Monday, July 05, 2021

HOME (2021, Poom Thosamosorn, 28min, A+30)

HOME บ้าน (2021, Poom Thosamosorn ภูมิ โถสโมสร, 28min, A+30)

 

1.งดงามมาก ๆ เรารู้สึกว่าหนังเรื่องนี้เหมือนเป็นการบันทึกความทรงจำ, ความประทับใจ และจินตนาการที่มีต่อบ้านเก่าที่ผู้กำกับเคยใช้ชีวิตอยู่ (เราไม่แน่ใจเรื่องจุดประสงค์ของหนังนะ อันนี้เราเดาเอาเอง) โดยฉากหลังของมันเป็นคอนโดโทรม ๆ แห่งนึง หนังเล่าเรื่องของชายหนุ่มชื่อมาวิน (อันนี้เราก็ไม่แน่ใจชื่อตัวละครเหมือนกัน) ที่กลับมาเยี่ยมพ่อกับย่าที่คอนโดแห่งนี้ และเขาก็ถือโอกาสนี้ถ่ายหนังที่คอนโดแห่งนี้ด้วย เขาได้เจอกับเพื่อนเก่าชื่อเอสโดยบังเอิญ เอสก็เลยช่วยเขาถ่ายหนัง แต่เนื้อหาส่วนนี้เป็นเพียงครึ่งนึงของหนังเท่านั้น ส่วนอีกครึ่งหนึ่งของหนังเป็นฉากต่าง ๆ ในคอนโดแห่งนี้ที่เหมือนไม่ปะติดปะต่อกัน ฉากของผู้คนต่างๆ ที่ไม่รู้ว่าเกี่ยวข้องกันยังไง ฉากที่ไม่รู้ว่าฝันหรือจริง อดีตหรือปัจจุบัน และมีฉากที่สิ่งไม่มีชีวิตพูดคุยกันไปมาด้วย โดยฉากที่ไม่ปะติดปะต่อกันเหล่านี้จะถูกสอดแทรกเข้ามาในหนังเป็นระยะ ๆ

 

2.แค่ฉากแรกของหนังเราก็ชอบสุด ๆ แล้ว ฉากที่มาวินยืนอยู่ในห้องโทรม ๆ,จ้องผนังสีแดง, ออกไปยืนที่ระเบียง, เก็บซากนกตายไปโยนทิ้ง ฉากนี้ใช้เวลาหลายนาที และดูทรงพลังมาก มันถ่ายทอด “บรรยากาศของสถานที่” ได้อย่างทรงพลังมาก ๆ และคุมแสง,เงาอะไรพวกนี้ได้อย่างลงตัว งดงามมาก ๆ

 

แต่ฉากแรกนี้มันก็ทำให้เรานึกถึงหนังสั้นไทยที่เราชอบสุด ๆ เรื่องอื่นๆ ด้วยนะ โดยเฉพาะพวกหนัง “ความผูกพันที่มีต่อบ้านเก่า ๆ” ของผู้กำกับจากลาดกระบัง 55555 อย่างเช่นเรื่อง เชื้อราในร่มบ้าน (2015, Pasit Tandaechanurat), LIVE LIKE MISSING (2015, Karnchanit Posawat), FATHER IS A BUILDER พ่อเป็นคนสร้างบ้าน (2018, Banvithit Wilawan) อะไรพวกนี้ คือฉากแรกมันทำให้เรานึกว่า หนังเรื่องนี้อาจจะไปในทางคล้าย ๆ กับหนังไทยกลุ่มนี้น่ะ ซึ่งเป็นกลุ่มหนังที่เราชอบสุด ๆ เพียงแต่ว่าอาจจะเป็นกลุ่มหนังที่มีคนเคยทำกันมาบ้างแล้ว

 

2.แต่ปรากฏว่าเราคิดผิด เพราะพอหนังเรื่องนี้นำเสนอฉากสิ่งไม่มีชีวิตคุยกัน เราก็รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มันมีความแปลก แตกต่าง มีความโดดเด่นเป็นตัวของตัวเองขึ้นมาในทันที ชอบไอเดียนี้มากๆ

 

แต่เราก็ไม่แน่ใจว่า สิ่งที่มันคุยกันในหนังเรื่องนี้ มันคืออะไรกันแน่นะ มันเป็นประตูสองบานคุยกัน, ฝาผนังคุยกัน หรือห้องสองห้องพูดคุยกันเอง แต่พอเราได้ยินเอสกับมาวินคุยกันในฉากต่อมาเกี่ยวกับบานประตู เราก็เลยเดาว่าสิ่งไม่มีชีวิตที่คุยกันในหนังเรื่องนี้อาจจะเป็นประตูสองบานคุยกันมั้ง

 

3.ชอบการนำเสนอความก้ำกึ่งระหว่างอดีตกับปัจจุบันด้วย โดยเฉพาะฉากเด็ก ๆ ที่โผล่มาในหนัง คือเวลามีฉากเด็กโผล่มา เราจะไม่แน่ใจว่าเด็ก ๆ เหล่านี้อยู่ในปัจจุบันขณะเดียวกับเอสและมาวิน หรือว่าเด็ก ๆ เหล่านี้คือเอสและมาวินในอดีตกันแน่ เพราะมันมีฉากเด็กพับเรือกระดาษ และต่อมาเอสกับมาวินก็ดูเหมือนไปเล่นเรือกระดาษ มันก็เลยดูราวกับว่าฉากเด็ก ๆ เหล่านี้มันเป็นอดีตหรือปัจจุบันก็ได้

 

4.ฉากบางฉากก็ไม่รู้ว่า surreal โดยไม่ได้ตั้งใจหรือเปล่า แต่เราชอบมาก ๆ อย่างเช่นฉากชายอ้วน ซึ่งดูเผิน ๆ เหมือนมัน realistic แต่เรารู้สึกว่ามันแปลกตรงที่

 

4.1 เขาได้ยินเสียงปืน แต่เขาไม่ทำอะไร เหมือนเขาไม่ได้สนใจ และไม่ได้กลัวอะไร

 

4.2 ทำไมเขาต้องนอนบนพื้น แทนที่จะนอนบนเตียง

 

4.3 ทำไมเขาต้องทำเหมือนจะนอนหลับ ทั้ง ๆ ที่ต้มหม้อแกงหรืออะไรสักอย่างอยู่ใกล้ ๆ คือเราคิดว่าการนอนหลับใกล้ๆ หม้อต้มแกงที่น่าจะใกล้เดือดพล่านแบบนี้มันดูผิดปกติวิสัยนะ 5555

 

5.ส่วนฉากที่ดู “เหนือจริง” แบบจงใจ เราก็ชอบสุด ๆ ซึ่งก็คือฉากโสเภณีที่พอเอากับลูกค้าเสร็จ ก็ลุกขึ้นมายืนโพสท่าอย่างทรนงองอาจ

 

เราชอบฉากนี้มากที่สุดในหนังน่ะ เราว่ามันดูลงตัว และทรงพลังมาก ๆ การจัดแสงสีในฉากนี้ก็ดูงดงามลงตัวดี บางทีอาจจะเป็นเพราะหนังเรื่องนี้มันเป็นหนังทดลองแนวเศษเสี้ยวความทรงจำมั้ง การนำเสนอฉากที่มันดูเหนือจริงหน่อยๆ แบบนี้ มันเลยดูลงตัวกับ form โดยรวมของหนัง ในขณะที่ฉากอื่น ๆ ในหนังพอมันดู realistic มันเลยดูแห้ง ๆ จืด ๆ กว่าฉากนี้อยู่บ้าง

 

เราว่าฉากนี้ทำให้เรานึกถึงภาพวาด MORNING SUN ของ Edward Hopper ด้วย มันงดงามมาก ๆ

 

6.ส่วนฉากที่เราชอบสุด ๆ เป็นอันดับสอง ก็คือฉากบานประตูคุยกัน และฉากที่เราชอบมากเป็นอันดับสาม ก็คือฉากที่กล้องถ่ายเงาสะท้อนเลื่อมพรายของ “น้ำ” ที่สะท้อนไปบนเพดานทางเดิน/เพดานตึก เราว่าฉากนี้มันคล้าย ๆ กับมุมมองของเราเวลาเห็น “สิ่งงดงามเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวัน” น่ะ และเราชอบหนังที่ทอดสายตามองความงดงามของสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวันแบบนี้

 

7.ชอบความไม่อธิบายของหนังด้วย โดยเฉพาะในส่วนของตัวละครหญิงสาว เราไม่รู้ว่าเธอร้องไห้เพราะอะไรกันแน่ เธอมีอดีตอะไรกับสถานที่แห่งนี้กันแน่ ส่วนตัวเรานั้นแอบสงสัยว่า เธอเป็นแฟนของผู้ชายที่ยิงตัวเองตายหรือเปล่า เพราะเหมือนเธอมาร้องไห้ในจุดที่เขายิงตัวตาย

 

8.ชอบที่หนังเหมือนปล่อยให้ผู้ชมจินตนาการไปเองก่อน แล้วค่อยมาเฉลยทีหลังด้วย ซึ่งก็คือฉากชายชรารดน้ำต้นไม้ เพราะตอนแรกเราจะไม่รู้ว่าชายชราคนนี้คือใคร แล้วหนังค่อยมาเฉลยทีหลังผ่านทางบทสนทนาของตัวละครว่าชายชราคนนี้อาจจะเป็นคนคนนึงในความทรงจำของมาวิน

 

9.ฉากการใช้หมากฝรั่งติดกระจก ก็เป็นฉากที่ดู realistic + surreal คล้าย ๆ ฉากผู้ชายอ้วนเลย คือสองฉากนี้ถ่ายแบบ realistic ไม่ได้จัดแสงสีให้ดูเว่อร์เกินจริง นักแสดงก็เล่นแบบสมจริง แต่สิ่งที่ตัวละครทำมัน weird ดี

 

10.สรุปว่าชอบหนังอย่างสุด ๆ ชอบที่หนังถ่ายทอดความทรงจำ ความผูกพันที่มีต่อบ้านเก่าออกมาในแบบเป็น fragments แบบนี้ เพราะเราว่าความทรงจำของเราที่มีต่อช่วงเวลาต่าง ๆ ในอดีต มันก็เป็น fragments แบบนี้เหมือนกัน คือมันมีฉากบางฉาก, ภาพบางภาพ, moments บาง moments, ความรู้สึกบางความรู้สึกที่เราจดจำได้จากอดีต แต่ moments ที่เราประทับใจจากอดีตเหล่านี้ มันไม่ได้เรียงกันเป็น linear narrative ในหัวของเราน่ะ อย่างเช่น เราชอบ “กระเป๋าผ้าร่ม” ที่แม่ชอบใช้เมื่อ 40 ปีก่อน แต่เราก็ไม่ได้มี narrative อะไรเกี่ยวกับกระเป่าผ้าร่มนี้ หรือมันไม่ได้มีเหตุการณ์ตื่นเต้นสำคัญอะไรเกี่ยวกับกระเป๋าผ้าร่มนี้ หรือสมมุติว่าเราชอบ moments ที่เพื่อนคนนึงพูดกับเราเมื่อราว 30 ปีก่อนว่า “นัดไว้ทำไมไม่มา อีจิตรหายหน้าไปหาผัวใหม่” แต่เราก็คงไม่สามารถขยาย moments ที่เราประทับใจนี้ให้เป็นฉากที่เล่าเรื่องราวอย่างเป็นจริงเป็นจังได้ คือ moments หรือสิ่งต่าง ๆ ที่เราประทับใจจากในอดีตนั้น หลายครั้งมันเป็น fragments สั้น ๆ น่ะ

 

เราก็เลยชอบที่หนังเรื่องนี้นำเสนอความทรงจำหรือความประทับใจที่มีต่อสถานที่ในอดีต โดยยังคงความเป็น fragments สั้น ๆ ของมันเอาไว้ ไม่ปะติดปะต่อกันเป็นเส้นเรื่องเดียวที่อธิบายทุกอย่างได้ง่าย ๆ เราว่ามันสอดคล้องกับมุมมองของเราที่มีต่อความทรงจำของตัวเองเหมือนกัน

 

และเราก็รู้สึกเหมือนกับว่าความคลุมเครือ, ความเป็น fragments, ความเหนือจริง และการทับซ้อนกันระหว่างอดีตกับปัจจุบันในหนังเรื่องนี้ มันก่อให้เกิดพลังบางอย่างที่ touch เราได้อย่างมาก ๆ น่ะ คือมันเหมือนหนังเรื่องนี้เลือกใช้วิธีการแบบ “กวี” น่ะ

 

และเราว่าพลังของร้อยแก้วกับร้อยกรองหลายครั้งมันแตกต่างกัน หรือพลังของหนังแบบร้อยแก้ว (หนังเล่าเรื่องทั่วไป) กับหนังแบบร้อยกรอง (หนังทดลอง/หนังเชิงกวี) มันแตกต่างกัน  คือถ้าหากหนังเรื่องนี้เลือกใช้วิธีการแบบร้อยแก้ว ซึ่งก็คือการเล่าเรื่องเป็นเส้นตรง เล่าว่าตัวละครตัวไหนเป็นใคร แต่ละตัวมีที่มาอย่างไร ฉากนี้อยู่ในอดีตหรือปัจจุบัน และทำไมตัวละครถึงทำอย่างนั้น อย่างนี้ หนังมันก็จะทรงพลังในแบบร้อยแก้วน่ะ ซึ่งจริง ๆ แล้วเราก็ชอบหนังทั้งแบบร้อยแก้วและร้อยกรองนะ เพียงแต่ว่า เรารู้สึกว่า หนังแบบร้อยแก้วโดยทั่วไป เราสามารถอธิบายได้ง่ายกว่าน่ะว่า เราชอบมันเพราะอะไร จุดไหน แต่หนังทดลอง/หนังเชิงกวีอย่างหนังเรื่องนี้นั้น มันมักจะลงลึกไปแตะจิดใต้สำนึก หรืออะไรต่าง ๆ ที่เราไม่สามารถอธิบายได้ หรือไม่สามารถเข้าใจได้ในจิตวิญญาณ, อารมณ์, ความรู้สึกของตัวเองน่ะ เราก็เลยชอบหนังเชิงกวีแบบนี้มาก ๆ เพราะเหมือนหนังพวกนี้มันโดน “จิตใต้สำนึก” ของเรามากกว่าหนังแบบร้อยแก้ว แต่เราก็จะอธิบายได้ยากกว่าน่ะแหละว่า อะไรในหนังกลุ่มนี้ที่มันทำงานกับเรา

 

ก็เลยสรุปว่า ชอบพลังแบบเชิงกวีของหนังเรื่องนี้อย่างมาก ๆ ดีใจมาก ๆ ที่มีคนทำหนังแบบนี้ออกมา

 

11.ขอจบด้วยสิ่งที่เราถนัด นั่นก็คือการทำ list ว่า ถ้าหากเราจะฉายหนังเรื่องนี้ เราอยากฉายหนังเรื่องนี้ควบกับหนังเรื่องไหนบ้าง

 

11.1 HOTEL MONTEREY (1973, Chantal Akerman, Belgium/USA, 65min)

ไม่มีคำบรรยายใด ๆ สำหรับหนังเรื่องนี้ จุดสุดยอดจุดหนึ่งของ “ภาพยนตร์”

 

11.2 THE LONG DAY CLOSES (1992, Terence Davies, UK)

เพราะหนังเรื่องนี้เน้นถ่ายทอดความทรงจำที่ผู้กำกับมีต่ออดีตของตนเองเหมือนกัน และนำเสนอมันออกมาในแบบเชิงกวีได้อย่างงดงามมาก ๆ

 

11.3 THE CORRIDOR (1995, Sharunas Bartas, Lithuania, 85min)

เพราะหนังเรื่องนี้เน้นถ่ายบรรยากาศในอาคารห้องพักโทรม ๆ เหมือนกัน และหนังเรื่องนี้ก็แทบไม่ได้เล่าเรื่องอะไรเลยด้วย แต่ถือเป็นหนึ่งในหนังที่งดงามที่สุดเท่าที่เราเคยดูมาในชีวิตนี้

https://www.imdb.com/title/tt0110278/?ref_=nv_sr_srsg_0

 

11.4 AS I WAS MOVING AHEAD OCCASIONALLY I SAW BRIEF GLIMPSES OF BEAUTY (2000, Jonas Mekas, documentary, 4hours 48mins)

หนังเรื่องนี้ก็เป็นการเก็บรวบรวม “เศษเสี้ยว” ที่น่าประทับใจในชีวิตของผู้กำกับเอาไว้เหมือนกัน แต่แตกต่างกันตรงที่ว่า Mekas เคยบันทึกเศษเสี้ยวเหล่านั้นเอาไว้ในรูปแบบของ home movies ส่วนผู้กำกับคนอื่น ๆ อย่างเช่น Terence Davies และผู้กำกับ HOME ต้องใช้วิธี reconstruct เศษเสี้ยวแห่งความทรงจำเหล่านั้นขึ้นมาใหม่

 

11.5 THE MILLION DOLLAR HOTEL (2000, Wim Wenders)

เราว่าถ้าหากผู้กำกับหนังเรื่องนี้เลือกที่จะถ่ายทอดชีวิตคนในคอนโดเก่าให้กลายเป็น “หนังเล่าเรื่อง” มันก็อาจจะออกมาเป็นแบบ THE MILLION DOLLAR HOTEL ซึ่งก็อาจจะไม่ดีเท่าแบบที่เป็นอยู่นี้

 

11.6 A PLACE OF DIFFERENT AIR สถานต่างอากาศ (2008, Chaloemkiat Saeyong, 24min) หนังทดลองที่ผู้กำกับถ่ายบ้านตัวเอง (ถ้าเข้าใจไม่ผิด)

 

11.7 ATMOSPHERE IN MY HOME AT 6AM บรรยากาศยามเช้าที่บ้านตอน 6 โมง (2011, Wachara Kanha, 16min)

 

11.8 THINGS (2014, Ben Rivers, UK)

ผู้กำกับถ่ายสิ่งต่าง ๆ ในบ้านของตัวเอง

 

11.9 HEAVEN NO. 1504  AND SEDIMENTATION OF THE RENEWAL (2018, Sippakorn Aotrakul)

เหมือนผู้กำกับหนังเรื่องนี้เอาอดีตและความทรงจำของตนเองมาดัดแปลงเป็นหนังเชิงกวีที่งดงามสุด ๆ

 

11.10 LAST NIGHT I SAW YOU SMILING (2019, Kavich Neang, Cambodia, documentary)

เพราะหนังเรื่องนี้ถ่ายอาคารที่พักเก่าโทรมได้ออกมาทรงพลัง, งดงาม และมีจิตวิญญาณมาก ๆ เหมือนกัน


No comments: