Sunday, July 30, 2006

monologue/dialogue

Monologue/Dialogue
นิทรรศการทัศนศิลป์สานสัมพันธ์ไทย-อังกฤษ
ตลอดเดือนสิงหาคม 2549
บริติช เคานซิล ร่วมกับหอศิลปมหาวิทยาลัยกรุงเทพ หอศิลปวิทยนิทรรศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ 100 ต้นสนแกเลอรี่ ขอเชิญท่านชม Monologue/Dialogue นิทรรศการทัศนศิลป์จากอังกฤษและไทย แสดงผลงานศิลปินร่วมสมัยในวงการศิลปะร่วมสมัยไทยและอังกฤษ ตลอดเดือนสิงหาคม 2549 นี้
ณ หอศิลปวิทยนิทรรศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 100 ต้นสนแกเลอรี่ และหอศิลปมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ด้วยการสนับสนุนจากโรงพยาบาล BNH
ชมการแสดงผลงานออกแบบอันเลื่องชื่อของ Damien Hirst ศิลปินรุ่นใหม่ที่เขย่าวงการศิลปะให้ฮือฮาทุกครั้งที่นำผลงานออกแสดงกับผลงานชุด The Last Supper ที่พลิกมุมมองการรับรู้ของคน ร่วมด้วยการจัดแสดงผลงานชั้นยอดจากศิลปินชาวอังกฤษ อาทิ Douglas Gordon Luke Fowler Stephen Sutcliffe Szuper Gallery และ Carey Young
ภายใต้ Monologue/Dialogue แบ่งออกเป็น Monologue นำเสนอ 3 นิทรรศการงานทัศนศิลป์ 3 สไตล์
ณ 3 แกเลอรี่ จากอังกฤษสู่เมืองไทย และ Dialogue ที่เปิดโอกาสให้ 3 ศิลปินไทย และ 3 ศิลปินอังกฤษ ในโครงการ artists-in-residence แลกเปลี่ยนความคิดและเรียนรู้และนำเสนอผลงาน ณ หอศิลปมหาวิทยาลัยกรุงเทพ
Monologue
The Last Supper
ผลงานโดย Damien Hirst
4-27 สิงหาคม ณ 100 ต้นสน แกเลอรี่
Damien Hirst หนึ่งในศิลปินชื่อดังที่คว้ารางวัลคุณภาพอย่าง Turner Prize ประจำปี 1995 และเป็นศิลปินที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงทั่วอังกฤษและยุโรปโดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่
ผลงานชุด The Last Supper ประกอบด้วยภาพพิมพ์จำนวน 13 ภาพ ขนาด 152.5 x 101.5 เซนติเมตร ที่ลอกเลียนแบบดีไซน์จากเวชภัณฑ์ต่างๆ Hirst ใช้สีโทนที่ชวนให้คนดูต้องนึกว่าเป็นยามากกว่าจะเป็นอย่างอื่นได้ เขาได้รับแรงบันดาลใจในการผลิตผลงานที่ท้าทายการรับรู้ของคนชุดนี้มาจากแค็ตตาล็อกโฆษณาเวชภัณฑ์ต่างๆ นั่นเอง
ข้อมูลเกี่ยวกับอาหารและปริมาณของผลิตภัณฑ์ถูกพิมพ์โดยใช้ชื่อเหมือนเวชภัณฑ์บนบรรจุภัณฑ์ของอาหารที่คนอังกฤษทั่วไปนิยมบริโภค เช่น Beans Chips และ Cornish Pasty ศิลปินจู่โจมเข้าท้าทายการรับรู้ของผู้คน สร้างความสงสัยว่าอาหารเหล่านั้นจะมีขายในร้านขายยาด้วยหรือเปล่า
การดัดแปลงง่ายๆ นี้เปิดสู่คำถามหลายหลากเกี่ยวกับธรรมชาติของความเชื่อมั่นในองค์กรใหญ่ๆ และความศรัทธาอย่างไม่ลืมหูลืมตาในยาที่จะช่วยบรรเทารักษาความเจ็บปวดทางร่างกายของคนเราได้ของผู้คนในสังคมปัจจุบัน
ทั้งศรัทธาและความเชื่อในศาสนาต่างถูกปลุกขึ้นโดยการจัดสรรทางโครงสร้างทางความคิดอย่างลงตัวในผลงาน The Last Supper ของ Damien Hirst 13 ภาพพิมพ์นำเสนอ 13 ผู้ร่วมโต๊ะอาหาร ชื่อเรื่องนั้นได้แนะนำถึงโภชนาการเพื่อร่างกายและจิตใจ ควบคู่ไปกับการย่อยสลายและความตาย ซึ่งเป็นสาระหลักในงานของ Hirst และนี่คือ 13 ภาพพิมพ์ร่วมสมัยซึ่งแสดงแนวคิดแหวกจากธรรมเนียมที่ผู้คนยึดถือโดยนำมาเล่นกับการผลิตสินค้าและโลกแห่ง การค้าในยุคนี้
Damien Hirst
Damien Hirst เกิดเมื่อปี 1965 ในเมืองบริสตอล สหราชอาณาจักร เขาได้รับปริญญาด้านศิลปะจาก Goldsmith's College มหาวิทยาลัยลอนดอน ในปี 1989 เขาให้เหตุึผลในการเลือกเรียนสาขานี้ว่า มันไม่จำกัดเฉพาะการวาดภาพ หรือประติกรรมกรรมเท่านั้น แต่มันเกี่ยวกับศิลปะหลากหลายซึ่งตรงตามที่เขาต้องการ
Damien Hirst คว้ารางวัลคุณภาพอย่าง Turner Prize ประจำปี 1995 เขาเป็นศิลปินรุ่นใหม่ที่เขย่าวงการศิลปะให้ฮือฮาทุกครั้งที่เขานำผลงานออกแสดง และยังเป็นศิลปินที่สะท้อนสังคมในยุคของเขา ในขณะที่เขาดูเหมือนจะเป็นพวกหัวรุนแรงในทัศนะของหลายต่อหลายคน แต่ในโลกของศิลปะเขากลับเป็นส่วนหนึ่งของสถาบัน เขามักจะทำงานกับสิ่งที่มีอยู่แล้ว สิ่งที่ทำให้ช็อค และเสียดสี เพื่อที่จะนำเสนอแง่คิด และกระตุ้นให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ไปในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นการค้นหาขอบเขตใหม่ๆให้ข้ามไป ซึ่งเป็นการตอกย้ำแก่แฟนๆ ของเขาถึงความเป็นพวกหัวรุนแรง และที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือการตอกย้ำถึงความแตกต่างทางสังคมระหว่าง ผู้รู้และพวกไม่รู้ Damien Hirst และเป็นศิลปินที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงทั่วอังกฤษและยุโรปโดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่
ผลงานของเขาได้จัดแสดงในหลายนิทรรศการรวมศิลปิน อาทิYoung British Artists (Saatchi Gallery, 1992) Sensation (Royal Academy of Arts, 1997) และนิทรรศการแสดงผลงานเดี่ยวของเขา ได้แก่ Theories, Models, Methods, Approaches, Assumptions, Results and Findings ที่ Gagosian Gallery ในนิวยอร์ก เมื่อปี 2000 Damien Hirst เป็นศิลปินที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงทั่วอังกฤษและยุโรปโดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่
Electric Earth: Film and Video from Britain
ผลงานโดย Adam Chodzko, Volker Eichelmann & Roland Rust, Folk Archive, Luke Fowler, Rob Kennedy, Torsten Lauschmann, Mark Leckey, Hilary Lloyd, Oliver Payne & Nick Relph, Paul Rooney, Stephen Sutcliffe, Szuper Gallery, Wolfgang Tillmans, Mark Titchner และ Carey Young
7 สิงหาคม – 2 กันยายน ณ หอศิลปวิทยนิทรรศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Electric Earth เป็นนิทรรศการแสดงผลงานในรูปแบบวีดีทัศน์
ว่าด้วยวิถีการดำเนินชีวิตและความคิดความเชื่อที่แตกต่างของแต่ละคน
ผลงานของหลากหลายศิลปินหลากหลายแนวคิดได้หยิบยกเอาหลายสิ่งที่ถูกมองข้ามในสังคมที่มีผลต่อการตัดสินใจโครงสร้างสังคมได้ ศิลปินวางตนในฐานะ ‘ผู้กำกับ’ หรือ ‘ผู้อำนวยความสะดวก’ พยายามที่จะกระตุ้นให้ผู้คนไต่ถามถึงการมีส่วนร่วม โดยได้ค้นหาแนวทางที่เหมาะสมและล้มล้างพื้นฐานของอำนาจในเรื่องที่นำเสนออย่างเรียบง่าย ด้วยวิธีดังกล่าวนี้ ศิลปินใน Electric Earth ก้าวไปถึงเรื่องการขยายขอบเขตความเข้าใจระบบและรหัสทางสังคม โดยจัดวางตำแหน่งความคาดหวังของผู้ชมเสียใหม่
เรื่องราวที่ติดตามมาของนิทรรศการวิดีทัศน์ในกล่องดำที่ได้รับความนิยมนี้ Electric Earth ได้ก่อให้เกิดการถกเถียงในเรื่องการพัฒนาการเล่าเรื่องกระแสหลักและความเหมาะสมในการออกอากาศของศิลปะทางวิดีทัศน์ ซึ่งในยุคนี้ผู้คนสามารถสร้างศิลปะทางวิดีทัศน์และตัดต่อผ่านโปรแกรมได้จากคอมพิวเตอร์ที่บ้าน การบรรจบกันของโฆษณา สารคดี ภาพยนตร์กระแสหลัก และภาพยนตร์เชิงศิลปะ ก็เพิ่มมากขึ้น ศิลปินที่สร้างงานด้านวิดีทัศน์ทุกวันนี้กำลังหันเหงานงดงามน่าชื่นชมแนวแกเลอรี่สู่การประยุกต์งศิลปะเข้ากับโครงสร้างทางสังคมและโฆษณา
Electric Earth จัดฉายบนจอสไตล์โรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ 3 จอและ 2 จอมอนิเตอร์ขนาดย่อม เพื่อพาคุณเดินทางเยี่่ยมชมโลกแห่งการค้า แฟชั่น วัยรุ่น ชีวิตใต้แสงไฟและเสียงดนตรียามค่ำคืน การฟื้นฟูสภาพจิตใจ ศรัทธาแห่งศาสนา ไร้ความหวังกับการงาน การเชื่อมโยงของข้อมูลข่าวสารของชีวิตในศตวรรษที่ 21
10MS-1 Exhibition
โดย Doglas Gordon
7 สิงหาคม – 2 กันยายน
ณ หอศิลปวิทยนิทรรศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Douglas Gordon ศิลปินที่ได้รับรางวัลจากเวที Turner Prize ประจำปี 1996
มีพรสวรรค์ในการสร้างงานศิลป์ผ่านสื่อแขนงต่างๆ รวมทั้งภาพถ่ายและงานประติมากรรม ตลอดจนงานเขียนหลากหลายแนว
1ms-10 เป็นการฉายภาพวิดีทัศน์บนจอขนาดใหญ่ footageภาพจากวีดิทัศน์คือ ส่วนที่ยกมาของภาพยนตร์ด้านการแพทย์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่บันทึกภาพความพยายามของผู้ชายคนหนึ่งที่ได้รับบาดเจ็บทางจิตใจและพยายามที่จะลุกขึ้นยืนใหม่อีกครั้ง ในฉากแรกจะเห็นชายคนนี้ยืนอยู่หลังจอและค่อยๆ ล้มลงบนพื้น ทั้งเนื้อทั้งตัวเขาสวมใส่เพียงกางเกงใน ดูจากภายนอกเขาน่าจะมีร่างกายและกล้ามเนื้อที่แข็งแรงน่าจะพยุงตนเองให้ลุกขึ้นยืนได้ เขาพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าที่จะยกตัวเองให้ลุกขึ้นจากพื้น แต่แล้วก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า สภาพทางร่างกายที่ดูสมบูรณ์แข็งแรงของเขากลับไร้ความสามารถที่จะทำสิ่งง่ายๆ อย่างการยืนด้วยเท้าของเขาเองกลายเป็นเรื่องน่าสะเทือนใจมากขึ้น Gordon ดึงภาพให้ช้าลงและต่อเข้าเป็นวงจรที่ไม่มีที่สิ้นสุด กักขังชายผู้บอบช้ำให้ถูกฉายซ้ำความล้มเหลวแห่งความพยายามกับการต่อสู้กับร่างกายของตนเองซ้ำไปซ้ำมา
ช่วงกลางทศวรรษ 1990 Gordon ได้สร้างสรรค์ผลงานที่เกี่ยวกับการฉายภาพซึ่งเขาได้จัดการปรับเปลี่ยนและนำเสนอบนจอภาพขนาดใหญ่ ผลงานที่เป็นที่กล่าวขวัญถึงมากที่สุดก็คือ การที่เขานำภาพยนตร์เรื่อง Psycho ของราชาภาพยนตร์สยองขวัญ อัลเฟรด ฮิทช์คอก มายืดให้ยาวนานถึง 24 ชั่วโมง หรือที่รู้จักกันในชื่อผลงานว่า 24 Hour Psycho (1993) เขาสร้างงานหลายชิ้นที่นำมาจากภาพยนตร์ทางการแพทย์ซึ่งถ่ายทำการทำงานที่ผิดปกติของจิตใจ Hysterical (1994-5) เป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์สาธิตทางการแพทย์ในปี 1908 ที่นำเอาเทคนิคจากการรักษาโรคฮิสทีเรียในผู้หญิง ภาพจาก 10ms-1 ซึ่งบันทึกเรื่องราวของอาการที่เกิดขึ้นจริงจากความชอกช้ำจากสงคราม หรือที่รู้จักกันว่า 'shell shock' บันทึกการแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดของสิ่งที่ต่อมารู้จักกันในนามโรคฮิสทีเรียใน ผลงานของ Gordon ได้ล้วงลึกถึงกลไกการรับรู้ทั้งทางร่่างกายและจิตใจ งานหลายชิ้นของเขาได้รับการผลิตขึ้นจากการนำภาพยนตร์มาแยกส่วนผ่านการลดความเร็วและการฉายภาพบนจอขนาดใหญ่ บางครั้งก็มากกว่าหนึ่งจอ เพื่อที่จะดึงดูดความสนใจของผู้ชมให้อยู่กับรายละเอียดที่เคยถูกมองข้าม
เทคนิคเหล่านี้ท้าทายการประกอบสร้างความหมายผ่านความจำและความสัมพันธ์ของผู้ชมทั้งทางร่างกายและจิตใจด้วยภาพเคลื่อนไหว Gordon กล่าวว่าเขา ‘สนใจในพื้นที่ที่ีการรับรู้ล่มสลาย หรือความจริงที่ว่าแท้จริงแล้วเราไม่รู้ว่ามันทำงานอย่างไรหรือเหตุใดมันถึงผิดปกติ'
ด้วยเทคนิคการดึงภาพให้เดินช้าลง เขามุ่งหวังที่จะเปิดเผย ‘มุมมองแห่งประสบการณ์ที่ติดตัวเราไปด้วยทุนหนทุกแห่งแต่เราอาจไม่ตระหนักว่ามันมีผลต่อการขัดเกลาการรับรู้ของเรา’
Douglas Gordon
ดักกลาส กอร์ดอนเป็นหนึ่งในศิลปินที่มีความสำคัญในยุคของเขา เขาได้รับรางวัลอันทรงเกียรติทางด้านศิลปะนั่นคือ “เทอร์เนอร์ไพรซ์” ในปี 1996 งานของกอร์ดอนใช้สื่อที่หลากหลายมาก ทั้งงานภาพถ่าย ประติมากรรม งานเขียน และอื่นๆอีกมากมาย ถึงกระนั้นวิธีการที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวในการจัดการกับภาพในงานจัดวางของเขา
กอร์ดอนเกิดที่กลาสโกว์ และเข้าศึกษาที่ โรงเรียนศิลปะในกลาสโกว์ ระหว่างปี ค.ศ. 1984-88 และมาศึกษาต่อที่ สเลด (Slade School of Art) แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอนระหว่างปี 1988-1996 และยังได้รับทุนให้ไปศึกษาต่อและทำงานในอีกหลายประเทศ อาทิ เยอรมันนี อิตาลี นิวยอร์ค
Dialogue
1-30 สิงหาคม ณ หอศิลปมหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ในเดือนมิถุนายนนี้ 3 ศิลปินจากอังกฤษ Andrew Stahl Eric Bainbridge และ Nathaniel Rackowe จะเดินทางมาสานสัมพันธ์ด้านงานศิลปะร่วมกับ 3 ศิลปินไทย อาจารย์สรรเสริญ มิลินทสูต อาจารย์นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ และสถิตย์ ศัสตรศาสตร์ เป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ เพื่อสรรค์สร้างภาพวาด งานปั้น ผสมผสานกับสื่อและวิธีการนำเสนอ ชิ้นงานจากการรวมพลังสร้างสรรค์เหล่านี้ผลิตขึ้นเป็นพิเศษเพื่อ Monologue/Dialogue โดยเฉพาะ
Andrew Stahl มีผลงานนิทรรศการแสดงอย่างกว้างขวางในประเทศอังกฤษ และต่างประเทศ ตั้งแต่ปี 1990 เขาได้รับรางวัลมากมาย และทุนในการมาทำงานในประเทศต่างๆ รวมทั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ในประเทศไทย Arts Council, British Council รวมทั้ง Museum of Art New York ต่างก็รวบรวมผลงานของเขาไว้ในงานสะสม
เร็วๆนี้ ผลงานของเขาก็ได้ออกนำแสดงใน ลอนดอน เยอรมันนี ไอร์แลนด์เหนือ และในประเทศไทย ซึ่งมีทั้งผลงานแสดงเดี่ยว และแสดงร่วมกับศิลปินชื่อดังของไทย ปัญญา วิจินธนสาร
จบการศึกษาจาก Slade School of Fine Art กรุงลอนดอน นิทรรศการผลงานเดี่ยวครั้งแรกของเขาจัดขึ้นที่ AIR Gallery กรุงลอนดอน เมื่อปี 1981 เขายังเป็นอาจารย์ที่ Chelsea School of Art และหัวหน้าแผนก Head of Undergraduate Painting ที่ Slade School นอกจากนี้ เขาเคยจัดแสดงผลงานในเมืองไทยที่กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ มาแล้ว
การที่จะจัดประเภทงานของแอนดรูว์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ภาพเขียนของเขาดูเหมือนจะดูสงบนิ่งๆ แต่ถ้ามองลึกลงไปมันมีความสับสนวุ่นวายและตึงเครียดแอบซ่อนอยู่ ซึ่งเป็นความขัดแย้งที่กลมกลืน การที่เขามักจะมีภาพของวัตถุบางอย่างที่นำมาใช้ซ้ำๆ ในผลงานของเขาซึ่งมันได้กลายเป็นสัญลักษณ์ไปอย่างช่วยไม่ได้ ซึ่งสัญลักษณ์เหล่านี้จะไม่ได้รับการปรุงแต่ง แต่จะเป็นแค่ภาพนิ่งเท่านั้น เอกลักษณ์ของงานของเขาเกิดจากการใช้สเกลที่คาดไม่ถึงของสิ่งของที่แตกต่างกันทำให้ไม่มีความสัมพันธ์ทางสัดส่วนของสิ่งของต่างๆ และมักจะลอยอยู่บนความเรียบแบน ทำให้ดูประหนึ่งล่องลอยอยู่ในบรรยากาศ
Eric Bainbridge เป็นเฟลโลของ Henry Moore Foundation ระหว่างปี 1989-91 และได้รับรางวัลจาก Paul Hamlyn Foundation ด้านงานประติมากรรมเมื่อปี 1996 เป็นอาจารย์สอนประติมากรรมที่ Royal College of Art ระหว่างปี 1991-2000 และปัจจุบันดำรงตำแหน่งศาตราจารย์ทางด้านทัศนศิลป์อยู่ที่มหาวิทยาลัย Sunderland
ชื่อเสียงของเขาเริ่มเป็นที่รู้จักในแวดวงศิลปะตั้งแต่ปี 1980 งานของเขาได้จัดแสดงแย่างกว้างขวางทั้งในยุโรปและอเมริกา อาทิ Walker Art Centre, ICA ที่ Boston และ Salvatore Ala Gallery นิวยอร์ก (1988) Stedelijk Museum ในอัมสเตอร์ดัม Venice Biennale ในปี 1986 และ Riverside Studios and Delfina ในลอนดอน
นิทรรศการที่เพิ่งผ่านมาเมื่อเร็วๆนี้ จัดแสดงที่ Zoo and Pulse Art Fairs กับ Workplace ใน Gateshead “Collage” ที่ Bloomberg ในลอนดอน Salvatore & Caroline Ala ในมิลาน และนิทรรศการออกแสดงทั่วอังกฤษ “Size Matters” “Glad things don’t talk” ที่ Irish Museum of Modern Art ณ กรุงดับลิน และผลงานล่าสุดของเขากำลังจัดแสดงอยู่ที่ Royal Academy of Arts ในกรุงลอนดอน
งานของเขามักจะเล่นกับขนาดและสถานภาพของวัตถุ และใช้วัสดุที่ร่วมสมัย โดยใช้เทคนิคและรูปแบบที่มักคาดไม่ถึงและมีอารมณ์ขัน
Nathaniel Rackowe จบการศึกษาด้านทัศนศิลป์จาก Sheffield และ Slade School แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน เขารังสรรค์งานประติมากรรมเคลื่อนไหวซึ่งส่งผลอย่างมากทั้งทางแนวคิดและการรับรู้ของผู้ชม ในปี 2002 ผลงานร่วมสมัยของเขาได้รับเลือกใน Liverpool Biennial ต่อมาได้จัดแสดงที่ Barbican กรุงลอนดอน เขาได้รับการติดต่อให้สร้างผลงานปฏิมากรรมเพื่อตั้งแสดงเป็นงานถาวร ที่ Victoria ในกรุงลอนดอน 2005 และให้สร้างงานปฏิมากรรมที่ทำจากหลอดไฟเพื่อติดตั้งที่ The Forest of Dean Sculpture Trail ในปี 2006 และนิทรรศการที่จะมีขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ที่ Museum of Contemporary Art ในไมอามี่ ในเดือนธันวาคม ปีนี้ และจะมีผลงานเดี่ยวที่ Gallerie Almine ในกรุงปารีส ในเดือนมีนาคม 2007
Rana Begum
เป็นศิลปินสื่อผสมอยู่ในลอนดอน เธอเป็นชาวบังคลาเทศ งานของเธอเกิดจากการการผสมผสานระหว่างการเป็นศิลปินผู้หญิงที่ได้รับการเลี้ยงดูมาแบบมุสลิม และมามีประสบการณ์กับวัฒนธรรมตะวันตก เธอได้นำวัฒนธรรมตะวันตกตะวันออกมาสอดประสานไว้ในงานของเธอ ดังนั้นงานของเธอจึงมีกลิ่นอายของงานศิลปะและสถาปัตยกรรมของอิสลาม ไม่ใช่เพียงแต่เฉพาะสีและรูปแบบเท่านั้น แต่หลอมรวมเอาจิตวิญญาณและสัญลักษณ์เข้าไว้ด้วย โดยใช้วัสดุที่ผิดแผกไป เช่น ไวนิล และเทปไฟฟ้า เธอจะค่อยจัดวางงานไม่ว่าจะเป็นแนวตรงหรือขวางอย่างประณีตบรรจง ในรูปแบบทรงเรขาคณิต และเคลือบงานด้วยเรซินบางๆ
หลังจากจบการศึกษาจาก Slade School แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน รานา บีกัมได้แสดงผลงานของเธอที่ Purdy Hicks and Rifflemaker ในลอนดอน Dahi Gallery ในสวิสเซอร์แลนด์ และ Haines Gallery ในซานฟรานซิสโก เธอยังได้รับการว่าจ้างให้สร้างผลงานเพื่อตั้งแสดงที่ โรงพยาบาล Lewisham และโรงพยาบาล Coventry โดยทำงานร่วมกับ Tess Jaray
www.ranabegum.com
สถิตย์ ศัสตรศาสตร์
เกิดที่ชลบุรี จบจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2003 ผลงาน เขามีผลงานศิลปะโดยใช้สื่อวีดิทัศน์ ซึ่งรวมถึงงานจัดวาง และภาพยนตร์ทดลอง โดยเริ่มแสดงงานครั้งแรกในปี 2000 และมีผลงานแสดงมาอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ อาทิ Bangkok International Film Festival, Bangkok Experimental Film Festival, Tirana International Film Festival Jeonju International Film Festival 2006 ผลงานของเขาออกแสดงในงานนิทรรศการกลุ่ม ที่ หอศิลปวิทยนิทรรศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และงานแสดงเดี่ยว ในปี 2005 ณ หอศิลปะมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ภายใต้โครงการ Brand New

1 comment:

Anonymous said...

Hi, mi name is nicolas, i´m the director of "morena's goal", it's a shame but i'dont understand your language, but thank you for the "A+"!!!.
If you wanna contact me, this is my personal mail. Now i'm working in my first feature.

Best regards

Nico Ciganda

nicociganda@yahoo.com.ar