Tuesday, May 31, 2005

SLEPA PEGA (A+)

--เมื่อวันอาทิตย์ก็เจอปัญหาเล็กน้อยเหมือนกันค่ะ เพราะตอนที่ดู SHADES OF HAPPINESS ดิฉันได้ที่นั่งติดกับคนบ้า เป็นคนไทยผู้ชายพูดบ่นงึมงัมเสียสติอยู่คนเดียวตั้งแต่ช่วงโฆษณา เพราะฉะนั้นพอตอนที่หนังจะเริ่มฉาย ดิฉันเลยตัดสินใจลุกเปลี่ยนที่นั่งเพื่อไปนั่งแถวหน้าสุดที่ไม่มีคน เพราะดิฉันรู้ดีว่าถ้าหากนั่งติดกับคนบ้าคนนี้ต่อไปเรื่อยๆ ดิฉันคงจะดูหนังอย่างไม่มีสมาธิแน่นอน

--น่าเสียดายที่เทศกาลหนังยุโรปปีนี้จัดตารางหนังได้อย่างไม่น่าประทับใจเท่าไหร่ และส่งผลให้ดิฉันไม่สามารถจัดตารางหนังให้ดู AE FOND KISS กับ HEAD-ON ได้ ถึงแม้จะอยากดูหนังสองเรื่องนี้อย่างมากก็ตาม

--BLIND SPOT ฉายสองรอบ แต่รอบหนึ่งชนกับ AE FOND KISS ที่มีฉายเพียงรอบเดียว ส่วนรอบสองชนกับ SQUINT YOUR EYES ที่ฉายรอบเดียวเหมือนกัน เพราะฉะนั้นจึงไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะได้ดูหนังทั้ง 3 เรื่องในงานนี้ ต้องเลือกตัดทิ้งไปหนึ่งเรื่อง ก็เลยเลือกตัด AE FOND KISS ทิ้งไป เพราะท่าทาง BLIND SPOT กับ SQUINT YOUR EYES จะหาดูยากกว่า

-- PLEASANT DAYS มีฉายสองรอบ แต่รอบหนึ่งชนกับ SCHULTZE GETS THE BLUES ที่มีฉายเพียงรอบเดียว ส่วนรอบสองชนกับ HEAD-ON ที่มีฉายรอบเดียวเหมือนกัน ก็เลยต้องเลือกตัดหนึ่งในสามเรื่องนี้ทิ้งไป ดิฉันก็เลยเลือกตัด HEAD-ON ทิ้งไปค่ะ เพราะถึงแม้จะอยากดู HEAD-ON เป็นอย่างมาก แต่ก็อยากดู SCHULTZE GETS THE BLUES กับ PLEASANT DAYS มากกว่า

--PLEASANT DAYS กำกับโดย KORNEL MUNDRUCZO ซึ่งเคยกำกับหนังเกย์เรื่อง THIS I WISH AND NOTHING MORE (2000) อ่านข้อมูลเกี่ยวกับหนังเกย์เรื่องนี้ได้ที่
http://www.bioscopemagazine.com/webboard/index-in.php?id=4139

--ตอนที่ดู SHE KEPT CRYING FOR THE MOON ก็ได้ยินเสียงคนทำอะไรกุกกักๆตลอดเวลาเหมือนกันค่ะ น่ารำคาญมาก ถ้าหากเขารู้สึกเบื่อหนังเรื่องนี้ เขาก็ควรจะลุกออกจากโรงไปเลย ไม่ใช่นั่งทำเสียงดังและสร้างความรำคาญให้กับคนอื่นๆในโรงไปเรื่อยๆ แต่ดิฉันก็ไม่ได้ลุกขึ้นมาอาละวาดแต่อย่างใดค่ะ เพราะเสียงของเขายังไม่ดังถึงขั้นที่ดิฉันรู้สึกว่าทนไม่ได้อีกต่อไป

--ชอบที่น้อง merveillesxx ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับฉากต่างๆใน BLIND SPOT มากค่ะ จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่ารู้สึกงงๆกับการเคลื่อนกล้องและการตัดต่อในบางฉากเหมือนกัน ซึ่งรวมถึงฉากที่กล้องเคลื่อนจากภาพตัวละครขึ้นไปบนท้องฟ้าด้วย

---ฉากที่ชอบมากใน BLIND SPOT รวมถึง

1.ฉากผ้าม่านลุกพรึ่บเป็นไฟอย่างกะทันหัน

2.ฉากนางเอกปะทะกับคนพิการบ้ากาม

3.การตัดต่อในฉากนึงที่นางเอกนั่งอยู่ข้างถนน แล้วมีรถแล่นผ่านไปผ่านมาจนทำให้ไม่เห็น “นางเอก” เป็นระยะๆ

การตัดต่อในฉากนี้ทำให้นึกถึงฉากนึงใน MALINA (1991, WERNER SCHROETER, A+) ที่มีการใช้ “รถแล่นผ่าน” มาช่วยในการตัดต่อเช่นกัน เพราะในช่วงต้นของ MALINA จะมีฉากที่นางเอก (Isabelle Huppert) ยืนคุยกับ MALINA (MATHIEU CARRIERE) อยู่ข้างถนน แต่พอมีรถแล่นผ่านคนทั้งสอง อยู่ดีๆ MALINA ก็หายสาบสูญไปไหนไม่รู้ เหลือแค่นางเอกยืนทำหน้าแสล่นอยู่ข้างถนนคนเดียว (ถ้าจำไม่ผิด)

4.ฉากที่กล้องเคลื่อนไปเรื่อยๆในห้องขณะที่มีเสียงคนคุยกัน ก็เป็นฉากที่ชอบมากๆค่ะ ฉากนั้นทำให้ดิฉันรู้สึกกลัวๆและพิศวงดี เพราะในตอนแรกดิฉันไม่รู้ว่าเสียงที่ได้ยินในฉากนั้นมีต้นกำเนิดมาจากไหน แต่ในที่สุดพอกล้องเคลื่อนมาจนเห็นต้นกำเนิดเสียง ดิฉันถึงค่อยรู้สึกโล่งใจเป็นอย่างมาก

5.ฉากพระเอกลงแดง แล้วกล้องจับภาพในระยะกระชั้นชิดมาก

6.ฉากเล่านิทานสยดสยองใน BLIND SPOT ก็เป็นฉากที่ให้อารมณ์รุนแรงมากเช่นกัน และทำให้นึกถึงหนังหลายๆเรื่องที่มีการใส่ “นิทาน” หรือ “ตำนาน” เข้ามาในเรื่องแล้วได้อารมณ์อย่างมากๆ ซึ่งรวมถึงเรื่อง

6.1 BU SU (1987, JUN ICHIKAWA, A+)

ชอบเรื่องเล่าในหนังเรื่องนี้มาก เพราะในหนังเรื่องนี้นางเอกได้รับฟังเรื่องราวของหญิงสาวคนนึงที่เผาทำลายเมืองทิ้งไปครึ่งเมือง และต่อมานางเอกก็ตัดสินใจขึ้นแสดงบนเวทีโดยรับบทเป็นหญิงสาวคนนี้

อีกสิ่งหนึ่งที่ชอบมากใน BU SU ก็คือในช่วงแรกของหนัง จะมีฉากที่นางเอกทำร้ายร่างกายผู้ชายโดยหนังไม่ได้บอกสาเหตุที่ชัดเจน และในช่วงท้ายของหนัง นางเอกก็ขึ้นไปแสดงบนเวทีโดยรับบทเป็นผู้หญิงเผาเมืองคนนี้ แล้วกล้องก็จะตัดไปที่ผู้ชม มีนางอิจฉายืนชมการแสดงของนางเอกอย่างตั้งอกตั้งใจมาก แล้วอยู่ดีๆนางอิจฉาก็ทำร้ายร่างกายผู้ชายที่ยืนกวนใจอยู่ข้างๆเธอ ไม่รู้เหมือนกันว่าผู้กำกับต้องการสื่ออะไรในหนังเรื่องนี้ แต่ดูราวกับว่านางอิจฉาได้รับการถ่ายทอดอะไรบางอย่างจากนางเอกเมื่อได้ดูการแสดงของนางเอกในช่วงท้ายของเรื่อง


6.2 ALMOST PEACEFUL (2002, MICHEL DEVILLE, A+)
http://www.imdb.com/title/tt0318780/

ถ้าจำไม่ผิด ในหนังเรื่องนี้จะมีการเล่านิทานเกี่ยวกับ “เด็กที่ถูกเจาะรูที่คอ” หรืออะไรทำนองนี้แทรกเข้ามาในช่วงกลางเรื่อง

6.3 CLASS TRIP (1998, CLAUDE MILLER, A+)
http://www.imdb.com/title/tt0156408/
ในหนังเรื่องนี้มีการเล่านิทานสยองในช่วงกลางเรื่องเช่นกัน


--ชอบการออกแบบตัวอักษรของชื่อหนังเรื่องนี้ เพราะในชื่อหนังเรื่องนี้ ”SLEPA PEGA” ที่ปรากฏอยู่บนจอภาพยนตร์ จะมี “จุดบอด” สีดำกลมๆแทรกอยู่ตรงกลางระหว่างคำว่า SLEPA กับคำว่า PEGA

--ชอบบุคลิกของนักสืบหญิงใน BLIND SPOT มาก น่าเสียดายที่บทเธอน้อย จริงๆแล้วน่าจะสร้างหนังอีกเรื่องนึงให้นักสืบหญิงคนนี้เล่นเป็นตัวเอกไปเลย ชอบใบหน้าของเธออย่างมากๆ

--ขำประวัติของโสเภณีในหนังเรื่องนี้ เพราะประวัติของเธอรุนแรงมากจนเอามาสร้างเป็นละคร 30 ตอนจบได้เลย แต่หนังกลับเล่าประวัติของเธอเสร็จภายในเวลาประมาณ 3 นาทีเท่านั้น ถ้าจำไม่ผิด ประวัติของเธอเริ่มต้นตั้งแต่คุณตาของเธอมีเมียแล้ว แต่ดันไปทำให้สาวเสิร์ฟ (คุณยาย) ตั้งครรภ์ ต่อมาสาวเสิร์ฟคนนั้นก็คลอดลูกออกมาเป็นคุณแม่ของเธอ แล้วหลังจากนั้นสาวเสิร์ฟกับลูกก็อพยพออกจากชนบทไปอยู่ในเมืองใหญ่ ต่อมาเมียของคุณตาก็ตามมาสมทบกับสาวเสิร์ฟ+ลูก แล้วต่อมาสาวเสิร์ฟก็ตาย เมียของคุณตาก็เลยพาลูกของสาวเสิร์ฟกลับไปอยู่ในชนบท แล้วก็เกิดการ denationalization, etc. รู้สึกตลกดีที่โสเภณีคนนี้มีประวัติชีวิตที่รุนแรงมากๆ และประวัติของเธอก็ควบคู่ไปกับประวัติศาสตร์ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของยูโกสลาเวียด้วย

--อยากให้ HANNA A.W. SLAK ผู้กำกับ BLIND SPOT ลองหันมาสร้างหนังเกี่ยวกับผี เพราะขนาด BLIND SPOT เป็นหนังชีวิตดราม่า หนังยังออกมาดูหลอนและมีบรรยากาศน่าสะพรึงกลัวขนาดนี้ อยากรู้ว่าถ้าหากเธอสร้างหนังผี หนังจะออกมาซูเปอร์หลอนขนาดไหน

--MANCA DORRER เล่นได้ดีมากๆใน BLIND SPOT โดยเฉพาะดวงตาของเธอที่ทรงพลังมากๆ เห็นเธอแล้วนึกถึง RACHEL GRIFFITHS (SIX FEET UNDER) + SHARLEEN SPITERI (นักร้องนำวง TEXAS) แต่ดิฉันไม่ค่อยอินกับตัวละคร LUPA ที่เธอแสดงสักเท่าไหร่ เพราะถ้าดิฉันเป็น LUPA ดิฉันคงไม่ทำแบบเธอในหนังเรื่องนี้

--ตัวละครที่ดิฉันรู้สึกว่าตัดสินใจทำอะไรแต่ละอย่างได้ตรงใจดิฉันมากๆ ก็คือนิโคล (MARIE-LUISE SCHRAMM) ใน GETTING MY BROTHER LAID บางทีการที่ดิฉันรู้สึกอินกับนิคหรือนิโคลคงจะเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ชอบหนังเรื่องนี้ นิคเป็นคนที่บ้าผู้ชายอย่างรุนแรงมากจนถึงขั้นโรคจิต และ
การตัดสินใจของเธอคือสิ่งที่ทำให้ความรู้สึกชอบหนังเรื่องนี้พุ่งปรี๊ดขึ้นมาอย่างรุนแรง ถ้าหากตัวละครตัวนี้ไม่บ้าแบบนี้ ดิฉันคงไม่มีทางชอบหนังเรื่องนี้สูงกว่า SCHULTZE GETS THE BLUES และ THE SON อย่างแน่นอน

--รู้สึกขำและอิจฉา JULIA JENTSCH เพราะทั้งใน GETTING MY BROTHER LAID และใน THE EDUKATORS เธอรับบทเป็นหญิงสาวที่ตกอยู่ท่ามกลางรักสามเส้าในหนังทั้งสองเรื่อง

--ดูรูปของ ROMAN KNIZKA ใน GETTING MY BROTHER LAID ได้ที่
http://www.cineclub.de/images/2002/mein_b18.jpg
http://www.cineclub.de/filmarchiv/2002/mein_bruder_der_vampir.html

--GETTING MY BROTHER LAID อาจจะเป็นหนึ่งในหนังที่มีตัวละครสมองไม่สมประกอบที่ดิฉันชอบมากที่สุด ส่วนหนังเรื่องอื่นๆที่มีตัวละครแบบนี้รวมถึง TELL ME I’M DREAMING (1998, CLAUDE MOURIERAS, A-) ซึ่งเคยมาฉายที่สมาคมฝรั่งเศส ถ.สาทรใต้ หนังเรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับครอบครัวเกษตรกรที่มีลูกชายสมองพิการ และลูกชายคนนี้ก็พยายามจูบแฟนสาวของน้องชายด้วย
http://www.imdb.com/title/tt0156478/


--วันนี้ได้ดูอีกสองเรื่อง ซึ่งก็คือ SONG FOR A RAGGY BOY (2003, AISLING WALSH, IRELAND, A-/B+) กับ YOUNG KEES (2003, ANDRE VAN DUREN, NETHERLANDS, B+)

--YOUNG KEES ทำให้ดิฉันรู้สึกเบื่อๆในช่วงแรก แต่ก็เริ่มรู้สึกดีกับหนังในช่วงหลังๆของเรื่อง ฉากที่ดิฉันชอบมากในเรื่องนี้คือฉากที่พระเอกได้เห็นธาตุแท้ของคนบางคนในครอบครัวของตัวเอง

--ดู YOUNG KEES แล้วนึกถึงหนังอีกเรื่องนึงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเด็กชาย+คุณพ่อเหมือนกัน นั่นก็คือเรื่อง ADEUS, PAI (1996, LUIS FILIPE ROCHA, PORTUGAL, A+) หรือ “Good bye, Father” แต่ ADEUS, PAI เป็นหนังที่โดนใจกว่ามากๆ

--SONG FOR A RAGGY BOY เป็นหนังที่ถ่ายภาพออกมาได้สวยถูกใจมาก แต่ตัวละครในเรื่องดูแล้วไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ และก็ไม่ค่อยชอบฉากจบด้วย อย่างไรก็ดี ฉากการทำทารุณกรรมเด็กในเรื่องนี้ทำออกมาได้ดีใช้ได้เลยทีเดียว ถ้าหากหนังเรื่องนี้เปลี่ยนฉากจบเสียใหม่ คงจะชอบหนังเรื่องนี้เพิ่มขึ้นมาก
http://www.imdb.com/title/tt0339707/

ดู SONG FOR A RAGGY BOY แล้วนึกถึง

--ชีวิตเด็กไอริชที่สุดแสนรันทดในหนังเรื่อง ANGELA’S ASHES (1999, ALAN PARKER, B+)
http://www.imdb.com/title/tt0145653/

--SONG FOR A RAGGY BOY มีเนื้อหาส่วนนึงเกี่ยวกับสงครามกลางเมืองสเปน ดูแล้วก็เลยนึกถึงหนังเรื่อง HEAD IN THE CLOUDS (2004, JOHN DUIGAN, A) ที่มีเนื้อหาบางส่วนเกี่ยวกับสงครามกลางเมืองสเปนเช่นกัน อย่างไรก็ดี HEAD IN THE CLOUDS มีตอนจบที่น่าประทับใจกว่า SONG FOR A RAGGY BOY เป็นอย่างมาก

--หนังเกี่ยวกับคุณครูผู้แสนดีในโรงเรียนประจำอย่างเช่น DEAD POETS SOCIETY (1989, PETER WEIR, A+)

--หลังจากได้ดู DEAD POETS SOCIETY เมื่อราว 15 ปีที่แล้ว เวลาที่ดิฉันได้ดูหนังเกี่ยวกับคุณครูใจดีเรื่องอื่นๆ ดิฉันก็มักนำหนังเรื่องนั้นไปเปรียบเทียบกับ DEAD POETS SOCIETY ในใจตัวเองอยู่เสมอ จนส่งผลให้ DEAD POETS SOCIETY กลายเป็นเหมือน “มาตรฐาน” หรือ “ไม้บรรทัด” ที่ใช้วัดหนังคุณครูไปโดยปริยาย และส่งผลให้หนังเกี่ยวกับคุณครูเรื่องอื่นๆดูด้อยลงในใจดิฉัน บางที ถ้าหากโลกนี้ไม่เคยมีหนังเรื่อง DEAD POETS SOCIETY ดิฉันอาจจะชอบ SONG FOR A RAGGY BOY มากกว่านี้ และอาจจะชอบ MUSIC OF THE HEART (1999, WES CRAVEN, B+), .MR. HOLLAND’S OPUS (1995, STEPHEN HEREK, A-) และ MONA LISA SMILE (2003, MIKE NEWELL, B+) มากขึ้นเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ยังคงมีหนังคุณครูอยู่เรื่องหนึ่งที่แตกต่างออกไปในใจดิฉัน เพราะในขณะที่หนังคุณครูเรื่องอื่นๆดูด้อยลงเมื่อนำมาเทียบกับ DEAD POETS SOCIETY หนังเรื่องนี้กลับทำให้ดิฉันชอบมากขึ้นเมื่อนำมาเทียบกับ DEAD POETS SOCIETY และหนังเรื่องนี้ก็คือ THE EMPEROR’S CLUB (2002, MICHAEL HOFFMAN, A+)

--ความรู้สึกชอบที่ดิฉันมีต่อ THE EMPEROR’S CLUB กับความรู้สึกชอบที่ดิฉันมีต่อ I ALWAYS WANTED TO BE A SAINT (2003, GENEVIEVE MERSCH, A+) มีจุดนึงที่ใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ดี ดิฉันคงไม่สามารถเขียนถึงความรู้สึกชอบอย่างสุดๆที่มีต่อหนังสองเรื่องนี้ได้ในที่นี้ เพราะมันคงต้องพูดถึง SPOILERS ของหนังสองเรื่องนี้ด้วย เพราะฉะนั้นดิฉันจึงนำเอาส่วนที่เป็น SPOILERS ของหนังสองเรื่องนี้ไปแปะไว้ที่ http://celinejulie.blogspot.com ค่ะ ถ้าใครอยากอ่าน spoilers ของหนังสองเรื่องนี้ก็อ่านได้ที่บล็อกนั้นค่ะ

--ใน THE EMPERORS’ CLUB ช่วงแรกๆนั้น ดิฉันคิดว่าตัวละครคุณครูที่เควิน ไคลน์แสดง จะเป็นคุณครูผู้แสนดีแบบคุณครูโรบิน วิลเลียมส์ใน DEAD POETS SOCIETY แต่ปรากฏว่ามันไม่ได้เป็นอย่างที่ดิฉันคาด บทคุณครูที่เควิน ไคลน์แสดง เป็นคุณครูที่ลำเอียงและไม่ยุติธรรมเป็นอย่างมาก เขาทำร้ายจิตใจเด็กคนหนึ่งที่น่าสงสารและเป็นผู้บริสุทธิ์ และลูกศิษย์บางคนของเขาก็ออกไปสร้างความเลวร้ายให้กับประเทศชาติบ้านเมือง และเขาก็ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้เลย เขาทำในสิ่งที่เรียกได้ว่า “ทุจริต” และลูกศิษย์ของเขาก็ทุจริต แต่การทุจริตของลูกศิษย์ของเขาไม่ได้อยู่แค่ในโรงเรียนเหมือนกับเขาเท่านั้น แต่มันลุกลามออกไปในระดับประเทศ และในที่สุด คุณครูผู้ทุจริตอย่างเควิน ไคลน์ในเรื่องนี้ ก็ทำได้เพียงแต่แค่มองประเทศชาติบ้านเมืองตกอยู่ในอำนาจของลูกศิษย์ผู้ชั่วร้ายเลวทรามของเขาเท่านั้นเอง เขาไม่สามารถยับยั้งความเลวร้ายได้เลย

จุดนี้นี่เองที่ทำให้ THE EMPEROR’S CLUB ดูไม่ด้อยลงเลยแม้แต่นิดเดียวในความเห็นของดิฉันเมื่อเทียบกับ DEAD POETS SOCIETY แต่น่าเสียดายที่ SONG FOR A RAGGY BOY ไม่เป็นเช่นนั้น จริงๆแล้ว SONG FOR A RAGGY BOY ก็มีข้อดีของตัวเองอยู่มากเช่นกัน แต่ฉากบางฉากที่มันดันไปให้อารมณ์คล้ายๆกับ DEAD POETS SOCIETY ทำให้ความรู้สึกชอบที่มีต่อหนังเรื่องนี้ลดลงมาก

--I ALWAYS WANTED TO BE A SAINT ก็ถูกใจดิฉันในแนวทางคล้ายๆกับ THE EMPEROR’S CLUB เพราะในตอนแรกนั้น ดิฉันนึกว่านางเอก I ALWAYS WANTED TO BE A SAINT อยากเป็นอย่าง AMELIE (2001, JEAN-PIERRE JEUNET, A) เพราะเธอพยายามทำความดีและเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับชีวิตของคนอื่นๆ เพื่อพยายามปรับปรุงชีวิตของคนอื่นๆให้ดีขึ้น แต่ไปๆมาๆ นางเอกหนังเรื่องนี้กลับไม่ใช่คนจิตใจดีงามแบบ AMELIE แต่อย่างใด เพราะในเวลาต่อมาหนังก็แสดงให้เห็นว่าเธอมีจิตใจเน่าเฟะ, อันตราย, และไม่น่าเข้าใกล้เป็นอย่างมาก และนี่คือสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ดิฉันชอบ I ALWAYS WANTED TO BE A SAINT มากกว่า AMELIE เสียอีก

No comments: