Monday, February 01, 2021

SOUL (2020, Pete Docter, Kemp Powers, animation, A+30)

 

BURROW (2020, Madeline Sharafian, animation, A+15)

 

SOUL (2020, Pete Docter, Kemp Powers, animation, A+30)

 

SPOILERS ALERT (อันนี้ไม่เน้นเขียนถึงหนัง แต่เน้นเขียนถึงแต่ชีวิตของดิฉันเอง 55555)

--

--

--

--

--

--

--

--

--

--

1.จริงๆแล้วไม่ได้รู้สึกซาบซึ้งอะไรกับหนังเรื่องนี้มากเท่าไหร่นะ แต่สาเหตุที่ชอบหนังเรื่องนี้มาก ๆ คงเป็นเพราะว่ามันมีเนื้อหาบางส่วนของหนังที่ทำให้เรากลับมาย้อนคิดถึงชีวิตตัวเองมั้ง และเราก็ชอบหนังตรงจุดนี้ ตรงจุดที่ว่าหนังมันทำให้เราคิดถึงบางส่วนของชีวิตตัวเองโดยที่หนังไม่ได้ตั้งใจ

 

2.ชอบการออกแบบตัวละคร Jerry มาก ๆ ชอบที่ตัวละครกลุ่มนี้มันคล้ายภาพวาดของ Picasso

 

3.เราชอบหนัง/fictionที่พูดถึง “โลกหลังความตาย” ด้วยแหละ และก็ชอบที่หนังแต่ละเรื่องมีการจินตนาการถึงโลกหลังความตายในแบบที่แตกต่างกันไป ทั้งหนังเรื่องนี้, ALWAYS (1989, Steven Spielberg), DEFENDING YOUR LIFE (1991, Albert Brooks), AFTER LIFE (1998, Hirokazu Koreeda), ALONG WITH THE GODS (2017, Kim Yong-hwa), DESTINY: THE TALE OF KAMAKURA (2017, Takashi Yamazaki) และบทละครเวทีเรื่อง OUR TOWN ของ Thornton Wilder

 

เราว่าผู้สร้างหนังกลุ่มนี้ต้องใช้จินตนาการมากพอสมควรเลยแหละ เพราะมันเหมือนเป็นการสร้างโลกแฟนตาซีในแบบของตัวเอง และต้องตั้งกฎเกณฑ์อะไรขึ้นมาใหม่เองด้วย และเรารู้สึกว่า SOUL สร้างโลกหลังความตายออกมาได้งดงามน่ารักมาก ๆ และมีสไตล์เป็นตัวของตัวเองดี ถึงแม้ว่าอาจจะไม่ “เจิดจรัสเพริดแพร้วพรรณราย” เท่าโลกวิญญาณในหนังอะนิเมชันเรื่อง THE GREAT ADVENTURE OF THE MATERIAL WORLD (2016, Lu Yang)  ก็ตาม

 

4.เราชอบไอเดียของหนังเรื่องนี้ด้วยที่โยงโลกวิญญาณเข้ากับโลก “ภวังค์” โดยเอาคนที่ตกอยู่ในภวังค์ต่าง ๆ ทั้งภวังค์หมกมุ่นกับการทำงาน,การเล่นหุ้น และภวังค์ของคนที่มีความสุขฟินแตกกับสิ่งที่ตัวเองทำ (อย่างเช่นตอนที่พระเอกได้เล่นดนตรีที่ชอบ) เข้ามาเชื่อมโยงกัน เราว่าเป็นไอเดียที่แปลกดี และมันไปไกลกว่าหนังเรื่องอื่น ๆ ที่เราชอบ

 

คือหนังเรื่องอื่น ๆ ที่เราชอบสุด ๆ  บางทีมีการโยงโลกวิญญาณเข้ากับโลกความฝันของตัวละครที่นอนหลับ และโลกดวงจิตของผู้ป่วยที่นอนโคม่าไม่รู้สึกตัวอยู่น่ะ อย่างเช่นหนังชุด INSIDIOUS และหนังรักโรแมนติกเรื่อง GOODNIGHT, ME (2016, Satapron Suphawatee) กับเรื่อง UNTOUCHABLE (2019, Chanutcha Sonsrichon, 32min) และเราก็ชอบการโยงกันของโลกคนตาย, โลกความฝัน, โลกดวงจิตคนเป็นอะไรพวกนี้มาก ๆ แต่เรายังไม่เคยเจอการโยงโลกคนตายเข้ากับดวงจิตของคนที่ตกอยู่ในภวังค์แบบ SOUL มาก่อน เราก็เลยรู้สึกว่าไอเดียตรงนี้ของ SOUL ประหลาดดี

 

5.เอาล่ะ ต่อไปนี้ก็เป็นการจดบันทึกชีวิตของเรา ว่า SOUL ทำให้เรานึกถึงชีวิตตัวเองตอนไหนบ้าง 555555

 

จุดที่เราชอบสุด ๆ ใน SOUL ก็คือการที่พระเอกได้ทำในสิ่งที่ตัวเองปรารถนามาทั้งชีวิต แล้วก็พบว่ามันก็แค่นั้น เขาฟินแตกกับการได้เล่นบนเวทีกับนักดนตรีที่เขาชอบ แล้วหลังจากนั้นความฟินก็จบลง และมันเหมือนกับว่าเขาต้องเจอ routine ใหม่ ชีวิตของเขาอาจจะมีความสุขมากขึ้น แต่มันไม่ใช่ชีวิตที่ฟินแตกตลอดเวลา บางที “ความน่าเบื่อ” ในรูปแบบใหม่อาจจะดักรอเขาอยู่ในอนาคตก็ได้

 

เราแอบจินตนาการต่ออีกด้วยว่า ถึงแม้เขาได้กลายเป็น superstar ในอนาคต ชีวิตของเขาก็อาจจะเจอความทุกข์แบบตัวละครใน THE HIGH NOTE (2020, Nisha Ganatra) ก็ได้ เพราะคุณได้เป็น superstar แล้วไง ทางเลือกของชีวิตคุณก็คือการเล่นดนตรีที่โรงแรมในลาสเวกัสในแบบเดิมซ้ำๆ กันทุกคืนตลอดทั้งปียังไงล่ะ

 

เราชอบมาก ๆ ที่หนังนำเสนอความจริงของชีวิตตรงจุดนี้ มันเหมือนบางทีเราพยายามอย่างสุดชีวิตเพื่อไขว่คว้าบางสิ่งบางอย่าง มองว่ามันคือ “ความสุข” แต่พอเราได้มันมาจริง ๆ มันก็ให้ความสุขแค่ประเดี๋ยวประด๋าว ชั่วครู่ชั่วยาม แล้วเราก็ต้องรับมือกับความทุกข์ในรูปแบบใหม่ ๆ ที่มาพร้อมกับความสุขนั้น

 

เราว่า SOUL มันแตกต่างกับหนังหลายเรื่องตรงจุดนี้ด้วยแหละ เพราะหนังหลาย ๆ เรื่องบางทีมันจบลงด้วยการที่ตัวละครได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ แล้วก็จบ happy ending ตัวละครได้ขึ้นเวที ส่องประกายเจิดจ้า ประสบความสำเร็จ หนังจบ

 

แต่ SOUL ลากยาวไปกว่านั้น เพราะคุณต้องลงจากเวที แล้วคุณก็ต้องถามตัวเองว่า คุณมีความสุขจริง ๆ เหรอกับการต้องขึ้นเวทีแบบนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีกหลายร้อยครั้งในอนาคต เราชอบที่ SOUL มันทำให้เราคิดถึงเรื่องนี้น่ะ ซึ่งเป็นสิ่งที่หนังหลาย ๆ เรื่องพยายามหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึง

 

ไม่รู้สิ บางที SOUL มันทำให้เรานึกถึง “ความรู้สึกว่างเปล่าเมื่อเราได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ” โดยที่หนังเรื่องนี้ไม่ได้ตั้งใจด้วยนะ มันทำให้เรานึกถึงหนังเรื่อง GILLES’ WIFE (2004, Frédéric Fonteyne) ที่นางเอกรักสามีของตัวเอง แต่สามีนอกใจ นางเอกก็เลยสู้สุดฤทธิ์ พยายามทำให้สามีกลับมารักเธอคนเดียวให้ได้ แล้วนางเอกก็ทำสำเร็จในที่สุด สามีกลับมารักเธอคนเดียวในที่สุด แล้วพอนางเอกได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการแล้ว เธอก็ฆ่าตัวตายไปเลย

 

หนังเรื่อง GILLES’ WIFE ไม่ได้อธิบายแม้แต่นิดเดียวว่า ทำไมนางเอกทำเช่นนั้น แต่เหมือนเราเข้าใจ ถึงแม้เราไม่แน่ใจว่าเราเข้าใจถูกต้องหรือไม่ก็ตาม มันเหมือนกับว่า ชีวิตคนเราไม่ได้มีแค่ความทุกข์จากการไม่บรรลุเป้าหมาย และความสุขจากการบรรลุเป้าหมายน่ะ มันมี “ความว่างเปล่า” ของชีวิต ของจิตใจ ของตัวตน อะไรแบบนี้อยู่ด้วย มันมี “สิ่งที่เราก็ไม่รู้ว่าคืออะไร” อยู่ในจิตใจของเราด้วย เพราะฉะนั้นในบางทีพอเราบรรลุเป้าหมายบางอย่างของชีวิตแล้ว เรารู้สึกอิ่มเอมเป็นสุขกับการบรรลุเป้าหมายนั้นแล้ว ความสุขนั้นกลับดูเหมือนไม่ได้ดำรงอยู่ตลอดไป แต่มันมีความว่างเปล่าบางอย่างคืบคลานเข้ามาในจิตใจเรา ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร หรือจะจัดการกับมันยังไง และดูเหมือนว่าอาจจะมีหนังไม่กี่เรื่องที่ทำให้เราคิดถึงจุดนี้ทั้งโดยตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ ทั้งหนังเรื่อง SOUL, GILLES’ WIFE หรือหนังอย่าง THE DEVIL, PROBABLY (1977, Robert Bresson) กับ THE SEVENTH CONTINENT (1989, Michael Haneke) ที่ทำให้เรารู้สึกได้ถึงความว่างเปล่าของชีวิต

 

 คือพอดู SOUL แล้ว เราก็คิดถึงชีวิตตัวเองแหละ ว่ามันมีหลาย ๆ ครั้งที่พอเราได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการแล้ว มันก็แค่นั้น มันไม่ได้ “สุขล้นปรี่” ตลอดไปเหมือนอย่างที่ตัวเองเคยคิดไว้ตอนที่ตัวเอง “ขาด” สิ่งนั้น

 

อย่างตอนเด็ก ๆ บ้านเรายากจน เราไม่มีเงินซื้อเครื่องเล่นซีดี เรามีแค่เงินซื้อเทปเพลงมาฟัง เราเห็นเพื่อน ๆ ซื้อซีดีมาฟัง เราก็อยากซื้อซีดีบ้าง เรารู้สึกแบบนี้ตั้งแต่ปี 1989-1994 เหมือนกับว่าเป้าหมายในตอนนั้นคือการมีเงินพอที่จะซื้อเครื่องเล่นซีดีได้ แล้วพอเราเรียนจบปริญญาตรี เราก็เริ่มทำงานหาเงินได้เอง มีเงินซื้อเครื่องเล่นซีดีเป็นของตัวเองซะทีหลังจากอัดอั้นมานาน 5 ปี แล้วยังไงล่ะ 5555 เหมือนมีเครื่องเล่นซีดีมันก็มีความสุขขึ้นแหละ แต่มันก็แค่นั้นเอง

 

อีกสิ่งที่เรารู้สึก “ขาด” อย่างรุนแรงตอนเป็นเด็ก ก็คือการได้ดูมิวสิควิดีโอจากต่างประเทศ เหมือนในทศวรรษ 1980 นั้น การหา MV จากต่างประเทศมาดูเป็นเรื่องที่ยากมาก กว่าจะได้ดูก็ต้องรอรายการ “บันเทิงคดี” ของคุณมาโนช พุฒตาล ที่อาจจะฉาย MV แค่สัปดาห์ละ 4-5 เพลง ช่วงปลายทศวรรษ 1980 ก็เลยเป็นช่วงที่เรารู้สึกขาดแคลนหรือโหยหา MV จากต่างประเทศมาก ๆ ความโหยหานั้นมันทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่า ถ้าหากเราได้ดู MV จากต่างประเทศเยอะ ๆ เราคงมีความสุขสุด ๆ ไปเลย

 

แล้วพอเข้าทศวรรษ 1990 เคเบิลทีวีก็เข้ามาในไทย MTV ก็เข้ามาในไทย เราก็รู้สึกมีความสุขสุด ๆ กับการได้ไปดู MV เหล่านี้ที่บ้านเพื่อน (บ้านเราไม่มีเงินติดเคเบิลทีวี) แล้วก็ต่อด้วยทศวรรษ 2000 กับการเริ่มต้นของยูทูบ เราสามารถดู MV ที่ต้องการได้ตลอดเวลา ความใฝ่ฝันของเราในทศวรรษ 1980 ได้รับการตอบสนองอย่างเต็มที่แล้ว เรามีความสุขมาก ๆ กับยูทูบ

 

แล้วไงล่ะ บางทีความสุขนั้นมันก็แค่นั้น ทำไมเราถึงรู้สึกว่าชีวิตตัวเองมีความทุกข์มากเกินไปอยู่ล่ะ เหมือนตอนนี้ความปรารถนาหลายอย่างของเราในวัยเด็กได้รับการ fulfilled แล้ว แต่เราก็รู้สึกว่าชีวิตเรามีความทุกข์มากเกินไปจนแทบทนไม่ไหวอีกต่อไปแล้วอยู่นั่นเอง

 

แต่ความรู้สึก “ผิดหวังเล็กน้อย เมื่อได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ เพราะมันไม่ได้นำมาซึ่งความสุขล้นปรี่ตลอดไปเหมือนอย่างที่ตัวเองเคยคาดไว้” นั้น มันก็ไม่ใช่สิ่งที่เรารู้สึกกับทุกเรื่องนะ เพราะกับบางเรื่องหรือบางเป้าหมายเราก็รู้สึกมีความสุขล้นปรี่เหมือนอย่างที่คาดไว้ อย่างเช่น “การออกจากบ้าน มาใช้ชีวิตอยู่ตามลำพัง” เพราะตอนเราเป็นเด็ก เราใฝ่ฝันเหลือเกินที่จะได้ออกจากบ้านมาใช้ชีวิตอยู่คนเดียวตามลำพัง (หรืออยู่กับคนที่ตัวเองเลือกเอง) แล้วพอเราทำได้จริง ๆ เราก็พบว่า มันให้ความสุขล้นปรี่จริง ๆ ตลอดช่วง 25 ปีที่ผ่านมา มันไม่ใช่ความสุขที่ “พองฟูอยู่ชั่วครู่ แล้วก็ค่อย ๆ แฟบลง แล้วก็มองมันเป็นเรื่องธรรมดา” เหมือนอย่างการได้ครอบครองเครื่องเล่นซีดี หรือการเข้าถึง MV จากต่างประเทศ

 

สรุปว่า ชอบ SOUL สุด ๆ ตรงฉากนั้นน่ะแหละ ฉากที่พระเอกได้บรรลุเป้าหมายสูงสุดของชีวิต แล้วก็งง ๆ ว่า มันแค่นี้เองน่ะเหรอ แล้วกูต้องเผชิญกับความน่าเบื่อแบบใหม่ของชีวิตหรือเปล่า ฉากนี้มันทำให้เราหวนรำลึกถึงอะไรบางอย่างในชีวิตในแบบที่หนังเรื่องอื่น ๆ ไม่ได้กระตุ้นให้เราคิดถึง

 

6. ตัวละคร SOUL 22 กับบทเรียนของเธอ ก็เป็นสิ่งที่เราชอบสุด ๆ ในแบบที่หนังอาจจะไม่ได้ตั้งใจด้วย

 

คือเรามองว่า คนเรามันเลือกเกิดไม่ได้อยู่แล้วล่ะ ไม่มีใครเลือกได้ว่าจะเกิดหรือไม่เกิด เพราะฉะนั้นเราก็เลยไม่ได้มองตัวละคร SOUL 22 แบบ literally ว่าจริง ๆ แล้วเราควรเลือกเกิดหรือไม่เกิดถ้าหากเป็นดวงวิญญาณ

 

แต่เราชอบตัวละครตัวนี้ในแง่ที่ว่า มันทำให้เรานึกถึงเรื่องอื่น ๆ โดยที่หนังไม่ได้ตั้งใจ มันทำให้เราคิดถึงคำสอนของศาสนาพุทธที่ว่า จิตคนเราเกิดดับ 230,000,000,000 ครั้งต่อ วินาที อะไรทำนองนี้

 

ตัวละคร soul 22 มันก็เลยทำให้เรานึกถึง “อารมณ์ความรู้สึก” ที่บางทีก็ผุดขึ้นมาในใจเราวันละหลาย ๆ ครั้ง หรือดวงจิตที่บางทีก็เกิดดับขึ้นมาในใจเราวันละหลาย ๆ ครั้ง มันคือดวงจิตที่ตั้งคำถามว่า “กูจะมีชีวิตอยู่ต่อไปทำไม กูจะมีชีวิตอยู่ต่อไปดีไหม กูไม่ได้อยากจะอุทิศตนเพื่อคนอื่น ๆ กูไม่ได้อยากจะเป็นแม่ชีเทเรซ่า ไม่ได้อยากได้รางวัลโนเบล กูเบื่อ ชีวิตกูมีปัญหามากเกินไปแล้ว ทั้งปัญหาการเงิน, ปัญหาสุขภาพ, ปัญหาการเมือง แล้วกูก็หาผัวไม่ได้ด้วย แล้วกูจะมีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่อทนกับปัญหาสุขภาพ, การเงิน, การเมืองอะไรพวกนี้เหรอ”

 

แล้วหนังก็ให้คำตอบแก่ SOUL 22 ในแบบที่คล้าย ๆ กับที่เราหลอกตัวเองด้วย เราชอบสุด ๆ ที่หนังไม่ได้ให้คำตอบแก่ SOUL 22 ด้วยการสอนให้ SOUL 22 ทำตนเป็นคนดี “มีชีวิตอยู่เพื่อผู้อื่น เสียสละเพื่อคนอื่นๆ หรือตั้งเป้าหมายยิ่งใหญ่อะไรให้แก่ชีวิต” แต่หนังให้คำตอบแก่ SOUL 22 ด้วยการมีความสุขกับอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ดูเหมือนจะไม่เหลือบ่ากว่าแรงสำหรับเราที่จะไขว่คว้า อย่างเช่น การได้แดกพิซซ่า และการมองดูใบไม้ไหว สายลมพัด อะไรทำนองนี้

 

เราว่าอะไรแบบนี้นี่แหละ ที่ทำให้เราสามารถดับดวงจิตที่บางทีก็ผุดขึ้นมาถามเราว่า “ฉันจะมีชีวิตอยู่ต่อไปอีก 1 วันเพื่ออะไร” ได้ดี เพราะการมีความสุขกับอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบนี้ มันก็เป็นสิ่งที่เราใช้หลอกตัวเองให้มีชีวิตอยู่ต่อไปเช่นกัน อย่างเช่นที่เราเคยเขียนเล่าไปแล้วว่า ตอนช่วงที่เราเจอวิกฤติชีวิตหนักมาก ๆ นั้น เราจะถามตัวเองทุกคืนว่า “เราจะฆ่าตัวตายดีไหม” แล้วเราก็จะจินตนาการว่า ตุ๊กตาหมีของเราตอบเราว่า “คุณแม่ช่วยมีชีวิตอยู่ต่อไปอีก 1 วันเพื่อผมนะครับ แค่ได้กอดผม คุณแม่ก็มีความสุขแล้วนี่ครับ” อะไรทำนองนี้ มันเหมือนการบอกตัวเอง/หลอกตัวเองว่า แค่ได้กอดตุ๊กตาหมี เราก็มีความสุขแล้ว แค่อะไรง่าย ๆ ที่มันไม่เหลือบ่ากว่าแรงแบบนี้ มันก็ให้ความสุขแก่เราได้แล้ว การคิดแบบนี้ หรือการหลอกตัวเองแบบนี้ มันช่วยดับดวงจิต “ไม่อยากมีชีวิตอยู่” แบบ SOUL 22 ที่อยู่ในใจเราได้ชั่วครู่

 

เราก็เลยชอบ SOUL มาก ๆ ตรงจุดนี้ด้วยแหละ ถึงแม้มันไม่ใช่สิ่งที่หนังตั้งใจก็ตาม

 

7.สรุปว่า ชอบ SOUL มาก ๆ ตรงมันทำให้เรารู้สึกว่า เราไม่ได้ “ขาด” อะไรไปถึงจะมีความสุขแบบตัวละครได้น่ะ คือหนังบางเรื่องมัน happy มาก ๆ ก็จริง ตัวละครได้ผัวหนุ่มหล่อในตอนจบ, ตัวละครประสบความสำเร็จทางอาชีพในตอนจบ, ตัวละครร่ำรวยในตอนจบ เรามีความสุขไปพร้อมกับตัวละครในตอนจบ แต่พอดูหนังแบบนี้จบไปแล้วสัก 15 นาที เรากลับรู้สึกหงุดหงิดโดยไม่มีสาเหตุ มันเหมือนกับว่า หนังมันทำให้เรารู้สึกในทางอ้อมว่า การที่กูไม่มีผัวหนุ่มหล่อแบบนางเอกในหนัง มันทำให้กู “ขาด” แล้วพอกู “ขาด” กูไม่มีผัวให้อมแบบนางเอกในหนัง กูก็เลยไม่มีความสุข หงุดหงิดงุ่นง่าน อะไรทำนองนี้ 55555

 

เพราะฉะนั้นพอ SOUL มันแสดงให้เห็นว่า บางทีพอเราได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการอย่างรุนแรง ใจเราก็พองโตแค่ชั่วครู่ แล้วก็กลับมาแฟบดังเดิม หรือบางทีเราควรจะมีความสุขกับอะไรง่าย ๆ ในชีวิต อย่างเช่นการมองก้อนเมฆ, การแดกอาหารอร่อย ๆ อะไรทำนองนี้ หนังเรื่องนี้ก็เลยไม่ทำให้เรารู้สึก “ขาด” อะไรในชีวิตมากเท่ากับหนังเรื่องอื่น ๆ

No comments: