Monday, May 16, 2022

ROCKET SLIDER

 

เกาะกระแส GANGUBAI KATHIAWADI ด้วยการทำลิสท์หนังเกี่ยวกับผู้ค้าบริการทางเพศที่เราชอบสุด ๆ ค่ะ

 

ไม่ได้เรียงตามลำดับความชอบนะคะ

 

1.SLEEPING BEAUTY (2011, Julia Leigh, Australia)

 

2. NIGHTS OF CABIRIA (1957, Federico Fellini, Italy)

 

3. LEAVING LAS VEGAS (1995, Mike Figgis)

 

4. PRETTY  BABY (1978, Louis Malle)

 

5. AMERICAN GIGOLO (1980, Paul Schrader)

 

6.BELLE DE JOUR (1967, Luis Bunuel, France)

 

7. FLOWERS OF SHANGHAI (1998, Hou Hsiao-hsien, Taiwan)

 

8. AN OLD PROSTITUTION สูงวัยให้บริการ (2020, Suphisara Kittikunarak, documentary)

 

9. 101 RENT BOYS (2000, Fenton Bailey, Randy Barbato, documentary)

 

 

บั้งไฟสไลเดอร์ (2022, Tayakee Promkomol, A+30)

 

GUILTY PLEASURE OF THE YEAR ติดอันดับประจำปีแน่นอน แน่นอนว่าหนังมีอะไรที่อาจจะไม่เข้าทางเราอยู่หลายอย่าง และในแง่คุณงามความดีแล้วอาจจะเทียบกับหนังอย่างหน่าฮ่านหรือไทบ้านเดอะซีรีส์ไม่ได้เลย แต่ชอบสิ่งที่หนังเรื่องนี้เลือกจะเป็น นั่นก็คือความสุขรื่นเริงกรี๊ดกร๊าดประสาทแดกของกะเทยหมู่บ้านขณะอยู่กับเพื่อน ๆ และความตั้งใจพอสมควรในการทำบั้งไฟ

 

นึกถึงเสน่ห์ของหนังอย่าง ปัญญา เรณู (2011, Bin Bunloerit) กับ ฮักบี้ บ้านบาก (2019, Bin Bunloerit) แต่เรื่องนี้เปลี่ยนมาเป็นแก๊งกะเทยแทน

 

คุณตยาคี พร้อมโกมล เคยกำกับภาพยนตร์เรื่อง "โย...ปริศนาตามหาหัวใจ" ที่เราชอบสุดขีด หนังเรื่องนั้นติดอันดับ 42 ในลิสท์หนังสุดโปรดประจำปี 2019 ของเรา ดีใจมากที่พอเขามาทำหนังใหญ่แล้วฝีมือไม่ตกลงเลย

 

บั้งไฟสไลเดอร์ (ตอน 2)

 

อันนี้เป็นสิ่งที่เราเขียนตอบคุณผู้กำกับไปใน comment ในโพสท์แรก ก็เลยเอามาแปะในนี้ด้วย

 

1.สิ่งที่ชอบมากในหนังเป็นการส่วนตัวก็คือ “อารมณ์” ของการได้อยู่กับแก๊งเพื่อน ๆ กะเทยครับ ผม identify กับมันด้วยได้อย่างรุนแรงมาก ๆ มันคืออารมณ์ของการวี้ดกรี๊ดวี้ดกรี๊ดไปเรื่อย ๆ โดยไม่ต้องมีสาเหตุอะไรอีกต่อไป ฉากที่ชอบมากเป็นพิเศษคือการไล่จับแย้ครับ เพราะฉากนั้นได้อารมณ์ของแก๊งเพื่อนกะเทยมาก ๆ และเป็นฉากที่ทำให้ได้รับรู้ว่าชาวบ้านในชนบทก็มีกิจกรรมประเภทนี้อยู่ด้วย

 

ซึ่งเหมือนหนังเรื่องนี้ตอบโจทย์เรื่อง “อารมณ์ของการได้อยู่กับแก๊งเพื่อนๆ กะเทย” ตรงนี้ได้ตรงใจผมมากกว่าหนังไทยเรื่องอื่น ๆ ครับ เพราะว่า

 

1.1 ถ้าหากเทียบกับ “หนังชนบท” ของไทยด้วยกัน หนังชนบทของไทยเรื่องอื่น ๆ มักจะเป็นเรื่องของ “หนุ่มหล่อกับสาวสวย”, “หนุ่มไม่หล่อกับสาวสวย” (ไทบ้านเดอะซีรีส์) หรือ “ตลกชายกับตลกหญิง” (แหยม ยโสธร) ในขณะที่แก๊งกะเทยจะเป็นเพียงแค่ตัวประกอบเท่านั้น แต่ในหนังเรื่องนี้แก๊งกะเทยคือตัวเอกเลย คือแก๊งกะเทยในหนังเรื่องนี้สำคัญในระดับมากกว่าหรือเท่ากับ “พระเอก-นางเอก” หรือ “หนุ่มหล่อ-สาวสวย” ในหนังเรื่องนี้เสียอีก และพอหนังเรื่องนี้ให้ความสำคัญกับแก๊งกะเทยแบบนี้ ผมก็เลยรู้สึกเหมือนตัวผมและเพื่อน ๆ ของผมได้รับความสำคัญไปด้วยครับ เหมือนในที่สุด spotlight ก็ส่องมาที่ผมกับเพื่อนๆ ของผมเสียที หลังจากที่ spotlight ในหนังเรื่องอื่น ๆ มักจะถูกส่องไปที่ “สาวสวย” มาโดยตลอดในช่วงที่ผ่านมา

 

1.2 ถ้าหากเทียบกับ “หนังกะเทย” เรื่องอื่น ๆ ของไทย ผมก็รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ทำให้ผม identify อารมณ์ด้วยได้มากกว่าหนังเรื่องอื่น ๆ ด้วยเช่นกันครับ โดยเฉพาะหนังอย่าง “หอแต๋วแตก” เพราะถึงแม้ผมจะชอบหนังชุดหอแต๋วแตกมากพอสมควร แต่มันไม่ใช่หนังที่ทำให้ผมมองว่า “กลุ่มตัวละครเอก” ในหนังทำให้ผมนึกถึงเพื่อน ๆ กะเทยในชีวิตจริงของผมแต่อย่างใดเลย เพราะตัวละครเอกในหนังชุดหอแต๋วแตกมันถูกทำให้ grotesque มากเกินไปจนทำให้ผมมองว่ามันห่างไกลจากตัวผมและเพื่อนๆ ของผมมาก ๆ ซึ่งมันก็ไม่ใช่สิ่งผิด เพราะหนังชุดหอแต๋วแตกมันไม่ได้ต้องการจะ represent ชีวิตจริงของกะเทยไทยอยู่แล้ว และผมก็ชอบหนังชุดหอแต๋วแตกในแง่มุมอื่น ๆ เพียงแต่ไม่ได้มองว่าหนังชุดนี้มันทำให้ผมนึกถึง “อารมณ์ขณะได้อยู่กับเพื่อน ๆ” แต่อย่างใด

 

หนังไทยที่ทำให้ผมนึกถึง “อารมณ์ขณะได้อยู่กับเพื่อนๆ” มากกว่าหนังชุดหอแต๋วแตก จริง ๆ แล้วก็คือหนังเรื่อง “ตุ๊ดซี่ส์แอนด์เดอะเฟค” และหนังชุด “พี่นาค” เพราะผมว่าตัวละครกะเทยในหนังสองเรื่องนี้ มีความใกล้เคียงกับผมและเพื่อน ๆ ในชีวิตจริงมากกว่า “หอแต๋วแตก” หลายเท่า แต่หนังเรื่อง “ตุ๊ดซี่ส์แอนด์เดอะเฟค” มันก็ไม่ได้เน้นไปที่การร้องวี้ดไปเรื่อย ๆ มันเหมือนเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาใหญ่ในชีวิตของตัวละครมากกว่า ส่วนหนังชุด “พี่นาค” นั้น ตัวละครมันก็ดู “นิสัยไม่ดี” มากไปหน่อยจนผมรำคาญ คือหนังชุดพี่นาคมันทำให้ผมนึกถึงความสนุกขณะร้องกรี๊ดไปเรื่อยๆ กับเพื่อน ๆ ก็จริง แต่ผมก็รำคาญพฤติกรรมหรือนิสัยบางอย่างของตัวละครกะเทยในหนังมาก ๆ ไปด้วยในเวลาเดียวกัน

 

เพราะฉะนั้นพอเทียบกับหนังไทยเรื่องอื่น ๆ หนังเรื่องนี้ก็เลยตอบโจทย์ผมตรงนี้ได้ดีกว่าหนังไทยเรื่องอื่น ๆ ครับ

 

คือดูหนังเรื่องนี้แล้วก็จินตนาการว่า ใน multiverse หรือในอีกเอกภพนึง ถ้าหากผมไม่ได้เกิดที่กรุงเทพ แต่ไปเกิดที่ชนบทในยโสธร ผมจะกลายเป็นอย่างไร ผมจะกลายเป็นสมาชิกอีกคนหนึ่งในแก๊งกะเทยแบบในหนังเรื่องนี้หรือเปล่า 55555

 

2.สิ่งที่ไม่เข้าทางผมในหนังเรื่องนี้ผมก็ไม่คิดว่าเป็น “ความผิด” ของหนังครับ เพียงแต่ว่าโดยส่วนตัวแล้วผมไมได้ชอบ “หนังตลก” แบบนี้อยู่แล้วครับ 55555 โดยเฉพาะมุกขี้ ๆ ในหนังนี่โดยส่วนตัวแล้วผมเบื่อมาก คือจริง ๆ แล้วผมไม่ได้ชอบหนังไทย genre นี้อยู่แล้ว แต่ไม่ได้คิดว่าหนังไทย genre นี้ทำอะไรผิด ผมแค่มองว่ามันเป็นหนังที่สร้างขึ้นเพื่อ “ผู้ชมคนอื่น ๆ” ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อผมอย่างเฉพาะเจาะจง เพราะฉะนั้นถ้าหากหนังไทย genre นี้มันจะเต็มไปด้วยอะไรที่ไม่เข้าทางผม ผมก็ไม่ได้มองว่ามันทำผิดอะไร

 

แต่ถ้าหากถามว่าหนังที่เข้าทางผมเป็นอย่างไร ผมก็ตอบได้ว่า

 

2.1 จริง ๆ แล้วผมชอบดูหนังเกี่ยวกับ “ชีวิตประจำวัน” ครับ คือถ้าหากมันเป็นหนังเกี่ยวกับชีวิตแก๊งกะเทยชนบทที่ไม่ต้องเน้นมุกตลกเพียงอย่างเดียว แต่เป็นหนังแนว “สมจริง” ในการถ่ายทอดชีวิตกะเทยไปเลย มีทั้งอารมณ์สนุกรื่นเริงขณะได้ร้องวี้ดกรี๊ดกับเพื่อน ๆ โดยไม่มีสาเหตุใด ๆ ทั้งสิ้น และมีแง่มุมอื่น ๆ ของชีวิตด้วย โดยเฉพาะเรื่อง “การทำมาหากิน” และปัญหาความทุกข์ยากต่างๆ ของชีวิต หนังก็คงเข้าทางผมมาก ๆ ครับ (แบบหนังเรื่อง “วังพิกุล” ของคุณบุญส่ง นาคภู่ แต่เปลี่ยนตัวละครเอกมาเป็นแก๊งกะเทยแทน) แต่มันอาจจะเป็นหนังที่ไม่ทำเงินใด ๆ, ผู้สร้างคงขาดทุน และหนังแบบนี้คงยากจะหาทุนสร้างจากหน่วยงานที่ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดต่างๆ ได้ ผมก็เลยเข้าใจได้ว่าทำไมถึงไม่ได้มีการสร้างหนังแบบที่ผมต้องการออกมาครับ

 

2.2 ผมชอบมากที่หนังเรื่องนี้แสดงให้เห็นกระบวนการในการสร้างบั้งไฟครับ เพราะเหมือนผมไม่เคยเห็นกระบวนการสร้างบั้งไฟแบบนี้ในหนังเรื่องอื่น ๆ

 

ผมก็เลยคิดว่าจริง ๆ แล้วหนังมันอาจจะเข้าทางผมได้มากกว่านี้อีก ถ้าหากมันทำเป็นหนังแนว “การแข่งขัน” แบบหนังญี่ปุ่นไปเลย คือลงรายละเอียดเยอะ ๆ เลยเกี่ยวกับการผลิตบั้งไฟและการแข่งขันบั้งไฟครับ

No comments: