Thursday, March 10, 2022

MEMORIA

 







MEMORIA (2021, Apichatpong Weerasethakul, A+30)

SPOILERS ALERT
--
--
--
--
--
--
--
--
--
--
1.ชอบฉากช่วงท้ายอย่างสุด ๆ ฉากที่ Jessica อยู่ริมหน้าต่างแล้วสดับรับฟังเสียงต่าง ๆ เหมือนฉากนั้นมันก่อให้เกิดความงดงามทางจิตใจอย่างรุนแรงมากสำหรับเรา อาจจะคล้าย ๆ กับความรู้สึกที่เราได้รับจากหนังอย่าง ALL MY LIFE (1966, Bruce Baillie) และ HIGH KUKUS (1973, James Broughton) ซึ่งแน่นอนว่าความรู้สึกงดงามแบบนี้เป็นสิ่งที่เราอธิบายไม่ได้ ไม่รู้ว่าทำไมมันถึงส่งผลกระทบกับเราแบบนี้

2.ตอนแรกนึกว่ามันจะเป็นแค่เรื่องการเมืองแบบเป็นรูปธรรม อย่างเสียงตอนแรกที่นางเอกได้ยิน หรือเสียงที่ผู้ชายคนนึงตามท้องถนนหวาดกลัว เราก็นึกว่าเสียงดังกล่าวมันอาจจะสะท้อนปัญหาสงครามยาเสพติดใน Colombia 55555 หรืออย่างตอนที่ Jessica บรรยายถึงเสียงที่คล้าย ๆ วัตถุตกลงในน้ำ เราก็นึกถึงการฆ่าคนจำนวนมากใน Argentina และ Chile ในยุคเผด็จการทหารที่ทหารจับประชาชนไปถ่วงน้ำตายเป็นจำนวนมาก แต่ปรากฏว่าหนังไม่ได้ให้คำตอบเรื่องที่มาของเสียงในแบบที่เราคาดการณ์ไว้ มันก็เลยกลายเป็นความเหวอสำหรับเราที่ดีมาก ๆ

3.ในส่วนความหมายต่าง ๆ ในหนังเรื่องนี้นั้น ให้อ่านจากสิ่งที่คนอื่น ๆ เขียนนะคะ เพราะดิฉันเองก็ไม่เข้าใจอะไรแต่อย่างใด ดิฉันจะเน้นจดบันทึกเพียงแค่ว่า หนังเรื่องนี้ทำให้ดิฉันนึกถึงอะไรบ้างโดยที่หนังไม่ได้ตั้งใจ 55555

4.ชอบก้อนหินที่บรรจุความทรงจำของอาชญากรรมเอาไว้มาก ๆ พอเห็นจุดนี้ในหนังเรื่องนี้แล้วทำให้นึกถึง Fred Kelemen เพราะเขาเคยพูดถึง “ร่องรอยความอบอุ่นที่มนุษย์” ทิ้งไว้หลังลุกออกจากเก้าอี้ไปแล้ว

คือหนังของ Fred Kelemen มักมีการแช่กล้องนาน ๆ น่ะ แม้ตัวละครจะออกจากฉากไปหมดแล้ว เพราะ Kelemen เชื่อว่า “ เมื่อคุณถ่ายคนในห้องหนึ่ง แล้วเมื่อเขาเดินออกจากห้องคุณตัดภาพไปทันที ห้องห้องนั้นก็ไม่ได้มีอยู่เลย มันเป็นแค่การมีอยู่ของคนเท่านั้น แต่ถ้าคุณทิ้งภาพไว้อีกสักระยะ รอจนบรรยากาศของการมีอยู่ของมนุษย์จางไป คุณจะมองเห็นห้องนั้นในฐานะสถานที่ที่ ไม่สัมพันธ์กับผู้คนอีกต่อไป มนุษย์กลายเป็นเพียงส่วนยิบย่อย ในจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาล ในขณะเดียวกัน มันก็เป็นการติดตาม ร่องรอยของมนุษย์ที่เคยดำรงคงอยู่ เหมือนคุณนั่งเก้าอี้แล้วลุกไป เมื่อมีคนมานั่งต่อเขาจะรู้สึกถึงความอุ่นที่คุณทิ้งไว้ และผม (เคเลเมน) พยายามคว้าจับเอาส่วนนั้น ผมจะถ่ายเก้าอี้จนกระทั่งความอุ่นนั้นจางลง”
https://celinejulie.blogspot.com/2007/12/fred-kelemen.html

คือมันเหมือนมุมมองของ Kelemen ที่มีต่อวิธีการสร้างภาพยนตร์ของเขา มันสะท้อนมุมมองของเขาที่มีต่อมนุษย์และจักรวาลน่ะ และมันเป็นมุมมองที่ละเอียดอ่อนและน่าสนใจในแบบที่เราไม่เคยสำเหนียกมาก่อน

เพราะฉะนั้นพอเราดู MEMORIA เราก็เลยนึกถึง Fred Kelemen โดยที่หนังไม่ได้ตั้งใจ เพราะมันเหมือน MEMORIA ทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่าจริง ๆ แล้วมันมีคลื่นลี้ลับหลากหลายอย่างอยู่รอบกายเรา ทั้งคลื่นเสียงที่เรารับฟัง, คลื่นเสียงที่เรา “ได้ยินแต่ไม่ได้ฟัง”, คลื่นเสียงที่เราไม่ได้ยิน แต่รถยนต์อาจได้ยิน, คลื่นคำสาปจากชนเผ่าลี้ลับ, คลื่นกรรม และคลื่นที่เกิดจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ในอดีต

คือในขณะที่ Fred Kelemen มองว่า สิ่งต่าง ๆ ที่มนุษย์ทำไปมันทิ้งร่องรอยบางอย่างเอาไว้อย่างไม่ได้ตั้งใจ อย่างเช่นความอบอุ่นจากตูดของเราที่ยังคงทิ้งไว้ที่เก้าอี้หลังจากเราลุกออกจากเก้าอี้ไปแล้ว MEMORIA ก็ทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่า เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต บางทีมันก็ทิ้งร่องรอยเอาไว้เหมือนกัน บางทีมันอาจจะกลายเป็นความทรงจำของก้อนหินหรือวัตถุใดก็ตามที่อยู่ตรงนั้น หรือบางทีมันอาจจะกลายเป็นความทรงจำของใครบางคน หรือบางทีมันอาจจะกลายเป็น “คลื่น” หรือ “พลังงาน” บางอย่างที่อาจจะสิงสถิตย์อยู่ตรงนั้น หรืออาจจะล่องลอยไปมาก็ได้ จนกว่าใครสักคนจะรับคลื่นนั้นได้อย่างไม่ได้ตั้งใจ

บางทีมันอาจจะคล้าย ๆ กับประโยคที่ว่า “เด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงดวงดาว” หรืออะไรทำนองนั้นน่ะ คือเหมือนกับว่า การที่ “บุคคล A ทำกิจกรรม B ในสถานที่ C” มันอาจจะไม่ได้เป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบเพียงในทางรูปธรรมเท่านั้น แต่มันส่งผลกระทบทั้งในทางนามธรรม และในทางลี้ลับด้วย 55555 คือพอบุคคล A ทำกิจกรรม B ในสถานที่ C มันย่อมส่งผลกระทบในทางนามธรรมด้วย เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวย่อมกลายเป็น “ความทรงจำ” ของใครบางคนที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น หรือได้รับรู้เรื่องราวของเหตุการณ์นั้น และเหตุการณ์ดังกล่าวย่อมก่อให้เกิด “อารมณ์และความรู้สึก” ต่อผู้อยู่ในเหตุการณ์ด้วย และเหตุการณ์ดังกล่าวอาจจะก่อให้เกิดคลื่นพลังงานบางอย่าง ที่อาจจะสิงสถิตย์อยู่ ณ ที่นั้น หรือคลื่นพลังงานดังกล่าวอาจจะล่องลอยออกไปด้วย และในขณะเดียวกัน ตัว “ความทรงจำ” และตัว “อารมณ์ความรู้สึก” ในตัวคนต่าง ๆ ก็อาจจะกลายเป็นคลื่นพลังงานที่มองไม่เห็นด้วย

ถ้าให้ยกตัวอย่างอย่างเป็นรูปธรรม ก็อาจจะเป็นว่า “A ฆ่า B แล้วเอาไปถ่วงแม่น้ำ” (ขอเอา A MINOR HISTORY มาปนด้วย 55555)  คือนอกจากเหตุการณ์นี้จะส่งผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการที่ B ถูกฆ่าตายไปแล้ว เหตุการณ์นี้ยังส่งผลกระทบทางนามธรรม ด้วยการก่อให้เกิด “ความทรงจำ” ต่อคนต่าง ๆ และก่อให้เกิด “อารมณ์ความรู้สึก” ต่อคนต่าง ๆ ด้วย และเหตุการณ์นี้อาจจะส่งคลื่นพลังงานบางอย่างออกไปเรื่อย ๆ ด้วย โดยที่ A ไม่ได้ตั้งใจ และตัว “ความทรงจำ” กับตัว “อารมณ์ความรู้สึก” ที่เหตุการณ์นี้ก่อให้เกิดกับคนต่าง ๆ มันก็เหมือนเป็น “คลื่นพลังงาน” บางอย่างเช่นกัน คือ A อาจจะคิดแค่ว่า ฆ่า B แล้วก็จบ B ตายไปแล้ว ก็จบไป A อาจจะเห็นแค่ว่า พอศพหย่อนลงไปในน้ำ น้ำมันมีแรงกระเพื่อมเกิดขึ้นชั่วครู่หนึ่ง แรงกระเพื่อมนั้นขยายวงออกไปเรื่อย ๆ แล้วแรงกระเพื่อมบนผิวน้ำนั้นก็ค่อยๆ หายไป เพราะนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นแบบเป็น “รูปธรรม” แต่ A หารู้ไม่ว่า การกระทำของเขามันไม่ได้ก่อให้เกิดเพียงแค่แรงกระเพื่อมบนผิวน้ำเท่านั้น แต่มันก่อให้เกิด “คลื่นที่มองไม่เห็น” ด้วย เพราะการฆ่า B มันก่อให้เกิด “ความทรงจำ” ต่อผู้คนอื่น ๆ ก่อให้เกิด “ความรู้สึกรุนแรง” ต่อผู้คนอื่น ๆ และ “ความทรงจำ” กับ “อารมณ์ความรู้สึก” ในตัวคนอื่น ๆ นี้ มันอาจจะเป็นคลื่นพลังงานบางอย่างที่ไหลเวียนอยู่ในอากาศ และอาจจะขยายวงออกไปเรื่อย ๆ ได้ ไม่สูญสลายไปได้ง่าย ๆ B อาจจะตายไปแล้วก็จริง แต่ความทรงจำ, อารมณ์ความรู้สึก และคลื่นพลังงานบางอย่างที่เกิดจากการฆาตกรรม B จะยังคงดำรงอยู่ และส่งแรงกระเพื่อมต่อไปอีกนานแสนนาน

คือเหมือน MEMORIA ทำให้เราคิดถึงเรื่อง “คลื่นพลังงาน” นี้ โดยที่หนังอาจจะไม่ได้ตั้งใจน่ะ แต่เราชอบมาก ๆ ที่หนังเรื่องนี้ทำให้นึกถึงประเด็นนี้ 55555

5.สิ่งหนึ่งที่เราชอบมาก ๆ ในหนังของ Apichatpong คือความเป็นนิตยสาร “มิติที่ 4” 555555 คือในยุคที่เราเด็ก ๆ นั้น มันจะมีนิตยสาร “มิติที่ 4” ซึ่งมันเหมือนอยู่กึ่งกลางระหว่างนิตยสาร “ชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์” กับนิตยสาร “ต่วย’ตูนพิเศษ”

คือถ้าหากแยกประเภทของนิตยสารที่เราชอบอ่านในวัยเด็กโดยใช้เกณฑ์ “วิทยาศาสตร์” กับ “ไสยาศาสตร์”  นิตยสารแบบ “ชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์” และ “ทักษะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ก็จะอยู่สุดขั้วของความเป็นวิทยาศาสตร์ และนิตยสารแบบ “โลกทิพย์” ก็จะอยู่อีกสุดขั้วหนึ่ง นั่นก็คือขั้วของไสยาศาสตร์

ทีนี้มันก็จะเหมือนมีนิตยสารแบบ มิติที่ 4 และต่วย’ตูนพิเศษ ที่อยู่ตรงกลางระหว่างสองขั้วนี้ เพราะนิตยสารทั้งสองมันเน้นเรื่องลี้ลับเหมือน ๆ กัน แต่เราว่ามิติที่ 4 มันเอนเอียงไปในทาง “วิทยาศาสตร์” เพราะมันเน้นเรื่องแบบพลังจิต, มนุษย์ต่างดาว, สามเหลี่ยมเบอร์มิวดา, ทวีปแอตแลนติส หรืออะไรเทือก ๆ นั้นมั้ง ถ้าหากเราจำไม่ผิด ในขณะที่ต่วย’ตูนพิเศษมันก็สนใจประเด็นเดียวกับมิติที่ 4 แต่มันก็สนใจเรื่องประสบการณ์ปีศาจ, ผี ๆ สาง ๆ ด้วย

เราก็เลยรู้สึกว่า ถ้าหากเรียงนิตยสารในวัยเด็กของเรา จากความเป็นวิทยาศาสตร์ ไปสู่ความเป็นไสยาศาสตร์แล้ว เราก็อาจจะเรียงได้ตามลำดับดังนี้

--ทักษะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สุดขั้วของความเป็นวิทยาศาสตร์)
--ชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์
--มิติที่ 4
--ต่วย’ตูนพิเศษ
--โลกทิพย์ (สุดขั้วของความเป็นไสยาศาสตร์)

ซึ่งเราว่าหนังไทยโดยทั่ว ๆ ไปมันจะออกมาแนว โลกทิพย์ + ต่วย’ตูนพิเศษน่ะ คือมีผีหลอกวิญญาณหลอนตามความเชื่อแบบไทย ๆ นาน ๆ ทีมันถึงจะมีหนังไซไฟออกมา

ส่วนหนังของ Apichatpong หลาย ๆ เรื่อง มันเหมือนมีความลี้ลับบางอย่างที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นความลี้ลับที่มีทั้งไสยาศาสตร์ + วิทยาศาสตร์ + ประเด็นการเมือง + จิตวิญญาณมนุษย์ผสมอยู่รวมกัน ซึ่งเราว่ามันเป็นอะไรที่เราชอบสุด ๆ อย่างในหนังเรื่องนี้ก็เห็นได้ชัด มันมีทั้งเรื่องคำสาปของชนเผ่า, ทั้งเรื่องมนุษย์ต่างดาว, ทั้งเรื่องการขุดค้นของนักโบราณคดี, ทั้งเรื่องพลังวิเศษของคนบางคน มันก็เลยเหมือนมีความเป็นนิตยสาร “มิติที่ 4” มาก ๆ คือมันมีความลี้ลับ แต่มันไม่ได้อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของโลกวิญญาณแบบเดียวกับหนังไทยไสยาศาสตร์เรื่องอื่น ๆ

6.ย้อนกลับไปที่ข้อ 4 +5 คือพอ MEMORIA ทำให้เรานึกถึง “คลื่นพลังงานลี้ลับ” ที่ดูมีทั้งความเป็นวิทยาศาสตร์ + ไสยาศาสตร์ผสมกัน มันก็เลยทำให้เรานึกถึงหนังเรื่องอื่น ๆ ของ Apichatpong ด้วย อย่างเช่น 001 6643 225 059 (1994) เพราะหนังเรื่องนี้ก็พูดถึง “คลื่นเสียง” ที่เกิดจากแม่ของเขาโทรศัพท์มาหาเขา ตัว “คลื่นเสียง” นี้มีความเป็นวิทยาศาสตร์ แต่หนังออกมาดูแล้วมีความเป็น horror ผสมอยู่ด้วย มันดูลี้ลับแปลก ๆ ราวกับมีความเป็นไสยาศาสตร์อยู่ด้วย และแน่นอนว่ามันมีจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์อยู่ในหนังด้วย

หรือหนังอย่าง LIKE THE RELENTLESS FURY OF THE POUNDING WAVES (1996, Apichatpong Weerasethakul) ก็ด้วย เพราะหนังเรื่องนี้พูดถึง “คลื่นวิทยุ” ซึ่งมีความเป็นวิทยาศาสตร์ แต่คลื่นวิทยุนี้พูดถึง “แม่ย่านาง” ซึ่งมีความเป็นไสยาศาสตร์ และหนังก็มีภาพคนต่าง ๆ ขณะที่เหมือนอยู่ในห้วงคำนึง (ถ้าหากเราจำไม่ผิด) ซึ่งนั่นก็เหมือนเป็นส่วนผสมของ “จิตวิญญาณความเป็นมนุษย์” ที่สอดแทรกอยู่ในหนังด้วย

เราก็เลยรู้สึกว่าส่วนผสมต่าง ๆ เหล่านี้ในหนังของ Apichatpong เป็นสิ่งที่น่าสนใจดี เหมือนเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งในหนังของเขาที่เราชอบสุด ๆ

7.ในฉากที่ Jessica กับ Hernan วัยกลางคนคุยกันเรื่อง UNDER THE BED เราเหมือนได้ยินเสียง vibration สั่นสะเทือนเล็กน้อยดังเป็นระยะ ๆ นะ ตามที่เราเคยเขียนไปแล้ว ซึ่งตอนแรกเราไม่แน่ใจว่ามันมาจาก MEMORIA หรือมันมาจากโรงข้าง ๆ ที่ฉาย BATMAN แต่พอฉากต่อ ๆ มา ตัวละครมันฟังวิทยุที่รายงานว่ามี tremor เกิดขึ้นในบริเวณนั้น เราก็เลยนึกว่ามันมาจาก MEMORIA และในช่วง ending credit เราก็เหมือนได้ยินเสียง vibration แบบนี้อยู่ด้วย

แต่พอเราเดินออกมาจากโรงพารากอนชั้น 6 แล้วเดินไปที่ชั้น 5 ตรงบริเวณใต้โรงหนัง PAVALAI เราก็เหมือนรับรู้ได้ถึง vibration ที่แรงมาก ๆ น่ะ ซึ่งอันนี้เราแน่ใจว่าคงมาจากพวกโรงหนังที่ฉาย BATMAN แน่นอน เราก็เลยไม่มั่นใจว่า ตกลง vibration ที่เราได้ยินในช่วงท้ายของ MEMORIA มันมีต้นกำเนิดเสียงมาจากไหนกันแน่ 55555

No comments: