Sunday, October 10, 2021

SILENCE (2021, Kick the Machine Documentary Collective, video installation, A+30)

 

เมื่อราว 25-30 ปีก่อน ชอบนางแบบชื่อ Kristen McMenamy อย่างสุด ๆ เป็นหนึ่งในไอดอลขวัญใจของเรา เหมือนถ้าหากเราจินตนาการตัวเองเป็นผู้หญิง หรือจินตนาการตัวเองเป็นตัวละครในนิยายหรือหนัง เราก็คงอยากให้ตัวเรามีรูปร่างหน้าตาแบบเธอ ดีใจที่ได้รู้ว่าเธอเริ่มเล่นอินสตาแกรมเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา This is Jit Phokaew in my imaginary version 555555

--------

SILENCE (2021, Kick the Machine Documentary Collective, video installation, A+30)

 

1.รอบที่เราดูเหมือนมีคนดูทั้งหมด 4 คน เป็นเรากับผู้ชมที่น่าจะมีอายุราว ๆ 20-30 ปีอีก 3 คน ตัววิดีโออาจจะแบ่งออกได้เป็น 4 องค์ประกอบหลัก ๆ มั้ง ซึ่งก็คือ

 

1.1 footage จากเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519

 

1.2 found footage เก่า ๆ ของคนทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเช่นไปเที่ยวทะเล, สวนสนุก, เล่นเกมคล้าย ๆ หมากเก็บ และเหมือนมีฉากจาก “พระเจ้าช้างเผือก” (1940) ด้วยมั้ง เราไม่แน่ใจ

 

1.3  text ที่ให้ความรู้สึกคล้าย ๆ นิยายแนว dystopia

 

1.4 รูปวงกลมสีแดงที่ค่อย ๆ ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ในจอด้านหลัง

 

2.ตัวฟุตเตจ 6 ต.ค. 2519 นั้นเอาจริง ๆ ก็เป็นสิ่งที่เราเคยเห็นผ่าน ๆ ตามาบ้างแล้วเป็นส่วนใหญ่ แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือว่า พอตัววิดีโอฉายจบ ผู้จัดงานก็ถามผู้ชมว่าเคยเห็นฟุตเตจเหล่านี้มาบ้างแล้วยัง ซึ่งเราก็แอบตอบในใจว่าเราเคยเห็นแล้ว แต่ปรากฏว่าผู้ชมอีก 3 คนไม่เคยเห็นฟุตเตจเหล่านี้มาก่อนเลย เคยเห็นแต่ภาพนิ่ง เราก็เลยคิดว่าตัววิดีโอนี้คงส่งผลกระทบต่อผู้ชมแต่ละคนในแบบที่แตกต่างกันไปอย่างแน่นอน เพราะผู้ชมที่ไม่เคยเห็นฟุตเตจเหล่านี้มาก่อนก็อาจจะรู้สึกกับตัววิดีโอในแบบที่แตกต่างจากเรา

 

3.สำหรับเราแล้ว ตัวฟุตเตจ 6 ต.ค.ก็เลยเหมือนไม่ใช่สิ่งที่เราสนใจมากที่สุดน่ะ เพราะมันเหมือนเป็นสิ่งที่เราเคยเห็น ๆ มาแล้ว สิ่งที่เราชอบมากในวิดีโอนี้ก็เลยเป็นการที่มันเหมือน juxtapose อดีตกับอนาคตเข้าด้วยกันมากกว่า เพราะตัว text มันให้ความรู้สึกเหมือนเป็นเรื่องสั้นแนว science fiction กลุ่ม dystopia เล่าถึงโลกที่มนุษย์สื่อสารกันด้วยเสียงพูดแทบไม่ได้อีก ต้องใช้รหัสลับต่าง ๆ ในการสื่อสารกันแทน และเป็นโลกที่เน้นการหลับใหลเป็นหลัก ซึ่งอะไรแบบนี้ก็คล้าย ๆ กับสิ่งที่อยู่ในหนังยาวบางเรื่องของ Apichatpong  

 

4.สาเหตุที่เราชอบจุดนี้เป็นหลัก เพราะว่าหนังสั้นเกี่ยวกับ 6 ต.ค. 2519 ที่เราเคยดู ส่วนใหญ่แล้วจะ treat มันเป็น “เหตุการณ์ในอดีตที่ไม่ควรลืมเลือน” น่ะ อย่างเช่น “อย่าลืมฉัน” (2003, Manussak Dokmai) ซึ่งเป็นหนังที่สร้างขึ้นตั้งแต่ก่อนเกิดรัฐประหารปี 2006 แต่งาน SILENCE นี้นำเหตุการณ์ในอดีตมา juxtapose เข้ากับเรื่องราวในโลกอนาคต มันก็เลยกระตุ้นความคิดมาก  ๆ และทำให้เรารู้สึกว่ามันน่าหวาดกลัวมาก ๆ เหมือนอดีตก็มืดมนโหดร้ายทารุณอยู่แล้ว และอนาคตที่รอเราอยู่ข้างหน้า ก็อาจจะเลวร้ายไม่แพ้กัน

 

5.ซึ่ง “อนาคต” ในวิดีโอนี้นั้น จริง ๆ แล้วมันก็เป็นได้ทั้งอนาคต และการแปลงปัญหาในไทยยุคปัจจุบันให้มันเห็นเด่นชัดยิ่งขึ้น มันคือสังคมที่เราแสดงความคิดเห็นไม่ได้อย่างเต็มที่ และต้องแสดงความคิดเห็นผ่านทางสัญลักษณ์ต่าง ๆ แทน ซึ่งถ้าหากปัญหาเสรีภาพในการแสดงออกนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข สถานการณ์ในไทยในอนาคตก็อาจจะไม่แตกต่างไปจากเรื่องเล่าทาง text ในวิดีโอนี้

 

6.ไม่รู้เหมือนกันว่าฉากกิจกรรมต่าง ๆ ที่คล้าย ๆ ชีวิตประจำวันยุคเก่าที่ถูกตัดสลับกับฉาก 6 ต.ค.นั้น มีความหมายอย่างไร แต่เราชอบมาก ๆ เราว่ามัน thought provoking ดี ผู้ชมแต่ละคนก็คงจะตีความแตกต่างกันไป และมันก็คล้ายกับหนัง found footage หลายๆ เรื่องที่เราชอบมาก ๆ ด้วย ที่เป็นการนำฉากที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกันมาเรียงร้อยเข้าด้วยกันได้อย่างทรงพลัง

 

7.ในส่วนของฉาก 6 ต.ค.นั้น ตอนแรก ๆ เราเหมือนจะเห็นแค่ศพคนก่อน ซึ่งมันเศร้ามาก ๆ เพราะเวลาเราเห็นศพแต่ละคน เราก็จะอดจินตนาการไม่ได้ว่า ผู้เสียชีวิตแต่ละคนเคยมีชีวิตอย่างไรก่อนตาย พวกเขาเคยมีความฝันและความหวังถึงสังคมไทยอย่างไรบ้าง และถ้าหากพวกเขายังไม่ตาย พวกเขาจะเป็นอย่างไร

 

หลังจากนั้นเราก็จะเห็นฉากการทำทารุณต่อศพ

 

และเหมือนช่วงท้าย ๆ ของตัววิดีโอ สิ่งที่ถูก focus คือใบหน้าของผู้ชมในเหตุการณ์นั้น (เราไม่แน่ใจนะว่าใช่หรือเปล่า)

 

8.การที่วิดีโอเหมือน focus ไปที่ใบหน้าของผู้ชมในเหตุการณ์นั้น เป็นสิ่งที่เราชอบมาก และเราไม่รู้ว่าตัววิดีโอนี้ตั้งใจหรือเปล่า เพราะการ focus ไปที่ตัวผู้ชมเหตุการณ์ในปี  1976 (หรือพ.ศ. 2519) และการ juxtapose มันเข้ากับ text ถึงโลกอนาคต มันกระตุ้นให้เราเชื่อมโยง “ใบหน้าของผู้ชมในอดีต” เข้ากับโลกปัจจุบันน่ะ คือถ้าหากเราเห็นแค่ใบหน้าของผู้ชมในอดีตเฉยๆ เราก็อาจจะมองแค่ว่า “ป่านนี้คนพวกนี้คงแก่ตายกันไปเกือบหมดแล้วมั้ง พวกเขาจะเคยสำนึกผิดบ้างหรือเปล่านะ” หรืออะไรทำนองนี้ แต่พอตัววิดีโอนี้นำใบหน้าของผู้คนในอดีต มาร้อยเรียงเข้ากับ “โลกอนาคต” มันเลยกระตุ้นให้เราคิดถึงเรื่องต่าง ๆ แบบเชื่อมโยงข้ามกาลเวลา โดยที่ตัววิดีโออาจจะไม่ได้ตั้งใจก็ได้

 

คือเรารู้สึกเหมือนกับว่า ใบหน้าของผู้ชมในปี 1976 มันก็คล้าย ๆ กับใบหน้าของคนจำนวนมากในไทยในยุคปัจจุบันน่ะ ใบหน้าของคนที่ชื่นชมการสังหารหมู่เสื้อแดงในปี 2010 และใบหน้าของคนที่ชื่นชมเผด็จการ, ชื่นชมการตามล่ารังควานคนเห็นต่าง (อย่างเช่นในหนังเรื่อง STILL ON MY MIND ของ Jittarin Wuthipan), ชื่นชมการจับคนเห็นต่างไปเข้าคุก ใบหน้าในวิดีโอนี้อาจจะเป็นใบหน้าของคนในปี 1976 แต่มันก็เหมือนไม่ได้แตกต่างไปจากใบหน้าของคนหลายคนในไทยในตอนนี้ คนที่อาจจะไม่ได้มายืนมุงดูการสังหารหมู่ แต่เป็นคนที่ยิ้มแสยะอย่างพึงพอใจอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ขณะได้ข่าวว่านักศึกษาบางคนถูกจับเข้าคุก และคนกลุ่มนี้นี่แหละ ที่อาจจะทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่ silent ในอนาคตตามแบบที่ text ในวิดีโอนี้เตือนไว้

No comments: