของ ARG นั้นมีลักษณะเหมือนประกอบด้วยเรื่องสั้นหลายๆเรื่อง และแสดงให้เห็นถึงจิตใจที่ไม่สงบที่พยายามจะสร้างตำนานขึ้นมา โดยความพยายามเหล่านี้มีเส้นกราฟทางอารมณ์ที่คล้ายๆกับพาราโบล่า นั่นกึคือมีช่วงที่อารมณ์พุ่งสูงหรือมีการใช้ความรุนแรง ก่อนที่อารมณ์จะแผ่วลง

จุดนี้ก็ทำให้ดิฉันนึกถึง EDEN AND AFTER ด้วยเหมือนกัน เพราะบางทีเราอาจจะมองได้ว่าเรื่องราวส่วนใหญ่ของหนังเรื่องนี้เกิดจากจิตใจที่ไม่สงบของไวโอเลต ที่พยายามจะสร้างตำนานหรือเรื่องเล่าที่ตัวเองเป็นนางเอก ที่ถูกกลุ่มเพื่อนๆหลอกลวงและวางแผนฆ่าเพื่อแย่งชิงภาพเขียนราคาแพง โดยที่พาราโบลาลูกแรกอาจจะเป็นฉากการวางยาพิษในร้านคาเฟ่อีเดน, พาราโบลาลูกที่สองอาจจะเป็นตอนที่ไวโอเลตถูกเพื่อนๆตามล่าในโรงงาน และพาราโบลาลูกที่สามคือเหตุการณ์ที่ตูนิเซีย

ARG เคยเขียนเรียงความเกี่ยวกับ RAYMOND ROUSSEL ในปี 1963 โดยบอกว่า ROUSSEL มองว่านิยายของเขาเป็นการเดินทางจากจุด A ไปยังจุด A1 ซึ่งแตกต่างจากจุด A เล็กน้อย และนักวิจารณ์บอกว่าสิ่งนี้อาจจะนำมาเปรียบเทียบกับนิยายหรือหนังของ ARG ได้เช่นกัน เพราะบางคนอาจเข้าใจผิดว่านิยายหรือหนังของ ARG เล่าเรื่องเป็นวงกลม และเข้าใจผิดว่าฉากตอนจบของเรื่องคือการวกกลับมายังฉากเริ่มแรก โดยที่การเดินทางของตัวละครเอกในเรื่องไม่ได้ช่วยให้ตัวละครเอกได้ค้นพบตัวเองแต่อย่างใด

นักวิจารณ์ตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งสำคัญในนิยายหรือหนังของ ARG ไม่ได้อยู่ที่จุดนี้ เพราะตัวละครเอกในนิยายหรือหนังของเขาคือภาพสะท้อนของตัว ARG เอง และ ARG ก็ได้เปิดเผยให้เห็นกระบวนการสร้างสรรค์เรื่องแต่งในนิยายหรือหนังแต่ละเรื่องของเขา เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้อ่านหรือผู้ชมภาพยนตร์ได้เรียนรู้บางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับตัวเองจากนิยายหรือหนังของเขา

จุดนี้ทำให้นึกถึง EDEN AND AFTER ด้วยเหมือนกัน เพราะไวโอเล็ต ซึ่งเป็นตัวละครเอกของ EDEN AND AFTER ก็มีลักษณะเหมือนกับเป็นนักแต่งนิยาย ถ้าหากเรามองว่าเหตุการณ์ในเรื่องเป็นจินตนาการของเธอเอง และตอนจบของเรื่องนี้ ก็ดูเผินๆเหมือนกับการวกกลับมายังจุดเริ่มต้นด้วยเหมือนกัน

John Sturrock สรุปว่า ผลงานของ ARG คือการสอนให้ผู้อ่านหรือผู้ชมภาพยนตร์ตระหนักว่า มี “ช่องว่าง” ระหว่างความคิดของเรากับสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา และเราต้องคอยตระหนักและรู้ตัวถึงช่องว่างเหล่านี้อยู่เสมอ โดยที่เราสามารถใช้ความคิดคำนึงของเราในการคาดการณ์เกี่ยวกับสิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัวเรา แต่เราต้องตระหนักว่าสมมุติฐานของเราเป็นเพียง “สิ่งชั่วคราว” และ “ใช้ได้เฉพาะบางเหตุการณ์” เท่านั้น เราต้องไม่เผลอทึกทักเอาเป็นอันขาดว่าสมมุติฐานที่อยู่ในหัวของเราเป็นความจริงขั้นสุดท้าย, เป็นความจริงสัมบูรณ์, ใช้ได้ตลอดไป หรือใช้ได้ในทุกกรณี


ข้อความข้างบนนี้อาจจะอ่านไม่รู้เรื่องและไม่ปะติดปะต่อกัน ซึ่งดิฉันก็คิดว่ามันน่าจะทำให้นึกถึงหนังของ ARG ได้เป็นอย่างดีค่ะ ฮ่าๆๆๆๆ


ผู้สนใจเรื่องของ RAYMOND ROUSSEL สามารถอ่านได้จากหนังสือ RAYMOND ROUSSEL AND THE REPUBLIC OF DREAMS ของ MARK FORD
http://www.amazon.com/Raymond-Roussel-Republic-Dreams-Mark/dp/0801438640

All but the most widely read students of the linguistic experiments of the past century will probably encounter Raymond Roussel (1877-1933) for the first time in poet Ford's (Landlocked) new biography. Ford's central proposition in this economical study is simply that his subject's writing is worth discovering. Roussel's success even in France has been minimal, though the list of highly acclaimed artists on both sides of the Atlantic who cherish his esoteric concoctions is impressive, including surrealists such as Andre Breton and Salvador Dali, along with Jean Cocteau and Alain Robbe-Grillet and, Manhattan School poets John Ashbery (who writes the preface to this volume) and Kenneth Koch. Roussel's compositional technique, generated a structure for the plots and images of his writing in much the same way that meter and rhyme control the arrangement of words in a sonnet. The author's goal was to create art that retained utterly no relation to the physical world. By exploiting the double meanings and shifting associations inherent in language, his technique defined the laws of an insular universe. Ford neatly exposes the hidden machinations that produced Roussel's jumbled texts, while credibly linking his literary seclusion with the social isolation that his excessive wealth, clandestine homosexuality and delusional ambitions engendered. Roussel believed from his youth that he was destined for immediate and widespread recognition, a conviction that eroded in the face of his numerous and spectacular failures. However, through Ford's focused interpretation, the reader may appreciate the vivacity of Roussel's grotesque verbal sculptures, which contain a seemingly infinite proliferation of potential meanings.

No comments: