Monday, May 31, 2021

16 OCT (2020, Aomtip Kerdplanant, 36min, A+30)

 

16 OCT (2020, Aomtip Kerdplanant, 36min, A+30)

16 ตุลา (อ้อมทิพย์ เกิดผลานันท์)

 

1.เสียดายเราพลาดดูช่วง 3-5 นาทีแรกของหนังเรื่องนี้ เพราะตอนนั้นอินเทอร์เน็ตที่ห้องเรามีปัญหา แต่เราก็พอดูรู้เรื่องนะ

 

สิ่งที่ชอบที่สุดในหนังก็คือ “ประเด็น” หรือ “เนื้อหา” ที่หนังเลือกที่จะนำเสนอ เราชอบที่หนังเลือกที่จะนำเสนอการถกเถียงกันระหว่างตัวละคร 3 แกนนำในกลุ่มนักเคลื่อนไหว/นักศึกษาน่ะ และพอมันเป็นการถกเถียงกันเองในกลุ่ม 3 แกนนำ มันก็เลยเปิดพื้นที่ให้กับ dilemma ต่าง ๆ มากมาย อย่างเช่นเรื่องความปลอดภัยในการจัดการชุมนุม, เราจะเลือกจัดการชุมนุมรูปแบบใด , เราควรจะต้องขออนุญาตฝ่ายเผด็จการก่อนหรือไม่, etc.

 

เราว่าประเด็นพวกนี้มันน่าสนใจมาก ๆ น่ะ เพราะเราสนใจการถกเถียงและการตบตีกันเองของฝ่ายประชาธิปไตย 55555 คือเราว่ามันมี dilemma เยอะมาก ๆ หรือมี drama เหี้ยห่ามากมายในฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันเองที่สามารถนำมาขยายเป็นหนังได้ แต่เรายังไม่ค่อยเจอหนังที่เลือกที่จะนำเสนอประเด็นพวกนี้ (แต่เป็นเพราะว่าปีที่แล้วเราแทบไม่ได้ดูหนังสั้นไทยด้วยแหละ เราก็เลยไม่รู้ว่ามีหนังที่พูดถึงประเด็นนี้ไปหลายเรื่องแล้วยัง)

 

คือหนังไทยแนวการเมืองที่เราเคยดูมาก่อน ๆ หน้านี้เราก็ชอบสุด ๆ นะ แต่ส่วนใหญ่แล้วมันเป็นหนังที่เข้าข้างฝ่ายประชาธิปไตย คือเป็นหนังที่นำเสนอความเลวร้ายของฝ่ายเผด็จการ หรือเป็นหนังที่เชิดชูนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยน่ะ เปรียบง่าย ๆ ก็เหมือนกับว่า หนังการเมืองไทยที่เราชอบสุด ๆ ที่เคยดูมาในช่วงก่อนหน้านี้ เปรียบเทียบได้กับหนังที่นำเสนอความเลวร้ายของนาซี หรือหนังที่เชิดชูนักต่อต้านนาซีแบบ SOPHIE SCHOLL: THE LAST DAYS (2005, Marc Rothemund) น่ะ ซึ่งเราก็คิดว่าหนังการเมืองไทยกลุ่มนี้มันดีมาก ๆ แหละ และเราก็ชอบมันสุด ๆ น่ะแหละ แต่พอเรา “เข้าข้าง” ฝ่ายนี้อยู่แล้วตั้งแต่ก่อนดูหนัง เราก็เลยแอบรู้สึกว่า อยากให้มีหนังไทยที่ไม่ได้นำเสนอ “ฝ่ายประชาธิปไตย VS. ฝ่ายเผด็จการ” แต่เป็นหนังที่นำเสนอ “ฝ่ายประชาธิปไตย ตบตีกับ ฝ่ายประชาธิปไตย” ออกมาบ้าง 55555 เพราะมันเหมือนเป็นการหามุมมองใหม่ ๆ ที่น่าสนใจให้กับหนังการเมืองไทย และกระตุ้นให้ผู้ชมได้คิดพิจารณาถึง dilemma ต่าง ๆ มากมายในการต่อสู้ด้วย

 

2.แต่เอาจริง ๆ แล้วหนังเรื่อง “16 ตุลา” ก็เหมือนให้ความสำคัญกับประเด็นนี้แค่ครึ่งเรื่องเท่านั้นนะ และก็ดูเหมือนจะไม่ได้เจาะลึกลงไปที่ dilemma หรือการถกเถียงต่าง ๆ อย่างจริงจังมากนักด้วย คือเหมือนการถกเถียงกันของตัวละครในหนังเรื่องนี้ มีจุดประสงค์เพื่อแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างกันระหว่างตัวละครทั้งสาม และทางเลือกต่าง ๆ ที่เหล่าบรรดาแกนนำต้องเผชิญ แต่เหมือนไม่ได้มาเพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมคิดใคร่ครวญอย่างจริงจังถึงแต่ละประเด็นที่พวกเขาถกเถียงกัน ซึ่งจุดนี้มันทำให้หนังเรื่องนี้แตกต่างจากหนังของ Prap Boonpan เพราะหนังของ Prap Boonpan มันเหมือนถูกสร้างขึ้นเพื่อหยิบยกประเด็นต่าง ๆ ขึ้นมาให้ตัวละคร/ผู้ชมคิดใคร่ครวญกับประเด็นอย่างจริงจัง คือหนังของ Prap Boonpan มันให้ความสำคัญกับ “ประเด็นของการถกเถียง” มากกว่า “ตัวละคร” แต่หนังเรื่อง 16 ตุลา มันเหมือนให้ความสำคัญกับชีวิตจิตใจอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร มากกว่า “ประเด็น” มันก็เลยมีความแตกต่างกันที่เห็นได้ชัดระหว่างหนังเรื่องนี้กับหนังของ Prap

 

แต่เราก็ชอบทั้งหนังเรื่องนี้และหนังของ Prap อย่างสุด ๆ นะ มันดีทั้งสองแบบน่ะแหละ ผู้กำกับคนไหนถนัดแบบไหนก็ควรทำแบบนั้น ถ้าใครถนัดทำหนังแบบ Jean-Luc Godard ที่เน้นประเด็นก็ควรทำแบบนั้น แต่ถ้าใครถนัดทำหนังแบบ Ken Loach ที่เน้นทั้งการเมืองและความเป็นมนุษย์ของตัวละคร ก็ควรทำแบบที่ตัวเองถนัดได้ด้วยเช่นกัน

 

3.ในอีกครึ่งเรื่องของหนัง หรือในพาร์ท “ปัจจุบัน” เราก็ชอบ “ความเหนื่อยล้า” ของนางเอกมาก ๆ เราว่าเราเข้าใจตัวละครตัวนี้ในจุดนี้  “ความหมดไฟในการต่อสู้” นี่เป็นอะไรที่เราเข้าอกเข้าใจดีเป็นการส่วนตัว 55555

 

4.เราว่าหนังมันเจ๋งมาก ๆ ด้วย ตรงที่ให้ตัวละครมาคุยกันหน้าบอร์ดนิทรรศการ 2516-2519 คือจริง ๆ แล้วเราไม่รู้ว่าหนังมันตั้งใจหรือไม่ตั้งใจนะ แต่เราดูแล้วนึกถึงความจริงที่ว่า คนบาง คนที่เคยอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยในยุค 14 ต.ค. 2516 และในยุค 6 ต.ค. 2519 ตอนนี้กลับไปอยู่ฝ่ายเผด็จการแล้ว 55555

 

การที่นางเอกกับพระเอกมาคุยกันหน้าบอร์ด 2516-2519 มันก็เลยทำให้เรานึกถึงความเปลี่ยนแปลงของมนุษย์ตรงจุดนี้ เรามีตัวอย่างจากอดีตมาแล้ว ที่บางคนที่เคยเรียกร้องประชาธิปไตยในอดีต ต่อมาก็กลับมาเชิดชูเผด็จการอย่างหน้าตาเฉย (แน่นอนว่ารวมถึงกลุ่มคนในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 ด้วย) หนังมันก็เลยเหมือนทำให้เราตั้งคำถามโดยไม่ได้ตั้งใจว่า นางเอกจะเปลี่ยนไปเป็นแบบนั้นหรือเปล่า อนาคตนางเอกจะกลายไปเป็นหงา คาราวาน หรือเธอจะกลายไปเป็นสมศักดิ์ เจียม มีเพียงกาลเวลาเท่านั้นที่จะบอกได้ 55555

 

5.คือพอเห็นความเปลี่ยนแปลงของนางเอก และเห็นความหมดไฟของเธอ เราก็นึกถึงพวกคนในยุโรปในปี 1968 ด้วยนะ ถ้าเราเข้าใจไม่ผิด คนหนุ่มสาวในยุโรป โดยเฉพาะในฝรั่งเศส ก็เคยลุกฮือขึ้นต่อต้านสังคมอย่างรุนแรงในปี 1968 เหมือนกัน (ดังจะเห็นได้จากหนังเรื่อง REGULAR LOVERS ของ Philippe Garrel) แต่พอมันประท้วงแล้วไม่ชนะ คนหนุ่มสาวหัวขบถเหล่านี้  “บางส่วน” ก็เลยค่อย ๆ ถูกดูดกลืนเข้าไปเป็น “ชนชั้นกลาง” ในเวลาต่อมา แต่ก็เป็น “ชนชั้นกลางที่มีบาดแผลจากอดีตฝังอยู่ในใจ” น่ะแหละ

 

คือพอเห็นนางเอกของ 16 ตุลาในพาร์ท “ปัจจุบัน”  เราก็เลยนึกถึง “อดีตหนุ่มสาวหัวขบถ” ในหนังยุโรปน่ะ เพราะตอนแรกมันมีแนวโน้มว่านางเอกจะกลายไปเป็นเหมือนคนกลุ่มนี้ และก็ทำให้นึกถึงหนังเรื่อง THE OLD GARDEN (2006, Im Sang-soo) ด้วย เพราะ THE OLD GARDEN ก็พูดถึง activist นักต่อต้านเผด็จการที่พอโตขึ้นแล้วก็กลายเป็นชนชั้นกลางเหมือนกัน

 

(อันนี้ไม่เกี่ยวกับ “16 ตุลา” แต่เราขอโน้ตไว้เล็กน้อยว่า ไม่ใช่ว่าหนุ่มสาวหัวขบถยุค 1968 “ทุกคน” ถูกดูดกลืนเข้าไปเป็นชนชั้นกลางนะ เพราะในเยอรมันตะวันตกและในอิตาลี ก็เกิดกลุ่มก่อการร้ายขึ้นในเวลาต่อมา อย่างเช่นกลุ่ม Baader-Meinhof ในเยอรมันตะวันตก และกลุ่ม Red Brigades ในอิตาลี แต่การที่คนพวกนี้หันไปใช้วิธีก่อการร้าย มันก็กลับยิ่งทำให้เรื่องเลวร้ายลงไปอีก แน่นอนว่าเรารู้เรื่องพวกนี้จากหนังต่าง ๆ 55555 เพราะมีการสร้างหนังเกี่ยวกับกลุ่มก่อการร้ายพวกนี้ออกมาหลายเรื่อง)

 

6.สรุปว่าจุดที่ชอบหลัก ๆ ในหนังเรื่องนี้ ก็คือสองจุดที่บอกไปแล้วข้างต้น คือในพาร์ทอดีตนั้น เราชอบการถกเถียงกันของตัวละคร  3 แกนนำมาก ๆ และจริงๆ แล้วเราอยากให้มีการสร้างหนังไทยที่เจาะลึกไปที่ dilemma อะไรพวกนี้ หรือการถกเถียงตบตีกันเองของฝ่ายประชาธิปไตยอะไรพวกนี้ออกมามากยิ่งขึ้น

 

ส่วนพาร์ทปัจจุบันนั้น เราชอบความเหนื่อยล้าและความหมดไฟของนางเอกมาก ๆ เราเข้าใจจุดนี้ดี และเราว่ามันเป็น “สากล” มากๆ เพราะเราสามารถเห็นตัวอย่างของคนแบบนี้มาแล้ว ทั้งจากอดีต activists ในไทยเอง และอดีต activists มากมายในหลายประเทศทั่วโลก

 

7.แต่ถึงแม้เราจะชอบ 16 ตุลาอย่างสุด ๆ เราก็คิดว่าหนังเรื่องนี้ยังพัฒนาได้อีกนะ เพราะเราคิดว่าหนังเรื่องนี้มันมีข้อจำกัดในแง่ที่ว่ามันเป็นหนังนักศึกษาทุนน้อยน่ะ มันก็เลยทำดีที่สุดได้แค่นี้แหละ แต่จริงๆ แล้วตัวไอเดียอะไรหลายๆ อย่างในหนังเรื่องนี้ มันสามารถพัฒนาไปเป็นหนังยาวได้สบายเลย

 

คือถึงแม้เราจะชอบประเด็นหรือเนื้อหาของหนังเรื่องนี้มาก ๆ แต่เราว่า “พลังทางอารมณ์” หรือ “ความซาบซึ้ง” ของหนัง มันยังไม่เต็มที่นะ ซึ่งสาเหตุส่วนนึงอาจจะเป็นเพราะว่า เราไม่อินกับหนังตรงจุดนี้เอง และสาเหตุอีกส่วนนึงอาจจะเป็นเพราะว่า เราดูหนังทางจอ laptop ไม่ได้ดูในจอใหญ่ แต่เราคิดว่า สาเหตุอีกส่วนนึงอาจจะเป็นเพราะว่า หนังมันสั้นเกินไปด้วย

 

คือเราว่าหนังเรื่องนี้มันเหมือนมีศักยภาพที่จะสร้างอารมณ์ซาบซึ้งสะเทือนใจรุนแรงอะไรบางอย่างได้มากกว่านี้น่ะ แต่อาจจะเป็นเพราะข้อจำกัดทางทุนทรัพย์และเวลาในการถ่ายทำ มันก็เลยต้องทำให้หนังมันมีความยาวแค่เท่านี้

 

คือเราว่าการที่ “เวลา” มันทำให้ตัวละครนางเอกเปลี่ยนแปลงไปได้มากขนาดนี้น่ะ บางทีมันอาจจะต้องใช้หนังที่มีความยาวปกติ (90-120 นาที) เพื่อช่วยถ่ายทอดอะไรตรงนี้ให้ทรงพลังมากขึ้นด้วย

 

และส่วนพาร์ทอดีตนั้น เราว่าขยายให้กลายเป็นครึ่งนึงของหนังยาวได้สบายเลย เพราะเรื่องราวการชุมนุมประท้วงนั้นมันมีอะไรให้เล่าได้เยอะแยะมากมาย

 

สรุปว่า อยากให้มีคนเอาหนังเรื่องนี้ไปขยายเป็นหนังยาว โดยที่พาร์ทอดีตอาจจะใส่ตัวละครเข้ามาเยอะขึ้น เน้นการถกเถียงกันถึง dilemma ต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น เห็นความเคลื่อนไหวของเหล่านักศึกษามากยิ่งขึ้น ส่วนพาร์ทปัจจุบันก็อาจจะมีการ “ทอดเวลา” ให้ตัวละครต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น หรือมีการนำเสนอห้วงเวลาต่าง ๆ ของตัวละครนอกเหนือไปจากการคุยกันหน้าบอร์ด เพราะพอมันมีการทอดเวลาให้ผู้ชมได้อยู่กับตัวละครนานขึ้น เราก็อาจจะเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครได้มากยิ่งขึ้น และอาจจะอินหรือสะเทือนใจกับตัวละครได้มากยิ่งขึ้นด้วย อันนี้เราเดาเอานะ

 

และเราว่าจริง ๆ แล้ว หนังเรื่องนี้ยังไม่มีซีนที่ “ติดตา” เราในแง่ “ภาพ” ด้วยนะ คือเราชอบหนังเรื่องนี้ที่ประเด็นหรือเนื้อหาสาระน่ะ แต่เหมือนมันยังไม่มีซีนที่ทรงพลังทางการออกแบบภาพ หรืออะไรทำนองนี้ แต่ถ้าหากมันกลายไปเป็นหนังยาวแล้ว มันอาจจะมีเวลาในการออกแบบซีนที่ “ติดตา” ได้

 

8.สุดท้ายนี้ก็ขอย้อนกลับไปถึงสาเหตุที่เราเปรียบเทียบหนังเรื่องนี้กับหนังของ Prap Boonpan เพราะเราคิดว่า ถึงแม้มันจะแตกต่างกัน แต่จริง ๆ แล้วมันก็ควรถูกฉายควบกันนั่นแหละ 555 เพราะหนังเรื่องนี้มันเหมือนช่วยบันทึกความเคลื่อนไหวทางการเมืองในไทยต่อจากหนังของ Prap ได้ดีมาก ๆ

 

คือตอนที่เราดูหนังเรื่องนี้เสร็จ เราจินตนาการไว้ในหัวเลยว่า อยากให้มีคนจัดฉายหนังเหล่านี้ควบกัน

 

8.1 หนัง “ผี” 16 ปีแห่งความหลัง (2006, Prap Boonpan)

การถกเถียงกันของตัวละครในยุคทักษิณ

 

8.2 ความลักลั่นของงานรื่นเริง (2007, Prap Boonpan)

การถกเถียงกันอย่างรุนแรงของตัวละครในยุคหลังรัฐประหารปี 2006 และเรารู้สึกว่าหนังได้ทำนายล่วงหน้า (โดยไม่ได้ตั้งใจ) ถึงการสังหารหมู่คนเสื้อแดงในปี 2010 ได้อย่างน่าขนลุกมาก

 

8.3 หนังสั้นสีขาว/ชั่วแสงเทียน (2009, Prap Boonpan, 20min)

การสนทนากันของตัวละครเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในปี 2009

 

8.4 HAPPINESS (2015, Wachara Kanha, 26min)

ถ้าจำไม่ผิด หนังเรื่องนี้มีการสัมภาษณ์นักศึกษาที่ออกมาประท้วงคสช.ในปี 2014-2015

 

8.5 16 ตุลา

 

คือถ้าฉายหนังเหล่านี้ควบกัน เราก็จะได้เห็น “ข้อถกเถียง” บางส่วนในสังคมไทยที่ลากยาวตั้งแต่ปี 2006 มาจนถึงปัจจุบันได้เลย

 

 

No comments: