Sunday, September 27, 2020

WALTZ IN FLAME (2019, Borit Pongwatchr)

 

เต้นรำในวอดวาย (2019, บริษฎ์ พงศ์วัชร์)

 

1.การอ่านหนังสือเล่มนี้รู้สึกเหมือนได้เปิดหูเปิดตาตนเอง เพราะเราได้อ่านงาน fiction น้อยมากในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา และเราเหมือนไม่เคยอ่านงานแนวนี้มาก่อนเลย ซึ่งก็คือหนังสือรวมเรื่องสั้นที่แต่ละเรื่องมันสั้นมากๆ และแต่ละเรื่องเหมือนเป็นการบันทึกความรู้สึกห้วงสั้นๆของตัวละครแต่ละตัว คือจริงๆแล้วมันอาจจะมีหนังสือแบบนี้เยอะมากก็ได้ แต่พอดีเราไม่เคยอ่านงานแบบนี้มาก่อน เพราะก่อนหน้านี้เรามักจะอ่านแต่ “นิยาย” หรือไม่งั้นก็เป็นบทกวีสั้นๆ ส่วนหนังสือรวมเรื่องสั้นส่วนใหญ่ที่เราเคยอ่าน เรื่องสั้นแต่ละเรื่องมันก็จะมีเนื้อหาที่เป็นรูปธรรมมากกว่านี้ คือเหมือนเรื่องสั้นแต่ละเรื่องที่เราเคยอ่านมันจะดูมีความสมบูรณ์ในตัวเอง อ่านแล้วรู้ว่าใครทำอะไรเกิด conflict ยังไง คลี่คลายยังไง (นึกถึงเรื่องสั้นแบบ Roald Dahl 55555) แต่เรื่องสั้นหลายเรื่องในหนังสือเล่มนี้เหมือนเป็นการบันทึกความรู้สึกที่เป็นนามธรรมในห้วงสั้นๆ มันก็เลยให้ความรู้สึกคล้ายๆการอ่านบทกวี+การดู music video ซึ่งตรงข้ามกับเรื่องสั้นเรื่องอื่นๆที่เราเคยอ่านมาที่มันคล้ายการดูหนังสั้นแบบ narrative ที่มีความยาว 30 นาที

 

ตอนอ่านหนังสือเล่มนี้ จะนึกถึงหนังแบบ ABOUT ENDLESSNESS (2019, Roy Andersson) ด้วยความที่แต่ละเรื่องมันสั้นมากๆ 555

 

2.ตอนอ่านช่วงแรกๆก็เลยงงๆอยู่บ้าง ว่าเรื่องสั้นแต่ละเรื่องมันจบแล้วเหรอ ก่อนจะค่อยๆชินว่ามันเป็นแบบนี้แหละ ส่วนอีกอย่างที่ทำให้เรา “ปรับตัว” ขณะอ่าน ก็คือสำนวนภาษา เพราะเหมือนกับว่าหลายๆครั้งมีการใช้คำคุณศัพท์แทนคำนาม อย่างเช่น “เราเปลือยเปล่า ณ ใจกลางเศร้าสร้อย” คือเหมือนหลายๆครั้งแทนที่เขาจะเขียน “ความ+คำคุณศัพท์” เพื่อทำให้เป็นคำนาม เขาจะตัดคำว่า “ความ” ทิ้งไป เราก็เลยอ่านแล้วสะดุดในช่วงแรกๆ เพราะอย่างที่บอกว่าเราอ่านหนังสือน้อยมากในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา เราก็เลยไม่เคยเจอสำนวนภาษาแบบนี้มาก่อน แต่พอจับสไตล์ได้แล้วว่าเขามักจะตัดคำว่า “ความ” ทิ้งไป ก็เลยทำให้อ่านได้อย่างไหลลื่น

 

3.หนังสือแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ เต้นรำ, วอดวาย และเถ้าถ่าน ซึ่งเราชอบช่วงวอดวายมากสุด ชอบช่วงเถ้าถ่านมากเป็นอันดับ 2 และชอบช่วงเต้นรำมากเป็นอันดับ 3

 

ช่วงวอดวายเป็นช่วงที่เน้นเล่าเรื่องเด็กที่มี “พ่อใจร้าย” และเราพบว่าเราอินกับช่วงนี้ได้มากสุด เพราะอย่างที่เราเคยเขียนไว้ในที่อื่นๆแล้วว่า เรามักจะอินกับภาพยนตร์ที่เน้นอารมณ์ “โกรธเกลียดเคียดแค้นชิงชัง” น่ะ แต่เรามักจะไม่อินกับภาพยนตร์ที่เน้นอารมณ์ “รักโรแมนติก” เราก็เลยอินกับ “วอดวาย” เพราะมันเน้นอารมณ์โกรธเกลียดเคียดแค้นชิงชัง ในขณะที่ช่วง “เต้นรำ” มันเน้นอารมณ์รักโรแมนติก เราก็เลยอินน้อยสุดไปโดยปริยาย

 

4.ถ้าหากเปรียบเทียบกับหนังแล้ว ช่วง “เต้นรำ” ทำให้เรานึกถึงหนังของพวก Post New Wave ของฝรั่งเศสน่ะ พวกหนังที่กำกับโดย Claude Sautet, Philippe Garrel, Maurice Pialat, Jacques Doillon, Jean Eustache ที่เน้นเล่าเรื่องความสัมพันธ์รักแบบลุ่มๆดอนๆ คือมันไม่ใช่รักแบบหนุ่มเจอสาวแล้วรักกันตลอดไป แต่มันเป็นความรักแบบหนุ่มเจอสาว, เอากัน, ไม่แน่ใจว่ารักกันไหม, คบกันไปก่อน, แล้วแต่ละฝ่ายก็คบกับคนอื่นๆไปด้วย, แต่ละฝ่ายได้รู้จักนิสัยยิบย่อยของอีกฝ่ายหนึ่ง, ทะเลาะกัน, เลิกกัน, กลับมาคืนดีกันใหม่, อยู่ด้วยกันก็เจ็บ, เลิกกันก็เจ็บ ทุกอย่างคาราคาซัง, มีทั้งทุกข์และสุข และไม่มีทางหาคำตอบได้เลยว่า ตัวละครควรจะอยู่กันยังไงทุกอย่างถึงจะลงเอยอย่างมีความสุข

 

การที่ “เต้นรำ” ทำให้เรานึกถึงหนังฝรั่งเศส ก็เป็นเพราะว่า ตัวละครหญิงสาวในแต่ละตอนของช่วงเต้นรำ มันดูเป็นสาวที่พร้อมจะมีความสัมพันธ์กับชายแปลกหน้า, รักการมี sex แต่ไม่ต้องการจะแต่งงานกับชายใดง่ายๆ ด้วยแหละ ซึ่งมันจะคล้ายกับเหล่าบรรดาตัวละครหญิงสาวในหนัง post New Wave ของฝรั่งเศส ที่มันเต็มไปด้วยความซับซ้อนยุ่งเหยิงของความรัก, ความสัมพันธ์ และ sex และไม่ได้เรียบง่ายแบบหนังโรแมนติกของชาติอื่นๆ

 

5.ส่วนช่วง “วอดวาย” นั้น รุนแรงมาก เดือดมาก ชอบสุดๆ ทำให้นึกถึงหนังอย่าง CRY IN SILENCE (2006, Gabriel Biggs, France), MY SON (2006, Martial Fougeron, France), THE HOUSE OF LOVE (2015, Tossaphon Riantong, documentary), A CREMATION DAY (2017, Napasin Samkaewcham, documentary) หรือมิวสิควิดีโอ FIRE ON BABYLON ของ Sinead O’Connor ที่นำเสนอภาพ “บ้านคือนรก” หรืออะไรทำนองนี้

https://www.youtube.com/watch?v=R29W_PvTT7M

 

6.ส่วนช่วง “เถ้าถ่าน” ก็ชอบมาก มันเหมือนเป็นช่วงที่มีทั้งอารมณ์รักโรแมนติก และมีความ “โรคจิตสิงสู่ผสมอยู่ด้วยกัน อ่านแล้วนึกถึงหนังอย่าง MAP TO THE STARS (2014, David Cronenberg) ที่นำเสนอตัวละครโรคจิตหลายตัว โดยที่ความโรคจิตของตัวละครเหล่านั้นมีที่มาจากปมในวัยเด็ก

 

7.ตอนที่อ่านก็พยายามหาทางเชื่อมโยงเรื่องสั้นแต่ละเรื่องเข้าด้วยกันนะ 555 เราจะรู้สึกว่า

 

7.1 หลายเรื่องเป็นเรื่องของชายหนุ่มที่เหมือนรักหญิงสาวคนนึง แต่หญิงสาวคนนั้นไม่อยาก “ผูกมัด” กับเขา โดยเฉพาะในช่วงของ “เต้นรำ”

 

7.2 เรื่อง “ขบวนรถไฟ” กับ “ฝัน” เป็นเรื่องของการคบชู้เหมือนกัน จนเรารู้สึกเหมือนมันต่อกัน

 

7.3 เหมือนเรื่องสุดท้าย (เสมอ) คือส่วนที่มาก่อนเรื่องแรก (ผมเตือนคุณแล้ว) เหมือนผู้ชายในเรื่องสุดท้ายไม่สมหวังในรัก เขาเลยกลายเป็นผู้ชายที่พร้อมจะมี sex ไปเรื่อยๆ แต่ไม่คิดที่จะรักใครอย่างจริงจัง เหมือนผู้ชายในเรื่องแรก

 

7.4 เหมือนภาพที่ติดตาเราจากหนังสือเล่มนี้ คือภาพของชายหนุ่มนอนอยู่บนเตียง และมองหญิงสาวที่เขารักเดินออกจากห้องนอนและปิดประตู อย่างเช่นในวลี

 

7.4.1 “หลังเสียงปิดประตูโครมของเธอ” ในเรื่อง “ระหว่างเรา”

 

7.4.2  “ระหว่างแผ่นหลังของคุณที่ลับหายไปหลังบานประตูซึ่งแง้มปิดแผ่วเบา” ในเรื่อง “เสมอ”

 

8.พออ่านโดยรวมๆแล้ว เราก็เลยรู้สึกเหมือนกับว่า ถ้าหากเป็นชีวิตคน ส่วน “วอดวาย” คือชีวิตในวัยเด็ก เด็กที่ถูกพ่อกระทำอย่างโหดร้ายทารุณ แล้วพอเด็กคนนั้นโตขึ้นเป็นหนุ่ม เขาเลยมีความโรคจิตสิงสู่อยู่ในตัว มี “ปีศาจและผีสาง” ซุกซ่อนอยู่ในใจ คล้ายๆกับตัวละครบางตัวในส่วนของ “เถ้าถ่าน” และต่อมา เขาก็อาจจะรักหญิงสาวบางคน แต่หญิงสาวคนนั้นก็ไม่พร้อมจะผูกมัดกับเขา เหมือนตัวละครในส่วนของ “เต้นรำ”

 

9.ชอบความ emotional turbulence ของตัวละครหลายๆตัวในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะมันเป็นเรื่องสั้นแบบกระแสสำนึกด้วยมั้ง มันเลยเจาะลึกความ emotional turbulence ออกมาได้อย่างเต็มที่

 

10.เนื่องจากเราชอบดูหนัง เวลาอ่านเรื่องพวกนี้เราก็เลยเกิด “หนังในจินตนาการ” ขึ้นมาในหัว และเราว่าช่วง “เถ้าถ่าน” เหมาะสร้างเป็นหนังมากที่สุด

 

คือจริงๆมันก็ดีทั้ง 3 ช่วงนั่นแหละ แต่ช่วง “เต้นรำ” มันอาจจะให้อารมณ์คล้ายๆหนังสั้นไทยหลายเรื่องที่สร้างกันออกมาแล้ว เพราะหนังสั้นไทยหลายเรื่องพูดถึงความรักโรแมนติกของหนุ่มสาว แต่อาจจะแตกต่างกันตรงที่ ตัวหญิงสาวใน “เต้นรำ” ดูเปรี้ยวกว่า มั่นใจกว่านางเอกหนังสั้นไทยโดยทั่วไป และเนื้อหาใน “เต้นรำ” มันอีโรติกกว่าในหนังสั้นไทยโดยทั่วไป

 

ส่วนช่วง “วอดวาย” นั้นเดือดมาก แต่อาจจะมีเสน่ห์น้อยกว่าช่วง “เถ้าถ่าน” เพราะช่วงวอดวายนั้น มันเห็นชัดว่าเหยื่อคือ “เด็ก” และผู้ร้ายคือ “พ่อ” น่ะ มันเป็นช่วงที่ขาวจัดดำจัด และอาจจะขาด dilemma หรือขาดความซับซ้อนของมนุษย์เมื่อเทียบกับช่วงเถ้าถ่าน

 

ส่วนช่วง “เถ้าถ่าน” นั้น มันเหมือนรวมทั้งส่วนดีของช่วงเต้นรำกับวอดวายเข้าด้วยกัน มันมีทั้ง “ปมทางจิตทื่สืบทอดมาจากวัยเด็ก” และ “ความโรแมนติกอีโรติก” ของหนุ่มสาว คือถ้าหากนำตัวละครในช่วงเถ้าถ่านมาสร้างเป็นหนัง มันจะมีอะไรให้ explore ได้เยอะมากๆ เพราะตัวละครในช่วงของเถ้าถ่าน มันมีความซับซ้อนทางจิตที่น่าสนใจมาก ทั้งสาวสวยที่มีลูกชายโรคจิตและได้ผัวเป็นเด็กหนุ่มที่แก่กว่าลูกชายของเธอแค่ 5 ปี, ชายหนุ่มที่โดนผีหลอกทางทีวีขณะเอากับแฟน, หญิงสาวที่วางยานอนหลับสามี, แม่เลี้ยงที่เอากับลูกเลี้ยง, ชายหนุ่มที่แกล้งเป็นคนบ้าแบบ multiple personalities, ชายหนุ่มที่หมกมุ่นกับความทรงจำที่มีต่อคนรักเก่าที่อาจถูกพ่อฆ่าตาย, เด็กหญิงสิบขวบที่พ่อตาย แม่หายสาบสูญ และเราเดาว่าแม่ของเธอเคยแอบหลงรักลุงของตัวเอง (เราเดาเอาเองนะ) และชายหนุ่มที่ผิดหวังในรักจนกลายเป็นคนใหม่ที่ใจดำกว่าเดิม

No comments: