Monday, October 10, 2016

THE GIRL ON THE TRAIN (2016, Tate Taylor, A+30)

THE GIRL ON THE TRAIN (2016, Tate Taylor, A+30)

ชอบในระดับ A+30 แต่อาจจะไม่ติดอันดับประจำปี คือสาเหตุที่เราชอบมากเป็นเพราะว่าเราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้มาก่อนเลย คือตอนที่เข้าไปดูหนังเรื่องนี้ เรานึกว่ามันจะเป็นหนังแบบ who done it หรือแบบอกาธา คริสตี้น่ะ เรานึกว่ามันจะเป็นแบบนิยายเรื่อง 4.50 FROM PADDINGTON ของอกาธา คริสตี้ที่พูดถึงผู้โดยสารรถไฟที่เห็นเหตุการณ์ฆาตกรรม โดยนิยายเรื่องนี้เคยถูกสร้างเป็นหนังเรื่อง CRIME IS OUR BUSINESS (2008, Pascal Thomas) มาแล้ว

แต่พอดูไปได้สักพัก เราก็พบว่าหนังเรื่องนี้มันเข้าทางเรามากๆ เพราะมันเต็มไปด้วยตัวละครหญิงที่มีบุคลิกแบบที่เราชอบ และมันไม่ใช่หนังแบบ ใครฆ่าที่ให้ความสำคัญกับประเด็นที่ว่า ใครคือฆาตกร”, ให้ความสำคัญกับการหักมุมแบบคาดไม่ถึง และให้ความสำคัญกับการหลอกล่อคนดูให้เข้าใจไปผิดทาง แต่มันเป็นหนังแบบ Claude Chabrol/Ruth Rendell/Georges Simenon ด้วย โดยหนังแบบ Chabrol/Rendell/Simenon มันจะไม่ใช่หนังลึกลับ/ระทึกขวัญที่ให้ความสำคัญกับประเด็นที่ว่า ใครคือฆาตกรแต่มันเป็น หนังชีวิตที่มีเหตุการณ์ฆาตกรรมเกิดขึ้นในเรื่องโดยเหตุการณ์ฆาตกรรมในหนังอาจจะเป็นปริศนาลึกลับ แต่ประเด็นที่ว่าใครเป็นฆาตกรแทบไม่มีความสำคัญเลย สิ่งที่สำคัญคือการเจาะลึกเข้าไปในจิตวิญญาณของตัวละครต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ฆาตกรรมนั้น โดยตัวอย่างหนังที่ดีมากๆในหนังกลุ่มนี้ก็มีเช่น THE BLUE ROOM (2014, Mathieu Amalric) ที่สร้างจากนิยายของ Georges Simenon, ALIAS BETTY (2001, Claude Miller) ที่สร้างจากนิยายของ Ruth Rendell และ THE COLOR OF LIES (1999, Claude Chabrol) ที่พูดถึงเหตุการณ์ฆาตกรรมเด็กหญิงในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง แต่หนังแทบไม่ได้ให้ความสำคัญแต่อย่างใดกับประเด็นที่ว่าใครเป็นฆาตกร

แน่นอนว่าพอ Claude Chabrol ตายไปในปี 2010 เราก็โหยหาหนังกลุ่มนี้อย่างรุนแรงมาก เพราะฉะนั้นพอได้ดู THE GIRL ON THE TRAIN เราก็เลยมีความสุขอย่างสุดๆ เพราะหนังค่อนข้างให้ความสำคัญกับสภาพจิตตัวละครมากทีเดียว และไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักกับการสร้างสถานการณ์ตื่นเต้นลุ้นระทึกในช่วงท้ายของหนัง

แต่ THE GIRL ON THE TRAIN ก็คงไม่ติดอันดับประจำปีของเรานะ เพราะจริงๆแล้วหนังมันก็เหมือนอยู่กึ่งกลางระหว่าง Agatha Christie กับ Claude Chabrol น่ะ คือมันยังให้ความสำคัญกับการหักมุมและการหลอกล่อคนดูน่ะแหละ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของหนัง ถึงแม้จะไม่ได้ให้ความสำคัญกับจุดนี้มากเท่าหนังสูตรสำเร็จเรื่องอื่นๆ คือพอดูช่วงครึ่งหลังของหนัง มันจะมีบางจุดที่ทำให้เราสงสัยว่า รายละเอียดบางอย่างในชีวิตตัวละครมันไม่ได้ถูกใส่เข้ามาเพื่อสะท้อนจิตวิญญาณตัวละคร แต่ใส่เข้ามาเพื่อผลในการหักมุมมากกว่า ซึ่งเราไม่ชอบอะไรแบบนี้ 

คือถ้าหนังมันไปถึงขั้น Georges Simenon/Ruth Rendell/Claude Chabrol จริงๆ เราก็คงชอบมันถึงขั้นติดอันดับประจำปี แต่สิ่งที่มันเป็นอยู่นี้ก็คือมันเข้าใกล้ Chabrol ได้มากกว่าหนังฮอลลีวู้ดเรื่องอื่นๆ แต่ยังไปไม่ถึงขั้นนั้นซะทีเดียว

ดูแล้วนึกถึง IN THE CUT (2006, Jane Campion) ด้วย ในแง่การเป็น หนังชีวิตที่มีปริศนาฆาตกรรมอยู่ในหนังเหมือนกัน และเน้นสภาพจิตของตัวละครนางเอกอย่างรุนแรงเหมือนกัน

เห็นหลายคนเทียบหนังเรื่องนี้กับ GONE GIRL (2014, David Fincher) ซึ่งเราก็ชอบหนังเรื่องนี้กับ GONE GIRL ในระดับเท่าๆกันนะ เพราะมันมีข้อดีคนละอย่าง คือจริงๆแล้ว THE GIRL ON THE TRAIN เข้าทางเรามากกว่าในแง่ แนวทางหนัง เพราะ THE GIRL ON THE TRAIN มันให้ความสำคัญกับสภาพจิตตัวละครหญิงอย่างรุนแรง และเราชอบหนังแบบนี้มากกว่าหนังหักมุม, หลอกล่อคนดูอย่างชาญฉลาดแบบ GONE GIRL แต่ GONE GIRL เหมือนมีการกำกับที่เฉียบคมกว่าน่ะ มันก็เลยสร้างความรู้สึกประทับใจได้ในแง่ฝีมือการกำกับ ในขณะที่ THE GIRL ON THE TRAIN มันประทับใจเราในแง่แนวทางหนัง เพราะมันเล่าเรื่องในแบบที่เราโหยหามานานมากแล้วหลังจาClaude Chabrol ตายไป

No comments: