Tuesday, July 28, 2020

SUK SUK (2019, Ray Yeung, Hong Kong, A+30)


SUK SUK (2019, Ray Yeung, Hong Kong, A+30)

1.ตอนดูจะนึกว่า ถ้าหากตัวละครใน “ฉันผู้ชายนะยะ” (1987, M.L. Bhandevanop Devakul) ยังมีชีวิตอยู่มาจนถึงปัจจุบัน แล้วพวกเขาจะเป็นอย่างไร จะมีอายุพอๆกับตัวละครใน SUK SUK หรือเปล่า แล้วชีวิตของพวกเขาจะเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรกับตัวละครใน SUK SUK แล้วถ้าหากมีการสร้าง “ฉันผู้ชายนะยะ” ภาคสองที่นำเสนอตัวละครชุดเดียวกันในวัยชรา หนังมันจะออกมาเป็นอย่างไร

แต่เราเดาเอาเองว่า  “ฉันผู้ชายนะยะ ภาควัยชรา” กับ SUK SUK มันคงจะแตกต่างกันเป็นอย่างมากนะ เพราะถ้าหากเราเข้าใจไม่ผิด สังคมไทยน่าจะเปิดกว้างรับกะเทย/เกย์ได้มากกว่าสังคมจีนหรือเปล่า เพราะฉะนั้น “เกย์ไทยที่แต่งงานกับผู้หญิง” อาจจะมีจำนวนน้อยกว่า
”เกย์เชื้อสายจีนที่แต่งงานกับผู้หญิง” หรือเปล่า เราก็ไม่แน่ใจ คงต้องให้ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้มาตอบ

เพราะฉะนั้นตัวละคร “ฉันผู้ชายนะยะ ภาควัยชรา” ก็คงจะไม่ได้ประสบปัญหาแบบเดียวกับตัวละครใน SUK SUK เพราะความแตกต่างด้านวัฒนธรรมอาจจะเป็นปัจจัยสำคัญ เราว่าตัวละคร Dior ใน SUK SUK น่าจะใกล้เคียงกับตัวละครใน “ฉันผู้ชายนะยะ ภาควัยชรา” มากที่สุด เพราะตัวละคร Dior ไม่ต้องแอบ

2.ปัจจัยที่ทำให้นึกถึงประเด็นข้างต้นขึ้นมา ก็คือถึงแม้ว่า SUK SUK จะดูสมจริงสุดๆ และดูเผินๆเหมือนเป็นเรื่องใกล้ต้วเรา ซึ่งเป็นเกย์เอเชียวัย 47 ปี แต่พอดูๆไป เราก็สงสัยว่า ทำไมเหมือนเราแทบไม่ค่อยรู้จักคนแบบใน SUK SUK เลยวะ ซึ่งไม่ใช่ว่าคนแบบนี้ไม่มีอยู่จริงนะ คนแบบนี้มีอยู่จริง และเยอะมากๆด้วย แต่เหมือนเราไม่ได้เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในแวดวงเดียวกับเขามั้ง

พอดูหนังเรื่องนี้แล้วก็เลยนึกถึงช่วงที่ไปเที่ยว DJ STATION และ BABYLON ช่วงปลายทศวรรษ 1990 หรือเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ซึ่งช่วงนั้นก็ได้รู้จักฝรั่งมีอายุคนนึง เป็นทหารผ่านศึกสงครามเวียดนาม มีเมีย มีลูกแล้วอยู่ที่อเมริกา (ลูกชายหล่อล่ำมาก 555) และเขาก็เปิดเผยกับเมียกับลูกตามตรงว่า เขาค้นพบตัวเองว่าเขาชอบผู้ชาย และเมียกับลูกๆเขาก็ไม่มีปัญหาอะไร เขาก็ย้ายมาใช้ชีวิตที่กรุงเทพ มีแฟนเป็นหนุ่มไทย ลูกชายเขาก็มาเที่ยวเมืองไทย ควงสาวไทย ทุกคนในครอบครัวเขาก็มีความสุขดี ไม่เห็นใครจะมีปัญหาอะไรกับการที่พ่อตัวเอง come out ว่าเป็นเกย์

เหมือนพอเราอยู่ในแวดวงคนที่เปิดเผยตัวเองแบบนี้ เราก็เลยเหมือนไม่ค่อยเจอคนแบบใน SUK SUK น่ะ พอเราได้มาดูหนังเรื่องนี้ มันก็เลยน่าสนใจมาก และมันทำให้เราตระหนักว่า ความแตกต่างทางวัฒนธรรมของแต่ละเชื้อชาติ น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญเหมือนกัน คือปัญหาการปกปิดตัวเองแบบใน SUK SUK มันคงแทบไม่เกิดที่ “เนเธอร์แลนด์”  หรืออะไรทำนองนี้

สิ่งหนึ่งที่เราชอบมากใน SUK SUK ก็คือการที่หนังทำให้เราได้รู้จักชีวิตของตัวละครแบบ Pak และ Hoi นี่แหละ เพราะจริงๆแล้วในชีวิตเราก็ไม่ได้รู้จักคนแบบนี้มากเท่าไหร่ ซึ่งก็คือ “คนที่มีลูกมีเมียและไม่เปิดเผยตัวเอง” เพราะเกย์ส่วนใหญ่ที่เรารู้จักก็เป็นกลุ่มที่เปิดเผยกับลูกเมียของตัวเองตามตรงว่าตัวเองเป็นเกย์ (ซึ่งคงเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายในสังคมฝรั่ง) หรือเกย์ที่ไม่ได้แต่งงานกับผู้หญิงอยู่แล้ว

3.ชอบรายละเอียดต่างๆในหนัง อย่างเช่น

3.1 การทะเลาะกันระหว่างลูกชายกับลูกสะใภ้ของ Hoi ในบางฉาก

3.2 ฉากที่เมียของ Pak เหมือนจะจับพิรุธได้ในงานแต่งงานลูกสาว

3.3 ฉาก Hoi เช็ดน้ำลายให้เพื่อน

3.4 ฉากเพื่อนบ้านแอบมองหรือนินทา

3.5 ฉาก Hoi ต่อราคาในตลาดสด

เหมือนพอหนังใส่ใจกับรายละเอียดชีวิตต่างๆเหล่านี้ มันเลยทำให้หนังดูนุ่มนวลและงดงามสุดๆ

4.ชอบที่หนังเหมือนเปิดพื้นที่ให้จินตนาการด้วย อย่างเช่น

4.1 การที่ Pak เล่าเรื่องเพื่อนที่จมน้ำตาย มันทำให้เราแอบจินตนาการว่า เขาคือหนุ่มคนรักของ Pak หรือเปล่า

4.2 ฉากที่ Hoi เหมือนเอาข้าวของและผ้าเช็ดหน้าของผัวเก่าไปทิ้ง คือเหมือนหนังไม่ได้เล่าเรื่องปูมหลังตรงนี้ แต่แค่การได้เห็นผ้าเช็ดหน้ากับภาพถ่ายเก่าๆ มันก็เหมือนทำให้ผู้ชมอย่างเรา “สร้างหนังในจินตนาการขึ้นมาได้อีก 1 เรื่องเต็มๆ” แล้ว

5. อันนี้เป็นหนังเรื่องที่ 4 ของ Ray Yeung ที่เราได้ดู ต่อจาก YELLOW FEVER (1998), CUT SLEEVES BOY (2006) และ FRONT COVER (2015) ซึ่งแน่นอนว่าเราชอบ SUK SUK มากที่สุด เพราะมันดูแตกต่างจากหนังเกย์ทั่วไปมากๆ

คือเราว่าหนังเกย์ทั่วไปส่วนใหญ่มันมี element ของการ “ตอบสนองความต้องการทางเพศของผู้ชม” น่ะ ผ่านทางการนำเสนอตัวละครหนุ่มหล่อล่ำหำตึง น่ากิน อะไรทำนองนี้ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว และเป็นสิ่งที่เราสนับสนุนอย่างเต็มที่ แต่แน่นอนว่าพอหนังเกย์ทั่วไปมันมี element ตรงจุดนี้เหมือนกันไปหมด หนังแบบ SUK SUK ก็เลยโดดเด้งขึ้นมา

และถ้าหากเทียบกับหนังเรื่องอื่นๆของ Ray Yeung แล้ว เราก็ชอบที่ SUK SUK มันไม่ได้มี “การสั่งสอนผู้ชมว่าเกย์เอเชียควรปฏิบัติตัวอย่างไร” แบบในหนังเรื่องอื่นๆของ Ray Yeung ด้วย

คือถ้าหากเราจำไม่ผิด ในหนังบางเรื่องของ Ray Yeung โดยเฉพาะใน YELLOW FEVER นั้น พัฒนาการของตัวละครมันจะเหมือนหนังทั่วไปมากๆน่ะ นั่นก็คือเส้นเรื่องมันจะเป็นแบบ “ตัวละครเกย์เอเชียมีปัญหา พยายามตามหาสิ่งที่ใฝ่ฝัน และก็ได้เรียนรู้ว่าควรจะปรับปรุงตัวเองอย่างไร แก้ไขตัวเองอย่างไร เพื่อจะไปให้ถึงจุดที่ใฝ่ฝัน”

แต่ SUK SUK มันไม่ได้เป็นแบบนั้น มันเหมือนสร้างจากชีวิตคนจริงๆ ที่ไม่มีทางออกง่ายๆให้กับชีวิต มันไม่มี “คำตอบ” ที่สมบูรณ์แบบให้กับปัญหาชีวิต ไม่มี happy ending  

SUK SUK มันเลยเหมือนเป็นการคว้าจับเศษเสี้ยวของชีวิตคนจริงๆมานำเสนออย่างงดงาม แทนที่จะเป็นการบิดผันชีวิตตัวละครให้มีพัฒนาการตามเส้นเรื่องแบบหนังทั่วไป หนังเรื่องนี้ไม่ได้พยายามหาทางออกให้กับตัวละคร พร้อมกับสั่งสอนผู้ชมว่า “เกย์เอเชียควรปฏิบัติตัวอย่างไร” ในตอนจบแบบในหนังเรื่องอื่นๆ

เราก็เลยชอบที่ SUK SUK มันเหมือนกับนำเสนอ “ชีวิตคนจริงๆ” โดยไม่ได้มีความ “พาฝัน” และไม่ได้ต้องการ “สั่งสอนผู้ชมว่าควรทำอย่างไร” นี่แหละ

No comments: