MINDVOLUTION 2046 (2022, Alwa
Ritsila, A+30)
1.เราจำอะไรในเวอร์ชั่นปี
2013 ไม่ได้แล้ว นอกจากฉากพระเอกถอดเสื้อแล้วเห็นแผ่นหลังของเขา กับการแสดงที่โคตรน่าจดจำของวชร
กัณหา 555555 เราก็เลยไม่สามารถเปรียบเทียบสองเวอร์ชั่นนี้ได้ เพราะเราลืมเนื้อเรื่องของเวอร์ชั่นแรกไปแล้ว
2.คงเป็นเพราะเราชอบหนังทดลองมากกว่าหนัง
plot-driven โดยทั่ว ๆ ไป สิ่งที่เราชอบที่สุดในหนังเรื่องนี้ก็เลยกลายเป็นงานด้านภาพที่ไม่มีความสม่ำเสมอกันเลยแม้แต่นิดเดียว
และภาพที่ออกมามัว ๆ ซัว ๆ ในหลาย ๆ ฉาก เราว่านี่แหละคือความ unique ของหนังเรื่องนี้ในสายตาของเรา เราชอบการที่หนังไม่แคร์อีกต่อไปว่าจะต้องเกลี่ยความคมชัดของแต่ละซีนให้มันเข้ากันหรือไม่
ไม่แคร์อีกต่อไปว่าจะต้องทำให้ภาพมันชัดหรือไม่ คือหนังดูเหมือนไม่แคร์อะไรตรงจุดนี้ไปเลย
มันก็เลยทำให้หนังเรื่องนี้แตกต่างอย่างรุนแรงจากหนังทั่ว ๆ ไปที่เราเคยดูมา
คือเราชอบหนังทดลองตรงที่มันไม่แคร์กฎเกณฑ์อะไรต่าง
ๆ หรือทำให้เรามองสิ่งต่าง ๆ ด้วยมุมมองที่เปลี่ยนไปจากเดิมน่ะ ยกตัวอย่างง่าย ๆ
ก็คือหนังเรื่อง PEOPLE POWER BOMBSHELL: THE DIARY OF
VIETNAM ROSE (2016, John Torres, Philippines, 89min, A+30) ที่ทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับหนังทั่วไป
เพราะหนังทั่ว ๆ ไปมักจะเน้นภาพที่คมชัด, ไม่มีรอยขีดข่วน ไม่มีรอยกระดำกระด่าง
ไม่มีรอยตำหนิ หนังทั่ว ๆ ไปเมื่อฟิล์มมันเก่า ก็จะต้องเอามาบูรณะใหม่เพื่อลบรอยขีดข่วนกระดำกระด่างออกไปจากภาพในหนังให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
แต่ PEOPLE POWER BOMBSHELL กลับปฏิบัติต่อรอยขีดข่วน
กระดำกระด่างบนแผ่นฟิล์มราวกับว่ามันคือ “ความงดงามอย่างรุนแรงประเภทหนึ่ง”
คือหนังเรื่องนี้ทำให้เรามองว่า “รอยกระดำกระด่างบนแผ่นฟิล์ม”
ที่มักจะถูกปฏิบัติว่ามันคือ “ความอัปลักษณ์ที่ต้องกำจัดทิ้ง” ในหนังทั่ว ๆ ไป จริง
ๆ แล้วเราสามารถมองว่ามันก็เป็น “ความงามอย่างรุนแรง” ในแบบของมันได้
เราก็เลยชอบ MINDVOLUTION 2046 อันนี้มาก ๆ
ในแง่เดียวกับที่เราชอบหนังทดลอง เพราะมันไม่แคร์สิ่งที่หนังทั่ว ๆ
ไปอาจจะมองว่าเป็น “ความอัปลักษณ์” , “ข้อตำหนิ” หรือ “สิ่งที่ควรแก้ไข” น่ะ หนังเรื่องนี้กลับเหมือน
celebrate ความไม่สม่ำเสมอของงานด้านภาพแบบนี้ไปเลย
เราก็เลยชอบจุดนี้ของหนังอย่างสุด ๆ
คือยอมรับเลยว่า ถ้าหากฮอลลีวู้ดเอาหนังเรื่องนี้ไปทำใหม่
แล้วภาพออกมาสวย ๆ ตลอดทั้งเรื่อง เราก็อาจจะชอบหนังเรื่องนั้นน้อยกว่าหนังเรื่องนี้ก็ได้
เพราะมันก็จะกลายเป็นหนังภาพสวย smooth เหมือน “หนังทั่ว ๆ ไป” และจุดเด่นของมันก็จะไปตกอยู่ที่พล็อตเรื่องหรืออะไรอย่างอื่นแทน
มันจะไม่มีพลังของ “ความดิบ” และความ “ช่างมันฉันไม่แคร์” แบบเวอร์ชั่นนี้
3. ในส่วนของพล็อตเรื่องนั้น เราอาจจะงง ๆ บางจุดในส่วนของตัวละครที่เป็นเหมือนนักเก็บเกี่ยววิญญาณหรืออะไรทำนองนี้
แต่เราชอบไอเดียบางอย่างในพล็อตเรื่องมาก ๆ ตรงที่มันไม่ได้จะเป็นไซไฟเพียงอย่างเดียว
แต่มันมีผีและมีนักเก็บเกี่ยวดวงวิญญาณอะไรพวกนี้มาด้วย
คือเราชอบหนังที่มันแหก genre แบบนี้อยู่แล้วน่ะ หรือหนังที่ไม่ได้พยายามปฏิบัติตามกฎเกณฑ์สำเร็จรูปของ
genre ใด genre หนึ่งเพียงอันเดียว
เหมือนอย่างที่ subject ในหนังสารคดีเรื่อง REMAKE,
REMIX, RIP-OFF: ABOUT COPY CULTURE & TURKISH POP CINEMA (2014, Cem Kaya,
Turkey, A+30) ยกตัวอย่างไว้ว่า หนังตุรกีคือหนังที่มีซอมบี้และนินจาอยู่ในหนังเรื่องเดียวกัน
คือแทนที่จะทำเป็นหนังซอมบี้ไปเลย หรือหนังนินจาไปเลย แล้วทำไมซอมบี้กับนินจาจะอยู่ในหนังเรื่องเดียวกันไม่ได้ล่ะ
เราก็เลยชอบมาก ๆ ที่ตอนเริ่มแรก MINDVOLUTION 2046 มันเหมือนจะเป็นหนังไซไฟเพียงอย่างเดียว
แบบหนังอย่าง UNTIL THE END OF THE WORLD (1991, Wim Wenders), STRANGE
DAYS (1995, Kathryn Bigelow), MINORITY REPORT (2002,
Steven Spielberg) หรือ SOURCE CODE (2011, Duncan Jones) ที่พูดถึงเทคโนโลยีที่ทำให้เราเข้าไปรับรู้ความฝันหรือความทรงจำของคนอื่น
ๆ ได้ แต่พอมีตัวละครผีของเมียพระเอกโผล่เข้ามา มันก็เลยแสดงให้เห็นว่า
หนังเรื่องนี้ไม่ได้แคร์กฎสำเร็จรูปของหนังไซไฟ 55555 แล้วก็มีตัวละครนักเก็บเกี่ยวดวงวิญญาณหรืออะไรทำนองนี้อยู่ในหนังด้วย
หนังเรื่องนี้เลยมีความแฟนตาซีหรือความ cult มากกว่าความเป็นหนังไซไฟ
ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ เพราะเรารู้สึกว่าอะไรแบบนี้มัน “ไร้ขีดจำกัด” ดี
4.รักการใช้ดนตรีประกอบในหนังของอัลวาทุกเรื่องอยู่แล้ว
ซึ่งรวมถึงหนังเรื่องนี้ด้วย
5. ดูแล้วแอบนึกถึงหนัง Wong Kar-wai ผสมกับ Robert Rodriguez เพราะการถ่ายภาพ+ดนตรีประกอบมันได้ mood and tone หรือได้อารมณ์ความรู้สึกบางอย่างที่มันงดงามหรือมีความเป็นกวีแบบดิบเถื่อน
ซึ่งเป็นสิ่งที่หนังแอคชั่นโดยทั่วไปอาจจะไม่มี คือเรารู้สึกว่ามันให้อารมณ์เชิงกวีบางอย่างน่ะ
ทั้ง ๆ ที่หนังเรื่องนี้มันตรงข้ามกับหนัง “อาร์ต นิ่ง ช้า” แต่มันมีความงดงามเชิงกวีบางอย่างเหมือนกัน
และมันเป็นตัวของตัวเองมาก ๆ เลยด้วย เหมือนเป็นกวีที่คิดฉันทลักษณ์ของตัวเองขึ้นมาเอง
ไม่ใช่กวีที่แต่งตามฉันทลักษณ์ที่คนอื่น ๆ ทำ ๆ กันไว้ก่อน ซึ่งความเป็นกวีในจุดนี้ของหนังก็อาจจะทำให้นึกถึงหนังของ
Wong Kar-wai
แต่มันก็มีความดิบเถื่อน แหกกฎ ห่าม ๆ
แต่สนุก แบบหนังของ Robert
Rodriguez อยู่ด้วย บอกไม่ถูกเหมือนกันว่าทำไมดูแล้วนึกถึงหนังของ Rodriguez
อย่าง DESPERADO (1995), FROM DUSK TILL DAWN (1996) และ PLANET TERROR (2007) คือรู้สึกว่า spirit
บางอย่างของหนังเรื่องนี้ทำให้นึกถึงหนังของ Rodriguez
6. แต่เอาจริงแล้วเราก็ชอบ Wong Kar-wai มากกว่า Rodriguez หลายเท่านะ
ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องของรสนิยมส่วนตัว เพราะฉะนั้นหนังที่เราชอบมากที่สุดของคุณอัลวาก็อาจจะยังคงเป็น
TIME ACTUALLY PASSES SLOWER IN DREAM (2016) อยู่ดี
เพราะหนังเรื่องนั้นไม่ได้มีความบู๊แบบหนังของ Rodriguez อยู่ด้วย
มีแต่ความละเอียดอ่อนทางอารมณ์แบบหนังของ Wong หรือหนังฝรั่งเศสแทน
7. สรุปว่าสิ่งที่เราชอบสุด ๆ
ในหนังเรื่องนี้ ก็คืองานด้านภาพที่ไม่มีความสม่ำเสมอ ภาพที่มัวซัว และไม่ smooth นี่แหละ เพราะนี่แหละคือความงดงามในแบบที่คล้ายกับหนังทดลอง
และสิ่งที่ชอบรองลงมาก็คืออารมณ์ด้านภาพและเสียง
ที่มันเหมือนมีความเป็นกวีบางอย่างในแบบของตัวเอง ส่วนพล็อตเรื่องนั้น เราก็ชอบมาก
แต่มันก็อาจจะไม่ได้โดดเด้งเหนือกว่าพล็อตของหนังฮอลลีวู้ดชั้นนำอะไรแบบนี้ คือเราว่าในส่วนของพล็อตเรื่อง
หนังเรื่องนี้อาจจะมีคู่แข่ง แต่ถ้าเป็นในส่วนของภาพที่มีความดิบเถื่อนงดงามในแบบของตัวเองนี่
หนังเรื่องนี้แทบจะไม่มีคู่แข่ง
8.คิดว่าหนังเรื่องนี้เอาไปดัดแปลงเป็นทั้งหนังเมนสตรีมและหนังอาร์ทได้สบายเลย
เพราะไอเดียต่าง ๆ ในหนังมันเอาไปพัฒนาต่อได้สบายมาก คือไอเดียเรื่องการฝังชิปในหัวอาชญากรนี่เอาไปใช้ในหนังไซไฟเมนสตรีมได้แน่
ๆ ส่วนไอเดียเรื่องเทคโนโลยีเชื่อมจิตเข้าด้วยกัน ความทรงจำเบลอเข้าหากัน แล้วมีผีมาหลงรักผิดคน
อะไรนี่ เอาไปใช้ในหนังอาร์ทแบบหนังของ Apichatpong
ได้เลยนะ 55555 เพราะหนังของ Apichatpong มันมีทั้งเรื่องของจิตวิญญาณ,
ความทรงจำ, ความไซไฟและความ “มิติอื่น ๆ” รวมอยู่ในหนังเรื่องเดียวกันอยู่แล้ว
แต่สิ่งที่หนังเรื่องนี้เป็นอยู่ตอนนี้ก็ดีแล้วล่ะ
เพราะเรามองว่าสิ่งที่หนังเรื่องนี้เป็นอยู่ตอนนี้ ก็คือความเป็นหนัง CULT CLASSIC ของไทยเรื่องหนึ่งไปแล้ว
No comments:
Post a Comment