ก่อนหน้านี้เคยมีการนำเรื่องของบาเดอร์-ไมน์ฮอฟมาดัดแปลงสร้างเป็นหนังบ้างแล้ว ซึ่งรวมถึงหนังเยอรมันตะวันตกเรื่อง STAMMHEIM (1986, REINHARD HAUFF)
STAMMHEIM เล่าเรื่องของผู้ก่อการร้าย 5 คนที่ถูกนำตัวขึ้นศาลในข้อหาสังหารทหารสหรัฐ 4 คนด้วยการวางระเบิด อย่างไรก็ดี หนึ่งในจำเลยเสียชีวิตขณะอดอาหารประท้วง ส่วนจำเลยคนที่สองเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย และเหลือจำเลยเพียง 3 คนที่เข้ารับการพิจารณาคดี
Ulrich Tukur ร่วมแสดงใน STAMMHEIM ด้วย โดย Tukur นั้นเคยแสดงในหนังที่น่าสนใจหลายเรื่อง ซึ่งรวมถึง AMEN (2002, COSTA-GAVRAS, A-), SOLARIS (2002, STEVEN SODERBERGH), TAKING SIDES (2001), MY MOTHER’S COURAGE (1995, MICHAEL VERHOEVEN, A+) และ THE WHITE ROSE (1982, MICHAEL VERHOEVEN)
หนังเรื่อง THE INVISIBLE CIRCUS (2001, ADAM BROOKS, C) ที่นำแสดงโดยคริสโตเฟอร์ เอคเคลสตัน, คาเมรอน ดิแอซ และมอริทซ์ ไบลบ์ทรอย (IN JULY) ก็มีเนื้อหาบางส่วนพาดพิงถึงกลุ่มหนุ่มสาวหัวรุนแรงในทศวรรษ 1970 เหมือนกันhttp://movie-reviews.colossus.net/movies/i/invisible_circus.html
นอกจาก WHAT TO DO IN CASE OF FIRE แล้ว หนังเยอรมันอีกเรื่องที่พูดถึงชีวิตของอดีตนักเคลื่อนไหวก็คือ THE STATE I AM IN (CHRISTIAN PETZOLD, A+) ที่เคยเข้ามาฉายในกรุงเทพในช่วงปี 2001 โดยหนังเรื่องนี้เล่าเรื่องของผัวเมียคู่หนึ่งที่เคยเป็นนักประท้วงในเยอรมันตะวันตก ทั้งสองยังคงถูกทางการตามล่าตัวอยู่ในปัจจุบัน และทั้งสองก็มีลูกสาววัยรุ่นคนหนึ่งที่โตแล้ว ทั้งนี้ การที่ผัวเมียคู่นี้ต้องคอยใช้ชีวิตอย่างหลบๆซ่อนๆไปเรื่อยๆ ส่งผลให้ลูกสาวของเขาไม่มีโอกาสได้ใช้ชีวิตเหมือนเด็กหญิงธรรมดาทั่วไป เธอไม่มีโอกาสที่จะได้ทำความสนิทชิดเชื้อกับใคร และทำให้ชีวิตของเธอค่อนข้างว้าเหว่มาก
อ่านข้อมูลเกี่ยวกับหนังเรื่อง THE BASQUE BALL ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ ETA ได้ที่ http://www.bioscopemagazine.com/webboard/index-in.php?id=2187
SUPER 8 1/2 (1993, BRUCE LABRUCE) อ่านข้อมูลของหนังเรื่องนี้ได้ที่ http://www.bioscopemagazine.com/webboard/index-in.php?id=1644
PROTEUS (2004, JOHN GREYSON + JACK LEWIS) หนังเกย์โรแมนติกข้ามสีผิวในแอฟริกาใต้ของผู้กำกับชาวแคนาดา
หนังเรื่องนี้สร้างจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในแอฟริกาใต้ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 แต่ยังคงสะท้อนอะไรหลายๆอย่างในยุคปัจจุบันได้ดี โดยผู้กำกับหนังเรื่องนี้จงใจใส่ “ความไม่สมจริงด้านเวลา” เข้ามาในเรื่องเพื่อสะท้อนประเด็นปัญหาสังคมที่คาบเกี่ยวกันระหว่างอดีต-ปัจจุบันด้วย เพราะในหนังเรื่องนี้ผู้ชมจะเห็นวิทยุทรานซิสเตอร์, เห็นคอนกรีตและรั้วลวดหนาม, เห็นผู้สื่อข่าวแบบทศวรรษ 1960 และเห็นยามคุมคุกที่แต่งชุดแบบนาซีโผล่เข้ามาอยู่กับตัวละครในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งองค์ประกอบที่ไม่สมจริงเหล่านี้ไม่ได้ทำให้ผู้ชมรู้สึกเหินห่างจากตัวเนื้อเรื่องแต่อย่างใด แต่กลับยิ่งทำให้ธีมของเรื่องเด่นชัดยิ่งขึ้นและทำให้ผู้ชมเข้าใจความสำคัญของเรื่องนี้ได้มากยิ่งขึ้น
ในปี 1725 ฮอทเทนทอท คลาส แบลงค์ (Rouxnet Brown) ซึ่งมีนิสัยเจ้าเล่ห์กลิ้งกลอกถูกศาลตัดสินจำคุก 10ปีที่เรือนจำในเกาะรอบเบนส์ และเขาก็ถูกยามคุมคุกที่โหดร้ายดูหมิ่นเหยียดหยามว่าเขาเป็นชนพื้นเมืองที่โง่เง่า ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงแล้วเขาอ่านและเขียนภาษาได้อย่างน้อย 3 ภาษาก็ตาม
เวอร์จิล นิเวน (Shaun Smyth) ซึ่งเป็นนักพฤกษศาสตร์ชาวสก็อตที่ทำงานอยู่ใกล้เรือนจำแห่งนั้น เห็นแววความฉลาดของคลาส ดังนั้นเขาก็เลยเสนองานให้คลาสมาช่วยเขาคัดแยกพันธุ์พืชท้องถิ่น อย่างไรก็ดี นิเวนนั้นเป็นเกย์แบบแอบจิต เขามีสัมพันธ์รักกับลอเรนส์ (Brett Goldin) ซึ่งเป็นผู้ช่วยของเขาโดยที่ปกปิดไม่ให้ภรรยาของเขารู้
หลังจากเวลาผ่านไปหลายปี คลาสก็ค่อยๆตกหลุมรักจาค็อบส์ (Neil Sandilands) ซึ่งเป็นนักโทษชาวดัทช์ อย่างไรก็ดี ความรักของทั้งสองก็พบกับอุปสรรคครั้งใหญ่เนื่องจากในยุคนั้นความรักระหว่างเพศเดียวกันถูกลงโทษด้วยการประหารชีวิต
ชื่อหนัง Proteus นี้มาจากชื่อพืชในท้องถิ่นที่คลาสช่วยเวอร์จิลในการคัดแยกสายพันธุ์ นอกจากนี้ ชื่อ Proteus นี้ยังเกี่ยวข้องกับตำนานโบราณด้วย
จุดเด่นของหนังเรื่องนี้คือความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักสองคู่ ซึ่งได้แก่เวอร์จิลกับลอเรนส์ที่รักกันแบบหลบๆซ่อนๆ และความรักระหว่างคลาสกับจาค็อบส์ที่แสดงออกมากกว่า โดยความรักของพวกเขาก้าวข้ามพรมแดนที่สำคัญหลายอย่าง ทั้งพรมแดนด้านความเชื่อเรื่องเพศ, เชื้อชาติ และชั้นวรรณะ
หนังที่จงใจใส่องค์ประกอบ “ผิดยุคผิดสมัย” แบบ PROTEUS
นอกจาก PROTEUS แล้ว ยังมีหนัง “ย้อนยุค” อีกหลายเรื่องที่จงใจใส่องค์ประกอบของยุคสมัยปัจจุบันเข้าไปในหนัง โดยบางเรื่องก็ใส่เข้าไปเพื่อทำให้ผู้ชมตระหนักว่าจริงๆแล้วหนังย้อนยุคเรื่องนั้นต้องการสะท้อนปัญหาในยุคปัจจุบัน, บางเรื่องก็ใส่ “ความผิดยุคผิดสมัย” เข้าไปเพื่อเพิ่มความเป็นแฟนตาซี, บางเรื่องก็ใส่เข้าไปเพื่อเพิ่มความขบขัน และบางเรื่องก็ใส่เข้าไปเพราะผู้กำกับอาจจะเห็นว่าไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใดที่จะต้องสร้างอารมณ์ย้อนยุคหลอกๆให้กับผู้ชม
หนังที่มี “ความผิดยุคผิดสมัย” แบบจงใจอาจจะรวมถึงเรื่อง
1 BARON MUENCHHAUSEN (1943, JOSEF VON BAKY, B) หนังอีพิคเยอรมันเรื่องนี้สร้างขึ้นในยุคฮิตเลอร์ และเป็นหนังทุนสร้างสูงอลังการที่เยอรมนีสร้างขึ้นเพื่อประกาศให้โลกรู้ว่าเยอรมนีก็แข่งกับฮอลลีวู้ดได้ โดยเนื้อหาของเรื่องเกี่ยวกับการผจญภัยของบารอน เฮียโรนีมุส มึนช์เฮาเซน ซึ่งเป็นขุนนางที่ผจญภัยไปหลายประเทศเมื่อหลายร้อยปีก่อน แต่ฉากที่ฮามากในหนังเรื่องนี้คือฉากที่ตัวละครเปิดสวิทช์ไฟในห้อง ทั้งๆที่ยุคนั้นเป็นยุคหลายร้อยปีก่อนที่จะมีไฟฟ้าใช้กัน
Hans Albers, Brigitte Horney และ Leo Slezak ร่วมแสดงในหนังเรื่องนี้ หนังเรื่องนี้เคยมาเปิดฉายที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
บารอน มึนช์เฮาเซนเป็นพระเอกในตำนานพื้นบ้านของเยอรมัน และตัวละครตัวนี้ได้ปรากฏในหนังอีกหลายเรื่อง ซึ่งรวมถึงในหนังเรื่อง BARON MUNCHAUSEN (1961, KAREL ZEMAN) และ THE ADVENTURES OF BARON MUNCHUASEN (1989, TERRY GILLIAM, B+) ที่มีอูม่า เธอร์แมนร่วมแสดง
2 HERCULES UNCHAINED (1960, PIETRO FRANCISCI, B+)
สตีฟ รีฟส์ หนุ่มหล่อกล้ามโตเจ้าของต้นแขนที่น่าเข้าไปอิงแอบที่สุดในโลก รับบทเป็นเฮอร์คิวลิส วีรบุรุษในตำนานกรีกในหนังเรื่องนี้ โดยหนึ่งในฉากที่ฮามากในหนังเรื่องนี้คือฉากที่ตัวละครชายแก่คนหนึ่งบ่นกับตัวละครอื่นๆในทำนองที่ว่า “อย่าวิ่งเร็วนักสิ เพราะยุคโบราณอย่างนี้เขายังไม่มียาแก้โรคไขข้ออักเสบนะ”
ดูรูปของสตีฟ รีฟส์ได้ที่ http://www.bioscopemagazine.com/webboard/index-in.php?id=5081
3 EDWARD II (DEREK JARMAN, A+) หนังเกย์เรื่องนี้เล่าเรื่องของกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่สองของอังกฤษ แต่ตัวละครบางตัวใส่เครื่องแต่งกายแบบยุคปัจจุบัน และมีแอนนี เลนนิกซ์มาร้องเพลง EV’RY TIME WE SAY GOODBYE ที่ซึ้งมากๆในหนังเรื่องนี้ด้วย
ทิลดา สวินตัน ดาราหญิงคู่บุญของดีเรค จาร์แมน รับบทเป็นพระราชินีอิซาเบลลาผู้ชั่วช้าในหนังเรื่องนี้ แต่ดิฉันไม่ค่อยแน่ใจว่าตัวละครที่เธอแสดงคือตัวละครตัวเดียวกับบทของโซฟี มาร์โซใน BRAVEHEART (C+) หรือเปล่า เพราะหนังทั้งสองเรื่องนี้นำเสนอกษัตริย์เกย์อังกฤษในมุมมองที่ตรงข้ามกันมาก
4 PARSIFAL (HANS-JURGEN SYBERBERG, A+)
หนังเพลงโอเปราเรื่องนี้เล่าเรื่องราวการผจญภัยของอัศวินโต๊ะกลมแห่งกษัตริย์อาร์เธอร์ แต่หนังกลับพูดถึงความเสื่อมสลายของยุโรปในยุคปัจจุบันด้วย โดยมีฉากหนึ่งที่อัศวินเดินทางผ่านธงรูปสวัสดิกะของนาซี และจุดที่เก๋มากก็คืออัศวินในเรื่องนี้อยู่ดีๆก็แปลงเพศจากชายเป็นหญิงโดยไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน
หนังเรื่องนี้เพิ่งมาฉายที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ในปีที่แล้ว
5 DONKEY SKIN (1970, JACQUES DEMY, A-)
หนังแนวเทพนิยายเรื่องนี้นำแสดงโดยแคเธอรีน เดอเนิฟ โดยมีฌอง มาเรส์ รับบทเป็นกษัตริย์ และ Jacques Perrin (The Chorus) รับบทเป็นเจ้าชาย หนังเรื่องนี้ใช้ฉากเหมือนหนังเทพนิยายทั่วไปที่มีปราสาทราชวังยุคโบราณ (ลองนึกถึงบรรยากาศแบบ THE LORD OF THE RINGS) แต่ฉากที่ฮามากในหนังเรื่องนี้คือฉากที่เดลฟีน ซีริก (India Song, Last Year at Marienbad) ซึ่งเป็นเทพธิดาใช้เฮลิคอปเตอร์เป็นยานพาหนะ (เปรี้ยวมากๆ)
JEAN MARAIS ที่รับบทเป็นกษัตริย์ในเรื่องนี้ เป็นดาราคู่บุญของ JEAN COCTEAU ผู้กำกับหนังชื่อดังของฝรั่งเศสที่เป็นเกย์ โดย MARAIS เคยเล่นหนังเรื่อง BEAUTY AND THE BEAST (1946, A), ORPHEUS (A+) และ THE TESTAMENT OF ORPHEUS (A-) ให้ JEAN COCTEAU
6 OTHON (1970, JEAN MARIE-STRAUB) หรือ EYES DO NOT WANT TO CLOSE AT ALL TIMES, OR PERHAPS ONE DAY ROME WILL PERMIT HERSELF TO CHOOSE IN HER TURN
หนังเรื่องนี้เกี่ยวกับการนำบทละครเวทีเรื่อง OTHON ของ CORNEILLE มาแสดง แต่แทนที่หนังจะเน้นการแสดงเรื่องราวย้อนยุค หนังกลับเน้นองค์ประกอบต่างๆที่รายล้อมการแสดงนั้น
ในหนังเรื่องนี้ ผู้กำกับเริ่มต้นด้วยการให้ผู้ชมได้เห็นแต่เพียงด้านหลังของนักแสดง และให้ผู้ชมมุ่งความสนใจไปที่สถานที่ซึ่งเป็นกรุงโรมในยุคปัจจุบันในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน ผู้ชมจะได้เห็นการแสดงเรื่องราวตามบทประพันธ์อันเก่าแก่โบราณเกิดขึ้นท่ามกลางฉากยุคปัจจุบัน
อ่านข้อมูลภาษาอังกฤษเกี่ยวกับ OTHON ได้ที่ http://www.ejumpcut.org/archive/onlinessays/JC04folder/Straub.html
7 ELECTRA, MY LOVE (1968, MIKLOS JANCSO) อ่านข้อมูลของหนังเรื่องนี้ได้ที่ http://www.bioscopemagazine.com/webboard/index-in.php?id=2924
8 TITUS (1999)
.
9 LA COMMUNE (PARIS , 1871)
200 AMERICAN (2004, RICHARD LEMAY) หนังเกย์
หนังอินดี้อเมริกันทุนต่ำเรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับคอนราด (แมทท์ วอลตัน) ผู้บริหารบริษัทโฆษณาในนิวยอร์คที่รู้สึกโศกเศร้าหลังจากแยกทางกับมาร์ติน (จอห์น-ดีแลน โฮเวิร์ด) แฟนหนุ่มของเขาที่ใช้ชีวิตคู่ด้วยกันมา 3 ปี คอนราดรู้สึกว่าตัวเองยังไม่พร้อมที่จะมีแฟนหนุ่มคนใหม่ ดังนั้นเขาก็เลยจ้างไทเลอร์ (ฌอน เมทิค) ซึ่งเป็นหนุ่มเอสคอร์ทชาวออสเตรเลียให้มานอนเคียงข้างเขา
แต่ไทเลอร์เองนั้นก็มีปัญหาเช่นกัน เขาพยายามหาเงินให้มากพอเพื่อจะได้จ้างผู้หญิงคนหนึ่ง (เกล เฮเรนดีน) ให้มาแต่งงานกับเขาเพื่อที่เขาจะได้วีซ่าอยู่ในสหรัฐ นอกจากนี้ เมื่อผู้กำกับฝ่ายศิลป์ (แอนโธนี เอมส์) ในบริษัทของคอนราดเกิดตกหลุมรักเขา ชีวิตของเขาก็ยิ่งเผชิญกับปัญหาที่หนักหน่วงยิ่งขึ้น
หนังเรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการค้นหาความแข็งแกร่งเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตของตัวเองและการยอมรับความบกพร่องในตัวผู้อื่น โดยจุดเด่นของหนังเรื่องนี้อยู่ที่ฝีมือทางการแสดงและหน้าตาของนักแสดงนำ โดยนักวิจารณ์บอกว่านักแสดงในหนังเรื่องนี้พูดบทสนทนาได้อย่างเป็นธรรมชาติมาก
ริช ไคลน์ นักวิจารณ์ของเว็บไซท์ www.shadowsonthewall.co.uk ตั้งข้อสังเกตว่าเลอเมย์ ผู้กำกับ/ผู้เขียนบทของหนังเรื่องนี้ควบคุมความเปลี่ยนแปลงของตัวละครคอนราดได้อย่างดีมาก โดยในตอนแรกนั้นคอนราดดูเหมือนกับเป็นพระเอกของเรื่อง แต่เมื่อเนื้อเรื่องดำเนินไปเรื่อยๆและธาตุแท้ของคอนราดเริ่มปรากฏออกมา เขาก็กลายเป็นตัวละครที่ผู้ชมชอบน้อยที่สุดในเรื่อง
BULGARIAN LOVERS (2003, ELOY DE LA IGLESIA) หนังเกย์
หนังรักสามเส้าเรื่องนี้ใช้วิธีการเล่าเรื่องโดยให้ตัวละครที่ชื่อแดเนียล (Fernando Guillen Cuervo ซึ่งร่วมเขียนบทหนังเรื่องนี้) พูดคุยกับกล้องโดยตรง โดยแดเนียลเป็นทนายความที่ตกหลุมรักไคริล (Dritan Biba) ซึ่งเป็นหนุ่มชาวบัลแกเรียทั้งๆที่เขารู้ว่าเขาไม่ควรจะทำเช่นนั้น เพราะชาวยุโรปตะวันออกมีชื่อเสียงในทางเสียๆหายๆว่าเป็นคนที่ไว้วางใจไม่ค่อยได้ นอกจากนี้ วิธีการสื่อสารของชาวบัลแกเรียยังมักสร้างความเข้าใจผิดอีกด้วย เพราะชาวบัลแกเรียจะพยักหน้าเพื่อบอกว่า “ไม่ใช่” และจะส่ายหน้าเพื่อบอกว่า “ใช่”
ปัญหายุ่งยากเกิดขึ้นตามมาเมื่อไคริลพาคาลินา (Anita Sinkovic) ซึ่งเป็นคู่หมั้นของเขามาที่สเปน และทั้งสองก็ย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านหลังเดียวกับแดเนียลและในเวลาไม่นานทั้งสองก็ทำตัวเหมือนกับเป็นเจ้าของบ้านเสียเอง ในขณะที่แดเนียลเองนั้นก็เริ่มสงสัยว่าไคริลอาจจะเกี่ยวข้องกับอะไรบางอย่างที่ผิดกฎหมาย
นักวิจารณ์ตั้งข้อสังเกตว่า BULGARIAN LOVERS มีบางอย่างคล้ายหนังเรื่อง BIRTHDAY GIRL (B-) ของนิโคล คิดแมน ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับผู้อพยพจากต่างประเทศที่เข้ามาสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายในชีวิตของคนรักเหมือนกัน นอกจากนี้ นักวิจารณ์ยังตั้งข้อสังเกตว่าแดเนียลเป็นตัวละครที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกเอาใจช่วยเป็นอย่างมาก เพราะผู้ชมจะรู้สึกลุ้นให้เขาได้พบกับรักแท้ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องยากก็ตาม
จุดเด่นในหนังเรื่องนี้รวมถึงจิลโด (Pepon Nieto) ซึ่งเป็นเพื่อนของแดเนียลที่เรียกเสียงฮาได้บ่อยครั้ง, ดนตรีประกอบของ Antonio Meliveo, ฉากแฟนตาซี และการเล่าเรื่องแบบตลกหน้าตาย นอกจากนี้ หนังเรื่องนี้ยังเซ็กซี่มากอีกด้วย
สเปนผลิตหนังเกย์ออกมามากมายหลายเรื่องในระยะนี้ โดยนอกจากหนังของ PEDRO ALMODOVAR แล้ว หนังเกย์สเปนที่น่าสนใจยังรวมถึงเรื่อง BEAR CUB (A) และเรื่อง FOOD OF LOVE (VENTURA PONS, A) กับ BELOVED/FRIEND (VENTURA PONS)
JUCHITAN QUEER PARADISE (2004, PATRICIO HENRIQUEZ)
หนังสารคดีเรื่องนี้เล่าเรื่องของเมืองฮูชิตานที่ตั้งอยู่ตอนใต้ของประเทศเม็กซิโก ซึ่งเป็นเมืองที่แตกต่างจากเมืองส่วนใหญ่ในภูมิภาคละตินอเมริกา เพราะเมืองนี้เป็นเมืองที่ผู้หญิงเป็นใหญ่และเป็นเมืองที่ยอมรับความแตกต่างด้านเชื้อชาติ, ศาสนา และเพศสภาพอย่างมาก โดยตำนานของเมืองนี้ระบุว่าพระเจ้าเคยมอบถุงบรรจุโฮโมเซ็กชวลให้แก่นักบุญผู้อุปถัมภ์ภูมิภาคละตินอเมริกา เพื่อให้นักบุญกระจายโฮโมเซ็กชวลในถุงไปทั่วอเมริกาใต้ แต่นักบุญกลับเทโฮโมเซ็กชวลลงใส่ในเมืองนี้เพียงเมืองเดียว
หนังสารคดีเรื่องนี้เน้นถ่ายทอดชีวิตของชาวเมือง 3 คนในเมืองนี้ ซึ่งเป็นเมืองที่มีแนวคิดก้าวหน้าเป็นอย่างมากในเรื่องการยอมรับความแตกต่างและการไม่มีอคติต่อผู้อื่น
บุคคลสำคัญ 3 คนในเรื่องนี้รวมถึงออสการ์ คาโซร์ลา เขาเป็นนักธุรกิจที่จัดงานปาร์ตี้ประจำปีที่ใหญ่ที่สุดในเมือง ซึ่งก็คืองาน Vela of the Authentic Intrepid Danger Seekers ซึ่งเป็นงานการกุศลเพื่อโรคเอดส์ที่กินเวลานานหลายวัน เขามีท่าทางตุ้งติ้งเหมือนผู้หญิง แต่เขามีบุตรชายวัยรุ่นหนึ่งคนและทำตัวเป็นเสาหลักของเมืองนี้
บุคคลสำคัญคนที่สองคือแองเจล ซานติอาโก ซึ่งเป็นผู้ชายที่ใช้ชีวิตแบบผู้หญิง หรือที่เรียกกันในภาษาท้องถิ่นว่า muxe โดยหนังสารคดีเรื่องนี้พาผู้ชมไปรู้จักกับพ่อแม่ของเขาและการทำงานของเขาในร้านเสริมสวย รวมทั้งติดตามความพยายามของเขาในการก้าวไปสู่ตำแหน่งราชินีในงานปาร์ตี้ INTREPID นี้
ส่วนบุคคลสำคัญคนที่สามคืออีไล บาร์โตโล ซึ่งเป็นครูที่มีแนวคิดแปลกๆ อย่างเช่นเขาเชื่อว่าการแต่งงานถือเป็นสิ่งที่ผิดศีลธรรมยิ่งไปกว่าการเป็นโสเภณี อย่างไรก็ดี คนในเมืองนี้เคารพความเห็นของเขาถึงแม้ไม่มีใครเห็นด้วยกับเขา
หนังสารคดีเรื่องนี้เต็มไปด้วยสีสันและบรรยากาศที่สดใส แต่ก็สะท้อนให้เห็นในเวลาเดียวกันว่าวัฒธรรมของฮูชิตานแตกต่างจากวัฒนธรรมของที่อื่นๆที่ตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์จอมปลอมที่เขียนโดยมนุษย์เพศชายมากเพียงใด เพราะเมืองฮูชิตานแห่งนี้เต็มไปด้วยคนที่เลื่อมใสในศาสนาแต่ก็ให้การยอมรับผู้หญิง, คนต่างเชื้อชาติ และเพศที่สามเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดี เมืองนี้ก็ยังไม่ใช่สวรรค์บนดินอยู่ดี เพราะความรังเกียจชิงชังเกย์อย่างรุนแรงยังคงปรากฏอยู่บ้าง แต่เมืองนี้ก็ยังคงเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เมืองส่วนใหญ่ในโลกนี้
Wednesday, May 04, 2005
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment