Wednesday, February 09, 2005

LA FEMME DE DUCK

--LA FEMME DE GILLES

ชอบหนังเรื่องนี้มากๆเลยค่ะ ชอบการแสดงของนางเอกในเรื่องนี้มาก ตอนจบก็เยี่ยมมากๆ

ฉากที่รู้สึกทึ่งกับการแสดงของ EMMANUELLE DEVOS อย่างถึงขีดสุดคือฉากในช่วงเกือบๆจะจบเรื่อง ในฉากนั้นนางเอกเพิ่งปะทะกับน้องสาว และน้องสาวก็ด่านางเอกว่าถ้านางเอกรู้ว่าผัวมีชู้ แล้วทำไมถึงปล่อยให้เขาทำอย่างนั้นต่อไป เรื่องเลวร้ายที่เกิดขึ้นเป็นเพราะนางเอกรู้เห็นเป็นใจด้วยเช่นกัน

หลังจากด่ากันเสร็จ กล้องก็ถ่ายให้เห็นใบหน้าของนางเอกขณะเดินกลับบ้าน และใบหน้าของ DEVOS ในฉากนั้นเป็นใบหน้าที่บอกไม่ถูกจริงๆว่าเธอกำลังอยู่ในอารมณ์อะไร มันเป็นใบหน้าที่บรรจุอารมณ์ของมนุษย์ที่ยากจะหาคำคุณศัพท์ใดมาบรรยายได้

DEVOS เหมาะจริงๆกับบทที่แสดงอารมณ์แบบกำกวม ไม่ใช่อารมณ์แบบโกรธจัด, ร้องไห้โฮ, ยิ้มแป้นแล้น เธอเคยฝากฝีมือทางการแสดงที่ยอดเยี่ยมมากไว้ในช่วงครึ่งแรกของ READ MY LIPS (JACQUES AUDIARD, A-) แต่การแสดงของเธอที่ดิฉันชอบมากที่สุด คือตอนที่เธอรับบทประกอบในหนังเรื่อง MY SEXUAL LIFE (ARNAUD DESPLECHIN, A+) ใบหน้าของเธอในหนังเรื่องนั้นมันติดตาตรึงใจมากๆ โดยเฉพาะในฉากที่เธอไม่พูดแล้วแสดงอาการบอกตัวละครหนุ่มหล่อคนนึงว่าเธอเจ็บคอ (ดิฉันไม่รู้ว่าฉากนี้ใส่เข้ามาในหนังทำไม ถ้าตัดฉากนี้ออกไป เนื้อเรื่องในหนังก็เหมือนเดิม แต่ปรากฏว่านี่คือฉากที่ฝังใจมากที่สุด) และในฉากที่เธออาบน้ำแล้วก็พักผ่อนอยู่ในห้องคนเดียวอย่างมีความสุข (ฉากนี้ก็ไม่เห็นจะเกี่ยวกับเนื้อเรื่องเหมือนกัน แต่ชอบฉากนี้สุดๆ)

ย้อนกลับมาที่ GILLES’ WIFE

ฉากนางเอกสารภาพบาปเป็นฉากที่ให้อารมณ์เสียดสีได้อย่างเจ็บแสบมากๆ

ฉากของทหารหนุ่มที่มาฝึกซ้อมอยู่ข้างบ้านนางเอกก็เป็นฉากที่ให้อารมณ์ทั้งสุขและเศร้าในคราวเดียวกัน สุขที่มีชายหนุ่มมาชอบนางเอก เศร้าที่นางเอกคงไม่สามารถหาความสุขอะไรได้มากไปกว่าเดิม เธอคงทำได้เพียงแค่ยิ้มให้ทหารหนุ่มคนนั้น แค่นั้นเอง

บทของ GILLES ในเรื่องนี้ทำให้นึกถึงบทของมาร์ลอน แบรนโดใน A STREETCAR NAMEED DESIRE ค่ะ เพราผู้ชายทั้งสองคนนี้เป็นผู้ชายนิสัยไม่ดี กักขฬะ ชั้นต่ำ แต่มีเสน่ห์ทางเพศในแบบดิบเถื่อนรุนแรง รู้สึกว่าผู้กำกับหนังเรื่องนี้เก่งมากที่เลือกดารามารับบทพระเอกนางเอกได้เหมาะมาก CLOVIS CORNILLAC พระเอกหนังเรื่องนี้ไม่ใช่คนหล่อ เขาเหมือนสัตว์ป่าที่ดุร้าย แต่เขาก็มีเสน่ห์

http://www.imdb.com/name/nm0180404/

ก่อนหน้านี้เพิ่งได้ดู CLOVIS CARNILLAC ในหนังเรื่อง A LA PETITE SEMAINE (2003, SAM KARMANN, A-) ซึ่งเขาก็เล่นเป็นผู้ชายกักขฬะดิบเถื่อนและน่ารักในเวลาเดียวกัน
http://www.imdb.com/title/tt0327259/


หนังอีกเรื่องที่เหมาะจะดูควบกับ GILLES’ WIFE อย่างมากๆคือเรื่อง LE BONHEUR (1965, AGNES VARDA, A+) ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการคบชู้และแสดงให้เห็นถึงความเจ็บปวดของภรรยาหลวงเหมือนๆกัน
http://www.imdb.com/title/tt0058985/



--DUCK SEASON (A+)

แหะ แหะ ดิฉันก็ดูหนังเรื่องนี้ไปแค่รอบเดียวเองค่ะ ถ้าหากดิฉันเข้าใจผิดก็ต้องกราบขออภัยเป็นอย่างสูงด้วยจริงๆค่ะ

สิ่งที่ดิฉันเขียนถึงเกี่ยวกับ DUCK SEASON คือ “จินตนาการและความรู้สึกของดิฉันที่มีต่อ DUCK SEASON ค่ะ” ซึ่งก็อาจจะแตกต่างไปจากตัวหนังจริงๆก็เป็นได้ แต่มันคือความรู้สึกจริงๆของดิฉันที่มีต่อหนังค่ะ

ดิฉันเดาว่าโมโกะ เด็กผู้ชายหัวหยิกๆยุ่งๆ ที่ตัวเล็กกว่า แอบชอบฟลามา เด็กผู้ชายเจ้าของห้องที่โตกว่าอยู่ค่ะ ดิฉันเข้าใจว่าอพาร์ทเมนท์นั้นเป็นของฟลาม่า แต่โมโกะเพียงแค่มาเล่นสนุกด้วยในวันนั้นเท่านั้น

โมโกะคือคนที่ชอบขลุกอยู่กับริต้าค่ะ ถ้าจำไม่ผิด (ถ้าจำผิดก็ต้องขออภัยด้วยจริงๆ) มีฉากนึงที่โมโกะกับริต้าจูบกัน แต่ริต้ากลับพบว่าโมโกะไม่ได้คิดถึงเธอ แต่เขากลับไพล่ไปนึกถึง “ความสุขขณะอยู่กับฟลาม่า” ตอนที่เขาจูบเธอ (รู้สึกหนังจะตัดให้เห็นฉากแฟลชแบ็คขณะที่โมโกะกับฟลาม่าเล่นสนุกกันสองต่อสองในช่วงนั้น) และหลังจากนั้นโมโกะก็พยายามหาทางจูบฟลาม่าดูบ้าง (ชอบฉากนี้จริงๆ)

มีผู้ชมหนังเรื่องนี้บางคนก็แสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้ใน IMDB.COM เหมือนกันค่ะ
http://www.imdb.com/title/tt0407246/usercomments


สุดท้ายนี้ก็ต้องขออภัยเป็นอย่างยิ่งค่ะ ดิฉันก็ไม่แน่ใจอะไร 100 % เต็มในหนังเรื่อง DUCK SEASON เหมือนกัน ขอให้คิดเสียว่าสิ่งที่ดิฉันเขียนเป็นเพียง “จินตนาการหลงละเมอเพ้อพกที่มีต่อหนังเรื่อง DUCK SEASON” ก็แล้วกันค่ะ ซึ่งมันอาจจะเป็น “ความเข้าใจผิดที่มีต่อ DUCK SEASON” ก็ได้ แหะแหะแหะ

ฉากคนส่งพิซซ่าหลอนอยู่ในภาพเป็ดก็เป็นฉากที่ติดตามากๆ ฉากนึงค่ะ

จริงๆก็ชอบหลายๆฉากในหนังเรื่องนี้ ซึ่งรวมถึง

1.ฉากที่ตัวละครคนนึงรู้สึกว่าภาพเป็ดมันเคลื่อนไหว แล้วทุกคนก็เลยไปรุมจ้องภาพเป็ดกัน ถ้าจำไม่ผิด กล้องจะฉายให้เห็นภาพเป็ดในฉากนี้ด้วย ตอนนั้นดิฉันเดาว่าเดี๋ยวผู้กำกับหนังเรื่องนี้ต้องทำให้ภาพเป็ดมันเคลื่อนไหวแน่ๆเลย เพื่อจะได้ถ่ายทอดให้ผู้ชมหนังเรื่องนี้ได้เห็นว่าตัวละครเห็นภาพเป็ดเคลื่อนไหวยังไงบ้าง ดิฉันก็เลยพยายามจ้องภาพเป็ดอย่างรุนแรง เพื่อดูว่าอะไรในภาพเป็ดมันเคลื่อนไหวบ้าง ปรากฏว่าไม่เห็นอะไรมันเคลื่อนไหวเลย (หรือดูไม่ทันเองก็ไม่รู้) แต่ก็ประทับใจที่ผู้กำกับทำให้ตัวเอง “เดาทางผิด” ในฉากนี้ รู้สึกว่าโดนหลอกให้จ้องภาพเป็ดตามตัวละครไปด้วย

2.ฉากที่ริต้าพยายามกินขนมอย่างรุนแรงเพื่อหวังว่าตัวเองจะเดาสีไส้ขนมได้ถูกต้อง ตอนนั้นดิฉันเดาว่าริต้าคงจะเดาผิดอยู่ระยะนึง แล้วก็จะเดาถูกในที่สุด แต่ปรากฏว่ายัยริต้ากินไปเป็นร้อยๆชิ้น แล้วก็ยังเดาไม่ถูกซะที ไม่นึกว่าดวงของริต้ามันจะไม่เข้าข้างเธอได้ถึงขนาดนี้

อีกจุดนึงที่ทำให้ติดใจในฉากนี้ก็คือหนังเรื่องนี้เป็นสีที่คล้ายๆสีซีเปียหรือสีขาวดำ เพราะฉะนั้นเราก็เลยมองสีไส้ขนมไม่ออก และบอกไม่ได้ว่าริต้าเดาถูกหรือเปล่า ต้องคอยสังเกตอาการของริต้าเอาเองว่าเธอเดาถูกหรือเดาผิด

3.มีฉากเล็กๆบางฉากในช่วงครึ่งหลังของเรื่องที่ตัวละคร 4 คนเหมือนจะเข้ากันได้ดีและพูดคุยกันอย่างอบอุ่น มีบาง moment ที่ตัวละคร 4 คนนี้เหมือนกับกลายเป็นคนใน “ครอบครัว” เดียวกัน

ชอบหนังที่เกี่ยวข้องกับประเด็น “ครอบครัว” ที่เราเลือกเองค่ะ หนังที่มี moment ของ “คนที่ไม่ใช่ครอบครัวเดียวกัน แต่ก็ทำให้เราอบอุ่นเหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน” เท่าที่นึกออกตอนนี้ก็มีเรื่อง

3.1 WHERE THE HEART IS (2000, MATT WILLIAMS, B+/B)
http://www.imdb.com/title/tt0198021/

ในหนังเรื่องนี้ นาตาลี พอร์ทแมนได้รับความอบอุ่นจากคนแปลกหน้า ซึ่งรวมถึงแอชลีย์ จัดด์ที่ดีกับเธอเหมือนเป็นพี่สาวของเธอ และ STOCKARD CHANNING ที่ดีกับเธอเหมือนกับเป็นแม่ของเธอ


3.2 THE ADVENTURES OF FELIX (Olivier Ducastel + Jacques Martineau)
หนังเล่าเรื่องของชายหนุ่มคนหนึ่งที่ออกเดินทางไปตามหาพ่อของตัวเอง เขาเดินทางผ่านชนบทในฝรั่งเศส และได้พบกับคนแปลกหน้าผู้อารีมากมาย


3.3 LAW OF DESIRE (1987, PEDRO ALMODOVAR, A+)

ถ้าจำไม่ผิด มีตัวละครชายหนุ่ม, หญิงสาว (คาร์เมน เมาร่า) และเด็ก ในหนังเรื่องนี้ ทั้งสามคนนี้เหมือนกับเป็นพ่อแม่ลูกกัน แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ เพราะหญิงสาวคนนั้นที่จริงแล้วเป็น “น้องชาย” ของชายหนุ่ม แต่ถึงแม้ความสัมพันธ์ของทั้งสามจะไม่ใช่พ่อแม่ลูกกันจริงๆ ทั้งสามก็อาจจะมีศักยภาพที่จะเป็นครอบครัวที่ดีได้เหมือนกัน


3.4 A HOME AT THE END OF THE WORLD (A+)

โคลิน ฟาร์เรลไม่ใช่ลูกของซิสซี สปาเซค แต่เขาก็ได้รับการดูแลเหมือนกับเป็นลูกชายแท้ๆ อยู่ระยะนึง นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ของชายสอง, หญิงหนึ่ง, เด็กหนึ่งในช่วงหลังของเรื่อง ก็เหมือนกับเป็นครอบครัวเดียวกัน ทั้งที่จริงๆแล้ว พวกเขาไม่ใช่สามีภรรยาผัวเดียวเมียเดียวในแบบคนทั่วๆไป


4.ฉากที่ฟลาม่าโดนอำเรื่องเขาไม่ใช่ลูกแท้ๆ ก็เป็นฉากที่ขำและเศร้าในเวลาเดียวกัน รู้สึกขำเพราะผู้กำกับคงจงใจทำให้ฉากนี้ขำ แต่รู้สึกเศร้าเพราะดิฉันก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า “มันเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า”


5.ชอบหนังเกี่ยวกับคนที่เห็นภาพนิ่งกลายเป็นภาพเคลื่อนไหวค่ะ การ “หลุดเข้าไปอยู่ในภาพวาด” เป็นสิ่งที่ดิฉันชอบมากๆในหนังหลายๆเรื่อง

นอกจาก DUCK SEASON แล้ว หนังที่มีฉากทำนอง “ภาพนิ่งกลายเป็นภาพเคลื่อนไหว ภาพเคลื่อนไหวกลายเป็นภาพนิ่ง” ก็รวมถึง

5.1 THE STENDAHL SYNDROME (DARIO ARGENTO, A+) หนังระทึกขวัญเกี่ยวกับฆาตกรโรคจิตที่มาเจอกับตำรวจสาวที่มีปัญหาทางจิต

5.2 BARTON FINK (A)

5.3 NOI ALBINOI (A+) ตอนท้ายเรื่อง

5.4 CACHIMA (SILVIO CAIOZZI, A+) ในขณะที่หนังเรื่องอื่นๆมีฉากภาพนิ่งกลายเป็นภาพเคลื่อนไหว หนังเรื่องนี้กลับมีฉาก “ภาพเคลื่อนไหวกลายเป็นภาพนิ่ง” ที่งดงามมากๆ

ดิฉันอยากดู DUCK SEASON อีกอย่างน้อยหนึ่งรอบค่ะ เพราะรู้สึกว่ายังตามเก็บอะไรหลายๆอย่างไม่ได้หมด ตัวละครในหนังเรื่องนี้คุยกันอย่างรุนแรงมาก ดิฉันอ่านซับไตเติลไม่ทันค่ะ สาเหตุที่ชอบหนังเรื่องนี้มากก็เป็นเพราะอินกับตัวละครโมโกะเป็นอย่างมาก แต่ยังทำความเข้าใจกับตัวละครที่เหลืออีก 3 คนไม่ได้หมด รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ยังมีอะไรเหลือให้ดิฉันค้นหาและติดตามต่อไปค่ะ

อีกสาเหตุนึงที่ทำให้ชอบหนังเรื่องนี้มาก ก็เป็นเพราะว่าหนึ่งในช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุดในชีวิตของดิฉัน คือช่วงเวลาที่ได้ไปขลุกอยู่บ้านเพื่อนสมัยเรียนมหาลัยเมื่อราว 12-15 ปีที่แล้วค่ะ ไปอยู่บ้านเพื่อนก็ไม่ได้ทำอะไร ได้แต่นั่งเม้าท์นั่งด่านั่งนินทานั่งเล่นเกม พูดคุยบ้าๆบอๆไปเรื่อย คล้ายๆกับตัวละครในหนังเรื่องนี้ แต่มันคือช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุดจริงๆ และมันเป็นช่วงเวลาที่ไม่อาจหวนคืนมาได้อีกแล้ว เพราะบ้านเพื่อนหลังนั้นโดนทุบทิ้งไปแล้ว และเพื่อนแต่ละคนก็กระจายตัวไปอยู่ตามซอกหลืบต่างๆ ขาดการติดต่อกันไปแล้ว พอดู DUCK SEASON ก็เลยรู้สึกอินอย่างรุนแรง ทำให้นึกถึงความสุขในอดีตสมัยไปนั่งคุยที่บ้านเพื่อน ความสุขที่ไม่มีวันหวนกลับมาได้อีกแล้วในชีวิตนี้

No comments: