Monday, September 19, 2022

LA CHINOISE

 

มีเพื่อนคนหนึ่งใน facebook ถามว่า “ถ้าอยากดู LA CHINOISE (1967, Jean-Luc Godard) ให้เข้าใจควรไปศึกษาประวัติศาสตร์เหตุการณ์ไหนก่อนมาดูมั่งฮะ

 

เราก็เลยขอตอบสั้น ๆ ก่อนว่า “ก็ควรศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองยุคนั้นนะ หรือประวัติศาสตร์ของแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์ตั้งแต่ต้นเรื่อยมาจนถึงทศวรรษ 1960 โดยเน้นหนักไปที่การตบตีจิกหัวด่าทอกันอย่างรุนแรงระหว่างกลุ่ม Marxist ที่นิยมโซเวียต กับกลุ่ม Marxist ที่นิยมจีนในยุคทศวรรษ 1960 คือเราเดาเอาเองว่าถ้าหากใครมีพื้นฐานความรู้ด้านนี้แน่นพอ ก็น่าจะเข้าใจหนังเรื่อง LA CHINOISE ได้มากในระดับนึง แต่เราเองก็ไม่มีความรู้เรื่องนี้เลยจ้า 55555”

 

ส่วนอันนี้เป็นการจดบันทึกความรู้สึกของเราแบบยาว ๆ แต่ขอตอบสั้น ๆ แบบด้านบนไว้ก่อน เผื่อบางคนอาจจะขี้เกียจอ่านความรู้สึกของเราที่มีต่อหนังเรื่องนี้แบบยาว ๆ

 

1.เราได้ดู LA CHINOISE ครั้งสุดท้ายน่าจะเมื่อ 20 ปีก่อนนะ ตอนนี้เราก็ลืมรายละเอียดต่าง ๆ ในหนังเรื่องนี้ไปหมดแล้ว 55555

 

2.เราว่าเราเองก็น่าจะเข้าใจเนื้อหาใน LA CHINOISE ได้ไม่เกิน 10% นะ แต่มันก็เป็นหนังที่เราชอบมากที่สุดของ Godard อยู่ดี เพราะเราชอบตัวละครกลุ่มเพื่อนที่มาอยู่ในบ้านเดียวกันและสร้างโลกจินตนาการขึ้นมาร่วมกันน่ะ เพราะช่วงเวลาที่เรามีความสุขที่สุดในชีวิต ก็คือตอนช่วงต้นทศวรรษ 1990 ที่เรากับเพื่อน ๆ ได้มาเจอกันที่บ้านหลังนึงเป็นประจำ และทำกิจกรรมฮี้ห่า ฮี้ห่าต่าง ๆ ที่มันเกิดจากการที่เรากับเพื่อน ๆ แชร์โลกจินตนาการเดียวกัน สรุปได้ว่าปัจจัยที่ทำให้เราชอบ LA CHINOISE มากที่สุด เป็นเพราะหนังเรื่องนี้มันมีบางอย่างที่ทำให้เรานึกถึงช่วงเวลาที่เรามีความสุขที่สุดในชีวิต

 

3.นอกจากประสบการณ์ส่วนตัวในชีวิตเราเองแล้ว อีกจุดนึงที่เราประทับใจใน LA CHINOISE มาก ๆ ก็คือมันเป็นหนังเรื่องแรกที่เราได้ดูที่พูดถึงการตบกันอย่างรุนแรงระหว่างโซเวียตกับจีนน่ะ

 

คือเราได้ดู LA CHINOISE ครั้งแรกในช่วงปลายทศวรรษ 1990 และขอบอกเลยว่าหนังมัน “เปิดกะโหลก” เรามาก ๆ เพราะก่อนหน้านั้นกูก็ดูแต่หนังฮอลลีวู้ดเป็นส่วนใหญ่น่ะค่ะ แล้วหนังฮอลลีวู้ดมันนำเสนออะไรคะ หนังฮอลลีวู้ดหลายเรื่องมันก็พูดถึงแต่สงครามเวียดนามนั่นแหละ และเราซึ่งเกิดในปี 1973 และดูหนังฮอลลีวู้ดเป็นหลักในทศวรรษ 1980 ก็เลยรับรู้เพียงแค่ว่า อ๋อ เราอยู่ในช่วงสงครามเย็น เป็นคอมมิวนิสต์ตบกับโลกเสรี มีสงครามเวียดนาม โลกเสรีเป็นฝ่ายดี คอมมิวนิสต์เป็นฝ่ายผู้ร้าย  อะไรทำนองนี้

 

คือเหมือนเรามองโลกแบบ simple โง่ ๆ แบบนั้นมาก ๆ ในทศวรรษ 1980 น่ะ จนมาช่วงต้นทศวรรษ 1990 เราได้ดูหนังอย่าง GUILTY BY SUSPICION (1991, Irvin Winkler) เราถึงเพิ่งรู้ว่าโลกเสรีอย่างอเมริกานี่มันก็มีความเหี้ยมาก ๆ อยู่ด้วย และคอมมิวนิสต์ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นผู้ร้ายที่น่ากลัวเสมอไป

 

แต่เราก็ยังไม่เคยรู้เรื่องที่โซเวียตเองก็ตบกับจีนอย่างรุนแรงมาก่อน จนกระทั่งได้มาดูหนังเรื่อง LA CHINOISE นี่แหละ ที่มันเปิดกะโหลกเรามาก ๆ และช่วยให้เราตระหนักว่ามันมีความซับซ้อนมากมายที่เราไม่เคยรู้มาก่อนทั้งในทางประวัติศาสตร์และการเมือง และแน่นอนว่าอะไรแบบนี้หาไม่ได้ในหนังฮอลลีวู้ด

 

4.วิธีที่อาจจะเหมาะใช้ในการดูหนังของ Godard บางเรื่อง (เผื่อคนอื่น ๆ อยากเอาไปปฏิบัติตาม)

 

4.1 ดูรอบแรก

4.2 ดูรอบสอง แล้ว pause หนังเป็นระยะ ๆ เพื่อคอยจดชื่อบุคคล, เหตุการณ์, องค์การ หรือสิ่งต่าง ๆ ที่น่าสนใจเอาไว้ หรือถ้าหากการดูรอบสองเป็นการดูในโรงหนัง ก็เอาสมุดเข้าไปในโรงหนังแล้วจดชื่อต่าง ๆ ที่น่าสนใจในหนังเอาไว้ เราเคยทำแบบนี้ตอนดู LE PETIL SOLDAT ในโรงหนังที่ Alliance แล้วก็จดชื่อต่าง ๆ ในหนังลงสมุดได้หลายสิบชื่อ

 

เสร็จแล้วก็เอาชื่อต่าง ๆ เหล่านั้นไป google หาข้อมูลเพิ่มเติม

 

4.3 พอเรารู้แล้วว่าแต่ละชื่อที่ถูกเอ่ยถึงในหนังมันมีประวัติความเป็นมาอย่างไร บุคคลคนนี้เป็นใคร มาจากไหน องค์การนี้คือองค์การเหี้ยอะไร เคยทำเลวระยำตำบอนอะไรไว้บ้าง เคยตบกับองค์การอะไรมาก่อน, etc. คือพอเราคิดว่าเราหาความรู้เพิ่มเติมได้มากพอแล้ว เราก็อาจจะดูหนังเรื่องนั้นเป็นรอบที่ 3 ก็ได้

 

5.ถ้าไม่รู้ว่าควรจะอ่านหนังสือเล่มไหนดีก่อนดู LA CHINOISE เราก็ขอแนะให้ศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านการดูหนังเหล่านี้แทนก็ได้นะ เราคิดว่าการดูหนังเหล่านี้เป็นพื้นฐานไว้ก่อน น่าจะช่วยให้ดู LA CHINOISE ได้สนุกขึ้น เพราะเนื้อหาของหนังเหล่านี้มันช่วยปูพื้นฐานให้ผู้ชมเข้าใจได้มากขึ้นว่า เกิดอะไรบ้างก่อนจะถึงปี 1967

 

5.1 THE YOUNG KARL MARX (2017, Raoul Peck, Germany) เนื่องจาก LA CHINOISE เป็นหนังที่พูดถึงการตบตีจิกหัวด่าทอกันเองในกลุ่ม Marxists เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเริ่มด้วยจุดกำเนิดของ Marxists ในหนังเรื่อง THE YOUNG KARL MARX

 

5.2 กลุ่มหนังที่สะท้อนแนวคิดของโซเวียตในยุคเริ่มแรก อย่างเช่น

 

5.2.1 BATTLESHIP POTEMKIN (1925, Sergei Eisenstein)

5.2.2 STORM OVER ASIA (1928, Vsevolod Pudovkin)

5.2.3 EARTH (1930, Alexander Dovzhenko)

 

5.3 STAVISKY (1974, Alain Resnais, France)

 

หนึ่งในตัวละครสำคัญในประวัติศาสตร์ Marxist ก็คือ Leon Trotsky และหนังเรื่องนี้ก็นำเสนอเรื่องราวบางส่วนของ Trotsky

 

5.4 FRIDA (2002, Julie Taymor)

 

ดูเรื่องราวชีวิตของ Trotsky ต่อได้ในหนังเรื่องนี้ 55555

 

5.5 THE SOONG SISTERS (1997, Mabel Cheung)

 

ในส่วนของจีนนั้น เราอาจจะเริ่มด้วยซุนยัดเซ็น ในหนังเรื่องนี้ 555

 

5.6 THE FOUNDING OF A REPUBLIC (2009, Han Sanping, Huang Jianxin, China)

 

ดูประวัติศาสตร์การก่อตั้งประเทศจีนคอมมิวนิสต์ได้ในหนังเรื่องนี้

 

5.7 TO LIVE (1997, Zhang Yimou)

 

ดูความชิบหายของจีนในทศวรรษ 1940-1970 ได้ในหนังเรื่องนี้

 

5.8 THE IDEAL LANDSCAPE (1980, Peeter Simm, Estonia)

 

ดูความหีที่โซเวียตทำกับเอสโตเนียในทศวรรษ 1940-1950 ได้ในหนังเรื่องนี้

 

5.9 AN ORDINARY EXECUTION (2010, Marc Dugain, France)

 

ดูความเหี้ยของ Stalin ในปี 1952 ได้ในหนังเรื่องนี้

 

5.10 CHILDREN OF THE REVOLUTION (1996, Peter Duncan, Australia)

ดูกระแสนิยมสตาลินในทศวรรษ 1950 ได้ในหนังเรื่องนี้

 

5.11 SILENT WEDDING (2008, Horatiu Malaele, Romania)

ดูความเหี้ยที่โซเวียตทำกับโรมาเนียในปี 1953 ได้ในหนังเรื่องนี้

 

5.12 CHILDREN OF GLORY (2006, Krisztina Goda, Hungary)

ดูความเหี้ยที่โซเวียตทำกับฮังการีในปี 1956 ได้ในหนังเรื่องนี้

 

5.13 PUSKAS HUNGARY (2009, Tamas Almasi, Hungary, documentary)

ดูความเหี้ยที่โซเวียตทำกับฮังการีได้ในหนังเรื่องนี้

 

5.14 THE MOTORCYCLE DIARIES (2004, Walter Salles)

ในส่วนของอเมริกาใต้นั้น เราดูชีวิตเช เกวาราในวัยหนุ่มได้ในหนังเรื่องนี้

 

5.15 I AM CUBA (1964, Mikhail Kalatozov)

ดูจุดกำเนิดของคิวบาในฐานะประเทศคอมมิวนิสต์ได้ในหนังเรื่องนี้

 

5.16 THE WILD FIELD (1979, Nguyen Hong Sen, Vietnam)

ดูสงครามเวียดนามได้ในหนังเรื่องนี้

 

5.17 THE INEXTINGUISHABLE FIRE (1969, Harun Farocki)

ดูผลกระทบจากสงครามเวียดนามได้ในหนังเรื่องนี้

 

5.18 GIE (2005, Riri Riza, Indonesia)

 

ไม่ใช่แค่ในฝรั่งเศสเท่านั้นที่หนุ่มสาวตื่นตัวเรื่องการเมืองเป็นอย่างมากในทศวรรษ 1960 แต่มันเป็นกระแสที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึงในอินโดนีเซีย และเราก็ศึกษามันได้จากหนังเรื่องนี้ พระเอกหล่อมาก น่ากินมาก ๆ

 

5.19 14 ตุลา สงครามประชาชน (2001, Bhandit Rittakol)

หนังเรื่องนี้ก็พูดถึงความขัดแย้งระหว่างกลุ่มนิยมโซเวียตกับกลุ่มนิยมจีนในบรรดานักศึกษาที่เข้าป่า

 

5.20 A GRIN WITHOUT A CAT (1977, Chris Marker)

เป็นหนังที่สรุปความเหี้ยทั้งของโลกเสรีและของโลกคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็นได้อย่างดีสุด ๆ แนะนำชมเป็นอย่างยิ่ง

 

5.21 THE DREAMERS (2003, Bernardo Bertolucci)

วัยรุ่นยุคเดียวกับ LA CHINOISE

 

5.22 REGULAR LOVERS (2005, Philippe Garrel)

 วัยรุ่นยุคเดียวกับ LA CHINOISE

 

ใครมีหนังเรื่องไหนแนะนำอีก ก็บอกมาได้นะคะ

 

6.สิ่งที่น่าสนใจใน LA CHINOISE ไม่ได้มีเพียงแค่ “เนื้อหา” ของหนังนะ มันยังมีอะไรอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย อย่างเช่นปฏิสัมพันธ์ระหว่าง WORDS กับ IMAGES ในหนัง ซึ่ง Jacques Ranciere เคยเขียนถึงประเด็นนี้ไว้แล้วที่นี่

https://www.diagonalthoughts.com/?p=1610

 

7.ส่วนภาพนี้เป็นภาพจาก LA CHINOISE ที่เราประทับใจมาก ๆ คือ pause แค่ภาพนี้ภาพเดียวก็ได้ชื่อให้ไปค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้อีกเป็นสิบชื่อแล้ว

 

จริง ๆ แล้วพอเราดูฉากนี้ใน LA CHINOISE แล้วเราก็อยากให้มีคนสร้างหนังไทยที่ได้รับแรงบันดาลใจจากฉากนี้มากเลยนะ โดยในหนังไทยเรื่องนี้จะมีฉากที่ตัวละครเพื่อนกลุ่มนึงเขียนชื่อนักเขียนชื่อดังของไทยบนกระดาน อย่างเช่น ทมยันตี, คึกฤทธิ์, ปราปต์, ภาณุ ตรัยเวช, อุทิศ เหมะมูล, วินทร์ และนักเขียนซีไรต์ต่าง ๆ และนักเขียนชื่อดังต่าง ๆ จนเต็มกระดาน เสร็จแล้วเพื่อน ๆ กลุ่มนี้ก็นินทาด่าทอนักเขียนที่เป็นสลิ่ม แล้วค่อย ๆ ลบรายชื่อนักเขียนที่เป็นสลิ่มออกจากกระดานไปเรื่อย ๆ 555555 เห็นไหมล่ะว่า LA CHINOISE เป็นหนังที่กระตุ้นจินตนาการเราอย่างรุนแรงมาก ๆ

 

 

 

No comments: