Wednesday, September 23, 2020

ANTEBELLUM (2020, Gerard Bush, Christopher Renz, A+30)

 

ANTEBELLUM (2020, Gerard Bush, Christopher Renz, A+30)

 

SERIOUS SPOILER ALERT (ยังไม่ได้ดูห้ามอ่าน)

--

--

--

--

--

--

--

--

--

--

1.ก็ชอบน้อยกว่า GET OUT (2017, Jordan Peele) และ US (2019, Jordan Peele) นะ แต่ก็ถือว่าชอบสุดๆอยู่ดี เหมือนหนังเรื่องนี้เป็นเพียงแค่หนัง blaxploitation หรือหนังสยองขวัญเกรดบีเมื่อเทียบกับ GET OUT และ US น่ะ แต่เราชอบหนังสยองขวัญเกรดบีอยู่แล้ว คือเรารู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มันไม่ได้ “มีสาระหรือประเด็นน่าสนใจ” มากเท่า GET OUT และ US แต่หนังเรื่องนี้มันก็มีประเด็นน่าสนใจมากกว่าหนังสยองขวัญเกรดบีโดยทั่วไป 555

 

2.หนึ่งในสิ่งที่ชอบมากๆก็คือสิ่งที่หลายคนได้เขียนถึงไปแล้ว นั่นก็คือความพานพ้องกับสังคมไทยในบางแง่มุม โดยเฉพาะคนไทยบางกลุ่มที่หวนหาอาลัย “ยุคสมัยก่อนประชาธิปไตย” และพยายามจะผลักดันสังคมไทยให้ย้อนกลับไปยังยุคนั้น

 

ดูแล้วนึกถึงหนังเรื่อง PAST PERFECT (2019, Jorge Jacome, Portugal) ด้วย เพราะ PAST PERFECT บอกเราว่า “nostalgia is a political tool” ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกับสังคมไทยและหนังเรื่องนี้จริงๆ

https://www.facebook.com/jit.phokaew/posts/10224227348334753

 

3.อีกสิ่งหนึ่งที่ชอบสุดๆในหนังเรื่องนี้คือสิ่งที่คุณ Pongson Arunsintaweeporn ได้เขียนถึงไปแล้ว ซึ่งก็คือความสยองขวัญในองก์สองของหนัง ซึ่งเป็นช่วงที่แทบไม่มีเหตุการณ์รุนแรงอะไรเกิดขึ้น ยกเว้นในช่วงท้าย แต่ความสยองมันคือ “รายละเอียดเล็กๆน้อยๆในชีวิตประจำวัน” เมื่อนางเอกถูกเลือกปฏิบัติจากคนขาวด้วยความเย็นชา คือคนขาวไม่ได้มาจิกหัวด่าเธอโดยตรง แต่มันเป็นการเหยียดผ่านการแสดงออกเล็กๆน้อยๆ และถึงแม้นางเอกจะพยายามแสดงออกว่า “กูรวย” แต่มันก็ไม่ช่วยอะไร สีผิวของเธอทำให้เธอถูกเหยียดอยู่ดี

https://www.facebook.com/pongson/posts/10157222332261174

 

เราชอบสิ่งนี้อย่างสุดๆ เพราะความสยองขวัญในองก์สองมัน “ใกล้ตัว” มากกว่าองก์หนึ่งและองก์สาม  และมันถูกตอกย้ำด้วยคำพูดของตัวละครผู้ร้ายในช่วงท้ายขององก์สามในทำนองที่ว่า “We are nowhere, but we are everywhere.” (เราจำคำพูดไม่ได้เด๊ะๆนะ แต่มันออกมาทำนองนี้)

 

คำพูดนี้คือคำพูดที่หลอนเรามานานราว 30 ปีแล้วน่ะ คือมันหลอนเรามาตั้งแต่เราดูหนังเรื่อง BETRAYED (1988, Costa-Gavras) ที่มาบุญครองในปี 1988 และเราได้อ่านบทความเกี่ยวกับ Klu Klux Klan ในอเมริกาในช่วงนั้นพอดี

 

คือตอนที่เราดูหนังเรื่อง BETRAYED ในปี 1988 นั้น เราช็อคสุดๆ เพราะก่อนหน้านั้นเรานึกว่าปัญหาการเหยียดผิวมันหมดไปนานแล้ว แต่ BETRAYED มันนำเสนอภาพคนขาวในยุคปัจจุบันในสหรัฐที่ทำตัวเหมือนชาวบ้านปกติ แต่จริงๆแล้วคนกลุ่มนี้จับคนดำมาเล่นเกมล่าสังหาร พวกเขาปล่อยให้คนดำวิ่งหนีไปในทุ่ง แล้วพวกเขาก็คว้าปืนไรเฟิลหรือปืนยาวออกไล่ล่าคนดำคนนั้นในทุ่ง ก่อนจะยิงคนดำคนนั้นตาย

 

หลังจากเราได้ดูหนังเรื่อง BETRAYED เราก็ได้อ่านบทความที่ไปสัมภาษณ์พวก KKK ในสหรัฐ แล้วมันก็น่ากลัวมาก เพราะคนกลุ่มนี้ถือคติว่า We are nowhere, but we are everywhere (เราเข้าใจว่ามันหมายถึงอะไรในทำนองที่ว่า “พวกเราจะซ่อนตัว แต่พวกเราจะแทรกซึมอยู่ในทุกๆแห่ง ทุกๆองค์กร ทุกๆสถาบัน) คือคนกลุ่มนี้จะไม่แปะป้ายประกาศต่อสาธารณชนหรอกว่าตัวเองเป็น KKK แต่พวกเขาก็แอบก่อตั้งกลุ่มลับๆของตัวเอง ทำกิจกรรมลับๆของตัวเอง ทำเครือข่ายลับๆของตัวเอง คือถ้าหากเจ้าหน้าที่รัฐบาลเดินเข้าไปในเมืองนั้น เจ้าหน้าที่รัฐบาลก็จะไม่พบหรอกว่า มีชาวบ้านคนไหนประกาศว่าตัวเองเป็น KKK ซึ่งก็คือ “We are nowhere” แต่จริงๆแล้วทั้งในสถาบันผู้พิพากษา, ตำรวจ, ทหาร, บริษัทเอกชน, etc. ต่างก็มีสมาชิก KKK แทรกซึมอยู่ในนั้นหมดแล้ว เพียงแต่พวกเขาไม่ประกาศตัวออกมาเท่านั้นเอง และสิ่งนี้ก็คือ “We are everywhere.”

 

เพราะฉะนั้นความสยองขวัญในช่วงที่ 2 มันเลยหนักหนาสาหัสมากๆสำหรับเรา เพราะมันคือการที่เราเหมือน “อยู่ในที่แจ้ง” แต่ศัตรูของเราอยู่ในทีลับหมดเลยน่ะ คือศัตรูของเรามองว่าเราเป็นศัตรู เพราะเราผิวดำ เราเป็นชนกลุ่มน้อย คือพอศัตรูเห็นเรา ศัตรูก็รู้ได้ทันทีว่าเราคือฝ่ายตรงข้าม เพราะสีผิวของเรามันฟ้อง แต่เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า คนขาวคนไหนเป็นมิตรหรือศัตรูของเรา เราไม่สามารถบอกได้ว่าพนักงานร้านอาหารคนนั้นเป็น KKK หรือเปล่า เราไม่สามารถบอกได้ว่าพนักงานโรงแรมคนนั้นเป็น KKK หรือเปล่า เพราะการที่เขาเป็นคนขาว มันบอกไม่ได้หรอกว่าเขาเป็นมิตรหรือศัตรู

 

มันก็เลยเหมือนการใช้ชีวิตอยู่ในสนามรบ โดยที่เราเป็นฝ่ายเสียเปรียบตลอดเวลา เพราะศัตรูแยกแยะเราได้ในทันทีว่าเราคือฝ่ายตรงข้าม เพราะสีผิวของเรามันฟ้อง แต่เราไม่สามารถแยกแยะได้เลยว่าคนไหนเป็นมิตรหรือศัตรูของเราโดยมองจากแค่สีผิวของเขา ศัตรูของเรามัน everywhere และ nowhere ในเวลาเดียวกัน

 

4.การใช้ชีวิตอยู่ภายใต้แรงกดดันจากศัตรูที่ทั้ง everywhere และ nowhere นี้ ทำให้เรานึกถึงชีวิตตัวเองเหมือนกัน ซึ่งมันไม่เกี่ยวกับหนังโดยตรง แต่มันคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆ เพราะความหวาดระแวงที่ว่า เราอาจจะถูกศัตรู “เหยียดหยาม” หรือ “ทำร้าย” นี่ มันคือสิ่งที่จำกัดควบคุมการแสดงออกของเรามานาน 30 กว่าปีแล้ว

 

คือดูหนังเรื่องนี้แล้วเรานึกถึงความกลัวของเราตั้งแต่เด็กที่ว่า เราจะถูกกลั่นแกล้งรังแกถ้าหากเราแสดงอาการตุ้งติ้งมากเกินไป และความกลัวของเราที่ว่า เราอาจจะถูกทำร้าย ถ้าหากเราแสดงความเห็นทางการเมืองของเราอย่างตรงไปตรงมาน่ะ

 

คือเราก็รู้ว่าตัวเองเป็นกะเทยตั้งแต่อยู่ประถมน่ะแหละ และเราก็มีอาการตุ้งติ้ง วี้ดว้ายกระตู้วู้ตั้งแต่เด็ก แต่พอขึ้นชั้นมัธยม เราก็โดน bully จากเพือนบางคนในชั้นเดียวกัน และจากรุ่นพี่ในโรงเรียนด้วย และที่สำคัญก็คือการโดน bullyจากพวกผู้ชายในซอย ที่เหมือนพวกมันมองเราแค่ปราดเดียว พวกมันก็รู้ว่าเราเป็นกะเทย และพูดด่าเราออกมา เราก็เลยเริ่มเรียนรู้ที่จะ “เก็บอาการ” ของตัวเอง โดยเฉพาะเวลาที่เราเดินไปในสถานที่ที่เราไม่คุ้นเคย เพราะเราไม่รู้หรอกว่าเวลาเราเดินไปในซอยต่างๆ พวกนักเลงในซอยนั้นมันจะหมั่นไส้เราเพราะเราเป็นกะเทยหรือเปล่า มันเหมือนกับว่า พอเราเดินเข้าไปในสถานที่นึง เราบอกไม่ได้หรอกว่า คนต่างๆในสถานที่นั้น คนไหนเป็นศัตรูของเรา (พวกเหยียดกะเทย) หรือคนไหนไม่ได้เป็นศัตรูของเรา (คนที่ไม่ได้เหยียดกะเทย) เพราะฉะนั้นเพื่อความอยู่รอดของเรา เราก็ควรเก็บอาการซะ ศัตรูของเราก็จะได้มองไม่ออกเช่นกันว่าเราเป็นศัตรูของเขาหรือเปล่า

 

แต่ก็โชคดีที่ตอนเรียนมหาลัยเราได้เรียนคณะอักษร เราก็เลยไม่ต้องเก็บอาการแต่อย่างใดเวลาอยู่ในมหาลัยของตัวเอง 555 และก็โชคดีที่ “เสียงด่ากะเทยลอยๆจากพวกผู้ชายข้างถนน” มันดูเหมือนจะลดลงเรื่อยๆเมื่อเราเติบโตขึ้น สิ่งนี้ก็ถือว่าเป็นพัฒนาการที่ดีของสังคมไทยนะคะ 555

 

ส่วนเรื่องการงดแสดงความเห็นทางการเมืองนั้น มันคือสิ่งทีเราทำทุกครั้งเวลาที่เราขึ้นรถ taxi 555 เพราะเวลาที่เราก้าวขึ้นไปในรถ taxi แต่ละคัน เราไม่รู้หรอกว่าคนขับ taxi คนไหนมีความเห็นทางการเมืองสอดคล้องกับเราหรือไม่ และถ้าหากเขาไม่เห็นด้วยกับเรา เขาจะอะไรยังไงกับเราหรือเปล่า เราก็เลยงดแสดงความเห็นทางการเมืองแทบทุกครั้งเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง ยกเว้นแต่ในกรณีที่เจอ taxi driver ที่ประกาศตัวว่าเป็นเสื้อแดง 555

 

เราก็เลยชอบองก์สองของหนังมากๆ และชอบ “การปิดปากเงียบ การควบคุการแสดงออกของตนเอง” เพื่อความอยู่รอดของชีวิตของนางเอกในองก์ 1 และองก์ 3 ด้วย เพราะมันทำให้เรานึกถึงตัวเองในบางแง่มุม นึกถึงความเครียดในการใช้ชีวิตตั้งแต่เด็ก เพราะเราไม่รู้ว่าใครเป็นมิตรหรือศัตรู (คนที่เกลียดเกย์, คนที่ต้องการทำร้ายคนที่เห็นต่างทางการเมือง)

 

5.เราว่าองก์สามของหนังมันทำให้องก์สองของหนังสยองขึ้นมากๆด้วยแหละ เพราะองก์สามของหนังมันแสดงให้เห็นเลยว่า คนหลายคนที่รายล้อมรอบตัวเรา จริงๆแล้วคือคนที่ต้องการจับเราไปทรมาน ทั้งเด็กในลิฟท์, คนขับรถ grab, คนที่ทำเหมือนสนใจผลงานของเรา, พนักงานโรงแรม และแม้แต่ผู้ชายที่มาจีบเพื่อนของเรา องก์สามของหนังมันก็เลยช่วยตอกย้ำความน่าสะพรึงกลัวของการใช้ชีวิตอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ว่า “ศัตรูของเราแฝงอยู่ในทุกๆแห่ง แต่พวกเขาไม่ประกาศตัวออกมา”

 

6.ชอบการบอกใบ้ของหนังในองก์แรกด้วย เพราะในองก์แรกนั้น ถ้าหากเราจำไม่ผิด มันมีฉากที่เห็นคนงาน “เผาฝ้ายจำนวนมาก” ซึ่งเราก็สงสัยตั้งแต่ฉากนั้นแล้วว่า พวกมึงตั้งใจปลูกฝ้ายกันเป็นวรรคเป็นเวรไปทำไม ถ้าหากไม่ได้เอาฝ้ายไปขาย เหมือนพอเราเห็นฉากเผาฝ้าย เราก็เริ่มตะหงิดๆแล้วว่า ไร่นี้มีอะไรผิดปกติ แต่พอเข้าองก์สอง เราก็นึกแค่ว่า องก์แรกคือฝันร้ายของนางเอก

 

7.อันนี้ไม่รู้ว่าหนังตั้งใจหรือเปล่า แต่เราดูหนังเรื่องนี้แล้วนึกถึงการสังหารหมู่ชาวยิวและอินเดียนแดงด้วย เพราะ “ห้องเผาศพ” ในหนังเรื่องนี้ มันทำให้เรานึกถึงห้องรมแก๊สชาวยิวในสงครามโลกครั้งที่สองน่ะ และ “การโพสท่า” และ “การทำหน้าทำตาของนางเอกขณะขี่ม้า” ในช่วงท้ายขององก์สาม มันก็ทำให้นึกถึง “อินเดียนแดง” ซึ่งแน่นอนว่าทั้งคนดำ, ชาวยิว และอินเดียนแดง ต่างก็มี “ศัตรูร่วมกัน” ซึ่งก็คือ KKK และคนขาวที่เหยียดผิว

 

8.ประโยคเปิดของหนังก็ดีงามมาก เพราะมันเข้ากับประเด็น black lives matter ในปีนี้ และมันทำให้นึกถึงข่าวเรื่อง vandalism โบสถ์ของชาวยิวในสหรัฐหลายแห่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาด้วย คือมาจนถึงปัจจุบันนี้แล้ว ทั้งชาวยิวและคนดำในสหรัฐก็ยังคงถูกทำร้ายเพราะชาติพันธุ์ของตนเองอยู่ดี

 

9.ชอบตัวละคร Dawn ของ Gabourey Sidibe มากๆ เพราะเธอเหมือนหลุดมาจากหนังเรื่อง MAGIC MIKE XXL (2015, Gregory Jacobs) เธอเป็นสาวผิวดำที่มีความมั่นใจและมีความ horny อย่างเต็มที่ และเธอช่วยสร้างสมดุลให้หนังดูไม่ส่งเสริมกุลสตรีมากเกินไป 555 เพราะเรารู้สึกว่านางเอกของหนังเรื่องนี้ดูรักลูกรักผัวมากๆ นางเอกดูมีความเป็นกุลสตรีหรือดูมีความเป็นผู้ดีบางอย่าง (เหมือนหลุดมาจาก WAITING TO EXHALE) การใส่ตัวละคร Dawn เข้ามาก็เลยช่วยให้เราไม่รู้สึกว่า หนังต้องการจะบอกว่า  “เธอต้องเป็นผู้หญิง “ดีๆ” นะ เธอถึงจะรอดชีวิตได้ในตอนจบ”

 

 

No comments: