Tuesday, April 05, 2016

NO LULLABY (2014, Helen Simon, Germany, documentary, A+30)

NO LULLABY (2014, Helen Simon, Germany, documentary, A+30)

1.เนื้อหาของหนังหนักมาก มันเป็นเรื่องของทีน่า รอยเธอร์ หญิงวัย 50 ปีที่เล่าว่า เธอเคยถูกพ่อล่วงเกินทางเพศตั้งแต่เด็กๆ แต่เธอพยายามลืมประสบการณ์เลวร้ายนี้ไปจนเธอ ลืมมันไปจริงๆ และพอเธอมีลูกสาวชื่อโฟลห์ เธอก็ปล่อยให้โฟลห์อยู่กับคุณตา และโฟลห์ก็เลยถูกคุณตาล่วงเกินทางเพศตั้งแต่อายุ 4-12 ปี จนโฟลห์ฆ่าตัวตายไปในที่สุด นอกจากนี้ ทีน่ายังเล่าว่า ในช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองแม่ของเธอที่มีอายุประมาณ 15 ปีในตอนนั้นก็เคยถูกทหารรัสเซียพาตัวไปข่มขืนที่ไซบีเรียเป็นเวลานาน 3 ปีก่อนจะปล่อยตัวกลับมาด้วย (ถ้าจำไม่ผิด)

2.สิ่งที่ชอบมากคือวิธีการนำเสนอของหนัง โดยซีนในหนังอาจจะแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ นั่นก็คือซีนที่ให้ทีน่าและแฟนเก่าของโฟลห์เล่าเรื่องต่อหน้ากล้องโดยตรง และซีนที่เป็นเสียง voiceover ของผู้หญิงคนหนึ่งที่บรรยายเรื่องการไต่สวนคดีในศาล โดยเสียง voiceover นี้จะถูกนำมาประกอบกับภาพบรรยากาศ ที่มีตั้งแต่ภาพซอกมุมต่างๆในบ้าน (ส่วนนี้ถ่ายได้สุดยอดมากๆๆๆๆๆ), ทิวทัศน์ข้างทาง, แมกไม้ในป่าละเมาะ, แสงอาทิตย์

เราชอบการนำเสนอเสียง voiceover + ภาพบรรยากาศในหนังเรื่องนี้มาก เราว่ามันลงตัวมากๆ การใช้ภาพบรรยากาศมาประกอบคำบรรยายในศาลมันดีในแง่ที่ว่า

2.1 มันช่วยลดทอนความ melodramatic ของหนังลง คือเนื้อหาของหนังมันรุนแรงมากอยู่แล้ว เราไม่จำเป็นต้องเพิ่มความรุนแรงทางภาพและเสียงเข้าไปอีก


2.2 มันช่วยกระตุ้นจินตนาการของผู้ชม ผู้ชมจะไม่รู้สึกว่าตนเองถูก สาดเรื่องราวหนักๆเข้ามาใส่ตัวมากเกินไป แต่ผู้ชมต้องทำตัว active ด้วยการจินตนาการภาพตามเรื่องราวในศาลไปด้วย

2.3 มันช่วยลดความ bias ของหนังลง คือหนังเรื่องนี้คงเข้าข้างทีน่าน่ะแหละ ซึ่งไม่ใช่สิ่งผิด แต่การที่หนังไม่นำเสนอ คำให้การของโฟลห์ออกมาเป็นภาพโดยตรง มันช่วยทำให้คนดูตกอยู่ในสถานะเดียวกับลูกขุนในศาล หรือคนนอกของครอบครัวนี้ ซึ่งก็คือสถานะที่เราไม่สามารถแน่ใจได้ 100% เต็มว่า โฟลห์และทีน่า พูดจริงหรือไม่ เพราะเราไม่ได้เห็นเหตุการณ์เหล่านั้นด้วยตาตนเอง เราทำได้เพียงแค่รับฟังสิ่งที่โฟลห์และทีน่าพูดเท่านั้น และพยายามจินตนาการตามสิ่งที่ทั้งสองพูด

การที่หนังเปิดโอกาสให้คนดูแต่ละคนพยายาม visualize คำให้การเหล่านี้ขึ้นมาเป็นภาพในหัวด้วยตัวเอง มันเท่ากับเป็นการให้อิสระแก่คนดูในการลงความเห็นต่อคดีนี้ด้วย คือหนังไม่ได้ทำตัวว่า ฉันเชื่อว่าเหตุการณ์มันต้องเป็นอย่างนี้แน่ๆและบังคับให้คนดูเชื่อตามนั้น หนังเพียงแค่ทำตัวว่า โฟลห์พูดอย่างนี้ ทีน่าพูดอย่างนี้ส่วนคนดูจะเชื่อคำพูดของคนทั้งสองมากน้อยเพียงใด มันก็ขึ้นอยู่กับคนดูแต่ละคนเอง ซึ่งเราว่าเป็นสิ่งที่ดี

2.4 เราว่าหนังเลือกภาพบรรยากาศมาใช้ได้ดีมากๆด้วย ภาพส่วนแรกที่เป็น ซอกมุมต่างๆในบ้านนั้น ถ่ายออกมาได้ดีสุดๆเลย ส่วนภาพแมกไม้ในป่านั้น อาจจะไม่ทรงพลังเท่าภาพช่วงแรก แต่ก็อยู่ในระดับที่ใช้ได้

คือเราว่าการเลือกภาพบรรยากาศมาใช้นี่มันไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกันนะ เพราะ
2.4.1 มันต้องไม่เลือกภาพที่น่าเบื่อเกินไป ภาพต้องสวย น่ามองในระดับนึง
2.4.2 มันต้องไม่เลือกภาพที่ captivating เกินไป จนคนดูสนใจแต่ภาพ จำแต่ภาพ และไม่สามารถจินตนาการภาพเหตุการณ์ชั่วร้ายตามเสียง voiceover ได้

3.คือเราว่าทั้งเนื้อหาและการนำเสนอของหนังมันเข้าทางเรามากๆน่ะ คือเรื่องแบบนี้พึ่งพิงแต่เนื้อหาไม่ได้อย่างเดียวนะ เพราะเนื้อหาที่หนักมากๆแบบนี้จริงๆแล้วเราก็อาจจะเคยดูมาในหนังบางเรื่อง แต่ไม่ใช่ว่าหนังทุกเรื่องที่นำเสนอเนื้อหาแบบนี้จะประสบความสำเร็จไปซะทุกเรื่อง โดยเราอาจจะแบ่งหนังแบบนี้ออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ซึ่งก็คือ

3.1 หนังที่ ดีพอใช้ แต่ไม่ทรงพลังมากนักเช่น

3.1.1 VOICES WITHIN: THE LIVES OF TRUDDI CHASE (1990, Lamont Johnson, 4hours) มินิซีรีส์เรื่องนี้สร้างจากเรื่องจริงของผู้หญิงที่มีบุคลิกประมาณ 100 บุคลิกในตัวเอง โดยพอจิตแพทย์ล้วงลึกเข้าไปในจิตเธอ ก็พบว่ามันเป็นเพราะเธอเคยถูกล่วงละเมิดในวัยเด็ก

เราว่ามินิซีรีส์นี้เล่าเรื่องแบบธรรมดาน่ะ คือเนื้อหาของมันจริงๆแล้วหนักมาก แต่พอวิธีการนำเสนอมันธรรมดา มันก็เลยกลายเป็นมินิซีรีส์ธรรมดาเรื่องนึงไป

3.1.2 BLISS (1997, Lance Young) หนังเรื่องนี้ก็เกี่ยวกับปมทางจิตของหญิงสาวที่มีสาเหตุมาจากการถูกล่วงละเมิดในวัยเด็ก ถ้าจำไม่ผิด เราว่าหนังเรื่องนี้ใช้ได้นะ เพียงแต่ว่ามันไม่ทรงพลังแบบสุดๆเท่านั้นเอง ซึ่งสาเหตุนึงอาจจะเป็นเพราะว่า มันใช้วิธีการนำเสนอแบบหนัง narrative ธรรมดาทั่วๆไปเหมือน VOICES WITHIN เพียงแต่ว่านักแสดงมันเล่นได้ดีพอสมควร หนังเลยออกมาค่อนข้างน่าพอใจในระดับนึง

3.2 หนังที่ทรงพลังสุดๆ ที่พูดถึงประเด็นคล้ายๆกัน

3.2.1 SEVEN TIMES A DAY WE BEMOAN OUR LOT AND AT NIGHT WE GET UP TO AVOID OUR DREAMS (2013, Susann-Maria Hempel, Germany, animation)

อันนี้เป็นแอนิเมชั่นเซอร์เรียลที่สวยสะพรึงมากๆ กราบ visual design ของหนังเรื่องนี้

คือหนังเรื่องนี้เล่าเรื่องผ่านทางเสียง voiceover เหมือนกัน และเสียง voiceover ก็ไม่ได้เล่าเรื่องตรงๆด้วย แต่เหมือนเป็นกระแสสำนึกของเด็กที่มีปมทางจิตในเรื่องนี้ ส่วนภาพที่เราเห็นเหมือนกับภาพของโลกจินตนาการในจิตใจที่บิดเบี้ยวของเด็กคนนี้

3.2.2 THE MARINA EXPERIMENT (2009, Marina Lutz)
ผู้กำกับหนังเรื่องนี้อาจจะไม่ได้ถูกล่วงละเมิดแบบทีน่ากับโฟลห์ แต่เธอก็ถูกพ่อถ่ายรูปมากมายตอนเด็กๆ และพอเธอนำรูปถ่ายตอนเด็กของเธอมาดู เธอก็เลยเกิดสงสัยอะไรบางอย่าง


4.อีกสิ่งหนึ่งที่ชอบสุดๆใน NO LULLABY คือจังหวะของหนัง เราว่าหนังมันค่อนข้างมีจังหวะนิ่งสงบดีน่ะ แต่มันไม่ได้ช้าแบบหนังสารคดีอย่าง HOMEMADE SAKE (2001, Satoshi Ono) นะ แต่มันมีจังหวะอารมณ์ที่นิ่งสงบดี คือในขณะที่เนื้อหาของหนังมันรุนแรงมาก และ subject ของหนังก็เล่าเรื่องด้วยอารมณ์ที่รุนแรงมาก แต่เหมือนกับว่าผู้กำกับนำเสนอทุกอย่างในหนังด้วยอารมณ์ที่นิ่งสงบ มันก็เลยออกมาลงตัวดี

จริงแล้วเราว่าจังหวะแบบราบเรียบสม่ำเสมอของหนังเรื่องนี้ ทำให้เรานึกถึงหนังสารคดีของผู้กำกับหญิงเยอรมันอีก 2 เรื่องนะ ซึ่งก็คือ

4.1 REDEMPTION (2009, Sabrina Wulff) ที่เล่าเรื่องของทหารอเมริกันที่หนีทัพจากสงครามอิรัก

4.2 THE HOUSEMAID (2010, Anna Hoffmann) ที่เล่าเรื่องของหญิงต่างชาติที่ทำงานเป็นคนใช้ในบ้านคนเยอรมัน

หรือผู้กำกับชายชาวเยอรมันบางคนก็ทำหนังที่มีจังหวะอารมณ์ราบเรียบสม่ำเสมอแบบนี้นะ อย่างเช่น Philip Scheffner ที่กำกับหนังเรื่อง THE HALFMOON FILES (2007) กับ DAY OF THE SPARROW (2010)
พอเจอหนังแบบนี้หลายๆเรื่อง เราก็เลยรู้สึกเหมือนกับว่า ผู้กำกับเหล่านี้ ฝึกการเดินลมปราณมาจากสำนักเดียวกันจังหวะในหนังของพวกเขามันเลยออกมา มีสมาธิ ไม่พลุ่งพล่าน วุ่นวายแบบนี้ ซึ่งเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันเป็นเรื่องบังเอิญหรือเปล่า หรือว่ามหาวิทยาลัยในเยอรมันเขานิยมหนังที่มีจังหวะแบบนี้กัน หนังสารคดีเยอรมันหลายเรื่องเลยออกมาเป็นแบบนี้ (ซึ่งจริงๆแล้วหนังของ Harun Farocki ก็มีจังหวะคล้ายๆกันนี้ด้วย แต่ประเด็นในหนังของ Farocki มันอัดแน่นกว่า)


แต่มันก็ไม่ใช่ว่าผู้กำกับเยอรมันทุกคนทำหนังจังหวะแบบนี้นะ ผู้กำกับหญิงเยอรมันบางคนก็ทำหนังจังหวะโหมประโคมเร้าอารมณ์แบบสุดๆเหมือนกัน แต่มันเป็นหนังที่เราเกลียดมากๆ เราก็เลยลืมชื่อหนังกับลืมชื่อผู้กำกับไปเลย

No comments: