Friday, March 06, 2020

THE BOXER'S OMEN

ตอนดูหนังเรื่อง  LITTLE MONSTERS (2019, Abe Forsythe, Australia) เรานึกว่า คนแบบนางเอกในหนังเรื่องนี้ "ไม่มีอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง" เพราะเธอต่อสู้กับฝูงซอมบี้ และสอนเด็กๆร้องเพลง คอยหลอกเด็กๆว่ามันเป็นเกม เพื่อให้เด็กไม่ตื่นตระหนกตกใจในเวลาเดียวกัน

แต่จริงๆแล้วเราเข้าใจผิด คนแบบนางเอกหนังเรื่อง LITTLE MONSTERS มีอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง

BEWITCHED (1981, Kuei Chih-hung, Hong Kong, A+30)
+ THE BOXER'S OMEN (1983, Kuei Chih-hung, Hong Kong, A+30)

1.Elvis Tsui ที่รับบทเจ้าอาวาสใน THE BOXER'S OMEN หล่อ ตรงสเปคเรามากๆ กรี๊ดดดดดดดดดดดดด

2.หนังสองภาค ภาคแรกเป็นเรื่องของคนธรรมดาที่เผชิญกับมนตร์ดำ หนังจะออกแนวสยองขวัญคล้ายๆ "ลองของ" ส่วนภาคสองเป็นเรื่องของการต่อสู้กันอย่างรุนแรงโดยใช้เวทมนตร์ หนังจะออกแนวแฟนตาซีคล้ายๆ "จอมขมังเวทย์ 2"

3.ชอบหนังทั้งสองภาคอย่างรุนแรงที่สุด นี่แหละคือหนังเกี่ยวกับเวทมนตร์ที่เราต้องการ มันไม่เหมือนหนังสยองขวัญส่วนใหญ่ที่เป็นเรื่องของ "คนเจอผีหลอก" น่ะ แต่หนังสองเรื่องนี้มันเป็นการดำดิ่งลงไปในโลกของไสยาศาสตร์จริงๆ และให้ความสำคัญกับคำว่า "ศาสตร์" ใน "ไสยาศาสตร์" จริงๆ

คือเราว่าในหนังสยองขวัญส่วนใหญ่ "มนตร์ดำ" มันมีสถานะเป็นรอง "ตัวละคร" น่ะ คือตัวละครบางตัวอาจจะใช้เวทมนตร์เป็นอาวุธ และบางตัวละครอาจจะเจออุปสรรคจากมนตร์ดำ โดนมนตร์ดำทำร้าย คือมนตร์ดำมีสถานะเป็นเหมือน "อุปสรรค" หรือ "อาวุธ" ของตัวละคร

แต่ใน BEWITCHED นั้น หนังทำเหมือนกับจะเป็น essay film เกี่ยวกับเวทมนตร์เลยน่ะ คือหนังขึ้น text เพื่ออธิบายประเภทของเวทมนตร์เป็นระยะๆในหนัง และมันทำให้เราชอบหนังอย่างรุนแรงที่สุด เพราะหนังมันทำเหมือนกับว่า  หัวใจจริงๆของหนัง คือการนำเสนอคาถาอาคมคุณไสยประเภทต่างๆมากมาย ส่วนตัวละครและเหตุการณ์ต่างๆในหนัง ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับการนำเสนอคาถาอาคมเหล่านี้ คือเหมือน การนำเสนอไสยา "ศาสตร์" ในหนังเรื่องนี้ มีความสำคัญมากกว่าหรือเท่ากับตัวละคร

ความแตกต่างระหว่างหนังสองภาคนี้ กับหนังสยองขวัญทั่วไป อาจจะเปรียบเทียบง่ายๆได้ว่า มันคล้ายกับความแตกต่างระหว่าง นิตยสาร "โลกทิพย์" กับคอลัมน์ "ประสบการณ์ปีศาจ" ในนิตยสารต่วยตูนพิเศษ หรือความแตกต่างระหว่างนิยายเรื่อง "สัมภเวสี" ของตรี อภิรุม กับนิยายหลายๆเรื่องของจินตวีร์ วิวัธน์น่ะ

คือเราว่า หนังสยองขวัญโดยทั่วไป มันให้อารมณ์คล้ายๆการอ่านนิยายของจินตวีร์ วิวัธน์ + คอลัมน์ ประสบการณ์ปีศาจน่ะ คือในการอ่านเรื่องพวกนี้ เราจะให้ความสำคัญกับ ตัวละคร + เรื่องน่าหวาดกลัว 1-3 อย่างที่ตัวละครเจอ และจะลุ้นว่าตัวละครจะรับมือกับผี+เวทมนตร์+ อุปสรรคยังไง

แต่การอ่านนิตยสารแบบโลกทิพย์ หรือนิยายแบบสัมภเวสีของตรี อภิรุมนั้น มันเหมือนการเดินทางท่องเที่ยวใน "ห้างสรรพสินค้า" ที่ขายคุณไสย, เวทมนตร์คาถา, สิ่งศักดิ์สิทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆมากมายน่ะ สิ่งสำคัญคือ "ความละลานตาของ supernatural things"  ต่างๆที่ถูกนำเสนอในนิตยสาร, นิยาย, หนัง ไม่ใช่การเอาชนะอุปสรรคของตัวละคร

คือในนิยายอย่างสัมภเวสีนั้น เราไม่ได้สนใจว่า นางเอกจะหาผัวในฝันเจอหรือไม่ แต่เราสนใจว่าในแต่ละตอนนางเอกจะเจอเปรตประเภทไหน เวมาณิกเปรต หรือเปรตอัณฑะโตหรืออะไร, จะเจออสุรกายประเภทไหน, จะเจออะไรบ้างในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา

เราก็เลยชอบ BEWITCHED กับ THE BOXER'S OMEN มากๆ เพราะเรารู้สึกว่า supernatural things ในหนังสยองขวัญโดยทั่วไป เป็นเหมือนหุ่นผีในบ้านผีสิง ที่มีหน้าที่หลักเพื่อหลอกผู้ชมให้หวาดกลัว

แต่ supernatural things ในหนังฮ่องกงสองเรื่องนี้ มันเหมือนเป็น "สินค้าอันน่าหลงใหล ละลานตาละลานใจ" ใน "ห้างสรรพสินค้าแห่งคุณไสย" น่ะ ซึ่งมันคล้ายกับความรู้สึกเวลาอ่านนิตยสาร โลกทิพย์ และนิยายแบบ "สัมภเวสี" ของตรี อภิรุม

มี SPOIL  PAIN AND GLORY
--
--
--
--
--
--
--
--
--
--
ต้องกราบขอบคุณคุณ Graiwoot Chulpongsathorn มากๆ ที่มาเขียนเล่าให้เราฟังถึงบทสนทนากับ Laura Mulvey และข้อสันนิษฐานที่ว่า Pedro Alomodovar สร้างหนังเรื่อง PAIN AND GLORY ขึ้นมา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการค้นหากรรมกรก่อสร้างหนุ่มคนนั้นในหนัง

ตอนดูหนังเรื่องนี้ เราไม่ทันนึกถึงจุดนี้เลย แต่พอได้ฟังข้อสมมุติฐานนี้ เราก็เลยอยากสร้างหนังแบบนี้มากๆ เพราะตอนเด็กๆเราเคยถูกส่งไปเรียน "โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์" ในวัดแห่งนึง แล้วเราแอบชอบเด็กหนุ่มคนนึงที่เรียนธรรมะในชั้นเดียวกับเรา แต่เขาก็หายไปจากชีวิตของเราตั้งแต่ปี 1987 เป็นต้นมา หรือ 33 ปีมาแล้ว เราพยายามค้นหาเขาใน FACEBOOK แต่ก็หาเขาไม่เจอ

ถ้าเราสร้างหนังแบบ PAIN AND GLORY ขึ้นมา เราจะได้เจอเขาอีกครั้งไหมนะ ตอนนั้นเราไปเรียนธรรมะ แต่ใจเราเต็มไปด้วยตัณหาราคะ อยากกินเด็กหนุ่มที่เรียนหลักพระธรรมคำสอนด้วยกัน ความกะหรี่มันเป็นเรื่องธรรมชาติจริงๆ

No comments: