Sunday, July 16, 2023

IF I HAD SEEN THIS FILM A FEW YEARS EARLIER, MY LIFE WOULD HAVE BEEN MUCH DIFFERENT

 

“ชีวิตเหมือนเพลง บรรเลงผิดคีย์”

 

สิ่งหนึ่งที่ฝังใจเรามานาน 30 กว่าปีแล้วก็คือว่า ตอนที่หนังเรื่อง ALL THAT JAZZ (1979, Bob Fosse, A+30) มาฉายทางช่อง 7 ในช่วงราว ๆ ต้นทศวรรษ 1990 นั้น เพื่อนสนิทของเราพูดกับเราว่า เสียดายมาก ๆ ที่เขาได้ดูหนังเรื่องนี้ในเวลาที่สายเกินไป เพราะถ้าหากเขาได้ดูหนังเรื่องนี้เร็วกว่านั้นสัก 5 ปี ตอนที่เขายังเป็นนักเรียนมัธยมต้น ตอนที่กระดูกกระเดี้ยวในร่างกายยังอ่อน ยังดัดง่ายอยู่ เขาคงนำทีมเพื่อน ๆ ไปลงเรียน dance class ตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว เพราะหนังเรื่อง ALL THAT JAZZ มันทำให้เขาอยากเรียนเต้นรำเป็นอย่างมาก ซึ่งเราก็เห็นด้วยกับเขามาก ๆ เหมือนพวกเราได้ดูหนังเรื่อง ALL THAT JAZZ ในเวลาที่สายเกินไป

 

แล้วเมื่อไม่กี่ปีมานี้เพื่อนคนนี้ก็พูดถึง LOVE, SIMON (2018, Greg Berlanti) ในทำนองที่ว่า ถ้าหากพวกเราได้ดูหนังแบบนี้ตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ ทัศนคติของพวกเราที่มีต่อการใช้ชีวิตในฐานะเกย์ก็คงจะแตกต่างไปจากที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก เพราะพวกเราเติบโตมากับหนังอย่าง “ฉันผู้ชายนะยะ” (1987, M.L. Bhandevanop Devakula) ซึ่งก็เป็นหนังที่เราชอบสุด ๆ เพียงแต่ว่ามันไม่ได้ทำให้เรา optimistic กับชีวิตของเราในฐานะเกย์เหมือนกับหนังอย่าง LOVE, SIMON เหมือนเราเติบโตมากับ trauma, stigma บางอย่างในฐานะกะเทย/เกย์คนหนึ่ง แต่ถ้าหากพวกเราได้ดูหนังอย่าง LOVE, SIMON ตั้งแต่เด็ก ๆ เราอาจจะไม่ได้มี trauma, stigma แบบนั้นก็ได้

 

และพอเราลองย้อนนึกถึงอดีต เราก็พบว่า ถ้าหากเราได้ดูหนังหรือละครทีวีบางเรื่องในเวลาที่เร็วขึ้นกว่าความเป็นจริง มันก็คงจะทำให้ชีวิตเราแตกต่างไปจากเดิมเป็นอย่างมาก

 

ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น เราชอบอ่านนิยายตั้งแต่เด็ก เราก็เลยอยากเป็นนักแต่งนิยาย แล้วพอเราเรียนจบม.ต้น เราต้องเลือกสายวิชาที่จะเรียนตอนมัธยมปลาย เราก็เลยเลือกเรียนศิลป์คำนวณ เพราะการเรียนศิลป์คำนวณมันส่งผลให้เราสามารถเอ็นท์เข้าอักษรศาสตร์หรือบัญชีก็ได้ แล้วพอจบม. 5 เราก็สอบเทียบติดคณะบัญชี เราก็เลยเข้าไปเรียนบัญชี แต่เรียนไปแล้วเราก็ไม่ชอบ เราก็เลยมาเอ็นท์ใหม่ เข้าคณะอักษรศาสตร์ในปีต่อมา แต่พอเราเรียนจบอักษรศาสตร์แล้ว ทำงานเป็นพนักงานแปลไปได้หลายเดือนแล้ว เราถึงพบว่าเราหลงใหลในการดูหนังเป็นอย่างมาก และกลายเป็น cinephile ตั้งแต่ปลายปี 1995 เป็นต้นมา และกลายเป็น loser ผู้ยากจนในปัจจุบัน 555

 

แต่สิ่งที่เรารู้สึกตลอดเวลาที่ผ่านมาก็คือว่า

 

1.ถ้าหากเราได้ดูละครทีวีชุด MACGYVER (1985-1992) ตั้งแต่ตอนที่เรายังเรียนมัธยมต้น กูคงเลือกเรียนสายวิทย์ไปแล้ว คือเหมือนเราได้ดูละครเรื่องนี้ครั้งแรกในปี 1988 ตอนที่เราดันเรียนศิลป์คำนวณไปแล้ว แต่ละครทีวีเรื่องนี้มันทำให้เรารู้สึกว่า “ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์” เป็นอะไรที่ดีงามและสนุกสุดขีดมาก ๆ แล้วกูมาเรียนสายศิลป์ทำไมเนี่ย กูอยากเก่งแบบ MACGYVER ฮือ ๆ แล้วถ้าหากเราเรียนสายวิทย์ตั้งแต่ม.ปลายนะ ชีวิตเราในปัจจุบันนี้คงจะแตกต่างจากนี้เป็นอย่างมากแน่นอน

 

2.ถ้าหากเราได้ดูละครทีวีชุด MELROSE PLACE (1992-1999) ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1980 เราก็อาจจะตั้งใจเรียนในคณะบัญชีไปแล้ว คงไม่มาเอ็นท์เข้าคณะอักษร 5555 เพราะว่าตัวละคร Amanda (Heather Locklear) ใน MELROSE PLACE ที่เป็นนักธุรกิจสาวนั้น มันเป็นตัวละครที่เป็น role model สำหรับเราอย่างสุด ๆ น่ะ คือพอดูตัวละครตัวนี้แล้ว เราก็ใฝ่ฝันอยากเป็นอย่างเธอมาก ๆ แต่เรามาได้ดูตัวละครตัวนี้ตอนที่ MELROSE PLACE มาฉายทางช่อง 3 ในช่วงครี่งหลังของทศวรรษ 1990 ตอนที่เราเรียนจบอักษรไปแล้ว 555 แต่ถ้าหากเราได้ดูตัวละคร Amanda ตั้งแต่ตอนที่เรายังเป็นนักเรียนม.ปลายนะ เราคงจะใฝ่ฝันอยากเป็นสาวนักธุรกิจ,นักการเงิน ตบแหลก แบบ Amanda และคงจะตั้งใจเรียนในคณะบัญชีต่อไปจนจบ และชีวิตเราในตอนนี้คงจะแตกต่างจากนี้เป็นอย่างมากแน่นอน

 

3.ถ้าหากเราได้ดูหนังเรื่อง THE DEATH OF MARIA MALIBRAN (1972, Werner Schroeter, West Germany) ตั้งแต่เราเรียนมัธยมปลายนะ เราคงจะเอ็นท์เข้าคณะนิเทศศาสตร์ไปแล้ว แทนที่จะเอ็นท์เข้าคณะบัญชีและคณะอักษร 55555

 

คือตอนเรายังเป็นเด็กมัธยม เราได้ดูแต่หนังฮอลลีวู้ดน่ะ เราแทบไม่เคยได้ดูหนังยุโรปเลย และก็ไม่เคยได้ดูหนังอาร์ตเลยด้วย แล้วพอเราดูแต่หนังฮอลลีวู้ดตอนเด็ก ๆ เราก็เลยไม่เคยรู้สึกอยากเป็นผู้กำกับภาพยนตร์หรือทำงานในวงการภาพยนตร์น่ะ เพราะหนังฮอลลีวู้ดมันดู “ห่างไกล” มาก ๆ สำหรับเรา มันดูเป็นการทำงานที่ต้อง deal กับผู้คนจำนวนมาก, ต้องใช้เงินทุนจำนวนมากมายมหาศาล, ต้องเอาใจนายทุนเป็นอย่างมาก และหนังที่ทำออกมาก็ต้อง please ประชาชนจำนวนมาก ซึ่งรสนิยมของเราก็ใช่ว่าจะตรงกับประชาชนจำนวนมากเสมอไป เพราะฉะนั้นพอเราดูแต่หนังฮอลลีวู้ดตอนเด็ก ๆ (หรือแม้แต่หนังเมนสตรีมของไทยกับฮ่องกง) เราก็เลยไม่เคยรู้สึกอยากเป็นผู้กำกับภาพยนตร์เลย เพราะการทำหนังโดยต้องเอาใจนายทุนและประชาชนจำนวนมากคงไม่ใช่อะไรที่ทำให้เรามีความสุข

 

แต่พอเราได้ดูหนังเรื่อง THE DEATH OF MARIA MALIBRAN ที่สถาบันเกอเธ่ ซอยสาทร 1 ในปี 2001 มันก็ทำให้เราร้องกรี๊ดอย่างสุดเสียง เพราะเรารู้ดีว่าถ้าหากเรากับกลุ่มเพื่อน ๆ มัธยมของเราได้ดูหนังเรื่องนี้กันตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1980 เพื่อน ๆ ของเราต้องจับกล้องวิดีโอมาถ่ายทำอะไรแบบหนังเรื่องนี้อย่างแน่นอน คือหนังเรื่องนี้มันทำให้เรารู้สึกว่า จริง ๆ แล้วเพื่อน ๆ มัธยมของเราก็น่าจะมีศักยภาพในการทำหนังแบบนี้ได้ และ “การสร้างภาพยนตร์” มันก็ไม่ได้หมายถึงการสร้างภาพยนตร์เมนสตรีมที่ต้องใช้ทุนจำนวนมากและต้องเรียกทุนคืนให้ได้มากที่สุดเสมอไป เพราะโลกนี้มันมีหนังที่ weird สุดขีด พิลาศพิไลสุดขีด และไปสุดทางตามจินตนาการของผู้สร้างแบบหนังอย่าง THE DEATH OF MARIA MALIBRAN อยู่ด้วย คือเหมือนถ้าหากเราจะสร้างหนัง เราก็อยากสร้างหนังแบบ THE DEATH OF MARIA MALIBRAN นี่แหละ มันมีหนังแบบที่เราอยากสร้างอยู่บนโลกนี้ด้วยนี่นา และถ้าหากเราได้ดูหนังเรื่องนี้ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1980 เราก็อาจจะอยากเป็นผู้กำกับภาพยนตร์, อยากทำงานด้านภาพยนตร์ หรืออยากเรียนรู้เรื่องภาพยนตร์ และคงจะเลือกเอ็นท์เข้าคณะนิเทศศาสตร์ไปแล้ว และชีวิตเราในปัจจุบันนี้ก็อาจจะแตกต่างไปจากนี้เป็นอย่างมาก

 

แล้วเพื่อนๆ ล่ะคะ เคยรู้สึกอะไรแบบนี้บ้างไหม ว่าถ้าหากตัวเองได้ดูหนังหรือละครทีวีเรื่องใดในเวลาที่เร็วกว่าความเป็นจริง ตัวเองก็อาจจะเลือกทางเดินชีวิตที่แตกต่างออกไป ซี่งจะส่งผลกระทบต่อชีวิตทั้งหมดในเวลาต่อมา

 

 

 

 

No comments: