Thursday, December 30, 2021

THE MATRIX RESURRECTIONS (2021, Lana Wachowski, A+30)

 

THE MATRIX RESURRECTIONS (2021, Lana Wachowski, A+30)

 

SPOILERS ALERT

--

--

--

--

--

1.ชอบมาก ๆ 5555 ทั้ง ๆ ที่เราลืม THE MATRIX 3 ภาคแรกไปหมดแล้วนะ คือเราชอบ THE MATRIX 3 ภาคแรกมากพอสมควร แต่ไม่ได้ถึงกับคลั่งไคล้อะไรมันมากนัก

 

สาเหตุสำคัญอันนึงที่เราชอบภาคนี้ เพราะเราว่ามันมีส่วนคล้าย CONTEMPT (1963, Jean-Luc Godard) ด้วยแหละ เพราะมันเป็นหนังที่เหมือนกับว่าผู้กำกับทำขึ้นเพื่อด่าผู้อำนวยการสร้างหนัง 5555 อย่างใน CONTEMPT นั้น เราจะเห็นได้ว่า Godard เลือกใช้ดาราสาวสวยเซ็กซี่อย่าง Brigitte Bardot มาแสดงในหนังเรื่องนี้ แล้วก็สร้างตัวละครผู้อำนวยการสร้างหนัง Jeremy Prokosch (Jack Parlance) ที่มีความสุขเหลือเกินเวลาเห็นดาราสาวสวยเซ็กซี่อยู่ในหนังที่ตัวเองออกเงินสร้าง คือพอดู CONTEMPT แล้วเราก็รู้สึกเหมือนกับว่า Godard เลือก Bardot มาแสดง เพื่อด่าผู้อำนวยการสร้าง CONTEMPT (ในโลกแห่งความเป็นจริง) ว่า “พวกมึงต้องการดาราแบบนี้ใช่ไหมล่ะ ไอ้ผู้อำนวยการสร้างหนังหัวงู ตัณหาจัด” 55555

 

ซึ่งใน THE MATRIX RESURRECTIONS  นี้ การด่าวงการฮอลลีวู้ด (ซึ่งอาจจะรวมไปถึงผู้อำนวยการสร้างหนังเรื่องนี้) ก็ปรากฏให้เห็นชัดผ่านทางบทสนทนาต่าง ๆ ของตัวละครในช่วงต้นเรื่อง

 

2.ชอบ dilemma ระหว่าง Niobe กับ Bugs ด้วย เพราะมันเป็นการเลือกระหว่าง “การปล่อยให้เผด็จการดำรงอยู่ต่อไป โดยที่เราอยู่อย่างสงบเสงี่ยมเจียมตัว” กับ “การพยายามโค่นล้มระบบ แต่อาจต้องแลกด้วยความสูญเสีย”

 

3.แต่สิ่งที่ทำให้เราชอบภาคนี้อย่างรุนแรงมาก ซึ่งเราไม่รู้ว่าหนังตั้งใจหรือเปล่า คือการที่เรารู้สึกเหมือนกับว่ามันยั่วล้อ “เรื่องเล่า” หรือ “ภาพยนตร์” จำนวนมากที่ดึงดูดเงินจากกระเป๋าผู้ชม ผ่านทางการสร้าง “ตัวละครคู่รักที่อยู่ใกล้กัน แต่ไม่อาจครองรักกันได้”

 

 

คือในหนังเรื่องนี้ มันมีการอธิบายว่า ระบบ Matrix เวอร์ชั่นใหม่ มัน “generate power” จากการให้ตัวละคร Neo กับ Trinity อยู่ใกล้กัน แต่ไม่ใกล้กันจนเกินไปน่ะ คือเหมือนใน Matrix เวอร์ชั่นใหม่นี้ ถ้าหาก Neo กับ Trinity อยู่ไกลกันเกินไป มันจะสร้างพลังงานให้ระบบ Matrix ได้ไม่มากพอ แต่ถ้าหาก Neo กับ Trinity ใกล้กันเกินไปจนครองรักกันได้ ทั้งสองก็จะทำลาย Matrix ได้อีกครั้ง นอกจากนี้ หนังยังอธิบายอีกด้วยว่า Matrix เวอร์ชั่นใหม่ตั้งอยู่บนความกลัวและความปรารถนาของมนุษย์ ซึ่งก็คือ ความกลัวที่จะสูญเสียสิ่งที่ตนเองมีอยู่ และความปรารถนาที่จะได้ครอบครองสิ่งที่ตนเองยังไม่มี

 

 คือมันเหมือนกับว่า ระบบ Matrix เวอร์ชั่นใหม่ มันสามารถสร้างพลังงานได้อย่างรุนแรงมากจาก “การสร้างคู่รักที่อยู่ใกล้กัน แต่ไม่อาจครองรักกันได้” น่ะ ซึ่งมันทำให้เรานึกถึงความจริงที่ว่า “ภาพยนตร์” หรือ “ละครทีวี” หลาย ๆ เรื่อง มันก็ล้วน “generate power” ในการดึงดูดเงินจากกระเป๋าผู้ชม ผ่านทางการสร้างตัวละครแบบนี้ทั้งนั้น เราก็เลยรู้สึกเหมือนกับว่า MATRIX RESURRECTIONS มันยั่วล้อทั้งตัวเอง, ผู้อำนวยการสร้างหนัง, ผู้ชมภาพยนตร์ และภาพยนตร์/ละครทีวี/เรื่องเล่าโดยทั่วไปด้วย เพราะระบบ Matrix ในหนังมัน generate power จากการสร้างตัวละคร “คู่รักที่ไม่อาจครองรักกันได้” เหมือนกับที่หนัง/ละครทีวี/เรื่องเล่าหลาย ๆ เรื่องมัน “กระตุ้นอารมณ์คนดู” ผ่านทางการสร้างตัวละครแบบนี้, มัน manipulate อารมณ์คนดูด้วยการสร้างอุปสรรคใหญ่โตมากมายมาขัดขวางคู่รักจากการครองรักกัน และยิ่งมันสร้างอุปสรรคได้ใหญ่โต, ทรงพลัง, น่าเชื่อถือมากเท่าใด อารมณ์คนดูก็จะยิ่งพุ่งทะลุทวีมหาศาลมากเพียงนั้น ราวกับว่าอารมณ์คนดูเป็นเหมือน “พลังงานในระบบ Matrix” และแน่นอนว่ายิ่งอารมณ์คนดูที่ถูกกระตุ้นให้เกิดขึ้นผ่านทางการสร้างตัวละครแบบนี้เพิ่มพูนขึ้นมากเพียงใด หนัง/ละครทีวี/เรื่องเล่าดังกล่าว ก็จะยิ่งกอบโกยทำกำไรได้มากเพียงนั้น

 

ตัวอย่างง่าย ๆ ของเรื่องเล่าทำนองนี้ ก็อย่างเช่น ตัวหนัง THE MATRIX RESURRECTIONS เอง ที่พยายามสร้างอุปสรรคต่าง ๆ มาขัดขวาง Neo กับ Trinity จากการครองรักกัน, เรื่องของเอี้ยก้วย-เซียวเหล่งนึ่ง หรือหนังที่ฉายในไทยในช่วงนี้ก็ generate power ผ่านทางการสร้างตัวละครแบบนี้กันหลายเรื่อง อย่างเช่น อโยธยามหาละลวย, 4 KINGS อาชีวะยุค 90’s, WEST SIDE STORY, LA BOUM, PORNOGRAPHER THE MOVIE: PLAYBACK, TOKYO REVENGERS, BLUE BAYOU, etc.

 

และที่ในหนังเรื่องนี้พูดว่า Matrix เวอร์ชั่นใหม่มันตั้งอยู่บน “ความกลัวที่จะสูญเสียสิ่งที่ตนเองมีอยู่แล้ว และความปรารถนาที่จะได้ครอบครองสิ่งที่ตนเองยังไม่มี”  มันก็ทำให้เรานึกถึงระบบการปกครอง, ระบบทุนนิยม และสิ่งต่าง  ๆ ที่จะมา manipulate อารมณ์/ความคิด/ความเชื่อ/การกระทำของเรา นอกเหนือไปจาก “หนังคู่รักเจออุปสรรค” แบบในกลุ่มข้างบนด้วย เพราะเราว่า “โฆษณา” (ที่มักจะกระตุ้นให้เราอยากได้ในสิ่งที่ตนเองยังไม่มี) และ “การโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง” (โดยเฉพาะของฝ่ายขวา ที่พยายามกระตุ้นให้ประชาชนหวาดกลัวชาวต่างชาติและการเปลี่ยนแปลง)  ก็มักจะ generate power ของตัวเองผ่านทางอะไรแบบนี้เช่นกัน เพียงแต่ว่าใน THE MATRIX RESURRECTIONS อาจจะไม่ได้นำเสนออะไรแบบนี้อย่างเป็นรูปธรรม แต่เน้นไปที่การ generate power ผ่านทางการสร้างตัวละครคู่รักเผชิญอุปสรรคเป็นหลัก

 

4.เพราะฉะนั้นเราก็เลยชอบ THE MATRIX RESURRECTIONS อย่างมาก ๆ เพราะเหมือนพอเราดูหนังเรื่องนี้จบ แล้วเรามองย้อนกลับไปยังหนัง/ละครทีวีต่าง ๆ ที่เราเคยดูมาในช่วง 40 กว่าปีที่ผ่านมา เราก็รู้สึกขำขันมากที่พบว่า เรื่องเล่าเหล่านี้ ตั้งแต่เรื่องของเอี้ยก้วย-เซียวเหล่งนึ่งที่เราเคยดูตั้งแต่เด็กๆ  มันก็กระตุ้นอารมณ์ของเรา มันก็ generate power ขึ้นมา ผ่านทางการสร้าง Neo และ Trinity หรือพระเอกและนางเอกที่อยู่ใกล้กันแต่ไม่อาจครองรักกันได้ทั้งนั้น ราวกับว่าความสัมพันธ์ระหว่าง “เรื่องเล่า” กับ “อารมณ์ของเรา” มันก็คล้ายๆ กับความสัมพันธ์ระหว่างระบบ Matrix กับพลังงานที่มันพยายาม generate ขึ้นมา เราก็ไม่ต่างอะไรไปจากมนุษย์ที่อยู่ในกระเปาะ ถูก “ระบบการปกครอง/ระบบทุนนิยม/เรื่องเล่า” กระตุ้นให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกบางอย่าง แล้วเราก็จะได้จ่ายเงินให้สิ่งนั้น หรือทำตามที่ระบบนั้นต้องการ เป็นพลังงานที่หล่อเลี้ยง หนัง/ละครทีวี/ระบบการปกครองนั้นต่อไป จนกว่าเราจะรู้เท่าทันอารมณ์ที่มันพยายามกระตุ้นให้เรารู้สึก

 

5. ซึ่งจริง ๆ แล้วเราอาจจะเข้าใจ THE MATRIX RESURRECTIONS ผิดไปก็ได้นะ แต่ถึงเราเข้าใจผิดก็ไม่เป็นไร สิ่งที่สำคัญสำหรับเราคือการที่เราได้ข้อคิดอะไรบางอย่างจากหนังเรื่องนี้ โดยที่หนังไม่ได้ตั้งใจ 5555

 

ซึ่งก่อนหน้านี้เราก็ชอบ BLADE RUNNER 2049 (2017, Denis Villeneuve) อย่างรุนแรงด้วยเหตุผลเดียวกัน นั่นก็คือหนังเรื่องนี้ก็ให้ข้อคิดอะไรบางอย่างแก่เรา โดยที่หนังไม่ได้ตั้งใจเช่นเดียวกัน เพราะก่อนที่เราจะดูหนังเรื่องนั้น เราเคยคิดว่า ความแตกต่างระหว่าง “มนุษย์” กับ “หุ่นยนต์” คืออารมณ์ความรู้สึก เพราะเราคิดว่ามนุษย์เป็นสิ่งที่มีอารมณ์ความรู้สึก แต่หุ่นยนต์ไม่มีอารมณ์ความรู้สึก แต่ปรากฏว่า หุ่นยนต์ในหนังเรื่องนี้ มันก็มีอารมณ์ความรู้สึกได้เหมือนกัน เพราะอารมณ์ความรู้สึกบางอย่าง “มันถูกโปรแกรมกันได้” โดยเฉพาะผ่านทางการสร้าง false memory

 

เพราะฉะนั้นพอดู BLADE RUNNER 2049 จบลง เราก็เลยคิดว่า เออ ใช่ มันจริงมาก ๆ ที่อารมณ์ความรู้สึกบางอย่างของเรา มันเหมือนถูกตั้งโปรแกรมมา เช่นเราอาจจะตั้งโปรแกรมไว้ในหัวโดยไม่รู้ตัวว่า “ฉันควรจะมีความสุขเมื่อคนอื่นเห็นด้วยกับฉัน ฉันควรจะมีความทุกข์เมื่อคนอื่นเห็นขัดแย้งกับฉัน” อะไรแบบนี้ ซึ่งพอรู้เช่นนี้ แล้ว เราก็สามารถตั้งโปรแกรมใหม่ได้ เป็น “ฉันควรจะมีความสุขเมื่อคนอื่นเห็นด้วยกับฉัน และฉันควรจะมีความสุขเช่นกันเมื่อคนอื่นเห็นขัดแย้งกับฉัน” อะไรทำนองนี้ และพอเราตั้งโปรแกรมใหม่แบบนี้ในหัวของตัวเองแล้ว เราก็เลยมีความสุขมาก ๆ ที่ได้เห็นคนอื่น ๆ ด่าหนังที่เราชื่นชอบอย่างรุนแรง 55555 เหมือนพอเราเรียนรู้เรื่องการตั้งโปรแกรมความรู้สึกในหัวของตัวเองได้แล้ว เราก็เลยมีความสุขมากขึ้น

 

แต่เราก็ชอบ BLADE RUNNER 2049 มากกว่า THE MATRIX RESURRECTIONS หลายเท่านะ เพราะถึงแม้เราจะได้แง่คิดบางอย่างจากหนังสองเรื่องนี้เหมือนกัน แต่ BLADE RUNNER 2049 มันงดงามสุด ๆ สำหรับเราน่ะ เหมือนมันมีความจรุงใจบางอย่างสำหรับเราในการดูหนังเรื่องนี้ และงานด้าน visual ของมันก็ถูกใจเรามาก ๆ  ส่วน THE MATRIX RESURRECTIONS นั้น ถ้าหากตัดเรื่องแง่คิดที่เราได้จากหนังออกไปแล้ว มันก็เป็นแค่หนังที่เราดูได้เพลิน ๆ เรื่องนึง และงานด้าน visual ของมันก็ไม่ได้สะเทือนเราแต่อย่างใด

No comments: