นิราศมหรรณพ (2015, ปราปต์, นิยาย, A+30)
1.เป็นนิยายที่สนุกลุ้นระทึกตื่นเต้นไม่แพ้
“กาหลมหรทึก” เลย และถึงแม้เราจะชอบกาหลมหรทึกมากกว่าหน่อยนึง
แต่เราก็ชอบนิราศมหรรณพมากๆอยู่ดี
และเราก็ชอบทั้งสิ่งที่มันเหมือนและแตกต่างจากกาหลมหรทึกด้วย
สิ่งที่เหมือนกันก็คือการเน้นอารมณ์แบบ thriller สืบสวนสอบสวนเป็นหลัก
และเราว่าปราปต์ยังคงสร้างอารมณ์ลุ้นระทึกได้เก่งมากๆอยู่เหมือนเดิม
และอีกสิ่งที่เหมือนกันและเราชอบมากๆก็คือการนำเอาโบราณสถานและบทประพันธ์ร้อยกรองเก่าของไทยมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างปริศนาลับ
2.การนำเอาวัดวาอารามต่างๆในกรุงเทพมาใช้เป็นสถานที่ซ่อนปริศนาลับนี่เป็นอะไรที่เราชอบมากๆเลยนะ
และในเรื่องนี้มันไปไกลกว่า “กาหลมหรทึก” ด้วย
เพราะในกาหลมหรทึกเหมือนจะเน้นแค่วัดโพธิ์วัดเดียว
ส่วนอันนี้กระจายไปหลายๆวัดในกรุงเทพ และมันน่าจะมีวัดที่เราเคยไปเที่ยวรวมอยู่ด้วย
คือเราชอบอะไรแบบนี้มากน่ะ มันเหมือนเป็นการมอง “สถานที่”
อะไรบางอย่าง แล้วสามารถจินตนาการ “เรื่องราวลี้ลับ” หรือ “การผจญภัยอันสนุกสนาน”
ขึ้นมาจากสถานที่จริงๆที่มีอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา
โดยเฉพาะสถานที่ที่มีประวัติอันยาวนาน
คือสิ่งที่ “นิราศมหรรณพ” ทำในจุดนี้ มันทั้งเหมือนและต่างจากสิ่งที่ Jacques Rivette ทำในหนังที่เขากำกับนะ
คือ Jacques Rivette เป็นหนึ่งในผู้กำกับที่เราชื่นชอบมากที่สุดในโลกน่ะ
และหนังหลายเรื่องที่เขากำกับมันเป็นการ
“สร้างจินตนาการแห่งการผจญภัยขึ้นมาจากสิ่งธรรมดาในชีวิตประจำวัน” มันคือการ
“มองแผนที่กรุงปารีสให้กลายเป็นเส้นทางแห่งการผจญภัย” หรือเป็นการ
“มองรถไฟเหาะให้กลายเป็นมังกร” อะไรทำนองนี้
และเราก็ชอบนิราศมหรรณพตรงจุดนี้มากๆ
เราชอบที่มันเหมือนกับเป็นการมองอะไรบางอย่างในวัดต่างๆ
แล้วสามารถใช้พลังแห่งจินตนาการในการสร้างเรื่องราวผจญภัยขึ้นมาจาก
“สิ่งธรรมดาๆในวัดหลายๆแห่ง” ได้
แต่จริงๆแล้วนิราศมหรรณพก็เหมือนกับหนังของ Jacques Rivette แค่จุดนี้เท่านั้นนะ
เพราะหนังของ Jacques Rivette มันไม่ใช่หนัง thriller
น่ะ มันเป็นการ “สร้างโลกแห่งการผจญภัยขึ้นมาจากชีวิตประจำวัน”
และโทนของหนังมันจะออกมาเป็นอะไรสบายๆ, ปริศนาต่างๆก็คลี่คลายอย่างง่ายดาย
คือปริศนาและความลับต่างๆในหนังของ Jacques Rivette ไม่ใช่สิ่งสำคัญ
สิ่งสำคัญคือการสร้างบรรยากาศโปร่งสบายและเป็นอิสระในหนังของเขา
3.ชอบการใช้บทประพันธ์ของสุนทรภู่และคุณสุวรรณด้วย ทั้งในแง่ที่มันโยงกับปริศนาลับของเรื่อง
และในแง่การล้อกับความสัมพันธ์ของตัวละครในยุคปัจจุบัน
ทั้งความสัมพันธ์ข้ามเผ่าพันธุ์ และความสัมพันธ์แบบเลสเบียน
คือจริงๆแล้วเราก็ชอบบทประพันธ์ “พระอภัยมณี” มากๆนะ แต่เรานึกไม่ถึงว่ามันจะมีคนที่สามารถเอาบทประพันธ์นี้มาจินตนาการต่อได้เป็นคุ้งเป็นแควขนาดนี้น่ะ
นึกไม่ถึงจริงๆ
4.อีกสิ่งที่ทึ่งมากๆคือการโยงเอาองค์ประกอบต่างๆที่มันมีอยู่แล้วในโลกแห่งความเป็นจริงเข้ามารวมกันได้ในนิยายเรื่องเดียวกันนี่แหละ
คือสามารถโยงทั้งวัดต่างๆที่มีอยู่จริง, วรรณคดีคลาสสิคที่มีอยู่จริง,
ประวัติศาสตร์ไทยที่มีอยู่จริง
และข่าวปัญหาบางอย่างในโลกยุคปัจจุบันเข้าไว้ด้วยกันในเรื่องราว thriller เรื่องเดียวกันได้
5.ในส่วนที่แตกต่างจากกาหลมหรทึกนั้น
เราว่ามันมีอะไรที่น่าสนใจหลายจุดนะ อย่างแรกเลยก็คือความเป็นแฟนตาซี-ไซไฟ
ซึ่งเราชอบมากน่ะ ในแง่นึงก็คือมันช่วยให้ไม่ซ้ำซากกับกาหลมหรทึก
ตอนอ่านจะนึกถึง Shinji Wada ซึ่งเป็นนักวาดการ์ตูนญี่ปุ่นที่เราชอบมากที่สุดคนนึงด้วยแหละ
คือกาหลมหรทึกอาจจะเทียบได้กับ “สิงห์สาวนักสืบ” ของ Shinji Wada เพราะมันเป็นการสืบคดีฆาตกรรมในโลกแห่งความเป็นจริง
ตัวละครเป็นมนุษย์ธรรมดา ส่วนนิราศมหรรณพอาจจะเทียบได้กับ “อาสุกะ
สาวน้อยปาฏิหาริย์” ของ Shinji Wada ที่เป็นการสืบคดีปริศนาในโลกแฟนตาซี
ตัวละครทั้งนางเอกและผู้ร้ายต่างก็มีอิทธิฤทธิ์เหนือมนุษย์
หรือถ้าเทียบง่ายๆก็คือ กาหลมหรทึก ยังอยู่ในโลกเดียวกับนิยายของ Agatha Christie และนิยายชุด
Sherlock Holmes คือยังอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง
ส่วนนิราศมหรรณพ นั้นอยู่ในโลกเดียวกับนิยายของจินตวีร์ วิวัธน์, แก้วเก้า และ Dean
Koontz ซึ่งเป็นโลกเหนือธรรมชาติ
6.อีกจุดที่ต่างออกไปจากกาหลมหรทึก และจุดนี้เป็นทั้งข้อดีและข้อด้อยของนิยายเรื่องนี้
ก็คือการไม่มีตัวละครให้ผู้อ่านยึดเป็นหลักในการคลี่คลายปริศนาน่ะ
คือในกาหลมหรทึกนั้น เรามีตัวละครพระเอก และตำรวจแชนกับกบี่
เป็นเหมือนหลักยึดให้ผู้ชม identify ด้วยได้ในขณะอ่าน
และหลักยึดในที่นี้คือการที่ตัวละครเหล่านี้ “ไม่รู้” พอๆกับที่ผู้อ่านไม่รู้น่ะ
คือพอเริ่มเรื่อง
ตัวละครเหล่านี้ก็ปะทะกับเข้ากับก้อนปริศนาลับดำมืดพร้อมๆกับผู้อ่าน
และตัวละครเหล่านี้ก็ค่อยๆพยายามคลี่คลายปริศนาลับดำมืดเหล่านั้นไปพร้อมๆกับผู้อ่าน
ผู้อ่านจึงรู้สึกเหมือนกับว่า ผู้อ่านสามารถเดินเข้าสู่เขาวงกตดำมืด
โดยมีตัวละครหลักเดินเคียงข้างไปด้วย หรือจูงมือเราไปด้วย เพราะตัวละครเหล่านั้นก็รู้และไม่รู้ในระดับใกล้เคียงกับเรา
ซึ่งอันนี้น่าจะเป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไปในนิยาย mystery ราว 95%
เลยนะ ทั้งนิยาย mystery แบบสมจริงและแบบเหนือธรรมชาติ
คือเราว่านิยายส่วนใหญ่ของ Agatha Christie, Sir Arthur Conan Doyle, จินตวีร์ วิวัธน์, แก้วเก้า และ Dean Koontz ต่างก็ใช้กลวิธีแบบนี้เกือบหมด
คือมีตัวละครหลักที่พยายามคลี่คลายความลับไปพร้อมๆกับคนอ่าน ยกเว้นนิยายแนวลึกลับบางเรื่องที่เฉลยในตอนจบว่า
“ผู้เล่าเรื่อง” คือ “ฆาตกร” แต่นิยายประเภทนี้ก็มีน้อย
แต่นิราศมหรรณพนั้นต่างออกไป และมันเป็นการเล่นท่ายากในความเห็นของเรา
ซึ่งสิ่งนี้เป็นทั้งข้อดีและข้อด้อย ข้อดีก็คือว่ามันช่วยสร้างความแตกต่าง,
ไม่ซ้ำซาก แต่ข้อด้อยก็คือ ผู้อ่านจะงุนงงกว่าปกติ
มันเหมือนผู้อ่านเชื่อใจตัวละครตัวไหนไม่ได้เลย
และไม่มีตัวละครตัวไหนคอยจับมือหรือจูงมือเราและเดินไปพร้อมๆกับเราในเขาวงกตดำมืด
ผู้อ่านต้องมะงุมมะงาหราในเขาวงกตดำมืดเอง
และมันก็สร้างความเครียดให้เกิดขึ้นกับผู้อ่านมากกว่าวิธีการเล่าเรื่องแบบแรก
คือในช่วงแรกของนิราศมหรรณพนั้น มันเหมือนจะเป็นแบบนิยาย mystery ทั่วไปนะ
เพราะตัวละครเชลียงกับจุลเกตุ ก็ดูเหมือนจะเป็นพระเอกและนางเอกตามขนบ
พวกเขาดูเหมือนจะสืบคดีไปพร้อมๆกับเรา แต่พออ่านไปได้แค่ไม่กี่สิบหน้า
เราก็รู้แล้วว่าเชลียงมีอะไรซุกซ่อนอยู่มากมาย เยอะมากๆ
คือเขาไม่ได้เดินเข้าสู่เขาวงกตพร้อมกับเรา
แต่เขาแบกความลับไว้เยอะมากก่อนที่จะมาเจอเราในช่วงที่นิยายเริ่มเรื่องขึ้น เพราะฉะนั้นเราก็เลยไม่ไว้วางใจเขา
แต่รู้สึกเครียดเมื่อเจอกับตัวละครตัวนี้ เพราะไม่รู้ว่าเขาซุกซ่อนอะไรไว้บ้าง
ทางฝ่ายจุลเกตุก็เหมือนกัน เธอก็ “ผ่านอะไรมาเยอะมาก”
ก่อนที่จะมาเจอกับผู้อ่านในช่วงเริ่มเรื่อง
และพอนิยายไม่ได้เล่าประวัติชีวิตเธออย่างละเอียดตั้งแต่ต้นเรื่อง
แต่ค่อยๆแย้มพรายทีละนิดทีละหน่อย ทีละนิดทีละหน่อย ทีละนิดทีละหน่อย ว่าเธอ
“ผ่านอะไรมาบ้าง” ก่อนจะเจอเชลียงในช่วงเริ่มเรื่อง
เราก็เลยไม่ไว้วางใจเธอเหมือนกัน
ผลก็คือกว่าเราจะเจอตัวละครที่ตั้งหน้าตั้งตาสืบคดีไปพร้อมกับเราจริงๆ
และเป็นตัวละครที่ “รู้” และ “ไม่รู้” ในระดับใกล้เคียงกับผู้อ่านจริงๆ
ซึ่งก็คือตัวละครเด็กหญิงกำมะหยี่ นิยายก็เดินหน้าไปราว 25% ของเรื่องแล้ว
และนิราศมหรรณพก็เล่นท่ายากขึ้นไปอีก
ด้วยการสร้างตัวละครเด็กหญิงกำมะหยี่ให้เป็นคนเลว
และไม่ใช่ตัวเดินเรื่องแบบตลอดเวลาด้วย
คือเด็กหญิงกำมะหยี่ที่สืบคดีไปพร้อมๆกับคนอ่าน
ต้องสลับกันเดินเรื่องกับเชลียงและจุลเกตุด้วย
เพราะฉะนั้นการอ่านนิยายเรื่องนี้ก็เลยเป็นอะไรที่เครียดกว่ากาหลมหรทึก
เพราะเราไว้วางใจ “พระเอก” กับ “นางเอก” ของเรื่องไม่ได้
จนกว่าเราจะรู้ความลับหรือประวัติของพวกเขาหมด
เราไม่รู้ว่าพระเอกกับนางเอกซุกซ่อนอะไรไว้จาก “คนอ่าน” บ้าง และเราก็ไม่สามารถ identify กับตัวละครอย่างเด็กหญิงกำมะหยี่ด้วย
เราไม่สามารถเอาใจช่วยเธอได้อย่างเต็มที่
ผลก็คือมันเป็นการสร้าง “ระยะห่าง”
ระหว่างผู้อ่านกับตัวละครได้น่าสนใจมากๆเหมือนกัน และมันอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยพบในนิยายหรือหนัง
mystery โดยทั่วๆไป
7.จุดหนึ่งที่ชอบมากในนิราศมหรรณพ
ก็คือการดำเนินเรื่องผ่านตัวละครหญิงหลายวัยน่ะ
เราว่าอันนี้เป็นจุดที่ดีและเข้าทางเรามากกว่ากาหลมหรทึก
และทำให้นิราศมหรรณพมีความโดดเด่นมากกว่านิยายหลายๆเรื่องที่เราเคยอ่านมาด้วย
คือในนิยายโดยทั่วไปนั้น เนื้อเรื่องมักจะดำเนินเรื่องผ่านทางพระเอก-นางเอกที่มีอายุราว
15-35 ปีน่ะ โดยพระเอกอาจจะมีอายุสูงกว่านั้นหน่อย แต่นางเอกมักจะมีอายุไม่เกิน 30
ปี ซึ่งกาหลมหรทึกก็เข้าข่ายนั้น คือมันเป็นพระเอก-นางเอกตามขนบนิยายทั่วไปน่ะ
ส่วนในนิราศมหรรณพนั้น เชลียงกับจุลเกตุก็มีอายุเข้าข่ายขนบนิยมเหมือนกัน
แต่เราชอบมากที่นิราศมหรรณพกระจายบทไปให้ตัวละครหญิงอีกหลายตัวในวัยต่างๆกันด้วย ตั้งแต่กำมะหยี่ที่มีอายุ
12 ปี, มงกุฎที่มีอายุราว 32 ปี, จันทร์งามที่มีอายุราว 46 ปี
และสุพรรณที่มีอายุราว 56 ปี และการมอบภาระสืบคดีให้กับกำมะหยี่,
มอบบทโรแมนติก/อีโรติกให้จันทร์งาม และการมอบฉากบู๊ให้กับสุพรรณ
มันก็ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นอย่างสุดๆด้วย
คือมันเป็นสิ่งที่เราอยากได้จากหนังหลายๆเรื่อง แต่แทบไม่ค่อยได้น่ะ
เราชอบตัวละครเด็กหญิงอิทธิฤทธิ์สูงแบบกำมะหยี่น่ะ ตัวละครกำมะหยี่นี่สามารถเข้าไปอยู่ใน
list ตัวละครเด็กหญิงที่เราชอบสุดๆได้เลย
การมอบบทอีโรติกให้จันทร์งามก็เป็นการแหวกแนวมากๆ
คือแทนที่นิยายเรื่องนี้จะมีฉากอีโรติกระหว่างเชลียงกับจุลเกตุ นิยายเรื่องนี้กลับมีฉากอีโรติกระหว่างมงกุฎกับจันทร์งามแทน
และนิยายก็เน้นถ่ายทอดความรักในใจจันทร์งามด้วย
ซึ่งการให้ความสำคัญกับความรักและความต้องการทางเพศของตัวละครหญิงวัย 46
ปีนี่ก็เป็นสิ่งที่เราชอบมากๆ
แต่สิ่งที่เราชอบสุดๆก็คือฉากบู๊ของสุพรรณนี่แหละ ตายแล้วววววววว
คืออยากให้มีฉากแบบนี้อีกเยอะๆเลย นึกภาพหญิงสาววัย 56 ปีบู๊ต่อสู้กับคนอื่นๆแล้วมันเข้าทางเรามากๆ
คือถ้าหากเป็นในหนังทั่วไป บทบู๊คงไปตกอยู่ที่เชลียงแทน
ส่วนตัวละครผู้หญิงสูงวัยในนิยาย/หนังส่วนใหญ่ ก็จะไม่มีบทบาทอะไรมาก
คือตัวละครพวกนี้ส่วนใหญ่คงเหมือนกับ “ประจิตรา” ในเรื่องนี้น่ะ
คือเป็นคุณแม่เห่ยๆ น่ารำคาญอะไรทำนองนี้ และหนัง/นิยายพวกนี้ก็จะมอบภาระสืบคดี+อีโรติก+บู๊
ให้กับตัวละครพระเอก-นางเอกวัย 15-35 ปีเป็นหลัก
เพราะฉะนั้นการได้เห็นสุพรรณมีฉากบู๊ตอนไล่ตามโทรศัพท์ในช่วงกลางเรื่อง
ก็เลยเข้าทางเราจริงๆ
8.อีกจุดที่เราชอบมาก และเป็นจุดที่แตกต่างจากกาหลมหรทึกและนิยายทั่วๆไป
ก็คือการที่นิราศมหรรณพมีตัวละครตบกันหลายตัว และมีความร้ายกาจหลายตัวน่ะ
คือถ้าหากเป็นในนิยายสืบสวนหรือหนังทั่วไป
ตัวละครมันจะมีแค่ฝ่ายพระเอกกับฝ่ายผู้ร้ายน่ะ
คือมีการตบกันแค่คนสองกลุ่มหลักๆเท่านั้น หรือถ้าหากมีการตบกันในวงอื่นๆอีก
มันก็จะตบกันในวงเล็กๆ จบลงในเวลาสั้นๆ ไม่ได้ลากยาวคู่ขนานกันไปพร้อมกับการตบกันของคู่หลัก
คือในกาหลมหรทึกนั้น จริงๆแล้วเราก็ชอบโครงสร้างของมันมากนะ
คือมันมีคู่หลักก็จริง ซึ่งก็คือ “กลุ่มพระเอก” VS. “กลุ่มฆาตกร”
แต่มันมี “ความขัดแย้งในชีวิตของเหยื่อแต่ละราย” อยู่ด้วย คือกาหลมหรทึกเจาะเข้าไปในชีวิตเหยื่อบางราย
หรือตัวละครประกอบบางราย และแสดงให้เห็นว่าเหยื่อบางรายและคนแวดล้อมของเหยื่อมีศัตรูหรือมีคู่อริเป็นใครบ้าง
คือมันมีการตบกันของคู่ย่อยๆอยู่ในเนื้อเรื่องด้วย
แต่การตบกันของคู่ย่อยๆพวกนี้มันจะกินเนื้อที่เพียงช่วงเวลาเดียวของเรื่องน่ะ
และนิยายก็หันไป focus ที่เนื้อเรื่องของเหยื่อรายใหม่ต่อไป
มันก็เลยเหมือนการตบกันของคู่เล็กๆพวกนี้มันถูกจำกัดวงไว้
ไม่ให้ยุ่งเหยิงวุ่นวายมากนัก
แต่นิราศมหรรณพเล่นท่ายากมากขึ้น และมันเป็นสิ่งที่ดีและเข้าทางเรา
เพราะนิราศมหรรณพใส่ตัวละครที่มีความร้ายกาจเข้ามาหลายตัว
คือนอกจากมีการตบกันระหว่างพระเอกนางเอก VS. ฆาตกรแล้ว
เรายังได้เจอกับความร้ายกาจของแฮร์ริสัน, มงกุฎ, กำมะหยี่, กล้าณรงค์, กฤตพงศ์,
ฉกาจ ด้วย และก็มีการตบกันระหว่าง ลายสือ VS. สุพรรณ
และการแก่งแย่งชิงดีกันในบรรดาตัวละครตำรวจอีก
และความร้ายกาจและการตบกันของตัวละครต่างๆพวกนี้
มันก็ลากยาวคู่ขนานไปกับการสืบหาฆาตกรตั้งแต่ต้นจนจบเรื่องด้วย
เราชอบอะไรแบบนี้มากๆ คือมันช่วยทั้งให้เนื้อเรื่องสนุกมากขึ้น
และเราว่าในแง่หนึ่งมันเข้ากับวิธีการมองโลกของเราน่ะ คือเรามักจะชอบหนังหรือนิยายที่ไม่ให้ความสำคัญมากเกินไปกับพระเอก-นางเอกน่ะ
และเรามักจะชอบหนังหรือนิยายที่ไม่ได้ focus ไปที่ “ปัญหาเดียว”
คือเราว่าการที่หนังหรือนิยายบางเรื่อง focus ไปที่ “ปัญหาเดียว”
มันเป็นการลดทอนความเป็นจริงของชีวิตมากเกินไปน่ะ
คือหนังหรือนิยายหลายๆเรื่องมักจะทำแบบนั้น เพราะมันอาจจะให้ความสำคัญ “ธีมหลัก”
ของเรื่อง และอาจจะต้องการทำให้เนื้อเรื่องมีเอกภาพ แต่เราไม่ชอบอะไรแบบนี้
เรามักจะชอบหนังหรือนิยายที่ยอมรับว่า
มนุษย์เรามันต้องรับมือกับปัญหาหลากหลายด้านในเวลาเดียวกัน
และชีวิตมนุษย์เราในแต่ละวันมันไม่ได้มี “ธีมหลัก” หรือมี “เอกภาพ” แบบที่หนังหรือนิยายบางเรื่องพยายามลดทอนมันเพื่อให้เข้ากับกฎในการสร้างงานศิลปะ
(ซึ่งเราต่อต้านกฎนี้) หรืออะไรทำนองนี้น่ะ
และการที่นิราศมหรรณพให้ความสำคัญกับตัวละครประกอบหลายๆตัว,
การทำให้ตัวละครประกอบแต่ละตัวมีความร้ายกาจมากๆ
และการให้ความสำคัญกับการตบตีกันจนวุ่นวายไปหมดของตัวละครประกอบเหล่านี้
ก็เข้ากับวิธีการมองโลกของเราด้วย คือเราว่าหนังหลายๆเรื่อง
(เราขอเทียบกับหนังเป็นหลักนะ เพราะเราอ่านนิยายน้อย) มันแค่พยายามทำให้พระเอก-นางเอกดูเป็นมนุษย์
ส่วนตัวละครประกอบมันมีหน้าที่แค่ทำตาม function บางอย่างเท่านั้น
เช่นคอยให้กำลังใจนางเอก, คอยเรียกเสียงหัวเราะ, สั่งสอนนางเอก
คือหน้าที่ของตัวละครประกอบในหนังหลายๆเรื่อง
มีขึ้นเพื่อมีปฏิสัมพันธ์และส่งผลอะไรบางอย่างกับพระเอก-นางเอกเท่านั้น
ตัวละครประกอบเหล่านี้ไม่ได้เป็นมนุษย์จริงๆ มันเป็นเพียงเครื่องมืออะไรบางอย่างเพื่อช่วยรองรับพระเอก-นางเอกเท่านั้นเอง
และเราต่อต้านอะไรแบบนี้มากๆ มันเหมือนการได้พบใครสักคนที่มองว่าตัวเองเป็น hero
และเพื่อนๆมีหน้าที่เพียงแค่คอยช่วยเหลือเขาในการทำตามความฝันของเขาน่ะ
แทนที่เขาจะมองว่าเพื่อนๆคนอื่นๆก็มีความฝันของตัวเองและมีปัญหาหรืออุปสรรคยิ่งใหญ่อยู่ในชีวิตของตัวเองเช่นกัน
คือกูมีชีวิตอยู่เพื่อตัวกูเอง กูไม่ได้มีชีวิตอยู่เพื่อเป็นตัวประกอบของมึง
แต่หนังหลายๆเรื่องชอบทำให้คนดูคิดว่า
คนอื่นๆมีชีวิตอยู่เพื่อเป็นตัวประกอบของเราเท่านั้น
เพราะฉะนั้นเราก็เลยชอบการสร้างสีสันให้กับบรรดาตัวละครหลายๆตัวในนิราศมหรรณพมากๆ
มันคือการยอมรับว่าตัวละครประกอบเหล่านี้ไม่ได้ดำรงอยู่เพียงเพื่อมีปฏิสัมพันธ์กับพระเอกนางเอกเท่านั้น
แต่มันดำรงอยู่เพื่อตัวมันเองจริงๆ
และตัวละครประกอบแต่ละตัวก็มีปัญหาหรือมีคู่ตบของตัวเองที่มีความสำคัญเช่นกัน
9.แต่การสร้างความขัดแย้งหลายคู่ในข้อ 8 ก็ส่งผลเสียต่อเราอย่างนึงนะ
คือมันทำให้เราต้องอ่านนิยายเรื่องนี้สองรอบน่ะ 555 แต่อันนี้อาจจะไม่ได้มีผลกับนักอ่านคนอื่นๆ
คือนักอ่านคนอื่นๆอาจจะให้ความสำคัญกับการอ่านนิยายเป็นหลัก
และอ่านนิยายเรื่องนี้จบในเวลาอันรวดเร็ว
แต่พอดีเราไม่ได้เป็น “นักอ่าน” ไง เราเป็น “นักดูหนัง”
เพราะฉะนั้นเราก็เลยจัด priority ของชีวิตให้กับการดูหนังเป็นหลัก
เราก็เลยไม่มีเวลาอ่านนิราศมหรรณพแบบรวดเดียวจบ บางสัปดาห์เราอ่านไป 50 หน้า
แล้วก็หยุดอ่านไปเลยเป็นเดือนเพราะเจอเทศกาลหนังติดต่อกันหลายงาน แล้วพอกลับมาอ่านอีก
เราก็เลยงงๆ ลืมอะไรหลายอย่างไปแล้ว เพราะนิยายมันมีรายละเอียดเยอะมาก,
มีหลายปมปริศนาลับ, มีตัวละครร้ายกาจหลายตัว, มีคู่ตบหลายคู่
สรุปว่าพอเรามีเวลาอ่านรอบแรกจนจบ เราก็เลยงงๆ เพราะกว่าเราจะอ่านจบ
เราก็ลืมเนื้อเรื่องหลายอย่างไปแล้ว ผลก็คือเราก็เลยต้องพลิกอ่านแบบผ่านๆตาในรอบสอง
เพื่อทบทวนว่า ตกลงมันเกิดอะไรขึ้นบ้างในนิยายเรื่องนี้กันแน่
และเราลืมอะไรไปแล้วบ้าง
แต่อันนี้ไม่ใช่ข้อเสียของนิยายเรื่องนี้นะ เราเขียนถึงจุดนี้ขึ้นมาเพื่อแชร์ประสบการณ์การอ่านของตัวเองแบบขำๆน่ะ
และเราขอสนับสนุนการสร้างนิยายหรือหนังแบบที่มีความซับซ้อนเยอะๆแบบนี้ต่อไป
พอได้พลิกอ่านแบบผ่านๆตารอบสอง เราก็ต้องขอชมว่าปราปต์วาง clues ต่างๆไว้ได้ดีมากตั้งแต่ต้นเรื่องเลยนะ
คือตอนที่เราอ่านรอบแรกแบบเว้นช่วงห่างๆกัน เรามองข้าม clues
ต่างๆไป และก็เลยทำให้งงๆเวลาเฉลยตัวฆาตกรหรือเวลาคลี่คลายปริศนาลับบางอย่าง คือถ้าหากเป็นคนที่อ่านนิยายเรื่องนี้แบบติดต่อกันในเวลาอันสั้น
เขาก็คงจะโยง clues ต่างๆเหล่านี้เข้าด้วยกันได้ง่าย
เพราะมันซ่อนอยู่ใน “รายละเอียด” ของเรื่อง แต่การที่เราอ่านนิยายเรื่องนี้แบบเว้นช่วงห่างกัน
มันทำให้ลืม “รายละเอียด” ของเนื้อเรื่องที่เราอ่านผ่านมาแล้วเมื่อหลายวันหรือหลายสัปดาห์ก่อนน่ะ
และพอเราลืมรายละเอียดของเรื่อง และมองข้าม clues ต่างๆไป
เราก็เลยงงๆเวลามีการเฉลยความลับบางอย่างในเรื่อง
แต่พอเราพลิกอ่านนิยายเรื่องนี้ในรอบสอง เราก็เลยพบว่า อ้อ
จริงๆแล้วคนเขียนเขาแอบใส่ clues บอกใบ้เข้ามาเป็นระยะๆตั้งแต่ต้นเรื่องอยู่แล้วนี่นา
10.ไม่รู้เป็นเพราะตัวเองเป็นนักดูหนังด้วยหรือเปล่า เราเลยอ่านแล้วงงในบางจุด
555 คือปกติเวลาดูหนัง เราจะเห็น “ภาพ” เลยไง แต่การอ่านนิยาย
มันต้องจินตนาการภาพขึ้นเองจากตัวอักษรที่อ่าน และบางทีเราจินตนาการไม่ออก
เราก็เลยงงๆในบางฉากน่ะ
ฉากหนึ่งที่เรางง ก็คือฉากแรกที่สุพรรณกับลายสือปรากฏตัวน่ะ
คือในฉากนั้นเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสองคนนี้เป็นใคร และพอสองคนนี้ปรากฏตัว
และปะทะคารมกัน เราก็จะงงมากๆว่าตกลงแล้วในฉากนี้มีตัวละครกี่คน สองคนหรือสามคน
และใครเป็นคนพูดประโยคไหน หรือใครเป็น “ประธาน” ของ “กริยา” ไหน
แล้วสุพรรณเป็นเลขาของลายสือ หรือลายสือเป็นเลขาของสุพรรณ หรือใครเป็นเลขาของราฆพ
แต่พออ่านรอบสอง เราถึงค่อยหายงง และนึก “ภาพ” ออกว่า อ๋อ ในฉากนั้นมีตัวละครสามคน
คือลายสือ, สุพรรณ และเลขานุการ และก็อ่านแล้วเข้าใจว่า
ใครเป็นประธานของกริยาไหนในฉากนั้น 555
11.การอ่านรอบสองทำให้เข้าใจวิธี “การหลอก” ของคนเขียนด้วย คือในบางฉาก
คนเขียนเขียนว่า “หญิงสาว” ทำอย่างโน้นอย่างนี้ ซึ่งเราก็จะเข้าใจผิดว่า “หญิงสาว”
คือตัวละครตัวนั้นตัวนี้ แต่พออ่านรอบสองแล้วถึงรู้ว่าไม่ใช่
ที่แท้มันหญิงสาวคนละคนกับที่เรานึกไว้
ซึ่งวิธีการแบบนี้มันเป็นการใช้ประโยชน์จากคุณลักษณะเฉพาะของนิยายนะ
เพราะในหนัง/ละครทีวีมันทำแบบนี้ไม่ได้ มันเป็นลักษณะเฉพาะของสื่อต่างประเภทกัน คือถ้าเป็นหนัง
เราจะเห็นเลยว่ามันเป็น “หญิงสาว” คนไหน แต่ถ้าหากเป็นในนิยาย มันสามารถเล่นกับ “คำสรรพนาม”
ได้ มันสามารถใช้คำเพื่อสร้างความกำกวมให้กับประธานของแต่ละประโยคได้
แต่ถ้าหากเป็นในหนัง/ละครทีวี มันจะยากขึ้นมาหน่อยในการเล่นกับอะไรแบบนี้
คือข้อ 10 กับ 11 ที่เราเขียนไว้นี้
เหมือนเป็นการเปรียบเทียบข้อดี/ข้อด้อยระหว่างหนังกับนิยายนะ คือข้อ 10
เหมือนเป็นข้อด้อย เพราะเวลาอ่านนิยาย เราจินตนาการภาพไม่ออก
งงๆว่าใครเป็นประธานของกริยาไหน แต่ข้อ 11 เหมือนเป็นข้อดีของนิยาย
เพราะในบางครั้งนิยายก็สามารถใช้ประโยชน์จาก “ความกำกวมของประธานของประโยค”
ได้เหมือนกัน
12.การตัดต่อฉากในนิยายเรื่องนี้ก็น่าสนใจดี
คือนอกจากมันจะเป็นการตัดต่อเพื่อสร้างความลุ้นระทึกแบบในกาหลมหรทึกแล้ว
มันยังมีการตัดต่อแบบที่ตัวละครพูดประโยค A ในฉากนึง
แล้วตัดไปที่ตัวละครอีกตัวพูดประโยค B ในอีกฉากนึง
โดยที่ประโยค A กับประโยค B มีความสอดคล้องหรือตอบรับกันด้วย
ทั้งๆที่ตัวละครในสองฉากนี้ไม่ได้สนทนากัน เราไม่รู้เหมือนกันว่ามันมีศัพท์เฉพาะที่ใช้เรียกการตัดต่อแบบนี้หรือเปล่า
แต่มันน่าจะมีศัพท์เฉพาะนะ
เพราะการตัดต่อแบบนี้ก็ดูเหมือนน่าจะพบเห็นได้ในนิยาย/หนัง/ละครทีวีหลายเรื่องเหมือนกัน
13.ชอบไอเดียภาคผนวกมากๆ เราเข้าใจว่าคุณเล็กไม่มีตัวตนจริงใช่ไหม
และร้อยกรองนิราศมหรรณพในช่วงท้ายเรื่อง
คือคุณปราปต์แต่งขึ้นมาเองโดยดัดแปลงมาจากนิราศเมืองแกลง
แต่ถ้าหากเราเข้าใจผิดก็บอกมาได้นะ คือเราเข้าใจว่าคุณเล็กไม่มีตัวตนจริง
แต่นิยายเรื่องนี้ทำให้เราไม่แน่ใจ 100% เต็มว่าคุณเล็กมีตัวตนจริงหรือเปล่า
555
14.อยากให้มีการสร้างภาคต่อ แบบ Marvel Universe นะ
555 เพราะนิราศมหรรณพทิ้งเชื้อไว้ในการสร้างภาคต่อ หรือแม้แต่ภาค prequel ได้เยอะมาก โดยเฉพาะตัวละครพ่อของฆาตกร คือเราเดาว่าตัวละครพ่อของฆาตกร+ตัวละครที่เคยเจอกับพ่อของแฮร์ริสัน+ประโยคสุดท้ายของนิยายเรื่องนี้มีความสัมพันธ์กัน
แต่เราอาจจะเดาผิดก็ได้
ตัวละครหญิงตัวหนึ่งในเรื่องก็เอื้อให้มีการสร้างภาคต่อด้วย เพราะดูเหมือนตัวละครหญิงที่มีนิสัยชั่วร้ายตัวหนึ่งในเรื่อง
อาจจะกลายเป็นผู้ที่มีพลังเหนือมนุษย์ขึ้นมาก็ได้ (จากการปลูกถ่าย stem cell หรืออะไรทำนองนี้)
ในภาคต่อๆไป คือแค่อีนี่เป็นคนธรรมดา อีนี่ก็ร้ายกาจมากพอแล้ว
แล้วถ้าอีนี่มีพลังเหนือมนุษย์ขึ้นมาอีก มันก็คงจะต้องมันส์ยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน
15. ชอบ “ผลพลอยได้” จากการส่ง message เรื่องความแตกต่างในนิยายเรื่องนี้ด้วย คือเราชอบมากๆที่นิยายเรื่องนี้
นอกจากจะโยงวรรณคดีไทย, ประวัติศาสตร์ไทย, วัดวาอารามไทย และปัญหาสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกันแล้ว
มันยังชูประเด็นเรื่องการยอมรับความแตกต่างหลากหลายด้วย ทั้ง
15.1 ความแตกต่างด้านความคิดเห็นทางการเมือง
15.2 ความแตกต่างด้าน species
15.3 ความแตกต่างระหว่างผู้เป็นโรคร้ายกับผู้ไม่เป็นโรคร้าย
15.4 ความแตกต่างระหว่างคนใบหน้าปกติกับคนที่มีใบหน้าไม่ปกติ
15.5 ความแตกต่างระหว่าง heterosexual กับ homosexual
15.6 ความแตกต่างระหว่างคนพิการกับคนไม่พิการ
แต่ที่เราเขียนว่า เราชอบ “ผลพลอยได้” ของความพยายามจะส่ง messages นี้
ก็คือว่า เรามองว่าตัว message เรื่อง “การยอมรับความแตกต่างหลากหลาย”
นั้น ในตัวมันเอง ไม่ใช่ message ที่โดนใจเราเท่าไหร่นะ
เพราะมันเป็นสิ่งที่เรารู้อยู่แล้วน่ะ มันเหมือนเราเชื่ออยู่แล้วว่า
เราควรจะยอมรับความแตกต่างหลากหลาย
เพราะฉะนั้นพอนิยายเรื่องนี้บอกในสิ่งที่เราเชื่ออยู่แล้ว
มันก็เลยไม่ได้ทำให้เราเรียนรู้อะไรใหม่ๆ หรือเกิดแง่คิดอะไรใหม่ๆ มันเพียงแค่เห็นด้วยกับสิ่งที่เราเชื่ออยู่แล้ว
ในส่วนของวิธีการส่ง message นี้
เราว่ามันก็ค่อนข้างชัดนะ หรืออาจจะ “ชัดจนเกินไป” ในบางจุดด้วย 555
แต่เราว่าความพยายามจะส่ง message นี้ในนิยายเรื่องนี้
มันก่อให้เกิดผลพลอยได้ที่เข้าทางเรามากๆ คือมันทำให้ตัวละครแต่ละตัวดูมีมิติเพิ่มขึ้นน่ะ
มันไม่ได้เป็นเพียงตัวละครคนธรรมดาที่ต้องรับมือกับปริศนาลี้ลับ และ “ปริศนาลี้ลับ”
เป็นเพียงปัญหาเดียวในชีวิตของพวกเขา แต่มันทำให้ตัวละครเหล่านี้มีปัญหาอื่นๆในชีวิตด้วย
ตัวละครแต่ละตัวต้องรับมือกับปัญหาอื่นๆที่ร้ายแรงในชีวิตของตัวเองด้วย
ทั้งปัญหาความพิการ, โรคร้าย, รสนิยมทางเพศ ฯลฯ
สรุปว่า เราเฉยๆกับตัว message และวิธีการส่ง message
แต่เราชอบสุดๆที่ความพยายามจะส่ง message นี้มันไปทำให้ตัวละครหลายๆตัวมีสีสันมากขึ้น,
มีมิติมากขึ้น และดูเป็นมนุษย์จริงๆมากขึ้น
16.เออ เกือบลืมไปว่านิราศมหรรณพกับกาหลมหรทึกมี “ข้อด้อย”
อย่างนึงที่ตรงกัน นั่นก็คือแรงจูงใจของฆาตกรต่อเนื่อง แต่ก็ไม่เชิงเป็นข้อด้อยนะ
คือเราจะไม่อินกับแรงจูงใจของฆาตกรต่อเนื่องในนิยายของสองเรื่องนี้น่ะ แต่ไม่ใช่ว่ามัน
“เป็นไปไม่ได้” นะ
คือฆาตกรต่อเนื่องมันก็ต้องมีความคิดที่ผิดหลักตรรกะเหตุผลอยู่แล้วล่ะ
เพราะฉะนั้นพอฆาตกรต่อเนื่องมันเฉลยแนวคิดของมันออกมา เราก็เลยจะรู้สึกว่า “ทำไมต้องทำถึงขั้นนี้วะ
ถ้าเป็นกู กูคงไม่เลือกใช้วิธีการแบบนี้หรอก” คือถ้าหากมองอย่างผิวเผิน มันเหมือนกับว่าฆาตกรต่อเนื่องทำสิ่งต่างๆขึ้นมา
“เพื่อความสนุกของคนอ่าน” น่ะ
แทนที่จะทำสิ่งต่างๆขึ้นมาเพื่อตอบสนองแรงจูงใจของตนเองจริงๆ แต่เราก็ไม่คิดว่านี่เป็นข้อด้อยที่ร้ายแรงนะ
เพราะอะไรแบบนี้มันก็เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ในนิยายและหนังทั่วๆไป 555 และอีกอย่างหนึ่งก็เป็นเพราะว่า
เราไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำหรอกว่า การที่ฆาตกรต่อเนื่องในนิยายสองเรื่องนี้ทำในสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผล
ถือเป็นข้อด้อย เพราะฆาตกรต่อเนื่องโดยทั่วๆไปในโลกแห่งความเป็นจริง มันก็ทำในสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผลอยู่แล้ว
17.อีกจุดที่ชอบสุดๆในนิราศมหรรณพ ก็คือชอบความโหยหาพระเอกของจุลเกตุน่ะ
คือเราว่านิยายเรื่องนี้ไม่สามารถนำเสนอความรักหรือความโรแมนติกระหว่างพระเอก-นางเอกได้อย่างทรงพลังนะ
คือเราจะไม่อินกับความรักความโรแมนติกระหว่างตัวละครเชลียงกับจุลเกตุขณะที่พวกเขาอยู่ด้วยกัน
แต่เราจะอินสุดๆกับ ความผูกพันระหว่างตัวละครสองตัวนี้
เมื่อพวกเขาไม่ได้อยู่ด้วยกันน่ะ
มันเหมือนกับว่านิยายเรื่องนี้ไม่ทรงพลังในการนำเสนอ presence ของคนรัก
แต่ทรงพลังสุดๆในการนำเสนอ absence ของคนรัก ซึ่งในแง่หนึ่งมันก็ล้อกับความเป็น
“นิราศ” ด้วย เพราะเราเข้าใจว่า “นิราศ” มันเด่นที่การนำเสนอ absence ของคนรัก มากกว่า presence ของคนรักเช่นกัน
คือพออ่านจนจบ เราก็รู้สึกอินไปกับ “ความผูกพัน” ของจุลเกตุที่มีต่อเชลียงนะ
แต่เราว่าความอินนี้ไม่ได้เกิดจากการอินกับความรักระหว่างตัวละครสองตัวนี้ซะทีเดียว
แต่มันเป็นเพราะ “กลวิธีในการประพันธ์” มันเก่งน่ะ การใส่ “รูปภาพ”
นั้นเข้ามาในช่วงท้ายของเรื่อง หรือกลวิธีการเขียนบางอย่าง มันช่วยเร้าอารมณ์ bittersweet ได้ดีมากๆ
และเราก็อินสุดๆ เวลาที่จุลเกตุคิดถึง “ผู้ชาย” ในจินตนาการน่ะ
เราว่ามันตรงกับตัวเราเองมากๆ เพราะตัวเราเองตั้งแต่เป็นเด็กชายตัวน้อยๆ
ก็เฝ้าใฝ่ฝันถึง “กึ่งพี่ชายกึ่งผัว” อะไรแบบนี้เหมือนๆกัน 555
การเขียนอะไรแบบนี้นี่มันตอบสนองความพาฝันของเราได้ดีที่สุดเลย:
“ไม่ใช่ภาพ เป็นแค่ความรู้สึก ความรู้สึกระลึกถึงใครบางคน แข็งแรง
สูงใหญ่ ไม่อาจนึกว่าหน้าตาหรือรูปร่างเป็นอย่างไร แต่บอกได้ว่าแสนคุ้นเคย เป็นคนที่เธอเคยรอคอย”
“แล้วค่อยเจอกันใหม่ พี่อยู่ใกล้ๆเธอนี่เอง”