Friday, April 14, 2017

HELSINKI, FOREVER (2008, Peter von Bagh, Finland, documentary, A+30)

HELSINKI, FOREVER (2008, Peter von Bagh, Finland, documentary, A+30)

ดูแล้วพบว่าตัวเองรู้สึกอุเบกขากว่าที่คิด หรือพบว่ามันไม่ poetic มากเท่าที่คาดนะ เพราะตอนแรกนึกว่ามันจะเป็นแบบ MY WINNIPEG (2007, Guy Maddin) ที่ผู้กำกับนำเสนอภาพเมืองบ้านเกิดของตัวเองในแบบพิศวง กึ่งจริงกึ่งฝัน อะไรแบบนั้น

ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเราไม่ใช่คนฟินแลนด์หรือเปล่า เราก็เลยรู้สึกว่าหนังให้ข้อมูลน้อยเกินไป ทั้งๆที่หนังก็มี voiceover ตลอดเวลา และเราก็ไม่ได้รู้สึกผูกพันกับสถานที่ต่างๆในหนังด้วย ในขณะที่คนฟินแลนด์ดูคงจะรู้สึกผูกพันหรือมีความหลังความทรงจำต่อสถานที่ต่างๆในหนัง

จริงๆแล้วอยากให้หนังเรื่องนี้พูดถึงรายละเอียดของหนังแต่ละเรื่องที่ปรากฏในหนังเรื่องนี้นะ คือ HELSINKI, FOREVER นี่รวมคลิปหนังฟินแลนด์ยุคโบราณเอาไว้ประมาณ 30 เรื่องได้มั้ง แต่หนังแทบไม่ได้พูดถึงเนื้อหาของหนังเหล่านั้นหรือเล่าถึงผู้กำกับของหนังแต่ละเรื่องเลย เราก็เลยรู้แค่ชื่อหนังกับชื่อผู้กำกับเท่านั้น แต่ไม่รู้เลยว่าหนังแต่ละเรื่องมันพูดถึงเรื่องอะไร และมันมีความน่าสนใจอะไรยังไง รู้แต่ว่ามันใช้ฉากหลังเป็นเฮลซิงกิ มีอยู่แค่ไม่กี่เรื่องที่พอจับได้ว่ามันเล่าเรื่องอะไร อย่างเช่นหนังที่พูดถึงหนุ่มสาวในยุคต้นทศวรรษ 1980 กับหนังที่พูดถึงสาวชนบทที่เดินทางเข้ากรุงตามลำพัง และเจอผู้ชายวัยกลางคนกลุ่มหนึ่งมาชวนคุยด้วย (เสียดายที่เราจำชื่อหนังกับชื่อผู้กำกับของหนังสองเรื่องนี้ไม่ได้)

แต่มันก็ไม่ใช่ความผิดของ HELSINKI, FOREVER นะ เพราะตัวหนังมันต้องการจะพูดถึงกรุงเฮลซิงกิ ไม่ได้ต้องการจะพูดถึงหนังฟินแลนด์ เพียงแต่ว่าเราสนใจประวัติศาสตร์หนังฟินแลนด์น่ะ ในขณะที่ภาพของกรุงเฮลซิงกิในหนังเรื่องนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออารมณ์เราเท่าไหร่

เท่าที่พอจับได้จาก HELSINKI, FOREVER ก็ดูเหมือนว่าประวัติศาสตร์ฟินแลนด์จะน่าสนใจพอสมควรด้วย โดยเฉพาะในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แต่หนังก็ไม่ได้ให้รายละเอียดมากนักในเรื่องนี้

ดูแล้วแอบคิดถึงหนังบางเรื่องของไทยที่อาจจะส่งผลกระทบทางอารมณ์ต่อคนไทย แต่อาจจะไม่ส่งผลกระทบทางอารมณ์ต่อผู้ชมต่างชาติที่ไม่คุ้นเคยหรือไม่มีความผูกพันกับสถานที่นั้นนะ อย่างเช่น สยามสแควร์” (1998, ชนารัย สุทธิบุตร) ที่บันทึกภาพสยามสแควร์ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 เอาไว้ คือหนังอย่างสยามสแควร์ (1998) มันจะส่งผลกระทบทางอารมณ์ต่อผู้ชมที่คุ้นเคยกับสถานที่นั้นน่ะ และรู้ว่าตึกรามบ้านช่องในสยามสแควร์มันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แต่ผู้ชมที่ไม่คุ้นเคยกับพื้นที่นี้อาจจะไม่รู้สึกอะไรเวลาดูหนังเรื่องนี้

หรือหนังอย่าง IN APRIL THE FOLLOWING YEAR, THERE WAS A FIRE (2012, Wichanon Somumjarn) ที่ใส่ภาพสี่แยกคอกวัวกับสี่แยกราชประสงค์เข้ามาในหนังคือคนดูคนไทยบางคนพอเห็นสถานที่สองแห่งนี้ก็อาจจะรู้สึกรุนแรงมากๆได้ ในขณะที่คนดูต่างชาติที่ไม่รู้จักประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็อาจจะมองว่า มันคือ ท้องถนนธรรมดา

เราก็เลยเดาว่า HELSINKI, FOREVER อาจจะเป็นแบบนั้นเหมือนกันหรือเปล่า คือคนฟินแลนด์อาจจะรู้สึกกับหนังเรื่องนี้มากกว่าเรามากๆ ในขณะที่เวลาเราดูหนังเรื่องนี้ เราจะรู้สึกว่าสถานที่ต่างๆในหนังเรื่องนี้มันก็ไม่ได้แตกต่างมากนักจากเมืองอื่นๆในยุโรป สิ่งที่โดดเด่นจริงๆในเมืองนี้ก็คงจะเป็น รถรางที่เราอาจจะไม่ค่อยเห็นมันมีบทบาทสำคัญมากนักในเมืองอื่นๆในยุโรป

แต่ก็ชอบหนังเรื่องนี้มากในระดับ A+30 อยู่ดีนะ เพราะมันแสดงให้เห็นจริงๆว่า ยังมีหนังฟินแลนด์ที่น่าดูมากๆอีกหลายสิบเรื่องที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน คือพอดู HELSINKI, FOREVER แล้ว เราก็รู้สึกเหมือนกับว่า ทำไมกูรู้จักแค่ Aki Kaurismaki คนเดียว ทั้งที่จริงๆแล้วยังมีผู้กำกับหนังฟินแลนด์ที่น่าสนใจอีกเยอะแยะมากมาย เปรียบเทียบง่ายๆก็เหมือนกับว่า ความรู้ของเราที่มีต่อหนังฟินแลนด์ ไม่ได้ต่างอะไรไปจากคนต่างชาติที่รู้จักผู้กำกับหนังไทยเพียงคนเดียวคือ Apichatpong Weerasethakul น่ะ ทั้งที่จริงๆแล้ว ประเทศไทยยังมีผู้กำกับอย่าPermpol Choei-aroon, Manop Udomdej, Prince Anusorn Mongkolkarn, Chalee Intaravichit, Piak Poster, Pimpaka Towira, M.L. Bhandevanop Devakul, Banjong Kosalwat, Phaisit Phanphruksachat และ Tossapol Boonsinsukh ด้วย

สรุปว่า เราชอบ HELSINKI, FOREVER เพราะมันสะท้อน ความไม่รู้ของเราที่มีต่อหนังฟินแลนด์นี่แหละ แต่ถ้าหากวัดจากอารมณ์ความรู้สึกแล้ว กราฟอารมณ์ของเราค่อนข้างนิ่งเฉยมากๆ เกือบจะเท่าๆกับตอนดูหนัง found footage อย่าง LOVE IS ALL: BOY, GIRL, LOVE (2014, Kim Longinotto) ที่เป็นการรวบรวมคลิปหนังเก่าๆมาตัดต่อเข้าด้วยกันได้อย่างอุเบกขาเหมือนกัน

ในบรรดาหนัง found footage ประเภทรวบรวมคลิปหนังเก่านั้น เราว่าหนึ่งในหนังที่เราชอบมากที่สุดในกลุ่มนี้ ก็คงเป็น WORKERS LEAVING THE FACTORY (1995, Harun Farocki) นี่แหละ อันนี้แหละที่เป็นการนำคลิปหนังเก่ามา วิเคราะห์เจาะลึกได้อย่างทรงพลังสุดๆ

No comments: