A MINOR HISTORY (2021, Apichatpong Weerasethakul, video
installation, A+30)
1.เหมือนเนื้อหาหลัก ๆ ของวิดีโอนี้คงเป็นเรื่องการพบศพผู้ลี้ภัยทางการเมืองในแม่น้ำโขง
แต่ในตัววิดีโอเราจะไม่ได้เห็นตัวศพหรือการจำลองฉากการฆาตกรรม,
ประวัติผู้เสียชีวิตแต่อย่างใด (ซึ่งข้อมูลส่วนนี้น่าจะหาได้จาก internet) ภาพที่เราได้เห็นเป็นภาพของโรงภาพยนตร์เก่าร้าง, นกที่บินไปมา , ศพนก,
แม่น้ำ, เงา silhouette ของคนคนนึง (น่าจะเป็นผู้หญิง)
ในห้องที่น่าจะเป็นห้องนอน, ไมโครโฟน, ไฟสีสันที่หมุนวนไปมา
2.มี text ในงานวิดีโอนี้ด้วย
เล่าเรื่องของชายที่ฝันว่าลูกชายของเขาชกมวยในการแข่งขันที่ไม่ยุติธรรม
(ถ้าจำไม่ผิด) และ text ที่ขึ้นว่า อากาศร้อนจนเงี่ยน,
อากาศร้อนจนตาสว่าง หรืออะไรทำนองนี้
3.มีเสียงคนในวิดีโอนี้ด้วย ซึ่งมีลักษณะคล้ายละครวิทยุ
แต่เสียงของนางเอกละครวิทยุนี้เหมือนเป็นเสียงของกะเทย เสียงของคนในละครวิทยุพูดคุยกันถึงเรื่องแก่งหินประหลาดกลางแม่น้ำ
ที่มีตำนานว่าการที่แก่งหินนี้มีรูปร่างประหลาดเกิดจากนาคไปกระแทกก้อนหินเหล่านั้น,
นาคที่ใกล้ตายจะยิ่งแสดงอิทธิฤทธิ์สะบัดตัวไปมาอย่างรุนแรง, มีการคุยกันถึงเรื่องพญาแถนด้วย
แต่ส่วนใหญ่แล้วตัวละครจะพูดซ้ำไปซ้ำมาว่าอากาศร้อน
ชอบความเป็นละครวิทยุมาก ๆ ถ้าเราจำไม่ผิด ใน LIKE THE RELENTLESS FURY OF THE
POUNDING WAVES (1996, Apichatpong Weerasethakul, 25min) ก็มีการใช้ละครวิทยุเช่นกัน
4.นอกจากเสียงแบบละครวิทยุแล้ว ยังมีเสียงคล้าย ๆ เครื่องจักรหึ่ง ๆ
ดังตลอดเวลาด้วย ไม่แน่ใจว่ามันคือเสียงอะไร
ตอนแรกนึกว่ามันเป็นเสียงที่สัมพันธ์กับภาพหลอดไฟสีสันที่หมุนวนไปมา
แต่ก็ไม่แน่ใจว่าใช่หรือเปล่า เพราะเสียงมันทำให้นึกถึงเครื่องจักรในโรงงานมากกว่า
5.แล้วก็มีเสียง “ตึ้ง” ดังเป็นระยะ ๆ ด้วย ไม่รู้ว่าคือเสียงปืน
หรือเสียงที่เกิดจากวัตถุหนัก ๆ โดนกระแทกหรืออะไรสักอย่าง
6.แล้วก็มีฉากลิเกอยู่ในงานนี้ด้วย
โดยจะมีไฟส่องสว่างขึ้นมาที่ฉากลิเกเป็นระยะ ๆ
ไม่แน่ใจว่าจังหวะของแสงไฟนี้สัมพันธ์กับเสียงตึ้งหรือเปล่า
ชอบการใช้ฉากลิเกนี้มาก ทำให้นึกถึงงานวิดีโอ SOMETHING LIKE A THING, SOMETHING
LIKE EVERYTIME (2018, Anupong Charoenmitr) ที่นำฉากลิเกมาใช้ในงาน
video installation เหมือนกัน โดยในงานวิดีโอนั้นมีการนำเสนอตัวละครจำอวดที่แสดงความทุกข์ใจที่ท้องพระโรงขยายขนาดออกไปเรื่อย
ๆ โดยไม่มีที่สิ้นสุด
https://www.facebook.com/jit.phokaew/posts/10216642950169539
7.ชอบการโยงเรื่องศพกลางแม่น้ำโขงเข้ากับพญานาคและพญาแถนมาก ๆ
ซึ่งก็เป็นลักษณะเฉพาะตัวในภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่องของ Apichatpong ที่มีทั้งความเป็น
supernatural และการเมืองผสมผสานกัน
8.โดยรวมแล้ว วิดีโอนี้ทำให้นึกถึงหนังบางเรื่องที่พูดถึง “เหตุการณ์ร้ายแรง”
ที่เป็นปัญหาสังคม/การเมือง โดยเน้นนำเสนอแต่ lanscape เหมือนกัน อย่างเช่น
8.1 EUROPA 2005 – 27 OCTOBRE (2006, Jean-Marie
Straub, Danièle Huillet) ที่นำเสนอภาพท้องถนนจุดนึงซ้ำไปซ้ำมา 5
รอบ แต่จริง ๆ แล้วท้องถนนตรงจุดนั้นเป็นจุดที่ชายหนุ่มสองคนเคยวิ่งหนีตำรวจจนไปโดนไฟดูดตาย
แล้วก็เลยเป็นชนวนให้เกิดเหตุการณ์จลาจลในกรุงปารีสในเวลาต่อมา
8.2 SOUTH (1999, Chantal Akerman, documentary) ที่เล่าเรื่องของชายผิวดำในรัฐเท็กซัสที่ถูกพวกคนขาวเหยียดผิวจับผูกกับรถแล้วลากไปตามพื้นถนนหลายกิโลเมตรจนถึงแก่ความตาย
โดยฉากสำคัญในหนังเรื่องนี้คือการที่กล้องจับภาพ “พื้นถนน” ไปเรื่อย ๆ
เป็นระยะหลายกิโลเมตร (ถ้าจำไม่ผิด)
8.3 A.K.A. SERIAL KILLER (1969, Masao Adachi, Japan, documentary, 86min)
ที่เล่าเรื่องจริงของฆาตกรโรคจิตคนนึงในญี่ปุ่น
แต่ภาพในหนังเรื่องนี้มีแต่ภาพ landscape ของบริเวณที่ฆาตกรโรคจิตคนนี้เคยใช้ชีวิตอยู่
สาเหตุที่นึกถึงหนังทั้ง 3 เรื่องนี้ เพราะเรารู้สึกว่ามันน่าสนใจดีที่หนังกลุ่มนี้พูดถึงอะไรที่รุนแรงสุด
ๆ แต่ไม่ได้นำเสนอภาพเหตุการณ์นั้นตรง ๆ แต่กลับนำเสนอภาพ landscape ที่ดูสงบนิ่ง,
ดูธรรมดา, ดูเหมือนไม่มีอะไรเลย แต่ landscape ที่ดูธรรมดาและดูเหมือนเป็น
landscape ที่เราใช้ชีวิตประจำวันนี่แหละ ที่เป็นสถานที่ที่เคยเกิดเหตุการณ์รุนแรงร้ายกาจขึ้นมาแล้ว
และเหตุการณ์รุนแรงร้ายกาจนี้ก็อาจจะเป็นผลพวงมาจากโครงสร้างทางสังคม/การเมือง
และความเชื่อผิด ๆ ที่ถูกปลูกฝังมาเป็นเวลานานด้วย (อย่างเช่นการเหยียดผิวใน SOUTH)
อย่างไรก็ดี A MINOR HISTORY ก็แตกต่างจากหนัง 3 เรื่องข้างต้นนี้นะ
เพราะภาพหลักในวิดีโอนี้คือภาพโรงหนังเก่าร้างน่ะ
ซึ่งดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสถานที่เกิดเหตุฆาตกรรมแต่อย่างใด ในขณะที่ text
และเสียงละครวิทยุอาจจะดูเชื่อมโยงกับเหตุฆาตกรรมมากกว่า
9.ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมภาพหลักของวิดีโอถึงเป็นภาพของโรงหนังเก่าร้าง
แต่มันก็น่าสนใจดี เพราะปกติแล้วภาพโรงหนังเก่าร้างในหนังเรื่องอื่น ๆ
มักจะทำให้เรานึกถวิลหาถึงอดีตที่งดงามรุ่งเรืองของยุคโรงหนัง stand alone ในทศวรษ
1970-1980 แต่เหมือนวิดีโอนี้คงไม่น่าจะต้องการให้เรานึกถวิลหาถึงอดีตที่งดงามรุ่งเรืองเหล่านั้นแต่อย่างใด
55555
10.สิ่งที่วิดีโอนี้ไม่ได้ตั้งใจ แต่ทำให้เรารู้สึกไปเอง
ก็คือเรารู้สึกถึง “กาลเวลา” ที่ทำให้สิ่งต่าง ๆ
เคยรุ่งเรืองเฟื่องฟูและเสื่อมสลายลงในเวลาต่อมาน่ะ
เพราะแทนที่วิดีโอนี้จะเน้นพูดถึงแต่เหตุการณ์ศพกลางแม่น้ำแบบเน้นเวลาเฉพาะเจาะจงในยุค
2-3 ปีที่ผ่านมา เรากลับคิดไปถึงกาลเวลาแบบเนิ่นนานมาก ๆ เรากลับคิดไปถึงเรื่องที่ว่า
ตำนานพญาแถนและตำนานเรื่องเหนือธรรมชาติบางเรื่องเนี่ย จริง ๆ
แล้วตำนาน/เรื่องเล่าพวกนี้ มันมีต้นกำเนิดมาจากปัญหาทางการเมืองการปกครองในผืนแผ่นดินนั้นเมื่อหลายพันปีก่อนหรือเปล่า,
ลิเกเรื่องต่าง ๆ ที่มักแสดงกันในอดีต มันสะท้อนความเชื่อทางการเมืองอะไรในยุคนั้นด้วยหรือเปล่า
และเราก็รู้สึกว่าทั้งตำนานพญาแถน, ตำนานพญานาค, ลิเก, ละครวิทยุ, โรงหนัง stand alone ต่างก็ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่
“พ้นยุคพ้นสมัย” ไปแล้วในยุคปัจจุบัน สิ่งต่าง ๆ
เหล่านี้เหมือนจะเคยเป็นสิ่งที่รุ่งเรืองเฟื่องฟูในอดีตเหมือน ๆ กัน แต่ในที่สุด
กาลเวลาก็ได้ทำให้สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ค่อย ๆ เสื่อมความนิยมไปเรื่อย ๆ
เช่นเดียวกัน วิดีโอนี้ก็เลยทำให้เราเกิดความรู้สึกสะท้อนทอดถอนใจบางอย่างที่อธิบายไม่ถูก
เหมือนเราเป็นจุดนึงเล็ก ๆ ในกาลเวลา และเราคงจะได้เห็นการเสื่อมสลายของสิ่งต่าง ๆ
ไปเรื่อย ๆ อย่างไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้
No comments:
Post a Comment