Thursday, March 09, 2023

KORO (2022, Karan Wongprakarnsanti, short film, A+30)

KORO (2022, Karan Wongprakarnsanti, short film, A+30)

SPOILERS ALERT

--

--

--

--

--

--

--

--

--

---

--

1.ชอบหนังอย่างรุนแรง รู้สึกเหมือนหนังของคุณ Karan เปลี่ยนแปลงไปในทางที่เราชอบสุดๆ เพราะก่อนหน้านี้เราจะชอบหนังของคุณ Karan มาก ๆ ในแง่ "ประเด็นที่หนังพูดถึง" แต่วิธีการนำเสนอของหนังอาจจะไม่ได้มีความพิศวงอะไรมากนัก

 

แต่เรื่องนี้เหมือนคุณ Karan เล่นท่ายากขึ้นกว่าเดิมเป็นอย่างมาก ซึ่งผลที่ออกมาก็เข้าทางเรามาก ๆ เช่นกัน เราชอบเนื้อหาของหนังเรื่องนี้มาก ๆ ที่เป็นการตั้งคำถามต่อบทบาทของเพศชายเพศหญิงที่เคยถูกสังคมยุคโบราณเข้าไปตีกรอบไว้ และบางคนก็ยังคงยึดถือกับบทบาทสมมุตินั้นอยู่ในโลกยุคปัจจุบัน แต่นอกจากเนื้อหาของหนังเรื่องนี้จะน่าสนใจมาก ๆ แล้ว วิธีการนำเสนอของหนังก็น่าสนใจมาก ๆ ด้วย เพราะมันมีความพิศวงบางอย่าง อย่างเช่น

 

1.1 ฉากที่นางเอกเล่าถึงความฝันของตนเอง ซึ่งการใส่อะไรแบบนี้เข้ามาเป็นสิ่งที่เข้าทางเรามาก ๆ เพราะมันเหมือนช่วยเพิ่มมิติความพิศวงอะไรบางอย่างเข้ามา ในแบบที่เราไม่สามารถอธิบายด้วยเหตุผลได้ แต่รู้สึกได้ว่ามันใช่มาก ๆ หรือมันสอดคล้องกับหนังเรื่องนี้มาก ๆ

 

1.2 การที่อวัยวะเพศของพระเอกเปลี่ยนไป ซึ่งเป็นสิ่งที่พิสดารมาก ๆ เช่นกัน

 

1.3 การที่นางเอกรวยขึ้นอย่างแทบไม่น่าเชื่อ

 

คือเราชอบมาก ๆ ที่หนังมันใส่ทั้ง 1.1, 1.2, 1.3 เข้ามาโดยไม่ต้องคำนึงถึง “ความเป็นจริง” อะไรมากนัก, ไม่ต้องหาเหตุผลมาอธิบายว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร และไม่ต้องอธิบายว่า “มันเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงอะไร”  แต่สิ่งเหล่านี้มันเข้ากับตัวหนังอย่างมาก ๆ

 

2.จริง ๆ แล้วตอนที่เราดูหนังเรื่องนี้ เรานึกถึงทฤษฎีของตนเองที่ว่า “บางทีผู้สร้างงานศิลปะบางคนก็สื่อกระแสจิตถึงกันได้โดยไม่รู้ตัว” 55555

https://web.facebook.com/photo/?fbid=10224847974130010&set=a.10221574828503415

 

เพราะว่า หนังเรื่องนี้ กับ POPURAN (2022, Shinichiro Ueda) ที่ออกฉายในปีเดียวกัน มันมีจุดคล้ายกันอย่างน่าสนใจ นั่นก็คือการที่อวัยวะเพศชายของพระเอกหายไปโดยไม่มีสาเหตุ และหนังทั้งสองเรื่องนี้มันใช้เหตุการณ์ดังกล่าวในการสำรวจ “ความเป็นชาย” ของพระเอก

 

3.แต่เราชอบ KORO มากกว่า POPURAN นะ และถึงแม้หนังทั้งสองเรื่องนี้จะมีจุดที่ตรงกันข้างต้น หนังทั้งสองเรื่องนี้ก็มีความแตกต่างกันมาก ๆ และเราว่าความแตกต่างกันนี้น่าสนใจดี เพราะว่าใน POPURAN นั้น พระเอกเป็นคนที่ “ประสบความสำเร็จสูงมากในหน้าที่การงาน” เพราะฉะนั้นเขาก็เลยอยู่ในสถานะที่เรียกได้ว่า ตรงกันข้ามกับพระเอกของ KORO ที่เป็นคนตกงานในช่วงโควิด และอยู่ในสถานะที่อาจจะถูกคนบางคนในสังคมเรียกในเชิงดูถูกเหยียดหยามว่า “เกาะเมียกิน”

 

มันก็เลยน่าสนใจดีที่ไม่ว่าจะเป็น “ผู้ชายที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และมีฐานะดี” หรือ “ผู้ชายที่ตกงาน และต้องพึ่งพาเงินจากภรรยา” ผู้ชายทั้งสองกลุ่มนี้ก็ยังคง “บกพร่องในความเป็นชาย” อยู่ดี แต่ความบกพร่องในความเป็นชายใน POPURAN นั้น มันเหมือนกับเป็นมุมมองของ “ผู้กำกับ/พระเจ้า” ที่มองไปยังตัวละครพระเอก และมองว่า พระเอกบกพร่องในความเป็นชาย (หรือบางทีอาจจะบกพร่องในความเป็นมนุษย์) เพราะพระเอกทำไม่ดีกับเมียเก่า, ลูก และคนในครอบครัว เพราะฉะนั้นถึงแม้คุณจะประสบความสำเร็จในการทำงานและมีฐานะดี คุณก็ยังไม่ใช่ผู้ชายเต็มตัวอยู่ดี เพราะคุณ treat คนในครอบครัวแย่มาก ๆ

 

แต่ในกรณีของ KORO นั้น มันเหมือนกับเป็นมุมมองที่ “พระเอกมองตัวเอง” ว่าตัวเองบกพร่องในความเป็นชายมากกว่า คือเหมือนพระเอกของ KORO ยึดติดกับค่านิยมยุคโบราณมากเกินไป ที่ตัวเองต้องเป็นฝ่ายหาเลี้ยงภรรยา หรือหาเงินได้มากกว่าภรรยา, ผู้ชายต้องไม่ทำงานบ้าน, ผู้ชายต้องกินเหล้า สูบบุหรี่, etc. เพราะเรามองว่าการที่พระเอก “ตกงาน” ไม่ใช่สิ่งผิด และการที่พระเอกต้องพึ่งพาเงินของภรรยา ก็ไม่ใช่สิ่งผิด เพราะมันเป็นช่วง COVID การตกงานของพระเอกไม่ได้เกิดจากการที่พระเอกขี้เกียจ สิ่งที่เรามองว่าพระเอกทำผิด ก็คือการไม่ช่วยภรรยาทำงานบ้าน, การแคร์ขี้ปากคนอื่นมากเกินไป, etc.

 

เราก็เลยรู้สึกว่า ความเหมือนและความต่างระหว่าง POPURAN กับ KORO มันน่าสนใจดี เพราะหนังทั้งสองเรื่องนี้พูดถึง ผู้ชายที่บกพร่องใน “ความเป็นชาย/ความเป็นมนุษย์” เหมือนกัน แต่เราว่าประเด็นใน POPURAN มันไม่น่าสนใจเท่า KORO เพราะทุกคนก็น่าจะรู้ดีอยู่แล้วว่า “ผู้ชายที่ปฏิบัติแย่ ๆ กับเมียและลูก” ไม่ใช่ “คนดี” ถึงแม้เขาจะรวยก็ตาม เพราะฉะนั้น POPURAN ก็เลยเหมือน “สอนผู้ชมในสิ่งที่เราเองก็รู้ดีอยู่แล้ว”

 

แต่ KORO มันน่าสนใจกว่า เพราะมันกระตุ้นให้ผู้ชมตั้งคำถามต่อ “ค่านิยมของสังคม” โดยเฉพาะค่านิยมจากยุคโบราณ ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในยุคปัจจุบัน และหนังมันทำให้เรารู้สึกว่า สิ่งที่พระเอก/ผู้ชายดี ๆ ควรทำ ก็คือการไม่ยึดติดกับค่านิยมเหล่านั้น พระเอกไม่ควรจะแคร์ที่ “คนอื่น ๆ” มองว่าตัวเองต้องพึ่งพาเงินของภรรยา เพราะมันเป็นเรื่องจำเป็น, พระเอกไม่ควรจะยึดติดกับค่านิยมที่ว่า “การทำงานบ้านเป็นเรื่องของผู้หญิง”, etc. คือเหมือน “ตัวร้าย” ของ KORO มันคือ “ค่านิยมของสังคม” มันก็เลยน่าสนใจสำหรับเรา ในขณะที่ตัวร้ายของ POPURAN มันคือ “นิสัยเหี้ย ๆ ของพระเอก” ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าสนใจสำหรับเรามากนัก

 

4.ชอบที่ love scene มีความสำคัญกับหนังเรื่องนี้ด้วย ทั้งฉากต้นเรื่องที่พระเอกมีอาการหลั่งเร็ว ซึ่งอาจจะเป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้เขาสูญเสียความเชื่อมั่นในตนเอง และฉาก love scene ในช่วงท้ายเรื่อง ที่บทบาทของผู้หญิงกับผู้ชายเหมือนจะสลับกัน ซึ่งเราว่าฉากหลังนี้คลาสสิคมาก ๆ สามารถเทียบได้กับฉากคลาสสิคในช่วงท้ายของหนังเรื่อง ODETE (2005, João Pedro Rodrigues, Portugal) เลย

 

5.พอดู KORO แล้วก็เลยทำให้เรานึกถึงหนังเรื่องอื่น ๆ ที่เคยดูอีกหลายเรื่องด้วย เพราะเหมือนทั้ง KORO และหนังเรื่องอื่น ๆ บางเรื่อง ทำให้เรามองว่า เหมือนผู้ชายหลาย ๆ คนจะยึดติดกับ “การทำงาน” ในระดับที่รุนแรงมาก ๆ น่ะ คือเหมือนกับเขามองว่า “หน้าที่การงาน” คือ “คุณค่า” หลักของตัวเขา และถ้าหากเขา “ตกงาน” เมื่อไหร่ เขาก็จะมองว่า “คุณค่า” ของตนเองหายไปอย่างรุนแรงมาก ๆ ด้วย

 

ซึ่งเราไม่เป็นแบบนั้นนะ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราไม่ได้มองว่าตัวเองเป็น “ชายแท้” หรือเปล่า 5555 คือเราสนแค่ “เงิน” น่ะ แต่ไม่ได้สน “การทำงาน” เพราะฉะนั้นความใฝ่ฝันของเราคือการที่เรา “มีเงินมากพอ โดยไม่ต้องทำงาน” คือที่กูทำงานงก ๆ ๆ เหนื่อยแทบขาดใจ หาเวลาว่างไม่ได้เลยนี่ เป็นเพราะกูจน คือกูไม่ได้ทำงาน เพราะ “การทำงานคือ คุณค่า ของตัวกู” แต่กูทำงาน เพราะกูจนค่ะ คือถ้ากูไม่จน กูรวยมากพอ กูก็ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะไม่ต้องทำงานเพื่อหาเงินอีกต่อไป

 

คือ KORO ทำให้เรานึกถึงหนังที่พูดถึง “ความสัมพันธ์ทางจิตวิทยา ระหว่างผู้ชาย กับการทำงาน” อยางเช่น

 

5.1 TIME OUT (2001, Laurent Cantet) (และ THE ADVERSARY) ที่ได้แรงบันดาลใจจากคดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญจริงๆ ของผู้ชายคนนึงที่หลอกคนอื่นๆมานานหลายปีว่าเขาทำงานที่ WHO แต่พอคนอื่นๆใกล้จะรู้ความจริง เขาก็เลยฆ่าภรรยา, ลูกๆ และพ่อแม่ของตัวเอง ก่อนที่เขาจะพยายามฆ่าตัวตาย

http://www.hedmarkreviews.com/2008/06/ladversaire-living-a-lie/?fbclid=IwAR1N2vFnnYKlwhmDNAkbVbn2hq07s8sBfYaAg0p9B4syForCc89s45h4GAc

 

คือเราคิดว่า สำหรับคนบางคนนั้น “มุมมองที่คนในครอบครัว มองเขา โดยเฉพาะมองว่าเขาเป็นคนที่มีงานดีๆ ทำ” มันเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อคนคนนั้นในระดับที่รุนแรงมากน่ะ และพอเขาสูญเสียสิ่งนี้ไป มันก็เลยทำให้เขากลายเป็นฆาตกรโรคจิตที่ฆ่าคนจำนวนมากน่ะ ซึ่งไม่เหมือนกับคนอีกหลาย ๆ คน ที่ไม่ได้แคร์ว่า คนในครอบครัวจะมองเราว่าอย่างไร

 

5.2 35 SHOTS OF RUM (2008, Claire Denis) ถ้าจำไม่ผิด ในหนังเรื่องนี้มีตัวละครชายคนหนึ่ง ที่น่าจะเกษียณจากการทำงานในระบบรถไฟตอนอายุราว 60 ปีหรืออะไรทำนองนี้ แต่พอเขาเกษียณ เขาก็ฆ่าตัวตายไปเลย ซึ่งเป็นอะไรที่น่าสนใจมาก คือเขาไม่ได้ฆ่าตัวตาย เพราะมีปัญหาทางการเงิน คือถึงเขาเกษียณแล้ว เขาก็คงมีเงินเก็บ มีเงินพอยังชีพอยู่ แต่มันเหมือนกับว่า พอเขาไม่ได้ทำงานแล้ว เขาก็ไม่มีสิ่งใดที่สำคัญจริง ๆ ต่อจิตใจของเขาหลงเหลืออยู่อีกต่อไปน่ะ

 

5.3 THE FULL MONTY (1997, Peter Cattaneo, UK) ที่มีตัวละครผู้ชายบางคนไม่กล้าบอกภรรยาว่าตัวเองตกงาน และหนังก็เหมือนสำรวจบทบาทความเป็นชายและมุมมองจากสังคมด้วย

 

5.4 THE INVISIBLE (2020, Gracia Querejeta, Spain) ถ้าจำไม่ผิด ในหนังเรื่องนี้มีตัวละครประกอบเป็นผู้ชายที่ตกงานมานานหลายเดือน แต่ไม่กล้าบอกเมียว่าตัวเองตกงานเหมือนกัน

 

เพราะฉะนั้นพอเราดู KORO แล้ว เราก็เลยชอบมาก ๆ เพราะถึงแม้ KORO จะทำให้เรานึกถึงหนังในกลุ่มข้างต้น ที่พูดถึง “ความสัมพันธ์ทางจิตวิทยา ระหว่างผู้ชาย กับการทำงาน” เหมือนกัน KORO ก็เหมือนสำรวจประเด็นของตนเองในแง่มุมที่แตกต่างจากหนังกลุ่มข้างต้นด้วย

 

นอกจากนี้ KORO ก็ทำให้เรานึกถึงหนังที่พูดถึง “บทบาทความเป็นชาย /เป็นหญิง โดยเฉพาะในมุมมองของสังคม” เรื่องอื่น ๆ ด้วย อย่างเช่น

 

5.5 WOMAN ON TOP (2000, Fina Torres)

 

5.6 FORCE MAJEURE (2014, Ruben Östlund, Sweden)

 

5.7 TRIANGLE OF SADNESS (2022, Ruben Östlund, Sweden) ในองก์แรกของหนัง

 

6. ตอนจบของ KORO ก็พิศวงดีสำหรับเรา ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าตอนจบของหนังเรื่องนี้หมายความว่าอะไร แต่เรานึกถึงมันในสองแง่

 

6.1 พระเอกอาจจะอยาก “อ้วก” เพราะเขายอมรับไม่ได้ที่ตนเองมีสถานะเหมือนเป็น “ผู้หญิง”

 

6.2 พระเอก “แพ้ท้อง” 55555

 


No comments: