Monday, June 16, 2014

SOMEWHERE ONLY WE KNOW (2014, Wichanon Somumjarn, 20min, A+20)

SOMEWHERE ONLY WE KNOW (2014, Wichanon Somumjarn, 20min, A+20)
 
SPOILERS ALERT
--
--
--
--
--
หนังเรื่องนี้ทำให้นึกถึงสิ่งต่างๆดังต่อไปนี้
 
1.ชอบมากๆ โดยเฉพาะถ้าหากเทียบกับหนังเรื่องหลังๆของวิชชานนท์อย่าง FOUR BOYS, WHITE WHISKEY AND GRILLED MOUSE (2009) กับ IN APRIL THE FOLLOWING YEAR, THERE WAS A FIRE (2012) เราว่าเราอินกับ SOMEWHERE ONLY WE KNOW มากที่สุด และบางทีนี่อาจจะเป็นหนังที่ชอบที่สุดของวิชชานนท์ เพราะตัวละครนางเอกในเรื่องนี้เป็นตัวละครที่เราอินด้วยมากกว่าตัวละครในหนังเรื่องอื่นๆ
 
FOUR BOYS กับ IN APRIL ก็เป็นหนังที่เราชอบมากนะ แต่ตัวละครกลุ่มหนุ่มๆในชนบท และตัวละครพระเอกของ IN APRIL ไม่ใช่ตัวละครที่เราอินด้วยหรือผูกพันด้วยน่ะ การได้ดูหนังสองเรื่องนั้นก็เลยเหมือนการได้รับรู้ชีวิตของคนอื่นๆในสังคม ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดี แต่อาจจะไม่โดนเราเป็นการส่วนตัว
 
แต่ดู SOMEWHERE ONLY WE KNOW แล้ว เราจะนึกถึงตัวเองในสองแบบ ก็คือ A. เราจะรู้สึกว่านางเอกมีชีวิตบางอย่างที่คล้ายเรา และ B. ถึงแม้นางเอกจะมีบางอย่างในชีวิตที่ไม่คล้ายเรา แต่ถ้าหากเราตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับนางเอก เราก็คงทำแบบเดียวกัน
 
1.1 การที่นางเอกมีชีวิตบางอย่างที่คล้ายเรา ก็อย่างเช่น การใช้ชีวิตอยู่ตัวคนเดียวในอพาร์ทเมนท์แคบๆ การต้องซื้ออาหารใส่ห่อจากข้างถนนกลับมานั่งแดกคนเดียวในห้อง การได้เจอเพื่อนเก่าบ้างเป็นครั้งคราว การมีงานออฟฟิศทำและมีงานพิเศษทำด้วย (มีอยู่ช่วงนึงที่เราทำงานออฟฟิศวันจันทร์-ศุกร์ และทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟในบาร์เกย์ในคืนวันศุกร์-เสาร์) เราก็เลยชอบมากที่หนังนำเสนอชีวิตตัวละครแบบนี้ออกมา
 
อีกสิ่งหนึ่งที่ชอบมากก็คือการที่นางเอกดูเหมือนจะไม่ได้ “คิดถึงครอบครัว” หรือ “อาลัยอาวรณ์กับครอบครัว” ตัวเองมากนัก คือเราจะไม่อินอย่างรุนแรงกับหนังประเภทที่นำเสนอตัวละครที่  “ฉันอาศัยอยู่ในกรุงเทพ แต่ฉันคิดถึงบ้านเก่าที่ต่างจังหวัดอย่างเหลือเกิน” น่ะ แต่เราจะอินอย่างรุนแรงกับหนังประเภทที่นำเสนอนางเอกที่รักความเป็นอิสระ และมีความสุขกับการได้อยู่ห่างๆจากครอบครัวตัวเอง คือถึงแม้ว่านางเอกของหนังเรื่องนี้จะไม่ได้ “มีความสุขกับการอยู่ห่างไกลจากครอบครัว” แบบเรา แต่เราก็พอใจแล้วล่ะที่หนังเรื่องนี้ไม่ได้แสดงให้เห็นว่า นางเอกของหนังเรื่องนี้ “อยากกลับไปอยู่กับครอบครัว” มากนัก
 
1.2 ถึงแม้ชีวิตนางเอกจะมีหลายอย่างที่ไม่คล้ายเรา แต่เราคิดว่าถ้าหากเราตกตกอยู่ในสถานการณ์แบบเดียวกัน เราก็คงตัดสินใจแบบเดียวกับนางเอก อย่างเช่น
 
1.2.1 การไม่ได้ออกไปร่วมชุมนุมทางการเมือง เพราะเราอาจจะสนใจการเมืองก็จริง แต่วิธีการแสดงออกของเราอาจจะไม่ใช่การไปร่วมชุมนุม
 
1.2.2 การเลิกกับแฟน เพราะเท่าที่สังเกต เราว่านางเอกก็เลี้ยงตัวเองแทบจะไม่ได้อยู่แล้ว แล้วแฟนนางเอกยังรับผิดชอบตัวเองไม่ได้อีก ถ้าหากทั้งสองคนใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน มันก็จะเป็น “คนขาดเงิน” กับ “คนขาดเงิน” มาอยู่ด้วยกัน แล้วมันก็ต้องตายห่ากันแน่ๆ มึงจะหาอะไรมาแดกล่ะทีนี้ สรุปว่าถ้าหากเรามีปัญหาทางการเงินแบบนางเอก เราก็คงไม่เอาผู้ชายคนนี้เป็นผัวแน่นอน แต่ถ้าหากเราพอเลี้ยงตัวเองได้ เราก็มีเปอร์เซ็นต์ที่จะเอาผู้ชายคนนี้เป็นผัวชั่วคราว จบ (เอ๊ะ)
 
1.2.3 ถ้าหากเราเป็นนางเอก เราก็คงหาเงินด้วยวิธีการเดียวกับนางเอก คือถ้าหากเราหน้าตาดี เราก็คงทำแบบนางเอกไปนานแล้ว ที่เราไม่เคยทำแบบนางเอกเพราะหน้าตาเราไม่ดี คือสิ่งที่นางเอกทำเป็นสิ่งที่เราอยากทำนะ แต่หน้าตาเราไม่เปิดโอกาสให้เราได้ทำ 55555
 
2.ชอบโครงสร้างของหนังที่เหมือนเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในหนึ่งวัน (ตรงนี้จะเหมือน FOUR BOYS) แต่สามารถสะท้อนอะไรได้หลายๆอย่าง โดยเฉพาะอดีตของนางเอก ซึ่งตรงนี้อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราอินเป็นการส่วนตัว เพราะเราไม่ได้มีอดีตแบบเดียวกับนางเอก แต่เราว่าหนังสะท้อนอดีตของนางเอกได้น่าสนใจดี
 
จากบทสนทนาของตัวละคร มันทำให้เราจินตนาการว่า นางเอกอาจจะเป็นคนที่เคยสนใจปัญหาการเมืองมากพอสมควร โดยเฉพาะในช่วงที่เป็นนักศึกษา และรวมไปถึงช่วงที่เธอรู้จักกับแฟนด้วย เพราะแฟนของเธอดูท่าทางจะมีความผูกพันเป็นพิเศษกับเสื้อยืดเช กูวารา
 
เราไม่แน่ใจว่าชื่อหนัง SOMEWHERE ONLY WE KNOW หมายถึงอะไร แต่มันทำให้เราจินตนาการว่า มันอาจจะหมายถึงช่วงเวลาพิเศษในอดีตที่นางเอกกับแฟนเคย active ทางการเมืองเหมือนๆกัน และทั้งสองอาจจะเคยใฝ่ฝันว่าตัวเองสามารถเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นได้ แต่ช่วงเวลานั้นมันผ่านเลยไปแล้ว ปัจจุบันนี้ทั้งสองไม่ได้ active ทางการเมืองเหมือนแต่ก่อน และความสัมพันธ์ของทั้งสองก็จบลงไปด้วย สิ่งที่เหลือไว้มีเพียงแค่เสื้อยืดเช กูวาราเท่านั้น
 
3.สิ่งที่เราจินตนาการไปเองถึงอดีตของนางเอกในข้อ 2 อาจจะไม่ตรงกับจินตนาการของผู้กำกับก็ได้ แต่เราก็มีความสุขกับจินตนาการของตัวเอง และจินตนาการนี้ของเรา มันก็เลยทำให้เราเอาหนังเรื่องนี้ไปเปรียบเทียบกับหนังเรื่องอื่นๆที่นำเสนอตัวละครที่เคยมีอดีตเป็นคนที่ active ทางการเมืองเหมือนๆกัน  อย่างเช่น THE OLD GARDEN (2006, Im Sang-soo) , THE COMPANY YOU KEEP (2012, Robert Redford) และ GIRLFRIEND BOYFRIEND (2012, Yang Ya-che, Taiwan) ซึ่งเราชอบหนังสามเรื่องนี้มากๆ แต่พอเราเอามันมาเปรียบเทียบกับ SOMEWHERE ONLY WE KNOW แล้ว มันทำให้ SOMEWHERE ONLY WE KNOW กลายเป็นหนังที่สร้างความสะเทือนใจกับเรามากยิ่งขึ้น เพราะว่าตัวละครใน THE OLD GARDEN, THE COMPANY YOU KEEP และ GIRLFRIEND BOYFRIEND กลายเป็นชนชั้นกลางฐานะดีในเวลาต่อมา หลังจากที่พวกเขาเคย active ทางการเมือง แต่ตัวละครใน SOMEWHERE ONLY WE KNOW ไม่ได้เป็นแบบนั้น พวกเขากลายเป็นคนที่ใช้ชีวิตอย่างปากกัดตีนถีบ ปัญหาเรื่องปากท้องกลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับพวกเขาในปัจจุบัน
 
คือถ้าหากเป็นในหนังเรื่องอื่นๆ เด็กหนุ่มที่เคยใส่เสื้อยืดเช กูวาราในอดีต คงกลายเป็นชายหนุ่มใส่สูทผูกไทและกลายเป็นผู้บริหารบริษัทในปัจจุบัน แต่ตัวละครใน SOMEWHERE ONLY WE KNOW กลับมีสถานะตรงกันข้าม
 
จะมีก็แต่เพียงเรื่อง THE STATE I AM IN (2000, Christian Petzold) เท่านั้น ที่อาจจะนำเสนอตัวละครกลุ่มนี้ได้อย่างน่าสะเทือนใจกว่า SOMEWHERE ONLY WE KNOW เพราะตัวละครใน THE STATE I AM IN เคยเป็นผู้ก่อการร้ายในแก๊ง Baader-Meinhof ในทศวรรษ 1970 แต่พอเวลาผ่านมา 20 กว่าปี พวกเขาก็ยังไม่ได้เป็นชนชั้นกลางฐานะดีแต่อย่างใด เพราะพวกเขายังคงมีสถานะเป็นผู้ก่อการร้ายที่ต้องหลบหนีการตามล่าของตำรวจทั่วยุโรปต่อไป
 
4.นอกจากการกระตุ้นให้เราจินตนาการถึงอดีตของพระเอกกับนางเอกแล้ว การนำเสนอชีวิตเพียงหนึ่งวันของนางเอกใน SOMEWHERE ONLY WE KNOW ยังสามารถสะท้อนแง่มุมรอบด้านในชีวิตปัจจุบันของนางเอกได้อย่างน่าสนใจด้วย และจุดนี้เป็นจุดที่เราชอบมากกว่าข้อ 2 กับข้อ 3 เสียอีก เพราะเราไม่ได้มีอดีตแบบเดียวกับนางเอกน่ะ สิ่งที่เราเขียนถึงในข้อ 2 กับข้อ 3 ก็เลยไม่ใช่สิ่งที่เราอินเป็นการส่วนตัว แต่การสะท้อนแง่มุมรอบด้านในชีวิตปัจจุบันของนางเอก มันเป็นสิ่งที่เราอินด้วยมากกว่า
 
แง่มุมที่เราชอบมากก็มีเช่นการนำเสนอทั้งปัญหาการเมือง, ปัญหาเรื่องการเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง, ปัญหาเรื่องครอบครัว, ปัญหาเรื่องเพื่อน และปัญหาเรื่องแฟนได้ในเวลาสั้นๆเพียงแค่ 20 นาที (ตามความยาวของหนัง) และภายในช่วงเวลาหนึ่งวันตามท้องเรื่อง คือถ้าหากเป็นหนังสั้นเรื่องอื่นๆ หนังเรื่องนั้นอาจจะโฟกัสไปที่ปัญหาเดียว และพยายามรีดเค้นอารมณ์ดราม่าจากปัญหานั้นปัญหาเดียว แต่หนังเรื่องนี้กลับนำเสนอปัญหาต่างๆหลายปัญหา โดยไม่ได้พยายามสร้างอารมณ์ดราม่ามากเกินไป นางเอกรับมือกับปัญหาต่างๆได้โดยไม่ทำตัวฟูมฟายกับมัน เพราะปัญหาเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นปัญหาที่กลายเป็นชีวิตประจำวันที่นางเอกต้องรับมืออยู่เกือบทุกวันไปแล้ว
 
4.1 ปัญหาเรื่องเพื่อนดูจะเป็นปัญหาที่เบาที่สุด และอาจจะเป็นปัญหาที่เราจินตนาการไปเอง คือหนังไม่ได้บอกเราหรอกว่านางเอกมีปัญหาเรื่องเพื่อน แต่พอเราดูหนังเรื่องนี้แล้ว มันทำให้เราจินตนาการไปว่า นางเอกดูเหมือนจะมีความสุขมากที่ได้เจอเพื่อนเก่าจากขอนแก่น แต่ก็ได้เจอกันแค่แป๊บเดียวเท่านั้น และหลังจากนั้นนางเอกก็ต้องกลับไปใช้ชีวิตอย่างเหงาๆอีก มันก็เลยดูเหมือนกับว่านางเอกอาจจะไม่มีแก๊งเพื่อนสาวที่เธอสามารถลั้ลลาด้วยได้แบบสาวออฟฟิศในเมืองกรุงคนอื่นๆ ถ้าเธออยากเจอเพื่อนสนิท เธอก็อาจจะต้องกลับขอนแก่น
 
4.2 ปัญหาเรื่องการเมือง หนังแสดงให้เห็นว่า เนื้อเรื่องเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงที่รามคำแหงในช่วงปลายปีที่แล้ว ซึ่งน่าจะใกล้กับสถานที่พักของนางเอก แต่ถึงแม้ว่าปัญหานี้จะเป็นปัญหาที่รุนแรงมาก นางเอกก็ทำให้ปัญหานี้ลดความสำคัญลงด้วยการไม่เอาตัวเข้าไปปะทะกับมันโดยตรง เธอเลือกที่จะรับมือกับปัญหานี้ด้วยการนั่งดูข่าวทางโทรทัศน์อยู่เฉยๆ บางทีอาจจะเป็นเพราะว่าเธอมีปัญหาที่ใหญ่กว่าที่ต้องรับมืออยู่แล้ว เพราะแค่การจะหาเงินมาซื้อมาม่าหรือข้าวมันไก่เพื่อมานั่งแดกอยู่หน้าจอทีวี มันก็เป็นปัญหาที่ใหญ่มากเกินกว่าที่จะแบกรับไหวอยู่แล้ว
 
4.3 ปัญหาเรื่องแฟน
 
4.4 ปัญหาเรื่องครอบครัว แม่ของนางเอกขาดเงิน มันก็เลยเป็นสาเหตุที่นำไปสู่
 
4.5 ปัญหาเรื่องการเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราชอบมากๆ เราชอบหนังที่นำเสนอตัวละครที่มีปัญหาทางการเงิน หรือตัวละครที่รู้สึก insecure ทางการเงิน เพราะเราเข้าใจความรู้สึกของตัวละครแบบนี้ได้ดี และมันเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดด้วย เพราะมันเป็นเรื่องของปัจจัย 4 คือกูมีผัวหรือไม่มีผัว ไม่สำคัญเท่ากับว่ากูจะมีเงินซื้อข้าวกินหรือไม่ เราชอบมากที่ปัญหานี้ดูเหมือนจะบดบังความสำคัญของปัญหาอื่นๆในชีวิตนางเอก เพราะเราเองก็มองชีวิตตัวเองแบบนั้นเหมือนกัน
 
5.การนำเสนอปัญหานางเอกแบบรอบด้านแบบนี้ มันก็เลยอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราชอบฉากนางเอกดื่มน้ำจากร้านข้างถนนตอนกลางเรื่อง กับฉากนางเอกเดินอย่างเหงาๆในตอนจบของเรื่องอย่างมากๆ เพราะสองฉากนี้มันทำให้เรานึกถึง “จิตวิญญาณอันแห้งผาก” ของนางเอกน่ะ คือเธอไม่มีผัวให้พึ่งพา, ครอบครัวของเธอก็สร้างภาระทางการเงินให้แก่เธอ, เธอไม่มีกลุ่มเพื่อนขาประจำให้ลั้ลลาด้วยในตอนเลิกงาน, สถานการณ์ทางการเมืองก็เต็มไปด้วยอันตราย และเธอก็ใช้ชีวิตอยู่ตัวคนเดียว ห่างไกลจากครอบครัวด้วย แง่มุมต่างๆเหล่านี้ มันทำให้เรารู้สึกว่าจิตวิญญาณของนางเอกคงมีความรู้สึกที่แห้งผากมากๆน่ะ มันก็เลยทำให้เรารู้สึกดีแบบแปลกๆกับฉากนางเอกดื่มน้ำจากข้างถนนตอนกลางเรื่อง และมันทำให้เรารู้สึกเศร้ามากๆกับฉากนางเอกเดินในตอนจบของเรื่อง
 
6.ฉากตอนจบของเรื่องมันทำให้เรานึกถึงวลีที่ว่า “กว่าชีวิตจะพ้นไปอีกวัน” ในเพลง “โลกแห่งความฝัน” ของใหม่ เจริญปุระมากๆ เรารู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มันสะท้อนความเจ็บปวดของวลีที่ว่า “กว่าชีวิตจะพ้นไปอีกวัน” ได้ดีมากๆ
 
7.หนังเรื่องนี้มีจุดเชื่อมโยงที่ทำให้นึกถึงหนังเรื่องอื่นๆของวิชชานนท์ด้วย อย่างเช่น
 
7.1 เสื้อยืดเช กูวารา ซึ่งเป็นสิ่งที่เคยปรากฏในหนังเรื่อง L L P (2011)
 
7.2 การที่ตัวละครฟังข่าวจากโทรทัศน์หรือวิทยุ เหมือนใน FOUR BOYS และ IN APRIL
 
เราชอบการนำเสนอข่าวการเมืองใน IN APRIL และ SOMEWHERE ONLY WE KNOW มากๆนะ เราว่ามันเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่ต้องมีการบันทึกสถานการณ์ทางการเมืองในไทยผ่านทางหนังอยู่เรื่อยๆน่ะ ซึ่งอาจจะเป็นการบันทึกในทางอ้อมแบบใน IN APRIL และ SOMEWHERE ONLY WE KNOW ก็ได้
 
คือในช่วงนี้ เรารู้สึกว่าสถานการณ์ทางการเมืองในไทย มันมีการเปลี่ยนแปลงทุกวันน่ะ สถานการณ์มันพลิกผันได้ในทุกๆวัน มันมีเรื่องเหี้ยๆเกิดขึ้นได้ในแบบที่คาดไม่ถึงในทุกๆวัน มันก็เลยทำให้เรารู้สึกว่า มันคงเป็นสิ่งที่ดีมาก ถ้าหากมีการบันทึกสถานการณ์ที่ไม่จีรังยั่งยืนเหล่านี้เอาไว้ในสื่อภาพยนตร์ คือเราชอบหนังทั้งสองแบบนะ คือ 1.หนังที่นำเสนอปัญหาทางการเมืองในแบบเชิงโครงสร้าง หรือปัญหาทางการเมืองในระยะยาว กับ 2. หนังที่นำเสนอเหตุการณ์ทางการเมืองในแต่ละช่วงเวลา คือหนังแบบที่สองบางคนมันอาจจะมองว่าเป็น “หนังที่ล้าสมัย” ได้ในเวลาอันรวดเร็วมาก เพราะปัญหาที่หนังกลุ่มที่สองนำเสนอ มันอาจจะเป็นปัญหาที่คลี่คลายไปแล้วในเดือนหน้าก็เป็นได้ แต่เราว่าหนังกลุ่มที่สองก็เป็นหนังที่มีคุณค่ามากในสายตาของเราน่ะ คือถึงแม้ว่าประเด็นของมันจะล้าสมัยไปแล้ว มันก็มีคุณค่าสำหรับเราในแง่การช่วยบันทึกประวัติศาสตร์เอาไว้ และเราว่าหนังหลายๆเรื่องของ Jean-Luc Godard และ Chris Marker ก็อาจจะเข้าข่ายหนังกลุ่มที่สองนี้
 
7.3 การสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพกับต่างจังหวัดแบบใน IN APRIL เราว่ามันน่าสนใจดีที่ตัวละครนางเอกใน SOMEWHERE ONLY WE KNOW เป็นสาวขอนแก่น และพระเอกเป็นหนุ่มลำพูน ทั้งสองไม่ได้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในกรุงเทพ และทั้งสอง “น่าจะ” ได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขอยู่ที่กรุงเทพ แต่ทั้งสองกลับทำไม่ได้ สิ่งที่นางเอกทำได้มีเพียงแค่ใช้ชีวิตอย่างแห้งผากต่อไปเรื่อยๆในกรุงเทพ ในขณะที่พระเอกต้องยอมรับความจริงที่ว่า เขาไม่มีอนาคตอยู่ที่นี่ และต้องกลับต่างจังหวัดไป
 
 
 
 
 

No comments: