Thursday, September 08, 2022

KATH

 ชอบฉาก Thomas Hobbes, Montesquieu, John Locke ใน “คาธ” มาก ๆ เพราะเราไม่เคยรู้เรื่องพวกนี้มาก่อน หรือถึงรู้ก็ลืมไปแล้ว ก็เลยชอบที่ฉากนี้เหมือนให้ความรู้แก่เราไปในตัวด้วย อีกปัจจัยที่ทำให้ชอบฉากนี้มาก ๆ ก็คือการที่เรารู้สึกว่า จริง ๆ แล้วฉากนี้มันคือฉากที่ “นางอิจฉาจิกหัวด่าทอตบตีกับนางเอกอย่างรุนแรงต่อหน้าธารกำนัล” น่ะ แต่แทนที่นางอิจฉากับนางเอกในละครเรื่องนี้จะใช้ “กำลังทางกาย” ต่อสู้กัน นางอิจฉากับนางเอกกลับปะทะกันด้วยการพูดถึง Thomas Hobbes, Montesquieu, John Locke แทน เราก็เลยรู้สึกว่าฉากนี้เป็นฉากโปรดของเรามาก ๆ มันคือฉากนางอิจฉาจิกหัวตบนางเอกแต่ทำออกมาในอีกรูปแบบนึง (คือฉากแบบนี้ก็คงมีในละครเรื่องอื่น ๆ น่ะแหละ แต่เราไม่ได้ตามดูละครทีวีมานานเกือบ 30 ปีแล้ว ก็เลยเหมือนไม่เคยผ่านตาฉากแบบนี้มาก่อน)


พอดูฉากนี้แล้วก็เลยนึกถึง A TALE OF SPRINGTIME (1990, Eric Rohmer) ที่นางเอกพึงพอใจในตัวชายหนุ่มคนนึง แต่ชายหนุ่มคนนั้นมีคู่หมั้นสาวอยู่แล้ว แล้วในหนังมีฉากที่นางเอกกับคู่หมั้นสาวของพระเอกปะทะกันอย่างรุนแรงในโต๊ะอาหารด้วยการโต้เถียงกันเกี่ยวกับปรัชญา เพราะนางเอกเป็นครูสอนปรัชญา แต่เราอาจจะจำผิดก็ได้นะ เพราะเราดูหนังเรื่องนี้ที่ Alliance เมื่อราว 25 ปีมาแล้ว 55555 แต่เหมือนเราจำได้ว่า เราไม่เคยเห็นฉากนางเอกกับนางอิจฉาปะทะกันอย่างรุนแรงด้วยประเด็นทางปรัชญามาก่อน จนกระทั่งได้ดู A TALE OF SPRINGTIME

พอดูฉากนี้ในละครเรื่อง “คาธ” แล้วก็เลยอยากให้มีคนสร้างหนังไทยที่เนื้อหาตลอดทั้งเรื่องเป็นแบบฉากนี้ขึ้นมาเลย เป็นหนังที่นางเอกปะทะกับแก๊งนางอิจฉาตลอดทั้งเรื่องด้วยการด่าทอกันเป็นประเด็นทางปรัชญา อารมณ์ของหนังอาจจะคล้าย ๆ กับ “THE BANGKOK BOURGEOIS PARTY” (ความลักลั่นของงานรื่นเริง) (2007, Prap Boonpan) ที่ตัวละครด่าทอกันอย่างรุนแรงด้วยแนวคิดทางการเมืองตลอดทั้งเรื่อง ผสมกับหนังเรื่อง WE’RE STILL HERE (1997, Anne-Marie Mieville, Switzerland, 80min) ที่เป็นเรื่องของแม่บ้านสองคนคุยกัน แต่บทสนทนาของแม่บ้านสองคนนี้ดัดแปลงมาจากบทสนทนาของ Plato กับ Socrates คือดูหนังเรื่องนี้แล้วจะได้อารมณ์สะใจ กำหมัดแน่น เข่นเคี้ยวเขี้ยวฟันที่ได้เห็นนางเอกปะทะกับแก๊งนางอิจฉาไปด้วย และได้คิดถึงประเด็นทางปรัชญาไปด้วย 555
https://www.imdb.com/title/tt0119808/

No comments: