Tuesday, July 19, 2016

WANDERING VS THE VVITCH

WANDERING ธุดงควัตร (2016, Boonsong Nakphoo, A+30) VS. THE VVITCH (2015, Robert Eggers, A+30)

SPOILERS ALERT
--
--
--
--
--
1.ขี้เกียจเขียนถึงความดีงามต่างๆมากมายของ WANDERING เพราะเห็นว่าเพื่อนๆเขียนไปแล้ว และเราก็ขี้เกียจเขียนซ้ำในสิ่งเดียวกัน คิดว่าหลายๆคนคงได้อ่านสิ่งที่เพื่อนๆเราเขียนไปแล้วด้วย เพราะเราก็แชร์มาไว้ที่หน้าวอลล์เราแล้วในช่วงหลายวันที่ผ่านมา

เราก็เลยขอเน้นเขียนถึงจินตนาการของเราที่เกิดจากหนังเรื่องนี้ก็แล้วกัน เพราะ ข้อดีของหนังเป็นสิ่งที่หลายคนก็เขียนได้ แต่จินตนาการของผู้ชมแต่ละคนที่หนังแต่ละเรื่องไปจุดประกายให้เกิดขึ้นในหัวของเขานั้น มันเป็นสิ่งที่ผู้ชมแต่ละคนต้องถ่ายทอดออกมาเอง เพราะมันยากที่จินตนาการของผู้ชมแต่ละคนจะซ้ำกัน

2. WANDERING จุดประกายให้เราจินตนาการว่า มันคงจะมีหนังที่เข้าทางเราอย่างสุดๆ ถ้าหากหนังเรื่องนั้นผสมผสาน WANDERING กับ THE VVITCH เข้าด้วยกัน เพราะเราว่าหนังสองเรื่องนี้มันมีหลายจุดที่น่านำมาเปรียบเทียบกัน และมันเหมือนเป็นขั้วตรงข้ามกันในหลายๆจุดด้วย

สาเหตุที่เราดู WANDERING และเกิดจินตนาการว่าอยากให้มีหนังที่เป็นลูกผสมระหว่าง WANDERING กับ THE VVITCH เพื่อตอบสนองตัวเราเป็นเพราะว่า เราชอบตอนจบของ WANDERING มากๆน่ะ คือตอนจบของ WANDERING ทำให้เราเกิดความรู้สึกดังต่อไปนี้

2.1 มันทรงพลังอย่างสุดๆ ทั้งในทางความรู้สึก และการใช้เสียงในฉากนั้น 

2.2 ถ้าหากเรามองตอนจบของมันในเชิงสัญลักษณ์ ว่าเป็นการต่อสู้กับกิเลสในจิตใจตนเอง มันก็เป็นสิ่งที่ทำให้นึกถึงตัวเราเองในชีวิตประจำวันนะ และเป็นสิ่งที่ไม่ขึ้นกับว่าผู้ชมเป็นเพศไหน, มีศาสนาหรือไม่มีศาสนา และกิเลสตัวนั้นเป็นกิเลสที่มาในรูปแบบไหน อย่างเช่น เราอยากเล่น facebook ตอน 5 ทุ่ม ทั้งๆที่มันเป็นเวลาที่เราควรเข้านอนได้แล้ว คือ facebook เป็นกิเลสที่เราต้องต่อสู้ กดข่ม หักห้ามใจด้วยความยากลำบาก มันไม่ต่างไปจากความพยายามในการไต่หน้าผาที่สูงชัน เพื่อไปให้ถึงสภาพจิตใจที่สามารถอยู่เหนือกิเลสได้ 

คือตอนจบของหนังเรื่องนี้ ทำให้เรานึกถึงการต่อสู้กับกิเลสในจิตใจตนเองในชีวิตประจำวันน่ะ ทั้งความอยากกินขนมหวาน, ความอยากเล่น facebook ในเวลาที่ควรเข้านอน, ความ want เด็กวัด, ความ want ยามรักษาความปลอดภัย, ความอยากตบคน etc. หลายๆกิเลสมันเป็นสิ่งที่เราต้องต่อสู้อย่างยากลำบากในช่วงแรก แต่ถ้าหากเราเอาจริง เราก็อาจจะสามารถชนะมันได้ในที่สุด 

2.3 แต่ถ้าหากไม่ได้มองตอนจบของมันในเชิงสัญลักษณ์ เราก็จะรู้สึกกึ๋ยๆเล็กน้อยกับตอนจบนะ เพราะ

2.3.1 การนำเสนอภาพลักษณ์ของเพศหญิงในฐานะมารขัดขวางการพ้นทุกข์ มันทำให้รู้สึกกึ๋ยๆเล็กน้อย 

2.3.2 เรารู้สึกว่าสิ่งที่พระเอกทำในตอนจบ มันเป็นสิ่งที่เหมือนจำเพาะไว้ให้กับ straight male เท่านั้นน่ะ เพราะอย่างเราก็บวชเป็นพระไม่ได้ เพราะเราคงหักห้ามใจจากความ want พระด้วยกันเองได้ยาก และผู้หญิง/แม่ชี ก็ยากที่จะหนีไปอยู่ป่าเขาตามลำพังคนเดียวแบบนั้นได้ 

2.3.3 การที่พระเอกอยู่ในรูปลักษณ์ของ พระในตอนจบ มันก็เลยเหมือนอิงกับ สถาบันศาสนาอยู่น่ะ และเรามีปัญหากับศาสนาในฐานะ สถาบันคือเราไม่มีปัญหากับตัวละครพระในหนังเรื่องนี้ แต่พอเราเห็นพระโดยทั่วๆไป เราก็จะอดนึกถึงตัวสถาบันศาสนาที่มีปัญหามากๆตามไปด้วยไม่ได้

คือตอนที่เราดูฉากจบของหนังเรื่องนี้ เราเกิดความรู้สึกหลายอย่างขึ้นพร้อมกัน นั่นคือเรารู้สึกว่ามันเป็นฉากที่สุดยอดมากๆในทางภาพยนตร์, เราเองก็อยากต่อสู้กับกิเลสจนชนะให้ได้แบบนั้นบ้าง แต่เราไม่สามารถ identify ตัวเองกับภาพที่เห็นบนจอได้อย่างสนิทใจ เพราะเรามีปัญหากับสถานะของเพศหญิง, เพศชายแท้ และสถาบันศาสนาที่มันผูกพันกับภาพที่เห็นบนจอ

เพราะฉะนั้นเราก็เลยจินตนาการต่อว่า แล้วตอนจบแบบไหนที่จะทำให้เรารู้สึกสุดยอดกับมันได้โดยไม่ตะขิดตะขวงใจใดๆ และเราก็พบว่า ถ้าหากตัวละครที่หนีเข้าไปหาแสวงหาความสงบสุขในป่ามันเป็นผู้หญิงหรือเกย์ และมันแสวงหาทางพ้นทุกข์ของมันเอง ทางพ้นทุกข์ที่เหมาะกับตัวมันเองโดยไม่ยึดโยงกับสถาบันศาสนาใดๆ มันก็คงจะเป็นตอนจบที่เข้าทางเราอย่างสุดๆ

คล้ายๆกับตอนจบของ THE VVITCH

3.พอเราจินตนาการไปแล้ว ก็รู้สึกตลกดีที่เรารู้สึกว่า ตอนจบของ WANDERING มันจะเข้าทางเราอย่างสุดๆ ถ้าหากมันผสมเข้ากับตอนจบของ THE VVITCH เพราะจริงๆแล้วหนังสองเรื่องนี้เหมือนเป็นขั้วตรงข้ามกันเลย หนังเรื่องนึงเชิดชูศาสนา, หนังอีกเรื่องแสดงให้เห็นด้านลบของศาสนา หนังเรื่องนึงตัวละครเดินไปสู่ด้านสว่าง ส่วนหนังอีกเรื่องตัวละครเหมือนเดินเข้าสู่ด้านมืด หนังเรื่องนึงตัวละครพยายามจะหนีจากโลกโลกียะ ส่วนหนังอีกเรื่องนึงตัวละครหนีจากสังคมคลั่งศาสนา แต่จริงๆแล้วตัวละครเอกในหนังทั้งสองเรื่องต่างก็ดูเหมือนจะต้องเข้าป่าเพื่อหลีกหนีจากสังคมเหมือนๆกัน และหนังทั้งสองเรื่องก็นำเสนอ เพศหญิงในแบบที่น่านำมาวิเคราะห์มากๆทั้งสองเรื่องด้วย

สรุปว่าเราชอบ WANDERING อย่างสุดๆน่ะแหละ แต่มันมีองค์ประกอบบางอย่างที่ทำให้เราไม่อินกับมันอย่างสนิทใจ แต่องค์ประกอบที่ทำให้เราถอยห่างจาก WANDERING นี้จะถูกขจัดออกไป เมื่อนำองค์ประกอบบางอย่างจาก THE VVITCH ใส่เข้ามาแทน นั่นก็คือการที่ ผู้หญิงเข้าไปแสวงหาทางพ้นทุกข์ในป่า หรือหนีออกห่างจากสังคม โดยไม่ต้องยึดโยงกับสถาบันศาสนาใดๆ

4.นอกจากเราจะจินตนาการว่า อยากให้มีหนังที่ผสม WANDERING กับ THE VVITCH เข้าด้วยกันเพื่อตอบสนองเราแล้ว เราก็จินตนาการว่า จริงๆแล้วมันมีหนังอีกเรื่องที่จะช่วยเติมเต็ม WANDERING ได้ด้วย นั่นก็คือ DIARY OF A COUNTRY PRIEST (1951, Robert Bresson, A+30)

แต่นั่นไม่ใช่หมายความว่า WANDERING ไม่สมบูรณ์นะ เรารู้สึกว่า WANDERING มันสมบูรณ์ในตัวมันเองอยู่แล้ว เพียงแต่มันเลือกเล่าเรื่องของ พระรูปใหม่ที่เริ่มต้นต่อสู้กับกิเลสเท่านั้นเอง และในช่วงของการเริ่มต้นต่อสู้กับกิเลสนั้น บางคนอาจจะต้องถอยห่างจากสิ่งที่เข้ามายั่วยวนกิเลสของเราก่อน โดยเฉพาะสิ่งต่างๆในสังคมมนุษย์ปกติที่เต็มไปด้วยเครื่องมอมเมาโลกีย์มากมาย และพอเราถอยห่างจากมัน และเรียนรู้ที่จะมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเครื่องมอมเมาโลกีย์เหล่านั้นแล้ว เมื่อเราพบว่าจิตใจเรากล้าแข็ง สามารถทนต่อกิเลสเก่าๆได้ในระดับนึงแล้ว เราถึงค่อยกลับเข้ามาคลุกคลีกับสังคมเหมือนเดิมอีกครั้ง

คือ WANDERING เหมือนเล่าเฉพาะ ช่วงเริ่มต้นของพระหัดใหม่น่ะ เพราะฉะนั้นพอเราดูหนังเรื่องนี้จบแล้ว เราก็อดที่จะจินตนาการต่อไม่ได้ว่า แล้วพอพระในเรื่องออกจากป่ามาอยู่วัด และต้องพูดคุยกับชาวบ้าน และเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวบ้านอีกครั้ง พระรูปนั้นจะเป็นอย่างไร เขาจะรับมือกับปัญหาชีวิตชาวบ้าน, ปัญหาในหมู่บ้าน, ปัญหาสังคมได้มากน้อยแค่ไหน พอเราจินตนาการแบบนี้แล้ว เราก็เลยนึกถึง DIARY OF A COUNTRY PRIEST ขึ้นมา เพราะหนังเรื่องนี้เหมือนแสดงให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่า ขีวิตของนักบวชนั้นมันสามารถเผชิญความทุกข์ทรมานใจได้อย่างไรบ้าง โดยเฉพาะเมื่อต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับชาวบ้าน

เพราะฉะนั้นพอเราถามตัวเองว่า หลังจากจบ WANDERING แล้ว ชีวิตของตัวละครในหนังมันจะเป็นอย่างไรต่อไป เราก็เลยนึกถึง DIARY OF A COUNTRY PRIEST ขึ้นมาจ้ะ

5.อีกจุดที่ชอบสุดๆใน WANDERING ก็คือว่า มันทำให้เรานึกขึ้นมาได้ว่า ทำไมไม่มีใครสร้างหนังแบบนี้มาตั้งนานแล้ว คือหนัง slow cinema/contemplative cinema ที่นำเสนอความสุขสงบงดงามทางใจในแบบพุทธๆน่ะ

คือถึงแม้เราจะไม่ได้นับถือศาสนาพุทธอย่างเต็มตัวเต็มหัวใจ แต่เราก็ชอบ ความสุขทางใจที่เกิดจากการทำสมาธินะ ซึ่งจริงๆแล้วสิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่เข้ากับรูปแบบของหนังกลุ่ม contemplative cinema ได้เป็นอย่างดีน่ะ แต่ทำไมเราถึงแทบไม่เคยเจอหนังที่นำสองอย่างนี้มารวมกันเลย ทั้งๆที่ content แบบนี้มันเข้ากับ form หนัง contemplative cinema อย่างสุดๆ เห็นได้ชัดอยู่แล้ว

คือมันมีหนังพุทธๆที่เราชอบมากอยู่นะ แต่มันไม่ได้เน้นนำเสนอ ความสุขสงบทางใจที่เกิดจากการเดินจงกรม, นั่งสมาธิอะไรแบบนี้น่ะ หนังพุทธๆอย่างเช่น SO BE IT (2014, Kongdej Jaturanrasamee) และ WHEEL OF TIME (2003, Werner Herzog) ก็พูดถึงประเด็นอื่นๆ ไม่ใช่ประเด็นนี้

เรากลับพบว่า หนังที่พูดถึงประเด็นอื่นๆต่างหาก ที่สามารถให้ ความสุขจากความสงบทางใจในแบบที่ใกล้เคียงกับการทำสมาธิหรือเข้าฌาน โดยหนังในกลุ่มนี้ก็มีเช่นเรื่อง WINDOWS (1999, Apichatpong Weerasethakul), HOTEL MONTEREY (1972, Chantal Akerman), NATHALIE GRANGER (1972, Marguerite Duras), HIGH KUKUS (1973, James Broughton), PISCINE (2002, Jean-Baptiste Bruant + Maria Spangaro), ZOETROPE (2011, Rouzbeh Rashidi) , PHENOMENON (Teeranit Siangsanoh) ความสุขที่เราได้จากการดูหนังกลุ่มนี้ มันคล้ายๆกับความสุขที่เราได้จากการนั่งสมาธิเลย

เพราะฉะนั้นเราก็เลยชอบ WANDERING มากๆในแง่ที่ว่า มันเหมือนเป็นการเอา form กับ content ที่มันเหมาะสมกันมากๆ มาเจอกันในที่สุด

JINTARA (1973, Punkarm, A+30)
THE PURGE: ELECTION YEAR (2016, James DeMonaco, B+ )

GLAO FAR (1966, S. Kraprayoon, A-)

No comments: