Friday, April 09, 2021

THE LAST BLACK MAN IN SAN FRANCISCO

 WILDEST DAYS วัยระเริง (1984, Piak Poster, A+30)


1. เหมาะฉายควบกับ  MOTHER GAMER (2020, Yanyong Kuruangkura, A+30) มาก ๆ เพราะเราว่าหนังสองเรื่องนี้สร้างขึ้นเพื่อ "สั่งสอนผู้ใหญ่" เหมือน ๆ กัน เพียงแต่อยู่ต่างยุคต่างสมัยกัน  และเราว่าหนังสองเรื่องนี้มีข้อดีและข้อด้อยคล้าย ๆ กัน

ข้อดีและข้อด้อยของหนังสองเรื่องนี้อาจจะมาจากจุดเดียวกัน ซึ่งก็คือความต้องการ " สั่งสอนผู้ใหญ่" นี่แหละ เราคิดว่าหนังสองเรื่องนี้อาจจะมีจุดประสงค์คล้าย ๆ กันในแง่ที่ว่า หนังทั้งสองเรื่องต้องการจะบอกผู้ใหญ่ว่า "อย่ากังวลมากเกินไป ถ้าหากลูก ๆ ของพวกคุณเอาเวลาไปเล่นดนตรี/เล่นเกมคอมพิวเตอร์ มันไม่ได้หมายความว่าลูกของคุณกลายเป็นคนเลว/คนโง่ พวกเขาก็แค่ต้องการเวลาไปทำในสิ่งที่ให้ความสุขกับตัวเองบ้าง อย่าเข้มงวดมากเกินไป อย่าตั้งกฎระเบียบมากเกินไป อย่าเรียกร้องจากลูก ๆ มากเกินไป ให้พวกเขาได้มีอิสระ มีความสุข ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการบ้างเถิด ถ้ารักลูกจริง ก็ต้องคำนึงถึงความสุขของลูก ๆ เป็นหลัก ไม่ใข่มองแค่ว่า ลูกทำตามที่พ่อแม่ต้องการแล้วหรือยัง"

ซึ่งการที่หนังทั้งสองเรื่องนี้อาจจะตั้งจุดประสงค์คล้าย ๆ กันแบบนี้ มันเป็นสิ่งที่ดีมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับหนังสั้นไทยหลาย ๆ เรื่องที่เราเคยดูมาในทศวรรษ 1990-2000 ที่ต้องการ "สั่งสอนเด็ก ๆ"  ให้เชื่อฟังผู้ปกครอง มันเหมือนกับว่า หนังไทยหลายเรื่องต้องการสั่งสอนผู้ชมว่า "ถึงพ่อแม่ปู่ย่าตายายเราจะดุ และเข้มงวด  เราก็ควรจะเชื่อฟังเขา ไม่อย่างนั้นเราจะโดนชะตากรรมลงโทษ" ซึ่งเราเบื่อหนังไทยกลุ่มนี้อย่างรุนแรงมาก และหนังไทยกลุ่ม "สั่งสอนเด็ก ๆ" นี้ ก็มักจะสร้างตัวละครคล้าย ๆ กัน นั่นก็คือตัวละคร "ผู้ใหญ่ที่ดุ แต่จริง ๆ แล้วรักลูกหลาน"  ซึ่งตรงข้ามกับหนังกลุ่ม "สั่งสอนผู้ใหญ่" ที่มักสร้างตัวละคร "เด็กที่ดูเหมือนเกเร หัวขบถ แต่เนื้อแท้แล้วเป็นเด็กที่มีจิตใจดีงาม"

(แต่หนังสั้นไทยในทศวรรษ 2010 ไม่มีปัญหาแบบหนังกลุ่ม "สั่งสอนเด็ก ๆ" แล้วนะ หนังสั้นไทยในทศวรรษ 2010 จะเน้นเล่าเรื่องลูก ๆ กับพ่อแม่ที่ไม่เข้าใจกัน แต่หนังเน้น blame พ่อแม่เป็นหลัก 555)

เราว่าข้อดีของ วัยระเริง กับ MOTHER GAMER ก็คือการที่มันสวนกระแสกับหนังไทยกลุ่ม "สั่งสอนเด็ก ๆ" นี่แหละ เราชอบที่หนังสองเรื่องนี้พยายามบอกให้ผู้ใหญ่เปิดใจกว้าง ยอมรับเด็ก ๆ ที่หลงใหลการเล่นดนตรี/การเล่นเกมได้

2.แต่ถึงแม้จุดประสงค์ในการ "สั่งสอนผู้ใหญ่" จะเป็นจุดประสงค์ที่ดีกว่าการ "สั่งสอนเด็ก ๆ" แต่หนังที่สร้างขึ้นเพื่อสั่งสอนผู้ชม หรือเพื่อโน้มน้าวให้ผู้ชมทำในสิ่งที่หนังต้องการ บางทีมันก็เหมือนติดอยู่ในกรอบหรือเพดานอะไรบางอย่าง บอกไม่ถูกเหมือนกัน

คือจริง ๆ เราก็ชอบทั้งวัยระเริงและ MOTHER GAMER อย่างสุด ๆ นะ แต่มันเหมือนหนังทั้งสองเรื่องนี้มันยังขาดมิติอะไรบางอย่าง ที่ส่งผลให้หนังสองเรื่องนี้ไม่ทรงพลังมากกว่าที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะในกรณีของวัยระเริง ที่ดูมีปัญหามากกว่า MOTHER GAMER

เราว่าบางทีมันอาจเป็นเพราะหนังที่ตั้งเป้าประสงค์แบบนี้ บางทีมันออกแบบ "ตัวละคร" และฉากต่าง ๆ เพื่อรองรับเป้าประสงค์ในการสั่งสอนผู้ชมของมันน่ะ และพอมันออกแบบตัวละครให้ fit in กับวัตถุประสงค์ของหนัง "ความเป็นมนุษย์ของตัวละครในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์ของหนัง, เส้นเรื่องของหนัง, อารมณ์ของหนัง"  ก็จะถูกลบทิ้งไป ถูกขัดถูให้เลือนหายไป จนตัวละครกลายเป็น "วัตถุ/เครื่องมือ" ที่ fit in กับวัตถุประสงค์ของหนังได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่มิติความเป็นมนุษย์บางอย่างได้หายไปแล้ว

คือถ้าดูในวัยระเริง เราจะรู้สึกได้ชัดเลยว่า ตัวละครมันถูกออกแบบให้รองรับวัตถุประสงค์ของหนัง คือมันเดาได้ไม่ยากว่า ในหนังกลุ่มนี้ต้องมีตัวละคร ผู้ใหญ่เข้มงวด, ผู้ใหญ่ใจแคบ, ผู้ใหญ่ใจดี, เด็กที่ดูเหมือนเกเร แต่เนื้อแท้แล้วเป็นเด็กจิตใจดีงาม อะไรทำนองนี้

เราว่าการออกแบบตัวละครทำนองนี้ มันได้อย่างเสียอย่างนะ คือก็คงมีผู้ชมจำนวนมากที่ชอบหนังที่มีวัตถุประสงค์ชัดเจน และทุกอย่างในหนังถูกออกแบบมาเพื่อรองรับวัตถุประสงค์นั้น ซึ่งรวมถึงการออกแบบตัวละครให้เป็นเครื่องมือไปสู่เป้าหมายนั้น

แต่เราเป็นผู้ชมประเภทที่ชอบหนังที่นำเสนอตัวละครที่ดูเป็นมนุษย์ที่ดูมีมิติความซับซ้อนมากกว่านั้นน่ะ คือถ้าเปรียบเทียบง่าย ๆ ก็เหมือนกับว่า เราชอบหนังที่นำเสนอตัวละครที่คล้ายกับจำนวน "อตรรกยะ" น่ะ หารไม่ลงตัว ไม่มีวันสิ้นสุด ไม่ได้เกิดมาเพื่อรองรับวัตถุประสงค์ใด ๆ แต่มีชีวิตเป็นของตัวเองอย่างเต็มที่ (นึกถึงหนังอย่าง THE CLASS ของ Laurent Cantet, EDEN ของ Mia Hansen-Love  หรือหนังของ Mike Leigh) แต่หนังหลายเรื่องชอบนำเสนอตัวละครในฐานะ "จำนวนตรรกยะ" หารลงตัว, อธิบายได้, และ fit in  กับวัตถุประสงค์ของหนังอย่างสมบูรณ์

สรุปว่า ก็ชอบวัยระเริงอย่างสุด ๆ นะ แต่ก็คิดว่ามันพัฒนาได้มากกว่านี้อีกแหละ 555

3.สิ่งที่ผิดคาดมาก ๆ ก็คือตัวละครวัยรุ่นเกือบทั้งหมดในหนัง "ไม่มีความเงี่ยน" เลย 555  คือหนังดูเหมือนหลีกเลี่ยงที่จะนำเสนอความเงี่ยนของเหล่าวัยรุ่นในหนัง นอกจากฉากต้น ๆ เรื่องแค่ฉากเดียว

DETECTIVE CHINATOWN 3 (2021, Chen Sicheng, China, C-)

1.รับความตลกร้ายในหนังเรื่องนี้ไม่ได้อย่างรุนแรง โดยเฉพาะฉากที่กลุ่มมาเฟียรุมกระทืบนางพยาบาลที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ในลิฟท์ มันไม่ตลกเลยสำหรับเรา (เราเคยเขียนถึงปัญหาส่วนตัวที่เรามีกับหนังตลกร้ายไปแล้วตอนเขียนถึง BREAKING NEWS IN YUBA COUNTY)

2. รู้สึกว่า หนัง "ต่ำมากกกกก" แต่ปัจจัยที่ช่วยให้หนังไม่ได้ F จากเรา ก็คือ casting เพราะผู้สร้างหนังคงรวยมาก เลยจ้างดาราญี่ปุ่นที่เราคิดถึงมาร่วมแสดงในหนังกันได้อย่างจุใจ ทั้ง Satoshi Tsumabuki , Shota Sometani, Tadanobu Asano, Tomokazu Miura นึกว่าเป็นการรวบรวมผัวชาวญี่ปุ่นของเราจากทศวรรษ 1980, 1990, 2000 และ 2010 มาไว้ในหนังเรื่องเดียวกัน และที่สำคัญที่สุดคือการได้เห็น Honami Suzuki ที่เราคิดถึงมากๆ จากละครทีวี TOKYO LOVE STORY (1992) และ KOIBITO YO MY DEAR LOVER (1995) ในหนังเรื่องนี้ด้วย

THE LAST BLACK MAN IN SAN FRANCISCO (2019, Joe Talbot, A+30)

อันนี้ไม่เน้นเขียนเกี่ยวกับหนัง แต่เน้นเขียนว่าหนังเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงชีวิตตัวเองยังไงบ้าง 555

1.ชอบหนังอย่างสุด ๆ รู้สึกว่าการกำกับมันงดงามมาก ๆ และเนื้อเรื่องของหนังมันโดนเราเป็นการส่วนตัวด้วย

คือเรารู้สึกว่า ตัวละครเอกและตัวละครประกอบหลายตัวในหนังเรื่องนี้ ด้วยความที่พวกเขาเป็นคนดำฐานะยากจน พวกเขาก็เลยพยายามสร้างอัตตาหรือ ego บางอย่างขึ้นมาเพื่อกลบทับปมด้อยทางฐานะและเชื้อชาติของตนเองน่ะ ซึ่งชายหนุ่มผิวดำฐานะยากจนโดยทั่วไปอาจจะใช้วิธีเข้าแก๊งนักเลง และ "วางเขื่อง" พยายามใช้วาจาและกิริยาในการแสดงตนว่ามีอะไรดีเหนือชายหนุ่มคนอื่น ๆ แต่การวางเขื่อง, ทำว่าตัวเอง tough  เสียเต็มประดา และการเข้าไปพัวพันกับแก๊งนักเลงแบบนี้ย่อมเสี่ยงต่ออันตราย

ส่วนตัวละครเอกในหนังเลือกจะไม่ใช้วิธีการแบบชายหนุ่มทั่วไป แต่ปมด้อยทางอัตตาของตัวเองทำให้เขาเลือกที่จะเชื่อว่า ต้นตระกูลของตนเองเคยเป็นเจ้าของบ้านหรูหลังนึง มันเหมือนกับว่า การเชื่อ (อย่างผิด ๆ) นี้ มันช่วยให้เขามีความภาคภูมิใจในตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองมีดี มีค่า และไม่ได้ด้อยไปกว่าพวกชายหนุ่มในแก๊งนักเลงเลย

พอเราดูหนังเรื่องนี้แล้วเราก็เลยนึกถึงจินตนาการของตัวเองในวัยเด็กอย่างมาก ๆ 555 เพราะเหมือนเราก็เคยใช้โลกจินตนาการในการกลบปมด้อยที่ตัวเองมีฐานะยากจนเหมือนกัน แต่เรายังแยกแยะออกว่ามันเป็นโลกจินตนาการ ไม่ใช่ความเป็นจริง

ตอนเด็ก ๆ เราก็เคยรู้สึกมีปมด้อยว่า ตัวเองมีฐานะยากจนกว่าเพื่อน ๆ ในโรงเรียนเดียวกัน เราก็เลยชอบจินตนาการถึงปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ที่จะช่วยให้ตัวเองมีฐานะรวยขึ้น อย่างเช่นว่า

1.1 จินตนาการว่า จริง ๆแล้วพ่อของเรายังไม่ตาย คือในความเป็นจริง พ่อของเราเป็นทหารที่ประสบอุบัติเหตุรถคว่ำตายตอนเราอายุ 3 ขวบ แต่ตอนเด็ก ๆ เราก็ชอบจินตนาการแบบหนังสายลับว่า จริง ๆ แล้วพ่อของเรายังมีชีวิตอยู่ในสถานที่ลับที่ไหนสักแห่ง เพราะเรื่องทั้งหมดเกี่ยวกับองค์กรลับ 555

1.2  บางทีเราก็ใฝ่ฝันอยากให้แม่ของเราแต่งงานใหม่กับผู้ชายรวย ๆ แต่ในความเป็นจริงนั้นแม่ของเราเข้าวัดตลอดเวลา 555

พอเราได้ดูหนังเรื่องนี้ เราก็เลยนึกถึงจินตนาการของตัวเราตอนวัยเด็ก เหมือนกับว่าคนบางคนใช้โลกจินตนาการในการกลบปมด้อยของตัวเอง ทั้งปมด้อยด้านฐานะ, สีผิว หรือเพศสภาพ แต่ในกรณีตัวละครเอกของหนังเรื่องนี้ มันคล้ายกับว่าเขาแยกไม่ออกอีกต่อไประหว่างจินตนาการกับความเป็นจริง มันก็เลยทำให้เขามีความเป็นคนบ้าอยู่ในตัว แต่ในอีกทางนึงมันก็ช่วยให้เขาไม่ต้องใช้ชีวิตอันตรายแบบหนุ่ม ๆ แก๊งนักเลง

2.ประเด็นเรื่องการกลบปมด้อยทางอัตตาของตัวเองในหนังเรื่องนี้ มันทำให้เรานึกถึงอาการหิวแสงของคนใน social media โดยที่หนังไม่ได้ตั้งใจ 555 มันเหมือนกับว่าการหิวแสง หรือความอยากได้รับความสนใจจากคนอื่น ๆ มันไม่ใช่สิ่งผิด ถ้าหากคุณอวด "ความดี ความเก่ง ข้อเด่น" ที่มีจริงในตัวคุณเองออกมา แต่มันก็มีหลายคนที่เหมือนหิวแสง แล้วแสดงออกด้วยการ

2.1 วางเขื่อง ทับถมคนอื่น ๆ ดูถูกคนอื่น ๆ หาเรื่องคนอื่น ๆ แบบกลุ่มนักเลงในหนังเรื่องนี้

2.2  ทำเป็นว่าตัวเองหัวก้าวหน้ากว่าคนอื่น ๆ หรือสามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ทางจริยธรรมอะไรบางอย่างได้มากกว่าคนอื่น ๆ  ซึ่งการทำตัวเป็นคนหัวก้าวหน้า (ด้วยการกล่าวโทษคนอื่น ๆ ว่าหัวก้าวหน้าไม่พอ) แบบนี้ อาจจะดูตรงข้ามกับกลุ่มนักเลงในหนัง แต่จริง ๆ แล้วเราว่ามันก็มีจุดประสงค์เดียวกัน นั่นก็คือสนองอัตตา ความภาคภูมิใจให้ตัวเองว่าตัวเอง "เหนือ" กว่าคนอื่น ๆ คือถ้าเราอยู่ในสังคมกลุ่มนักเลง เราก็จะสนองอัตตาของตัวเองด้วยการแสดงออกว่าเรา tough ถ่อย เถื่อน ดุร้ายกว่าคนอื่น ๆ ไม่มีใครกล้าแหยม แต่ถ้าเราอยู่ในแวดวงนักวิชาการ อะไรแบบนี้ เราก็ต้องสนองอัตตาของตัวเองด้วยการแสดง" ความเหนือ"ในแบบที่ต่างออกไป 555

2.3 ใช้วิธีสร้างภาพที่เกินจริงให้กับตัวเอง พยายามสร้างภาพว่าตัวเองฉลาดรอบรู้กว่าความเป็นจริง ผอมกว่าความเป็นจริง อายุน้อยกว่าความเป็นจริง รวยกว่าความเป็นจริง ซึ่งก็อาจจะคล้าย ๆ กับพระเอกในหนังเรื่องนี้ แต่แตกต่างกันตรงที่ว่า พระเอกของหนังเรื่องนี้ไม่มีเจตนาจะหลอกลวงใคร เพราะเขาเชื่อไปแล้วว่าต้นตระกูลเขาเคยรวย

3.บางทีเราก็เคยสงสัยตัวเองเหมือนกันว่า เราทำบางอย่างไปเพื่อสนองอัตตาของตัวเองแบบตัวละครในหนังเรื่องนี้หรือเปล่า 555 ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่นว่า ตอนที่เราเขียนไว้อาลัยให้ Bertrand Tavernier  เมื่อเร็ว ๆ นี้นั้น เราเขียนไปเพื่ออะไร เราต้องถามตัวเองว่า เราเขียนไปเพื่อจุดประสงค์ใดกันแน่ ระหว่าง

3.1 การสนองอัตตาของตัวเอง ด้วยการอวดว่ากูเคยดูหนังของ  Tavernier หลายเรื่องนะจ๊ะ แล้วก็ภูมิใจกับอะไรโง่ ๆ แบบนี้ 555

3.2 อยากบันทึกความทรงจำของตัวเอง

3.3 อยากระบายความรู้สึกของตัวเอง

เหมือนหนังเรื่องนี้ช่วยให้เราได้สำรวจจิตใจของตัวเองเหมือนกัน เพราะเรารู้สึกว่า ถ้าหากเรายังทำอะไรไปเพื่อเหตุผลแบบข้อ 3.1 เราก็ไม่ต่างอะไรไปจากตัวละครในหนังเรื่องนี้ 55555

ROBBY MULLER: LIVING THE LIGHT
(2018, Claire Pijman, Netherlands/Germany, documentary, A+30)

อยากดู BARFLY (1987, Barbet Schroeder) กับ HONEYSUCKLE ROSE (1980, Jerry Schatzberg) มาก ๆ

พอเราไปไล่ดูประวัติการทำงานของเขาใน imdb เราถึงเพิ่งรู้ว่า   Robby Muller  เป็นตากล้องของ CLASS ENEMY (1983, Peter Stein, West Germany) ด้วย และหนังเรื่องนี้เป็นหนังที่เปลี่ยนชีวิตของเราให้กลายเป็น cinephile เพราะมันเป็นหนังเรื่องแรกในชีวิตที่เราได้ดูที่สถาบันเกอเธ่ในปี 1995 และพอเราได้ดูหนังเรื่องนี้ เราก็เลยกลายเป็นคนที่หลงใหลในการดูหนังอย่างรุนแรงนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ก็ถือได้ว่า Robby Muller มีส่วนในการเปลี่ยนชีวิตเราโดยไม่ได้ตั้งใจเหมือนกัน 555 (แต่จริง ๆ แล้วต้องยกความดีความชอบให้  Peter Stein มากกว่า)

VIOLET EVERGARDEN: THE MOVIE (2020, Taichi Ishidate, Japan, animation, A+30)

A SON (2019, Mehdi Barsaoui, Tunisia, A+30)

BOSS LEVEL (2020, Joe Carnahan, A+25)

THE PRINCE'S VOYAGE (2019, Jean-Francois Laguionie, Xavier Picard, France, animation, A+30)

เป็นหนังเรื่องที่ 3 ของ Laguionie ที่ได้ดู ต่อจาก THE PAINTING (2011) และ LOUISE BY THE SHORE (2016)  ชอบหนังของเขามาก ๆ

THE IMAGINARY INVALID (2020, Dominique Thiel, France, stage on screen, A+25)

ถ้าเทียบกับหนัง/ละครเวทีที่สร้างจากบทประพันธ์เรื่องอื่น ๆ ของ Moliere เราก็ชอบหนัง/ละครเวทีเรื่องนี้น้อยกว่า THE MISANTHROPE  และ  TARTUFFE นะ เหมือนตัวละครเอกในเรื่องนี้มันไม่น่าสนใจมากเท่ากับในอีก 2 เรื่องที่เคยดูมาน่ะ


THE SWALLOWS OF KABUL (2019, Zabou Breitman, Elea Gobbe-Mevellec, France, animation, A+30)





NATIONAL THEATRE LIVE: WAR HORSE (2014, Marianne Elliott, Tom Morris, Tim Van Someren, UK, stage on screen, A+30)

-- ชอบการเชิดหุ่นม้ามาก ๆ รู้สึกว่ามันเป็นหนึ่งในมนตร์เสน่ห์ของละครเวทีที่ไม่ค่อยเจอในภาพยนตร์

--หนังเรื่องนี้คือหนังเรื่องสุดท้ายของชีวิตที่เราได้ดูที่ BANGKOK SCREENING ROOM (วันที่ 7 มี.ค.) เศร้าใจ

"บอสฉันขยันเชือด" MY BOSS IS A SERIAL KILLER (2021, Sornpat Prakaranun, Poowanit Poldee, A+20)

1.ตกใจสุดขีดในตอนจบ เมื่อเครดิตท้ายเรื่องขึ้น แล้วบอกว่า Chaloemkiat Saeyong  เป็นคนตัดต่อหนังเรื่องนี้ 555

2. ว่าแต่ว่าเราเข้าไม่ทันดูฉากแรก ตอนเราเข้าไปมันขึ้นเครดิตต้นเรื่อง ชื่อนักแสดงแล้ว เลยอยากถามว่าฉากแรกมีอะไรสำคัญหรือเปล่า

3.ชอบการแสดง ชอบการใช้ฉากหลังเป็นชีวิตสาว OFFICE และชอบการสะท้อนปัญหาเรื่องข่าวลือ และความเป็นนักสืบอินเทอร์เน็ตของผู้คนในสังคม

4. แต่เราว่าความเป็น THRILLER มันอ่อนมาก ๆ โดยเฉพาะในช่วงท้าย คือเราว่าผู้สร้างคงพยายามใส่อารมณ์ตลกเข้ามาน่ะ ความเป็น THRILLER มันเลยเจือจางมาก ๆ แต่โดยรสนิยมส่วนตัวแล้วเราชอบหนังที่มีความเป็น THRILLER เพียว ๆ แบบไม่มีตลกเจือปนมากกว่า หนังเรื่องนี้ก็เลยไม่ค่อยเข้าทางเราซะทีเดียว โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับหนังแบบ SCREAM, OFFICE KILLER (1997, Cindy Sherman), THE GUARD FROM THE UNDERGROUND (1992, Kiyoshi Kurosawa) และ OFFICE (2015, Hong Won-chan, South Korea)

MY LITTLE SISTER (2020, Stephanie Chouat, Veronique Reymond, Switzerland, A+30)

1.ชอบสุด ๆ เพราะเหมือนหนังเรื่องนี้มันตรงข้ามกับหนัง "คนที่ฉันผูกพันด้วยป่วยใกล้ตาย เพราะฉะนั้นฉันจะทุ่มเทอย่างเต็มที่เพื่อผู้ป่วยคนนี้ เพื่อมิตรภาพ/ความรักของเรา"  เรื่องอื่น ๆ เพราะหนังกลุ่มนี้ที่เราเคยดู ส่วนใหญ่แล้วมัน "เข้าข้าง" ตัวละครเอกที่ทำเพื่อผู้ป่วยน่ะ เหมือนหนังกลุ่มนี้ส่วนใหญ่แล้วมันเชิดชูตัวละครที่ทำแบบนี้

แต่หนังเรื่องนี้ทำตรงกันข้าม เพราะมันแสดงให้เห็นว่า นางเอกกลายเป็น "คนเหี้ย" มากเพียงใดเมื่อเธอพยายามทุ่มเททำเพื่อพี่ชายฝาแฝดที่ปวยใกล้ตาย เหมือนเธอกลายเป็นคนที่เห็นแก่ตัว/เห็นแก่พี่ชายที่ป่วยหนัก แล้วไม่คำนึงถึงความลำบากเดือดร้อนของคนอื่น ๆ น่ะ และเราก็ชอบจุดนี้มาก ๆ เพราะเราว่าคนแบบนี้มีอยู่จริง คนประเภทที่คิดว่า "ฉันรักครอบครัว/ฉันรักเพื่อน/ฉันรักผัว/ฉันรักไอดอลของฉัน และฉันจะทำเต็มที่เพื่อคนที่ฉันรัก โดยไม่แคร์ว่าคนอื่น ๆ จะเดือดร้อนหรือไม่" แต่หนังส่วนใหญ่มักจะมองข้ามธรรมชาติของมนุษย์บางคนตรงจุดนี้ไป หนังส่วนใหญ่เลือกจะ focus ไปที่อารมณ์ romantic ของการได้ทำเต็มที่เพื่อครอบครัวหรือเพื่อคนที่ตนรัก แต่มีหนังเรื่องนี้นี่แหละที่สะท้อนให้เห็นว่า การทำเพื่อครอบครัวหรือเพื่อคนที่ตนรักที่ป่วยหนัก บางทีมันก็กลายเป็น "ความเหี้ย" ได้เหมือนกัน ถ้ามึงไม่เห็นหัวคนอื่น ๆ

2.Nina Hoss และ Lars Eidinger แสดงได้ดีมาก ๆ ตอนแรกเราคุ้นหน้า Lars Eidinger แล้วนึกไม่ออกว่าเคยเห็นที่ไหน พอไปดูใน imdb แล้วถึงพบว่าเขาเคยแสดงใน PERSONAL SHOPPER (2016, Olivier Assayas) นี่เอง

3.ชอบการใช้ฉากหลังเป็นโรงเรียนของลูกคนรวยใน Switzerland ด้วย
--------
หนึ่งในสิ่งที่ชอบสุด ๆ ใน MINARI คือเรื่องของ DOWSER เราจำได้ว่าเราเคยอ่านบทความเกี่ยวกับ DOWSER ตอนเด็ก ๆ (ช่วงทศวรรษ 1980) แต่ไม่แน่ใจว่ามันอยู่ในนิตยสารอะไร ระหว่างนิตยสาร "มิติที่ 4", หรือ "ทักษะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี", หรือ "ชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์" หรือนิตยสารอะไรกันแน่ มีใครรู้บ้าง แต่เราแทบไม่เคยเจอ DOWSER ในหนังมาก่อนเลย เหมือนก่อนหน้า MINARI เราเคยเห็น DOWSER แบบแว้บ ๆ ในหนังอีก 2-3 เรื่อง แต่นึกไมาออกว่าอยู่ในหนังเรื่องไหน มีใครนึกออกไหมว่าเคยเจอ DOWSER ในหนังเรื่องไหนอีกบ้าง



No comments: