เห็นกระแสในฟีดช่วงนี้
ก็เลยขอเสริมบ้าง ในเรื่องเกี่ยวกับรสนิยมของตัวเองที่มีต่อความสมจริงในภาพยนตร์
แต่ดิฉันไม่มีความเห็นต่อ HUNGER นะ เพราะดิฉันยังไม่ได้ดูหนังเรื่องนี้ และดิฉันก็ไม่ได้เป็นสมาชิก NETFLIX
ด้วย และดิฉันก็ไม่มีความเห็นต่อ “ความเห็นของคนอื่น ๆ ด้วย” เช่นกัน
เพราะดิฉันคิดว่าผู้ชมคนอื่น ๆ ก็ล้วนมีเหตุผลของตนเอง และหลาย ๆ คนก็มักจะมีรสนิยมตรงข้ามหรือแตกต่างจากดิฉันอยู่แล้ว
และนั่นก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่สุด เพราะฉะนั้นใครจะชอบหรือไม่ชอบอะไรที่ตรงข้ามกับดิฉัน
ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดามาก ๆ ค่ะ 555 ดิฉันแค่จะแสดงความเห็นของตนเองว่าโดยส่วนตัวแล้วดิฉันชอบอะไรแบบไหน
เมื่อเร็วๆ
นี้ได้เห็นมิตรสหายท่านหนึ่งโพสท์ในทำนองที่ว่า ในทวิตเตอร์มีคนด่าซีรีส์วายไทยว่าแย่
เพราะซีรีส์เหล่านี้ไม่ได้นำเสนอความสมจริงว่าเกย์ฝ่ายรับต้องลำบากยุ่งยากแค่ไหนในการตระเตรียมทำความสะอาดทวารหนักก่อนการร่วมรัก!?!?!?!?!
พออ่านตรงจุดนี้แล้ว
ก็เลยนึกถึงบทความ “มิติแห่งนัยยะ” ของ Jean-Claude
Carriere (คนเขียนบทภาพยนตร์คู่บุญของ Luis Bunuel) ที่เคยได้รับการแปลไว้ในหนังสือ “ฟิล์มไวรัส 2” ของคุณสนธยา ทรัพย์เย็น
เนื้อหาส่วนหนึ่งของบทความนี้พูดถึงลักษณะของภาพยนตร์ตั้งแต่ยุค 100 ปีก่อนแล้ว
โดยพูดถึงหนังเงียบเรื่อง A WOMAN OF AFFAIRS (1929, Clarence Brown) โดย Carriere เขียนว่า ในหนังเรื่องนี้มีฉากอีโรติกระหว่างจอห์น กิลเบิร์ตกับเกรตา
การ์โบ ซึ่งเป็น “ฉากที่ไม่สมจริงแม้แต่น้อย แต่เป็นฉากที่ทรงพลังอย่างแท้จริง” โดยในฉากนั้น “กิลเบิร์ตไม่ได้ถอดเน็คไทและรองเท้า
ความรักในที่นี้ดำเนินไปในโลกของมันเอง โลกที่ไม่เกี่ยวข้องกับข้อกำหนดในชีวิตประจำวัน
โลกที่ไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นจริงอันน่าขันที่ว่า ตัวละครจำเป็นต้องปลดกางเกงออก
เขาเดินไปที่โซฟาและนั่งลงข้างผู้หญิงคนนั้น
ทั้งสองชำเลืองมองกันไปมาและมีซับไตเติ้ลขึ้นมาอีก 2 ครั้ง
ความรู้สึกของทั้งคู่ปรากฏออกมาอย่างชัดแจ้ง อีกไม่นานทั้งคู่ก็อยู่ในอ้อมกอดของกันและกัน
การ์โบเอนกายลงบนโซฟาและดึงชายหนุ่มให้โน้มกายลงมาด้วย
กล้องเบนไปจากพวกเขาอย่างรวดเร็วและจับไปที่มือของการ์โบซึ่งเลื่อนจากโซฟามาที่พื้น
แหวนค่อย ๆ หลุดจากนิ้วเธอและร่วงลงบนพรมอย่างเงียบกริบ ความเงียบเป็นสิ่งที่รู้สึกได้อย่างชัดเจนแม้แต่ในภาพยนตร์เงียบ
ฉากจากภาพยนตร์เมโลดราม่าที่ถ่อมตัวเรื่องนี้เป็นฉากที่มีรูปลักษณ์ภายนอกธรรมดามาก
แต่ชัยชนะที่แท้จริงคือการสื่อถึงสิ่งที่ไม่ปรากฏและสิ่งที่ไม่ได้พูดถึงในฉาก
และกองเซ็นเซอร์ก็ไม่สามารถหาเรื่องเอาผิดอะไรจากฉากนี้ได้เลย ฉากนี้เสนอแนะ,
ปลุกเร้า และผลักเปิดประตูความคิดที่ถูกต้องภายในตัวเรา ทุกสิ่งในฉากนี้เป็นสิ่งที่สามารถเข้าใจได้กระจ่าง...
แต่ความเป็นจริงในชีวิตประจำวันได้ถูกขจัดออกไป
ไม่มีใครจะมัวถามว่าห้องน้ำอยู่ตรงไหน ไม่มีใครมาสนใจว่าเลขาจะโผล่พรวดเข้ามาหรือไม่
คำถามที่มีเหตุผลเหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีความสำคัญ
สิ่งที่สำคัญคือสไตล์ของฉาก ความหมายของแหวน และทุกอย่างที่ได้มีการบอกแนะเอาไว้
ผู้เขียนฉากนี้หวังว่าไอเดียดังกล่าวจะแข็งแกร่งพอที่จะดึงดูดความสนใจของผู้ชมไว้ไม่ให้หันไปสงสัยในเรื่องอื่นๆ
ไม่ว่าข้อสงสัยนั้นจะถูกต้องตามหลักความเป็นจริงแค่ไหนก็ตาม
ในฉากนี้ความรัก หรืออาจเรียกได้ว่ารูปแบบของความรักได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นมา
และในที่สุดฉากนี้ได้นำไปสู่ต้นกำเนิดของเทคนิคซ้ำซาก ตั้งแต่การแพนกล้องในช่วงสำคัญไปจับภาพฟืนที่ปะทุอยู่ในกองไฟ
หรือไปจับภาพรองเท้าที่ร่วงลง, ภาพเสื้อผ้าที่ถูกเหวี่ยงลงบนพรม หรือเสียงดนตรีจากเครื่องเล่นแผ่นเสียง
แต่ในยุคปี 1929 นั้น ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของตัวละครถือเป็นสิ่งที่สดใหม่มาก
และถือเป็นการสร้างสรรค์ได้อย่างน่าภาคภูมิใจที่สุด”
ก็เลยรู้สึกว่า ดิฉันเองไม่เคยมีปัญหาแต่อย่างใดกับซีรีส์วายหรือหนังเกย์เรื่องใด
ๆ ก็ตามที่ไม่ได้นำเสนอ “ความสมจริงในการทำความสะอาดทวารหนัก” ค่ะ แต่ถ้าหากจะมีหนังเกย์เรื่องใดที่นำเสนอสิ่งนี้
ดิฉันก็สนับสนุนค่ะ คือหนังเรื่องใดจะสมจริงหรือไม่สมจริงตรงจุดนี้ ดิฉันก็คงชอบทั้งสองแบบค่ะ
555
เมื่อเร็ว ๆ นี้ดิฉันก็เพิ่งเขียนไปเองว่า
ดิฉันไม่ค่อยอินกับ “หนังแอคชั่นของอินเดีย” เพราะมันมีความเกินจริงบางอย่างในหนังแอคชั่นอินเดียที่มันดู
“ตลก” สำหรับดิฉัน
แต่ดิฉันกลับไม่มีปัญหาแต่อย่างใดกับความเกินจริงในละครทีวีญี่ปุ่นแนว SUKEBAN DEKA, ยอดหญิงชิงโอลิมปิก, หนังจีนกำลังภายใน
หรือหนังแนว superheroes แต่อย่างใด ดิฉันกลับ “หลงรัก”
ความเกินจริงในหนัง/ละครทีวีกลุ่มนี้อย่างมาก ๆ
ก็เลยรู้สึกว่ามันน่าสนใจดีที่ความเกินจริงบางอย่างมันเหมือนเป็น “โลกจินตนาการที่ดิฉันอยากเข้าไปอาศัยอยู่”
แต่ความเกินจริงบางอย่างมันกลับเป็น “โลกจินตนาการที่ยังไม่มีมนตร์เสน่ห์ดึงดูดสำหรับดิฉัน”
555 ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทำไม แต่ดิฉันคิดว่ามันเป็นเรื่องของ “รสนิยมส่วนตัว” ค่ะ
เพราะโลกจินตนาการที่มีมนตร์เสน่ห์ดึงดูดสำหรับผู้ชมชาวอินเดียกับของดิฉันก็คงแตกต่างกัน
เป็นเรื่องธรรมดา เพื่อนๆ บางคนของดิฉันก็ไม่อินกับ “หนังจีนกำลังภายใน” เช่นกัน
https://web.facebook.com/photo/?fbid=10230994846077967&set=a.10230383642238253
แต่โดยส่วนตัวแล้ว ดิฉันมักจะชอบภาพยนตร์ที่มี
“ความแตกต่างจากโลกแห่งความเป็นจริง” ค่ะ แบบตัวละครคุยกันเป็นบทกวี เป็นร้อยกรอง หรือพูด+ทำอะไรที่แตกต่างจากโลกแห่งความเป็นจริง
แต่สามารถสร้างความสั่นสะเทือนบางอย่างต่ออารมณ์ความรู้สึกของดิฉันได้
ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือหนังของ
Alain Robbe-Grillet
ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้กำกับที่ดิฉันชื่นชอบมากที่สุด และเขาก็เป็นนักแต่งนิยายด้วย
ดิฉันชื่นชอบหลักการสร้างสรรค์ผลงานของ Alain Robbe-Grillet (ARG)
ที่เขาจะไม่คำนึงถึงความเป็นจริงเลย อย่างเช่นตอนที่เขาจะเขียนถึง “นกนางนวล”
ในนิยายของเขา เขาก็จะต้องหักห้ามใจตัวเองไม่ให้ “ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า นกนางนวลจริง
ๆ มันเป็นยังไง” เพราะนกนางนวลในนิยายของเขา ไม่เห็นจำเป็นจะต้องเหมือนกับนกนางนวลในโลกแห่งความเป็นจริงแต่อย่างใดทั้งสิ้น
ดิฉันก็เลยรู้สึกว่า หลักการสร้างสรรค์
fiction แบบของ Alain Robbe-Grillet นี่แหละ ตรงจริตดิฉันมากที่สุด ARG ก็เลยเป็น one
of my most favorite filmmakers of all time แต่ถ้าหากใครจะไม่ชอบผลงานของเขา
เพราะนกนางนวลในนิยายของเขาไม่ตรงกับนกนางนวลในโลกแห่งความเป็นจริง
นั่นก็เป็นเรื่องรสนิยมของแต่ละคนค่ะ
ดิฉันเคยเขียนถึง ARG ไว้บ้างใน blog ของดิฉัน
ก็เลยขอถือโอกาสนี้เอามาแปะไว้ในนี้ด้วยค่ะ
https://celinejulie.blogspot.com/2007/02/eden-and-after-part-3.html
ข้อมูลที่น่าสนใจอื่นๆเกี่ยวกับ
ARG
--ARG และ BUTOR มีความเห็นตรงกันว่า “reality” ที่นักแต่งนิยายสร้างขึ้นมา
ต้องแตกต่างเป็นอย่างมากจาก REALITY ที่เราใช้ชีวิตอยู่ในโลกแห่งความเป็น
จริง โลกแห่งความเป็นจริงเต็มไปด้วยสิ่งต่างๆมากมายที่เราสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับโลกแห่งจินตนาการของเราได้
แต่โลกแห่งความเป็นจริงไม่มีสิทธิมากำหนดหรือบีบบังคับได้ว่า เราต้องนำ “วัตถุ เอ”
ในโลกแห่งความเป็นจริง ไปดัดแปลงเป็น “วัตถุ เอเอ” เท่านั้นในโลกจินตนาการ สิ่งใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับวัตถุเอในโลกแห่งความเป็นจริง
ไม่จำเป็นต้องติดตามวัตถุเอมาด้วยเมื่อมันอยู่ในโลกแห่งจินตนาการ
เสรีภาพในการสร้างงานที่นักเขียนกลุ่ม NEW NOVEL นำมาใช้นี้
เหมือนกับสิ่งที่จิตรกรและนักดนตรีเคยทำมาแล้วก่อนหน้านักเขียนกลุ่มนี้ราว 50
ปี
สิ่งที่ ARG
ทำก็คือการแสดงให้เห็นว่านักเขียนสามารถ CREATE โลกจินตนาการขึ้นมาได้ โดยไม่ใช่ทำเพียงแค่ REPRODUCE โลกจินตนาการให้ตรงกับโลกแห่งความเป็นจริงเท่านั้น เพราะในหลายครั้ง
คนเรามักจะตัดสินนิยายบางเรื่องว่ามันสะท้อนโลกแห่งความเป็นจริงได้ดีเพียงใด
หรือมันสะท้อนสภาพจิตใจของคนในโลกแห่งความเป็นจริงได้ดีเพียงใด
ทั้งๆที่เราเองก็ไม่ได้เข้าใจโลกแห่งความเป็นจริงหรือเข้าใจสภาพจิตใจของคนในโลกแห่งความเป็นจริงเท่าใดนัก
ในหลายๆครั้ง เราตัดสินนักแต่งนิยายในฐานะ PSYCHOLOGIST หรือ
SOCIOLOGIST แต่ไม่ได้ตัดสินเขาในฐานะ CREATOR แต่ ARG ทำงานแต่งนิยายในฐานะ CREATOR และเขาเปิดโอกาสให้จิตใจของผู้อ่านได้เป็นอิสระขณะที่อ่านหนังสือองเขา
โดยไม่ต้องคำนึงถึงกฎเกณฑ์ต่างๆในโลกแห่งความเป็นจริงขณะที่อ่านหนังสือของเขา
(หรือดูหนังของเขา)
อย่างไรก็ดี นิยายของ ARG ไม่ได้หนีจากโลกแห่งความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง
โดยนักวิจารณ์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า นิยายของ ARG แสดงให้เราเห็นว่า
ในที่สุดแล้ว เราก็ไม่อาจจะหนีจากโลกแห่งความเป็นจริงได้
(บางทีนี่อาจจะตรงกับตอนจบของ EDEN AND AFTER ที่ตัวละครเกือบทุกคนเหมือนจะกลับมาใช้ชีวิตอย่างน่าเบื่ออีกครั้ง)
และ ARG มักจะใช้ “โลกแห่งความเป็นจริง”
เป็นเครื่องมือในการทำลายความต่อเนื่องในเนื้อหาในนิยายของเขา
และทำให้ผู้ชมตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่าสิ่งที่อ่านอยู่เป็นเพียงเรื่องแต่งเท่านั้น
นิยายของเขามักจะตอกย้ำความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างสิ่งจริงกับสิ่งไม่จริง
หรือความขัดแย้งกันระหว่าง “สิ่งที่มองเห็น” กับ “สิ่งที่ตัวละครคิดหรือจินตนาการ”
ARG เคยเขียนเรียงความเกี่ยวกับ JOE
BOUSQUET ซึ่งเป็นกวีแนวเซอร์เรียลที่กระดูกสันหลังของเขาได้รับบาดเจ็บจากลูกกระสุนในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
แต่เขาสามารถมีชีวิตอยู่ได้อีกกว่า 30 ปี
โดยที่เป็นอัมพาตเกือบทั้งตัว และต้องใช้ชีวิตอยู่ในห้องนอนใน CARCASSONNE โดย ARG บอกว่าสภาพการใช้ชีวิตของ BOUSQUET เป็นสภาพของนักเขียนที่แท้จริง
เพราะเขาเขียนโดยที่ไม่ต้องยืนยันว่าฉากหรือตัวละครที่เขากำลังบรรยายอยู่มีลักษณะตรงตามโลกแห่งความเป็นจริง
โดย ARG เองเคยบอกอีกด้วยว่า ตอนที่เขาแต่งนิยายเรื่อง LE
VOYEUR นั้น เขาต้องบรรยายถึงนกนางนวล และเขาก็รู้สึก “อยาก”
เป็นอย่างมากที่จะไปตรวจสอบว่านกนางนวลจริงๆเป็นอย่างไร
เพื่อที่เขาจะได้บรรยายนกนางนวลให้ถูกต้องตามโลกแห่งความเป็นจริง
แต่ในที่สุดเขาก็เอาชนะความอยากนั้นได้ และสามารถบรรยายนกนางนวลตามจินตนาการ
โดยไม่ยอมศิโรราบให้กับโลกแห่งความเป็นจริง และไม่ยอมทำให้นกนางนวลในนิยายของเขา
“เหมือนกับมีชีวิตจริง”
--นักวิจารณ์บอกว่า
จุดนึงที่น่าสนใจในนิยายของ ARG คือการนำสถานที่ที่มีอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงมาใช้ในนิยาย
แต่ไม่มีการถ่ายทอดความเป็นจริงของสถานที่ดังกล่าวลงมาในนิยายจนทำให้นิยายดูเหมือนเป็นสารคดี
โดยจุดนี้อาจจะเห็นได้จากการใช้ฮ่องกงเป็นฉากหลังในนิยายเรื่อง THE HOUSE
OF RENDEZ-VOUS (โดยส่วนตัวแล้ว ดิฉันคิดว่าการใช้เกาะเจอร์บาใน EDEN
AND AFTER ก็มีลักษณะคล้ายกัน
เพราะหนังเรื่องนี้ไม่ได้เน้นถ่ายทอดความเป็นจริงของเกาะเจอร์บาในตูนิเซียแต่อย่างใด)
นักวิจารณ์บอกว่า ลักษณะนี้ของ ARG มาจาก RAYMOND ROUSSEL ซึ่งเป็นคนที่รวยมากและเป็นนักเดินทางทั่วโลก
แต่เป็นที่เชื่อกันว่าเขาเดินทางไปรอบโลกโดยไม่เคยลงจากเรือของเขาเลย
เพราะเขาเชื่อว่าภูมิประเทศที่อยู่ในจินตนาการของเขาควรได้รับความสำคัญเหนือกว่าความเป็นจริง
นักวิจารณ์บอกว่า
เมืองอีสตันบูลของตุรกีที่อยู่ในหนังเรื่อง L’IMMORTELLE
(1963) ของ ARG ก็มีลักษณะแบบเดียวกัน
เพราะเมืองอีสตันบูลในหนังเรื่องนี้มีลักษณะเหมือนภาพโปสการ์ด
(ภาพโปสการ์ดก็มีบทบาทสำคัญมากใน EDEN AND AFTER ด้วย) และ ARG
ก็จงใจทำลายความเหมือนจริงของอีสตันบูลในหนังของเขา
เพราะเขาต้องการแสดงให้เห็นถึงพลังอำนาจของจินตนาการ เขาทำให้เหตุการณ์และฉากใน L’IMMORTELLE
ดู EXOTIC ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
เพื่อเตือนผู้ชมว่าสิ่งที่พวกเขากำลังดูอยู่ไม่ใช่ความเป็นจริง
นักวิจารณ์บอกว่า ภาพยนตร์ของ ARG เปรียบเหมือนกับความฝันขณะตื่นอยู่ แต่ถึงแม้ภาพยนตร์ของเขาเปรียบเหมือนกับความฝัน
มันก็ไม่ได้เป็นภาพยนตร์ที่ตามเรื่องได้ยากเหมือนกับงานแนวเซอร์เรียลเรื่องอื่นๆ
เพราะมันมักจะมีจุดที่ช่วยให้ผู้ชมตามเรื่องหรือเข้าถึงอารมณ์ของเรื่องได้
โดยในความเห็นส่วนตัวของดิฉันนั้น ดิฉันคิดว่าจุดนี้น่าจะจริง เพราะเรื่องราวของ EDEN
AND AFTER นั้นพูดถึงการแย่งชิงภาพวาดราคาแพง
ซึ่งไม่ใช่จุดที่เข้าใจยาก
(จุดที่ยากก็คือว่าการแย่งชิงนั้นเป็นเรื่องจริงหรือเป็นจินตนาการ
หรือเป็นการแสดงละครตามจินตนาการ) ในขณะที่หนังอย่าง UN CHIEN ANDALOU นั้น แทบปะติดปะต่ออะไรไม่ได้เลย และเหมือนกับความฝันขณะนอนหลับ
--นักวิจารณ์ตั้งข้อสังเกตว่า
เมื่อใดก็ตามที่ ARG บรรยายถึงถนน,ทางเดิน,
เฉลียง, บันได หรืออะไรทำนองนี้
เขาจะบรรยายทางเดินเหล่านี้ในแบบที่เป็นเศษเสี้ยว และสร้างความงุนงงให้แก่ผู้อ่าน
(ดิฉันเคยเจออะไรแบบนี้มาแล้วตอนอ่านนิยายเรื่อง RECOLLECTIONS OF THE
GOLDEN TRIANGLE ของ ARG)
--นักวิจารณ์บอกว่า
ผู้เริ่มอ่านนิยายของ ARG บางคนไม่ชอบที่นิยายของเขาไม่ให้ความรู้สึกของความจบบริบูรณ์ในตอนจบ
ผู้อ่านกลุ่มนี้รู้สึกว่าในการอ่านนิยายของ ARG พวกเขาไม่ได้รู้สึกเหมือนตัวเองได้นั่งอยู่บนยานพาหนะที่มั่นคงที่ขับเคลื่อนจากจุด
เอ ไปยังจุด บี เหมือนนิยายของนักเขียนคนอื่นๆ
(ลักษณะนี้ก็น่าจะเหมือนกับหนังเรื่อง EDEN AND AFTER) โดยนิยายหรือหนังของ
ARG นั้นมีลักษณะเหมือนประกอบด้วยเรื่องสั้นหลายๆเรื่อง
และแสดงให้เห็นถึงจิตใจที่ไม่สงบที่พยายามจะสร้างตำนานขึ้นมา
โดยความพยายามเหล่านี้มีเส้นกราฟทางอารมณ์ที่คล้ายๆกับพาราโบล่า
นั่นกึคือมีช่วงที่อารมณ์พุ่งสูงหรือมีการใช้ความรุนแรง ก่อนที่อารมณ์จะแผ่วลง
จุดนี้ก็ทำให้ดิฉันนึกถึง EDEN AND AFTER ด้วยเหมือนกัน
เพราะบางทีเราอาจจะมองได้ว่าเรื่องราวส่วนใหญ่ของหนังเรื่องนี้เกิดจากจิตใจที่ไม่สงบของไวโอเลต
ที่พยายามจะสร้างตำนานหรือเรื่องเล่าที่ตัวเองเป็นนางเอก
ที่ถูกกลุ่มเพื่อนๆหลอกลวงและวางแผนฆ่าเพื่อแย่งชิงภาพเขียนราคาแพง
โดยที่พาราโบลาลูกแรกอาจจะเป็นฉากการวางยาพิษในร้านคาเฟ่อีเดน, พาราโบลาลูกที่สองอาจจะเป็นตอนที่ไวโอเลตถูกเพื่อนๆตามล่าในโรงงาน
และพาราโบลาลูกที่สามคือเหตุการณ์ที่ตูนิเซีย
ARG เคยเขียนเรียงความเกี่ยวกับ RAYMOND
ROUSSEL ในปี 1963 โดยบอกว่า ROUSSEL มองว่านิยายของเขาเป็นการเดินทางจากจุด A ไปยังจุด A1
ซึ่งแตกต่างจากจุด A เล็กน้อย
และนักวิจารณ์บอกว่าสิ่งนี้อาจจะนำมาเปรียบเทียบกับนิยายหรือหนังของ ARG ได้เช่นกัน เพราะบางคนอาจเข้าใจผิดว่านิยายหรือหนังของ ARG เล่าเรื่องเป็นวงกลม
และเข้าใจผิดว่าฉากตอนจบของเรื่องคือการวกกลับมายังฉากเริ่มแรก
โดยที่การเดินทางของตัวละครเอกในเรื่องไม่ได้ช่วยให้ตัวละครเอกได้ค้นพบตัวเองแต่อย่างใด
นักวิจารณ์ตั้งข้อสังเกตว่า
สิ่งสำคัญในนิยายหรือหนังของ ARG ไม่ได้อยู่ที่จุดนี้
เพราะตัวละครเอกในนิยายหรือหนังของเขาคือภาพสะท้อนของตัว ARG เอง และ ARG ก็ได้เปิดเผยให้เห็นกระบวนการสร้างสรรค์เรื่องแต่งในนิยายหรือหนังแต่ละเรื่องของเขา
เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้อ่านหรือผู้ชมภาพยนตร์ได้เรียนรู้บางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับตัวเองจากนิยายหรือหนังของเขา
จุดนี้ทำให้นึกถึง EDEN AND AFTER ด้วยเหมือนกัน เพราะไวโอเล็ต
ซึ่งเป็นตัวละครเอกของ EDEN AND AFTER ก็มีลักษณะเหมือนกับเป็นนักแต่งนิยาย
ถ้าหากเรามองว่าเหตุการณ์ในเรื่องเป็นจินตนาการของเธอเอง และตอนจบของเรื่องนี้
ก็ดูเผินๆเหมือนกับการวกกลับมายังจุดเริ่มต้นด้วยเหมือนกัน
John Sturrock สรุปว่า ผลงานของ ARG
คือการสอนให้ผู้อ่านหรือผู้ชมภาพยนตร์ตระหนักว่า มี “ช่องว่าง”
ระหว่างความคิดของเรากับสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา
และเราต้องคอยตระหนักและรู้ตัวถึงช่องว่างเหล่านี้อยู่เสมอ
โดยที่เราสามารถใช้ความคิดคำนึงของเราในการคาดการณ์เกี่ยวกับสิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัวเรา
แต่เราต้องตระหนักว่าสมมุติฐานของเราเป็นเพียง “สิ่งชั่วคราว” และ
“ใช้ได้เฉพาะบางเหตุการณ์” เท่านั้น
เราต้องไม่เผลอทึกทักเอาเป็นอันขาดว่าสมมุติฐานที่อยู่ในหัวของเราเป็นความจริงขั้นสุดท้าย,
เป็นความจริงสัมบูรณ์, ใช้ได้ตลอดไป
หรือใช้ได้ในทุกกรณี
No comments:
Post a Comment