Wednesday, November 20, 2019

SACRIFICE CHAPTER 1

LIGHT (2018, Tsai Ming Liang, Taiwan, A+30)

ไฉ่มิ่งเหลียงทำหนังมา 3 ทศวรรษแล้ว แต่ยังคงทำหนังที่แปลก แหกกฎต่างๆได้อยู่เลย ชอบที่เขาสามารถแสดงให้เห็นได้ว่า "การถ่ายอะไรแบบนี้ก็เป็นภาพยนตร์" ได้ด้วย

ไม่นึกมาก่อนว่า การถ่ายอาคาร โดยเน้นไปที่ การเคลื่อนคล้อยของแสงในและนอกอาคาร จะเป็นหนังที่  mesmerizing มากๆแบบนี้ได้

แต่ดูแล้วนึกถึง ภาพยนตร์เรื่อง "ฐานของแสง เท่ากับรังสีของแสง" (2013,  Wachara Kanha) ที่เน้นคว้าจับความงดงามของแสงอาทิตย์ ตามสถานที่ธรรมดาหลายๆที่ และเราชอบหนังของ วชร กัณหา มากกว่า 555

14 APPLES (2018, Midi Z, Taiwan/Myanmar, documentary, A+30)

1.ฉากผู้หญิงเทินน้ำเป็นระยะทางยาวไกลในหนังเรื่องนี้นี่มันคลาสสิคจริงๆ คือตอนที่ดู BLOOD AMBER ที่มันมีฉากหาบน้ำนานๆ เราก็นึกว่า " ถ้าหากเราไม่ไปทำงานเหมืองในเมียนมาร์ เราก็อาจจะหาน้ำใช้ได้ง่ายกว่านี้" แต่ปรากฏว่าเราคิดผิด เพราะต่อให้เราอาศัยอยู่ในหมู่บ้านธรรมดาในเมียนมาร์ การประปาก็เข้าไม่ถึงเช่นกัน

นึกถึงที่แม่เราเล่าถึงชีวิตของแม่เมื่อ 70 กว่าปีก่อน สมัยยังไม่มีน้ำประปาใช้

2.ฉากขับรถข้ามแม่น้ำที่แห้งผากในช่วงต้นเรื่อง ก็น่าจดจำมาก

3.ฉากที่พระกลายเป็นที่ปรึกษาของชาวบ้าน ก็น่าสนใจมาก ดูแล้วนึกถึง ไผ่แดง (1979, เพิ่มพล เชยอรุณ) ที่สะท้อนหน้าที่ของพระในชนบทยุคเก่าของไทย ที่เหมือนต้องรับฟังปัญหาวุ่นวายมากมายของชาวบ้านไปด้วย แทนที่จะเทศนาสั่งสอนธรรมเพียงอย่างเดียว

4. พอเห็นบทบาทความสำคัญของพระต่อชาวบ้านใน 14 APPLES ก็เลยไม่แปลกใจที่เมียนมาร์มีการผลิตหนังอย่าง MONE SWAL (CLINGING TO HATE) (2018, Aww Ya Tha) และ THE ATTACHMENT (2018, Ban Gyi) ที่มีตัวละครเอกเป็นพระออกมา คือเหมือนในไทยตัวละครพระในหนังเมนสตรีมจะเหมือนมี "หน้าที่" เป็นตัวตลก หรือปราบผี แต่ใน CLINGING TO HATE กับ THE ATTACHMENT นี่ตัวละครพระดูมีบทบาทดราม่าหนักมาก

CHILDREN OF THE SEA (2019, Ayumu Watanabe, Japan, animation, A+30)

1.ภาพงามมากๆๆๆ

2.เนื้อเรื่องก็ดีมาก ดูแล้วนึกถึงนิยายเรื่อง "นิราศมหรรณพ" ของปราปต์ (ที่พูดถึง ชาวมหาสมุทร) และหนังเรื่อง AUGUST IN THE WATER (1995, Sogo Ishii) ที่เล่าเรื่องของ."สาววัยรุ่นที่เผชิญกับพลังลี้ลับของจักรวาล" คล้ายเรื่องนี้ แต่ใน AUGUST IN THE WATER นั้น นางเอกต้อง "เข้าป่า" เพื่อรับมือกับพลังลี้ลับของจักรวาล ส่วนใน CHILDREN OF THE SEA นั้น นางเอกต้องลงทะเล

SACRIFICE CHAPTER 1 พลีตน (2019, Samak Kosem, video installation, approximately 14 mins)

1.วิดีโอบันทึกภาพชีวิตชาวบ้านในส่วนใต้สุดของไทย ฉากที่ติดตามากๆคือฉากสวนสนุกที่มีเด็กๆมากมาย และมีทหารยืนประจำการตามจุดต่างๆในสวนสนุกอยู่ด้วย มันดูสยองอย่างบอกไม่ถูก เพราะเครื่องเล่นต่างๆในสวนสนุก มันคือ "การให้เราได้ตื่นเต้นกับ อันตรายปลอมๆ" แต่การที่มีทหารยืนอยู่ตามจุดต่างๆในสวนสนุก มันคือการบอกว่า ที่นี่มี "อันตรายจริงๆ" อยู่ด้วย สวนสนุกแห่งนี้จึงมีทั้งอันตรายปลอมๆ และอันตรายจริงๆ อยู่เคียงข้างกันในเวลาเดียวกัน

2.กรอบภาพของวิดีโอก็ประหลาดดี เพราะมันเป็นสี่เหลี่ยมคางหมู ที่เหมือนจะส่งผลให้ภาพมีความบิดเบี้ยวเล็กน้อยในส่วนที่อยู่ใกล้-ไกลจากกล้อง

3.แต่สิ่งที่น่าสนใจมากๆคือ ตำแหน่งของวิดีโอ ที่อยู่เกือบติดพื้น ใกล้ๆประตู เพราะฉะนั้นเวลาที่เรานั่งดู video นี้ราว 14 นาที เราต้องนั่งกับพื้น ไม่สามารถยืนดูได้

ไม่รู้เหมือนกันว่าสิ่งนี้มีความหมายอะไรที่เฉพาะเจาะจงหรือเปล่า แต่มันทำให้เรานึกถึง

3.1 การที่วิดีโอนี้นำเสนอชีวิตชาวบ้านใน "ส่วนใต้สุด" ของไทย

3.2 เวลาที่คนเราต้องการจะเข้าใจวัฒนธรรมอื่นๆ หรือคนอื่นๆในสังคม เราควรเริ่มต้นด้วยความนอบน้อมถ่อมตน เพื่อที่จะเข้าใจคนอื่นๆได้ เหมือนที่ผู้ชมต้องลงไปนั่งกับพื้น 555

4.ตำแหน่งการจัดวางงานจิตรกรรมอื่นๆในนิทรรศการนี้ก็น่าสนใจมาก เพราะเหมือนมีงานสวยๆหลายชิ้น ที่จงใจจัดวางไว้ในจุดที่ "แสงสว่างส่องไปไม่ถึง"

No comments: