Friday, December 27, 2019

TOOTSIES AND THE FAKE

TOOTSIES AND THE FAKE (2019, Kittipak Thoangaum, A+20)
ตุ๊ดซี่ส์ แอนด์ เดอะเฟค (กิตติภัค ทองอ่วม)

1.ชอบเส้นเรื่องของกัสมากที่สุด เพราะเราเองก็เคยเกลียดเด็กมาก่อน ชอบที่มีหนังไทยที่นำเสนอตัวละครแบบนี้ แต่เส้นเรื่องของตัวละครอื่นๆเรารู้สึกเฉยๆ

2.ชอบชื่อ "แคทรีโอน่า กรรณิการ์ หวัง" มากๆ มันเป็นชื่อที่ฮามากๆในความแหลนแต้ของมัน นึกถึงเพื่อนของเราที่เคยตั้งชื่อตัวละครตัวนึงว่า "ทวยท้าว แลซ" แบบว่าชื่อเธอไทยมากๆ แต่เธอนามสกุลเป็นฝรั่ง

3.เห็นด้วยกับที่คุณ Ratchapoom Boonbunchachoke เขียนถึงหนังเรื่องนี้มากๆ ในแง่ที่ว่าตัวละครเจ๊น้ำ มันถูกทำให้ "เปล่งเสียงไม่ได้" มันขาดหาย"เสียง/ตัวตน" ยังไงไม่รู้ มันเหมือนตุ๊กตากระดาษที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินเรื่อง มากกว่าจะเป็นมนุษย์ที่มีพลังในการขับเคลื่อนชีวิตของตนเองจริงๆ
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10162829613425220&set=a.10161387877515220&type=3&theater

4.พล็อตเรื่องการฝึกมารยาทผู้ดี ดูแล้วนึกถึง MY FAIR LADY (1964, George Cukor) ซึ่งเราก็ "ไม่อิน" เหมือนกับหนังเรื่องนี้

จริงๆดูแล้วนึกถึงคอลัมน์ของคุณคำ ผกา ในมติชนสุดสัปดาห์ด้วย ตอน "สุขาอยู่หนใด" ที่เป็นการเขียนวิจารณ์ รายการของคุณได๋ ที่ให้จ๊ะ คันหู มาปรับลุคใหม่ แล้วเอามาร้องเพลง jazz ซึ่งคุณคำ ผกา นำสิ่งนี้มาโยงกับแนวคิด white man's burden ถ้าใครอยากอ่าน ก็ลอง google หาอ่านบทความนี้ดูได้นะ

แต่เราก็ไม่ได้คิดว่า สิ่งที่เกิดขึ้นใน TOOTSIES & THE FAKE มันเหมือนกับ white man's burden นะ เพราะจุดประสงค์มันต่างกันเยอะ เพราะตัวละครใน TOOTSIES พยายามปรับกิริยามารยาทของเจ๊น้ำเพียงเพื่อ "ผลประโยชน์ส่วนตัว" ไม่ใช่เพราะ "ศีลธรรมอันสูงส่ง" น่ะ แต่เราคิดว่าความแตกต่างกันตรงนี้ก็น่าสนใจดีเหมือนกัน

ส่วนอันนี้เป็นคลิปรายการนั้น
https://youtu.be/DH3FHEb_Cl4

5.จริงๆแล้วตอนที่ดูหนังเรื่องนี้เราชอบฉากแคที่เทศนาท่ามกลางสีขาวมากๆ เพราะเราว่ามันดูตอแหลมากๆ นึกถึงเพื่อนกะเทยที่ชอบ role play เป็นเลดี้ผู้สูงศักดิ์ หรือเพื่อนหีๆที่ชอบอุทาน "ว้าย หยาบคาย ฉันรับอะไรแบบนี้ไม่ได้จ้ะ" อะไรทำนองนี้ ฉากนี้มันก็เลยฮามากๆสำหรับเรา แต่เหมือนผู้ชมหลายคนจะมองว่า สิ่งที่แคที่พูดในฉากนั้น คือสิ่งที่หนังต้องการจะบอกต่อผู้ชม เราก็เลยประหลาดใจ แต่พอคิดอีกทีแล้วมันก็อาจจะเป็นอย่างที่ผู้ชมหลายคนคิดแบบนั้นจริงๆก็ได้ แต่ตอนที่ดู เราไม่ทันคิดแบบนั้น เราก็เลยชอบตวามตอหลดตอแหลของฉากนี้มากๆตอนที่ดู

จริงๆแล้วมันอาจจะคล้ายกับปัญหาหลายเรื่องที่เรามีกับหนังยุคใหม่ ที่เราแยกไม่ออก หรือไม่แน่ใจว่า มัน "จงใจซึ้ง" หรือ "จงใจเสียดสีหนังซึ้งๆ" กันแน่ 555 เหมือนอย่างฉากนี้ที่ตอนดูเรานึกว่า มันต้องการขับเน้นความเป็นนางฟ้านางสวรรค์ของแคที่ให้โอเวอร์เกินจริงจนดูตอแหลหรือดูฮา แต่จริงๆแล้วหนังอาจจะไม่ได้ตั้งใจแบบนั้นก็ได้

6.พอคิดดูแล้ว เราว่าพัฒนาการของตัวละครในหนังเรื่องนี้ มันสวนทางกับหนังหลายๆเรื่องเหมือนกัน อย่างเช่น

6.1 การที่เจ๊น้ำเปลี่ยนจากการพูดคำหยาบในที่ทำงานเก่า มาเป็นการไม่พูดคำหยาบเมื่ออยู่ในที่ทำงานใหม่ มันสวนทางกับ BOYS ON THE SIDE (1995, Herbert Ross) ที่ตัวละครหญิงเริ่มต้นจากการเก็บกด ไม่กล้าพูดคำหยาบ มาสู่การปลดปล่อย ด้วยการกล้าพูดคำหยาบออกมา

6.2 การเลียนแบบท่าทางของผู้ดีทั้งใน MY FAIR LADY และเจ๊น้ำ มันสวนทางกับ PARADISE HILLS (2019, Alice Waddington) ซึ่งเป็นหนังที่ลงเอยด้วยการประณาม "สถาบันสอนมารยาทผู้ดี"

6.3 การที่ตัวละครเด็กเรียกกัสลับหลังว่า "กะเทย" ซึ่งทำให้ผู้ชมหลายคนหัวเราะชอบใจในช่วงท้ายของหนังเรื่องนี้ ซึ่งจริงๆแล้วเราไม่ได้มีปัญหาอะไรกับมุกตลกในฉากนี้ แต่เราว่ามันน่าสนใจดีถ้าหากนำมันไปเทียบกับหนังเรื่องนี้ REMINGTON AND THE CURSE OF THE ZOMBADINGS (2011, Jade Castro, Philippines) เพราะหนังฟิลิปปินส์เรื่องนี้เริ่มต้นด้วยการให้เด็กผู้ชายคนนึงส่งเสียงเรียกกะเทยด้วยท่าทีดูถูกเหยียดหยามในช่วงต้นเรื่อง ซึ่งส่งผลให้เด็กผู้ชายคนนั้นถูกคำสาปให้โตขึ้นมาแล้วกลายเป็นกะเทย และหนังก็จบลงด้วยการให้เด็กผู้ชายคนนึงส่งเสียงเรียกกะเทยในช่วงท้ายเรื่อง แต่ด้วยท่าที "ชื่นชม"

ก็เลยรู้สึกว่าพัฒนาการของตัวละครในหนังสองเรื่องนี้มันสวนทางกันอย่างน่าสนใจดี เพราะในหนังไทยนั้น เกย์ในหนังเริ่มต้นจากการเกลียดเด็ก แต่ลงเอยด้วยการรักเด็กในท้ายที่สุด ส่วนในหนังฟิลิปปินส์นั้น เด็กๆในช่วงต้นเรื่องมองกะเทยอย่างดูถูกเหยียดหยาม แต่เด็กๆในช่วงท้ายเรื่องมองกะเทยด้วยความชื่นชม

No comments: