IN FRONT OF YOUR FACE (2021, Hong
Sang-soo, South Korea, A+30)
Spoilers alert
--
--
--
--
--
1. หนังสร้างความรู้สึก
"มหัศจรรย์" ให้กับเราอย่างรุนแรงมาก ๆ
มีสิทธิลุ้นอันดับหนึ่งประจำปีนี้ไปเลย ทำไมมันถึงส่งผลกระทบกับเราอย่างรุนแรงสุด
ๆ ขนาดนี้ เราก็ไม่รู้เหมือนกัน
รู้สึกว่าหลาย ๆ ฉากของหนังเรื่องนี้มันสร้างความรู้สึกงดงามให้กับเราอย่างรุนแรงสุดขีดมาก
ๆ ทั้ง ๆ ที่มันไม่ได้ “ถ่ายภาพสวย” เลย
และสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละฉากมันธรรมดาสามัญมาก ๆ คือทั้งเหตุการณ์ก็ธรรมดา
และหนังก็ถ่ายให้มันออกมาดูเป็นภาพที่ธรรมดา
ไม่ได้จัดแสงหรือใช้เทคนิคทางภาพให้มันดูมลังเมลืองประกายฉ่องแต่อย่างใด
แต่ผลทางอารมณ์ที่เกิดกับเรามันรุนแรงถึงขีดสุด ฉากหรือเหตุการณ์ที่เราชอบสุดขีดในหนังเรื่องนี้ก็มีอย่างเช่น
1.1 การที่น้องสาวไม่ยอมบอกนางเอกว่าฝันเห็นอะไร
จนกว่าจะเลยเที่ยงวันไปแล้ว แต่แล้วทุกคนก็ดูเหมือนลืม
และผู้ชมก็ไม่รู้อยู่ดีว่าน้องสาวฝันเห็นอะไร
1.2 การกินต๊อกโบกี แล้วหกเลอะเสื้อ
แล้วนางเอกก็ตั้งใจจะกลับไปเปลี่ยนเสื้อ แต่แล้วก็เปลี่ยนใจ
เพราะเห็นว่ามันไม่สำคัญ
1.3 การไปหาหลานชายที่ร้านอาหาร แต่ไม่เจอ
แต่พอนางเอกกับน้องสาวเดินออกจากร้านไปแล้ว หลานชายถึงเพิ่งวิ่งตามมา
1.4 การโดนเลื่อนเวลานัด
1.5 การที่นางเอกกลับไปเยี่ยมบ้านเก่าในวัยเด็ก
1.6 ฉากนางเอกมองออกนอกหน้าต่างของบ้านเก่า ฉากนี้โดนเราอย่างรุนแรงถึงขีดสุด นึกถึงฉาก Sabine Azema มองออกนอกหน้าต่างใน A
SUNDAY IN THE COUNTRY (1984, Bertrand Tavernier)
1.7 ฉากที่นางเอกภาวนาว่าต้องการจะเห็น
“สิ่งที่อยู่ตรงหน้าของเธอ” หรืออะไรสักอย่าง แล้วมีเด็กหญิงตัวน้อย ๆ
เดินเข้ามาพอดี
1.8
การที่เด็กหญิงกับแม่เด็กพูดไม่ตรงกันเรื่องอยู่ที่บ้านนี้หรืออยู่ที่บ้านอีกหลัง
อะไรทำนองนี้
1.9 การที่ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อ Jaewon พยายามหาโอกาสอยู่กับนางเอกสองต่อสอง แล้วไล่ลูกน้องออกไปจากร้านในทางอ้อม
1.10 การที่นางเอกพยายามเล่นกีตาร์
ทั้ง ๆ ที่เธอเล่นไม่ค่อยได้ และเธอยังคงเล่นต่อไปถึงแม้ Jaewon สติแตกไปแล้ว
1.11 การคุยกันว่าจะเก็บจานชามในร้านอาหารดีหรือไม่
1.12 การที่นางเอกถูกยกเลิกงาน
แต่เธอหัวเราะ เหมือนไม่ได้เสียใจอะไรมากมาย
1.13 ฉากจบ
ที่ให้ความรู้สึกที่งดงามที่สุดสำหรับเรา
คือฉากเหล่านี้มันดูเป็นเหตุการณ์ธรรมดาสามัญอย่างถึงที่สุด
อาจจะธรรมดายิ่งกว่าเหตุการณ์ใน FOUR ADVENTURES OF REINETTE AND MIRABELLE
(1987, Eric Rohmer) ซะอีก แต่ทำไม Hong Sang-soo ถึงสามารถทำให้เรารู้สึกว่าอะไรเหล่านี้มันงดงามตราตรึงใจเราอย่างสุดขีดคลั่งได้
เราก็ไม่รู้เหมือนกัน
ในแง่นึงเราก็รู้สึกว่า Hong
Sang-soo อาจจะทำสำเร็จในสิ่งที่นางเอกพยายามจะทำนะ
เพราะถ้าเราเข้าใจไม่ผิด นางเอกพยายามจะมองเหตุการณ์ธรรมดาสามัญทุกอย่างในชีวิตประจำวันว่าเป็นความงดงามของชีวิต
ในขณะที่เธอกำลังจะตายจากโรคร้าย และหนังเรื่องนี้ก็เหมือนมอบดวงตาคู่ใหม่ให้กับเรา
เพราะหนังก็ทำให้เรามองเหตุการณ์ธรรมดาสามัญเหล่านี้ว่าเป็นอะไรที่งดงามสุดๆ
เหมือนกัน
นึกถึงตอนที่เราเข้ารับการผ่าต้อกระจกที่ดวงตา 2 ข้างในช่วงปลายปี
2020 แล้วต้องไม่ให้ดวงตาโดนน้ำเป็นเวลา 2 เดือน
คือตอนนั้นเราไม่สามารถอาบน้ำฝักบัวแบบปกติได้ แต่พอดวงตาเราหายดี
เรากลับมาอาบน้ำฝักบัวได้ตามปกติ ตอนนั้นแหละเราถึงรู้สึกว่า
การได้อาบน้ำฝักบัวแบบปกตินี่มันคือความสุขสุดยอดจริง ๆ
หลังจากไม่สามารถทำแบบนั้นมาได้เป็นเวลานาน 2 เดือน
การอาบน้ำฝักบัวซึ่งเคยเป็นอะไรที่น่าเบื่อ เป็นกิจวัตรประจำวันที่ไม่มีความสำคัญอะไร
ได้กลายเป็นความสุขสุดยอดสำหรับเราไปแล้ว
คนที่ใกล้ตาย หรือดวงวิญญาณของคนที่ตายไปแล้ว
บางทีก็อาจจะรู้สึกแบบเดียวกันเมื่อได้มองเห็นชีวิตประจำวันของคนที่ยังมีชีวิตอยู่
กิจวัตรประจำวันที่แสนน่าเบื่ออาจจะกลายเป็นอะไรที่งดงามสุด ๆ ขึ้นมาก็ได้ แต่บางทีเราอาจจะไม่ต้องรอให้ตัวเองใกล้ตายก็ได้
ในการเรียนรู้ที่จะมองชีวิตของตัวเองด้วยดวงตาของคนที่ใกล้ตายแบบนี้
2.ถ้าเปรียบเทียบจากความรู้สึกของเราที่มีต่อหนังเรื่องนี้แล้ว
เราก็รู้สึกอยากฉายหนังเรื่องนี้ควบกับ
2.1 A WEEK'S VACATION (1980, Bertrand Tavernier)
หนึ่งในหนังที่ชอบที่สุดตลอดกาล
หนังเล่าเรื่องของครูสาวคนนึงที่ลางานหนึ่งสัปดาห์
แล้วก็ไม่ได้ทำอะไรสำคัญในช่วงหนึ่งสัปดาห์นั้น นอกจากการไปเยี่ยมคนรู้จักบางคน
เหมือนเป็นหนังที่ไม่มีอะไรสำคัญเกิดขึ้นในหนังเลย แต่เราดูหนังเรื่องนี้มานาน 24
ปีแล้ว แต่ยังลืมความรู้สึกที่รุนแรงสุด ๆ จากหนังเรื่องนี้ไม่ได้
2.2 DYING AT A HOSPITAL (1993, Jun Ichikawa) หนังเล่าเรื่องของกลุ่มผู้ป่วยใกล้ตายในโรงพยาบาล
โดยตัดสลับกับภาพคนธรรมดาเดินไปตามท้องถนนเป็นระยะ ๆ หนังทำให้เราตระหนักว่า
การเดินไปตามท้องถนน, เดินห้างสรรพสินค้า, etc. ในชีวิตประจำวันแบบนี้นี่แหละ คือโมงยามที่เปี่ยมสุขสุด ๆ แล้ว
เมื่อมองจากสายตาของผู้ป่วยใกล้ตาย ซึ่งมันคล้ายกับความรู้สึกของเราที่มีต่อ IN
FRONT OF YOUR FACE
2.3 LE FEU FOLLET (1963, Louis Malle) เรื่องของชายหนุ่มคนนึงที่เดินทางไปเยี่ยมเยือนเพื่อน ๆ โดยหวังว่าเพื่อน
ๆ จะทำให้เขาอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป
และเรายังรู้สึกว่า IN FRONT OF YOUR FACE เหมือนเป็นด้านกลับของฉากสำคัญใน
THE DEVIL, PROBABLY (1977, Robert Bresson) ด้วย
ซึ่งก็คือฉากที่พระเอกของ THE DEVIL, PROBABLY กำลังจะเดินไปฆ่าตัวตาย
แต่เขาได้ยินเสียงดนตรีที่ไพเราะมากลอยแว่วมาเข้าหูเขา
เขาก็เลยหยุดยืนฟังอยู่พักนึง อย่างไรก็ดี
เสียงดนตรีอันงดงามไม่สามารถเปลี่ยนใจเขาได้
เหมือนเราเข้าใจตัวละครทั้งสองตัวนะ
ถึงแม้ทั้งสองจะมองโลกในแบบที่อาจจะตรงข้ามกันก็ตาม พระเอกของ THE
DEVIL, PROBABLY อาจจะมองว่าการมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ต่อไปมันไร้ค่า
มันไม่มีประโยชน์อีกต่อไป และแม้แต่ความงดงามต่าง ๆ ในโลกนี้
อย่างเช่นเสียงดนตรีที่ไพเราะ ก็ไม่สามารถเหนี่ยวรั้งให้เราอยากมีชีวิตอยู่ต่อไปได้
ส่วนนางเอกของ IN FRONT OF YOUR FACE คงอยากจะมีชีวิตอยู่ต่อไป
และพยายามจะเก็บความงดงามต่าง ๆ ของสิ่งธรรมดาสามัญในชีวิตเอาไว้ในใจให้มากที่สุด
3.บางทีหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เราชอบ IN FRONT OF YOUR FACE อย่างรุนแรงสุดขีด อาจจะเป็นเพราะหนังเรื่องนี้ทำให้เรารู้สึกเหมือน “ปล่อยวาง”
มั้ง เพราะนางเอกของเรื่องนี้เหมือนไม่ต้องการไขว่คว้าอะไรมากมายอีกต่อไปแล้ว
เธอไม่ได้ตั้งภารกิจให้ตัวเองแบบตัวละครเอกของ SEVEN POUNDS (2007,
Gabriele Muccino), MY LIFE WITHOUT ME (2003, Isabel Coixet) และ “ไสหัวไป
นายส่วนเกิน” เหมือนเธอปล่อยวางกับชีวิตของตัวเองได้แล้วในระดับนึง
และเราอินกับอะไรแบบนี้อย่างรุนแรงมาก ๆ
เหมือนเรามักจะชอบหนังที่ตัวละครปล่อยวางแบบนี้น่ะ แต่ส่วนใหญ่แล้วหนังกลุ่ม
“ปล่อยวาง” ที่เราชอบมันจะเป็นหนังที่แตกต่างจาก IN FRONT OF YOUR FACE ในแง่ที่ว่า ตัวละครในหนังกลุ่มนี้มักจะมีพัฒนาการอย่างเห็นได้ชัดน่ะ คือตัวละครในหนังกลุ่มนี้มักจะเริ่มต้นเรื่องด้วยการอยากได้,อยากครอบครอง
หรือยึดติดกับอะไรบางอย่าง (อย่างเช่นผัว) ก่อนจะเรียนรู้ว่าความสุขที่แท้จริงสำหรับตนเองอาจจะไม่ต้องพึ่งพาสิ่งที่ตนเองยึดติดมาตลอดทั้งชีวิตก็ได้
แล้วตัวละครในหนังกลุ่มนี้ก็จะทิ้งผัวไปในตอนจบ
หรือเลิกไขว่คว้าสิ่งที่ตนเองเคยพยายามครอบครองมาโดยตลอด
และหันมามีความสุขกับความธรรมดาสามัญของชีวิต ซึ่งอะไรแบบนี้จะตรงข้ามกับ IN
FRONT OF YOUR FACE เพราะใน IN FRONT OF YOUR FACE เราจะไม่เห็นพัฒนาการของตัวละคร เพราะตัวละครนางเอกอาจจะปล่อยวางได้ตั้งแต่ก่อนหนังเริ่มเรื่องแล้ว
5555
เราก็เลยนับถือ Hong Sang-soo มาก ๆ
ที่ทำหนังแบบนี้ออกมาโดยทำให้เรารู้สึกกับหนังอย่างรุนแรงถึงขีดสุดได้
โดยไม่ต้องพึ่งพาเส้นเรื่องแบบ “หนังปล่อยวาง” เรื่องอื่น ๆ
ส่วนหนังกลุ่มปล่อยวางเรื่องอื่น ๆ ที่เราชอบสุดขีดก็มีอย่างเช่น VALERIE FLAKE (1999, John Putch), SHIRLEY VALENTINE (1989,
Lewis Gilbert), MISS FIRECRACKER (1989, Thomas Schlamme)
4.สรุปว่าเราขอยกให้ IN FRONT OF YOUR FACE เป็นหนังที่สั่นสะเทือนจิตวิญญาณของเราอย่างรุนแรงถึงขีดสุด
ในระดับที่ใกล้เคียงกับหนังเรื่อง BUNNY (2000, Mia Trachinger) และเราก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า
เพราะเหตุใดหนังสองเรื่องนี้ถึงส่งผลกระทบต่อเราอย่างรุนแรงถึงเพียงนี้ บางทีอาจจะเป็นเพราะว่า
หนังสองเรื่องนี้มอง “ชีวิต” และ “ความทุกข์ของการมีชีวิตอยู่” ในแบบที่ตรงใจเรามากที่สุดก็ได้
No comments:
Post a Comment