Thursday, March 31, 2022

THE FAREWELL

 

ชอบการแสดงของ Mitsuko Baisho ใน IN THE WAKE (2021, Takahisa Zeze, A+30) มาก ๆ เราเพิ่งรู้จากรายการวิทยุ “แมวนอก” ของคุณอาทิตย์ พรหมประสิทธิ์ว่า เธอเคยเป็นนักร้องมาก่อนด้วย
https://www.youtube.com/watch?v=BySkfxJngWQ

 

สิ่งหนึ่งที่ติดใจสุด ๆ ใน RRR (2022, S. S. Rajamouli, India, A+30) คือ ending credits ที่มีการขึ้นรูปของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์อินเดียมาเยอะมาก ๆ ราว ๆ 10 คนได้มั้ง ซึ่งเราไม่รู้จักเลย 55555 เราก็เลยอยากรู้ว่า มีใครรู้ไหมว่ารูปบุคคลต่าง ๆ ที่ขึ้นมาในช่วง ending credits มีใครบ้าง เมื่อกี้เรา google ดูแล้ว ก็ดูเหมือนไม่มีใครเขียนอธิบายถึงประเด็นนี้เอาไว้

 

ประติมากรรมในช่วง ending credits ทำให้นึกถึงโซเวียตมาก ๆ ไม่รู้ใครคิดแบบเดียวกับเราบ้าง

 

แต่ถ้าใครยังไม่ได้ดูหนังเรื่องนี้ก็ห้ามดู ending credits นี้นะ เพราะมันเป็นการเล่าตอนจบพร้อมกับ ending credits ไปด้วยในขณะเดียวกัน มันคือการ spoil ตอนจบอย่างรุนแรง

 

อะไรคือการที่คนในโรงร้องกรี๊ดตอน Ajay Devgn โผล่มาใน ending credits 55555

https://www.youtube.com/watch?v=DfgG90FQLwo

 

 

ตอนเราดู RRR (2022, S.S. Rajamouli, A+30)  ที่โรงหนังในไอคอน สยาม หนังมีแต่ซับไตเติลภาษาอังกฤษนะ ไม่มีซับไตเติลภาษาไทย

 

แต่ปกติแล้วเวลาเราดูหนังอินเดียในโรงหนังเครือเมเจอร์ เราพยายามไม่อ่านซับไทยอยู่แล้วล่ะ เพราะมันแปลตลกมาก ๆ ตลกจนบางครั้งเรากะว่าจะตีตั๋วรอบสองเพื่อเข้าไปเพ่งสมาธิอ่านแต่ซับไทยโดยเฉพาะ เพื่อความขำขัน

 

คือก่อนหน้านั้นเราเพิ่งดู BACHCHHAN PAANDEY (2022, Farhad Samji, India, A-) ที่โรงพารากอนไป ซึ่งหนังมีขึ้นทั้งซับไตเติลภาษาอังกฤษและภาษาไทย แล้วพอซับไตเติลภาษาอังกฤษมันขึ้นว่า “Right” ซึ่งตามบริบทมันต้องแปลว่า “ใช่” แต่ซับไตเติลภาษาไทยมันจะขึ้นว่า “สิทธิ” หลายครั้งมาก ๆ สลับกับขึ้นว่า “ขวา” คือประมาณว่าตัวละครพูด RIGHT ประมาณ 30 ครั้ง ซี่งต้องแปลว่า “ใช่” ประมาณ 30 ครั้ง แต่ซับไตเติลภาษาไทยแปลว่า “สิทธิ” ประมาณ 15 ครั้ง และแปลว่า “ขวา” ประมาณ 15 ครั้ง อะไรทำนองนี้ ฮามาก ๆ เราก็เลยกะว่าบางทีเราต้องตีตั๋วเข้าไปดูรอบสองเพื่ออ่านซับไทยเพื่อความขำขัน

 

จริง ๆ ไอเดียนี้เหมาะเอามาทำเป็นหนังทดลองมาก ๆ นะ 55555

 

ส่วนที่เราให้ BACHCHHAN PAANDEY แค่ A- ไม่ได้เป็นเพราะหนังไม่ดีนะ จริง ๆ แล้วเราว่าหนังโอเคมาก ๆ สำหรับเราเลยแหละ แต่เรามักจะมีปัญหากับหนังตลกร้ายน่ะ คือเราเป็นคนที่มักจะอินกับ “ความเจ็บปวด” ของตัวละคร แต่หนังตลกร้ายมันจะไม่ค่อยแคร์ความเจ็บปวดของตัวละคร เราก็เลยเหมือนมีปัญหาในการจูนให้เข้ากับหนัง genre นี้มาก ๆ

 

โดยในช่วงต้นของ BACHCHHAN PAANDEY นั้น พระเอกจับนักข่าวที่กล้าเขียนตีแผ่ความเลวร้ายไปเผาทั้งเป็น ซึ่งเราว่ามันเป็นพฤติกรรมที่เราให้อภัยไม่ได้น่ะ คือถึงแม้พระเอกจะกลับตัวกลับใจหรืออะไรทำนองนี้ในภายหลัง เราก็อินกับความเจ็บปวดของนักข่าวผู้ผดุงความยุติธรรมไปแล้ว เราก็เลยเหมือนทำใจยอมรับหนังเรื่องนี้ไม่ได้ ถึงแม้หนังมันจะมีส่วนที่เราชอบส่วนอื่นๆ เยอะมากก็ตาม

---

ONCE UPON A TIME IN BANGKOK, THERE USED TO BE CINEPHILIC HEAVENS CALLED “INTERNATIONAL FILM FESTIVALS”. (รำลึกถึงหนังที่ชอบสุด ๆ ที่เคยดูในเทศกาลภาพยนตร์ของพี่วิคเตอร์ เกรียงศักดิ์ ศิลากอง)

 

3.THE FAREWELL (BERTOLT BRECHT’S LAST SUMMER) (2000, Jan Schütte, Germany)

 

เราได้ดูหนังเรื่องนี้ในเทศกาลภาพยนตร์ Bangkok International Film Festival ในปี 2003 ที่พี่วิคเตอร์เป็น programmer ถ้าจำไม่ผิด เราได้ดูหนังเรื่องนี้ที่โรงภาพยนตร์ในห้าง Siam Discovery

เราว่าหนังเรื่องนี้เหมาะฉายควบกับ THE LIVES OF OTHERS (2006, Florian Henckel von Donnersmarck) และ BARBARA (2012, Christian Petzold) มาก ๆ เพราะหนังทั้งสามเรื่องสะท้อนความเลวร้ายของระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ในเยอรมันตะวันออกเหมือนกัน แต่หนังทั้งสามเรื่องนี้นำเสนอความเลวร้ายนี้ใน level ที่ต่างกัน คือ THE LIVES OF OTHERS มุ่งไปที่ประเด็นนี้อย่างจริงจัง เป็น “หนังการเมือง” ที่ประเด็นชัด ๆ เต็ม ๆ แต่ BARBARA นั้นมีทั้งความเป็นหนังการเมือง และนำเสนอชีวิตของนางเอกในฐานะมนุษย์ไปด้วย คือเรารู้สึกเหมือนกับว่า BARBARA เป็นหนังการเมือง 50% และเป็นหนังชีวิตมนุษยนิยม 50% น่ะ ประเด็นการเมืองไม่ได้เป็นส่วนผสมของหนังในระดับ 80% แบบใน THE LIVES OF OTHERS

 

ส่วน THE FAREWELL นั้น เหมือนเป็นหนังชีวิตประจำวันของตัวละครราว 75% และมีความเป็นหนังการเมืองเพียงแค่ราว 25% แต่พอประเด็นการเมืองในหนังเรื่องนี้มันแผลงฤทธิ์ มันก็แผลงฤทธิ์ได้อย่างรุนแรงเจ็บปวดจนเราไม่สามารถลืมหนังเรื่องนี้ได้ลงเลยตลอดเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา เราก็เลยคิดว่า THE FAREWELL อาจจะเป็นอะไรที่น่าสนใจสำหรับคนที่อยากทำหนังการเมืองในไทย แต่ไม่อยากทำหนังการเมืองแบบข้นคลั่ก ทุกสิ่งทุกอย่างในหนังถูกออกแบบมาเพื่อรับใช้ประเด็นทางการเมืองไปหมด เพราะ THE FAREWELL มันเหมือนสะท้อนชีวิตมนุษย์ที่มีหลากหลายแง่มุม ทั้งเรื่องรักโลภโกรธหลง, เพื่อนฝูง, คนรัก, ศิลปะ, ความงดงามของก้อนเมฆที่เคลื่อนคล้อยไปมา (หรืออะไรทำนองนี้)  และก็มีแง่มุมการเมืองด้วย คือการเมืองเหมือนเป็นมลพิษในอากาศ มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าได้ชัด ๆ แต่รู้ได้ว่ามันมีอยู่ แต่ไม่รู้ว่ามันจะเล่นงานเราจนเจียนตายได้เมื่อไหร่ เราก็เลยคิดว่าการทำหนังแบบ THE FAREWELL เป็นอีกวิธีนึงในการทำหนังที่น่าสนใจดี คือมัน สอดแทรกประเด็นทางการเมืองเข้ามา “เพียงเล็กน้อย แต่เจ็บปวด, ร้าวราน, ทรงพลัง และลืมไม่ลง” มาก ๆ

 

ชอบไอเดียอีกอย่างใน THE FAREWELL ด้วย คือมันนำเสนอชีวิตของ Bertolt Brecht เพียงแค่ 1 วันเท่านั้น แต่ภายใน 1 วันนี้ มันก็สะท้อนอะไรได้เยอะมาก ๆ แล้ว โดยไม่ต้องอาศัยดราม่ามากมายอะไรเลยด้วย

 

ดูแล้วก็เจ็บปวดมาก ๆ เพราะถ้าเราเข้าใจไม่ผิด Bertolt Brecht ก็ถือเป็น Marxist คนนึง เพราะฉะนั้นในช่วงที่นาซียึดครองเยอรมนี เขาก็เลยต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศ แต่พอเขาไปอยู่อเมริกา เขาก็ถูกทางการอเมริการังควาน เขาก็เลยย้ายไปอยู่เยอรมันตะวันออก แต่เขาก็ต้องได้รับเภทภัยในบางรูปแบบภายใต้ระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์อยู่ดี ถึงแม้เขาเป็น Marxist ก็ตาม

 

เป็นหนังเรื่องนึงที่ดูแล้วก็ต้องบอกว่า “นี่แหละ ชีวิต” เหมือนหนังมันนำเสนอหลากหลายแง่มุมของชีวิตมนุษย์ผ่านทางชีวิตของตัวละครเพียงแค่ 1 วันได้อย่างงดงามและเจ็บปวดสุด ๆ

No comments: