Sunday, October 12, 2014

THE 4 SISTERS + 1 (2014, Bhanbhassa Dhubthien, stage play, A+25)

THE 4 SISTERS + 1 (2014, Bhanbhassa Dhubthien, stage play, A+25)

ความรู้สึกที่มีต่อละครเวทีเรื่องนี้

1.สำหรับเราแล้ว นี่มันคือสุดยอดของ ensemble acting ซึ่งเหมือนกับสิ่งที่คุณพันพัสสาเคยทำไว้แล้วใน THE ODD COUPLE (QUEER VERSION) (2012) เพราะในละครสองเรื่องนี้ มันมีฉากที่นักแสดงหลายๆคนต้องมาปรากฏตัวอยู่ในฉากพร้อมๆกัน แล้วทุกคนก็ปล่อยพลังทางการแสดง พลังทางอารมณ์กันอย่างสุดฤทธิ์สุดเดชเต็มสตีมมากๆ คือถ้าพูดถึงในแง่การแสดงแล้ว เราชอบในระดับ A+30 เลย (A+30 หมายถึงชอบสุดๆ ส่วน A+25 หมายถึงชอบเกือบสุดๆ)

2.ช่วงแรกๆเราก็รู้สึกว่าละครมันสนุก บันเทิงมากแล้ว แต่อารมณ์ของเราพุ่งถึงขีดสุดเมื่อตัวละคร “มาลาเรีย” หรือ “มารายห์” (Apirak Chaipanha) ปรากฏตัวขึ้นมา แล้วมีการปะทะกับ Miss Monkey และหญิง (Peangdao Jariyapun) เพราะเรารู้สึกว่าตัวละคร 3 ตัวนี้ มันเป็นตัวละครที่ “แรง”, “แข็ง” หรือมีความเป็นเจ้าแม่อยู่ในตัวน่ะ ในขณะที่ตัวละครตัวอื่นๆมันดูเป็นคนอ่อนแอ เพราะฉะนั้นในช่วงแรกๆของเรื่องนี้ มันเลยดูเหมือนเป็นเรื่องระหว่าง เจ้าแม่ (Miss Monkey) กับลูกสมุนเจ้าแม่ มันก็เลยสนุก แต่ไม่สนุกถึงขีดสุดสำหรับเรา เรามารู้สึกว่ามันสนุกถึงขีดสุดก็ต่อเมื่อมีฉาก “เจ้าแม่ปะทะกับเจ้าแม่” หรือ “ไฟปะทะกับไฟ” เมื่อตัวละครมาลาเรียปรากฏตัวขึ้นมา และเริ่มปะทะกับ Miss Monkey และฉากที่มาลาเรียปะทะกับหญิงก็ดีมากๆ

3.ละครเรื่องนี้เรียกเสียงขบขันได้ดีมาก ช่วงที่เรารู้สึกว่าฮาสุดๆสำหรับเราคือตอนที่ตัวละครร้องเพลงเกี่ยวกับดอกทานตะวันที่บานอยู่กลางมหาสมุทร คือมันเป็นการให้อารมณ์ด้นสดที่มันบรรเจิดมากๆ และให้จินตนาการที่เซอร์เรียลจนกู่ไม่กลับมากๆ

4.สิ่งที่ชอบสุดๆในละครเรื่องนี้ก็คือว่าถึงแม้มันจะฮามากๆ แต่มันก็สร้างแบคกราวด์ตัวละครแต่ละตัวได้ดีมาก เศร้ามาก ชีวิตบัดซบมากๆด้วย การสร้างอารมณ์ทั้งขบขันและขมขื่นให้คู่ขนานกันไปได้อย่างดีมากเช่นนี้ มันคือจุดสุดยอดของคำว่า “หัวเราะร่า น้ำตาริน” จริงๆ

5.การวางแบคกราวด์ตัวละครแต่ละตัวได้ดีแบบนี้ มันทำให้ตัวละครในเรื่องนี้ ไม่ได้มีสถานะเป็นเพียงแค่ตัวละคร “กะเทยตลกโปกฮา” แบบที่พบได้ทั่วๆไป (อย่างเช่นในหนังของพจน์ อานนท์) เพราะถึงแม้ว่าตัวละครกะเทยเหล่านี้จะตลกโปกฮา แต่ละครเวทีเรื่องนี้ก็ทำให้ตัวละครกะเทยเหล่านี้มีเลือดเนื้อ มีชีวิตจิตใจแบบมนุษย์จริงๆด้วย

แต่ในแง่หนึ่ง เราก็รู้สึกว่าตัวละครพวกนี้ยังอยู่เพียงในขั้น “มีเลือดเนื้อ มีอารมณ์ความรู้สึก  มีชีวิตจิตใจแบบมนุษย์จริงๆ” แต่มันยังไม่ได้ลงลึกถึงขั้นจิตวิญญาณนะ แต่การที่มันไม่ได้ลงลึกถึงจุดนั้นก็ไม่ใช่ข้อเสียของละครเรื่องนี้นะ เพราะเราไม่ได้เรียกร้องให้ละครทุกเรื่องต้องลงลึกถึงขั้นนั้น เราเพียงแค่จะบอกว่า ถ้าหากเทียบกับหนังตลก/ละครตลกส่วนใหญ่แล้ว ละครเวทีเรื่องนี้มันเหนือกว่าหนังตลก/ละครตลกส่วนใหญ่ในแง่ที่ว่า ตัวละครในเรื่องนี้มันมีความเป็นมนุษย์สูงกว่ามาก แต่เราไม่ได้บอกว่าละครเรื่องนี้นำเสนอความเป็นมนุษย์ได้อย่างสุดยอดหรืออะไรทำนองนี้ เพราะถ้าหากจะดูละครที่นำเสนอจิตวิญญาณมนุษย์ได้อย่างสุดยอด ก็อาจจะต้องไปดูละครเวทีแนวอื่นๆแทน

6.ชอบประเด็นเรื่องครอบครัวที่ไม่ได้ผูกพันกันทางสายเลือดในละครเรื่องนี้มากๆ เพราะเราเองก็รู้สึกผูกพันกับคนบางคนที่เราเจอในดีเจ สเตชั่นมากกว่ากับคนบางคนในครอบครัวตัวเองเหมือนกัน 555

7.รู้สึกว่าประเด็น patriarchy ในละครเรื่องนี้น่าสนใจดี อยากให้มีคนเขียนวิเคราะห์ในเรื่องนี้ หรืออาจจะมีคนเขียนไปแล้วก็ได้ แต่เรายังไม่ได้อ่าน เพราะเรายังไม่ได้อ่านบทวิจารณ์ละครเรื่องนี้เลย เรากะว่าเราดูแล้ว เราค่อยตามไปอ่านทีหลัง

SPOILERS ALERT
--
--
--
--
--
8.ตอนนี้เรายังไม่ได้ชอบละครเรื่องนี้ถึงขั้น A+30 (แต่อาจจะเปลี่ยนใจในภายหลัง) เพราะเรารู้สึกก้ำกึ่งกับช่วง 10 นาทีสุดท้ายของเรื่องน่ะ คือช่วง 10 นาทีสุดท้ายเป็นช่วงที่ดี นักแสดงเล่นดีมาก นักแสดงเล่นได้น่าเชื่อถือมาก และเราก็รับตอนจบของละครเรื่องนี้ได้ในระดับนึง แต่เราก็ไม่แน่ใจว่า ถ้าหากตัดช่วง 10 นาทีสุดท้ายทิ้งไป เราอาจจะชอบละครเรื่องนี้มากกว่านี้ก็ได้

มันเป็นเรื่องของรสนิยมส่วนตัวน่ะ คือเราจะสะเทือนใจมากกว่านี้ ถ้าหากมันจบแบบปัญหาคาราคาซังหรืออะไรทำนองนี้ คือหนัง/ละครทั่วๆไป มันชอบนำเสนอปัญหา แล้วปัญหาก็ทวีขึ้นถึงขีดสุดในฉากไคลแมกซ์ แล้วปัญหาก็คลี่คลาย แล้วก็จบ แต่มันก็มีหนังบางเรื่อง ที่มันนำเสนอปัญหาที่ทวีขึ้นจนถึงขีดสุด แล้วมันก็จบไปเลย แล้วมันก็เลยกลายเป็นหนังที่เราลืมไม่ลงไปตลอดชีวิต ยกตัวอย่างเช่นหนังสารคดีอิหร่านเรื่อง OUR TIMES (2002, Rakhshan Bani-Etemad) ที่ตามสัมภาษณ์ผู้หญิงหลายคนที่ถูกตัดสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้งในอิหร่าน ซึ่งรวมถึงผู้หญิงคนนึงที่มีปัญหาชีวิตหนักมาก แล้วในที่สุดผู้หญิงคนนี้ก็จะถูกไล่ออกจากบ้าน ไม่รู้จะไปซุกหัวนอนที่ไหน ในช่วงท้ายของหนังเรื่องนี้ เราจะเห็นผู้หญิงคนนี้ทะเลาะกับเจ้าของบ้านอย่างรุนแรงมาก และในขณะที่ทั้งสองคนกำลังทะเลาะกันอย่างรุนแรง ภาพก็ฟรีซ แล้วหนังก็ตัดจบไปเลย แล้วเราก็เลยลืมหนังเรื่องนี้ไม่ลงไปจนตลอดชีวิต

หนังสารคดีเรื่อง A WEDDING IN RAMALLAH (2002, Sherine Salama) กับ ROTI MAN (2012, Kittipat Knoknark) ก็ฝังใจเราอย่างรุนแรง เพราะมันจบลงในช่วงขณะที่ subject ของเรื่องเผชิญปัญหาชีวิตที่รุนแรงมาก และแก้ไขอะไรไม่ได้เช่นกัน


สรุปว่ามันเป็นเรื่องของรสนิยมส่วนตัวจ้ะ เราแค่ยกตัวอย่างถึงหนังที่เราชอบมากๆ เพื่อจะบอกว่า ถ้าหากละครเวทีเรื่องนี้ตัดช่วงสิบนาทีสุดท้ายทิ้งไป หรือจบไปในอีกทิศทางนึง บางทีละครเวทีเรื่องนี้อาจจะเข้าทางเรามากกว่านี้จ้ะ

No comments: