Thursday, February 17, 2022

NIGHTMARE ALLEY

 FORTUNE FAVORS LADY NIKUKO (2021, Ayumu Watanabe, Japan, animation, A+30)


1. ชอบสุด ๆ ตั้งแต่ฉากแรกแล้ว ที่หนังบรรยายว่า Nikuko  "เหนื่อยล้ากับชีวิต"

2. ชอบประเด็นเรื่องนักเรียนหญิงทะเลาะกันเองมาก ๆ

3.สงสัยว่าเพลงที่ Nikuko ชอบฮัมตอนทำอาหารคือเพลงอะไรมันเหมือนคุ้น ๆ แต่นึกชื่อเพลงไม่ออก
--
YUMMY! (NAMETS!) (2008, Jay Abello, Philippines, A+25)

1.หนัง food porn จากฟิลิปปินส์ พระเอก Christian Vasquez หล่อน่ารักมาก เห็นแล้วนึกถึงพิทยา ณ ระนอง แต่เราว่าหนังพยายามเดินตามสูตรสำเร็จของหนัง 3 องก์มากไปหน่อย ตัวละครมันเลยดูฝืน ๆ เหมือนตัวละครรักกันหรือเกลียดกันเพราะเส้นเรื่องของหนัง romantic แบบ 3 องก์กำหนดไว้ แทนที่ตัวละครจะมีอิสระแบบมนุษย์จริง ๆ

2.ชอบที่หนังใส่ฉากที่ไม่เกี่ยวกับเส้นเรื่องหลักเข้ามาด้วย 5-6 ฉาก ถือเป็นอะไรที่ประหลาดดี แต่ชอบมาก ๆ คือในระหว่างที่หนังเล่าเส้นเรื่องหลักเป็นเรื่องของพระเอกกับนางเอกที่พยายามทำร้านอาหารแบบท้องถิ่นของฟิลิปปินส์ หนังก็ใส่ฉากของมนุษย์ถ้ำ, ร้านกาแฟที่ลูกค้าใข้น้ำตาลเปลือง, เด็กที่ไม่อยากให้ฆ่าสัตว์, สาวที่ใช้อาหารในการปลุก sex ผัว  และพ่อที่สอนลูก ๆ ในการทำน้ำจิ้มไก่ คือเหมือนฉากพวกนี้จริง ๆ แล้วก็ไม่ได้ดีมาก แต่เหมือนฉากพวกนี้เป็น "น้ำจิ้ม" หรือเครื่องเคียง ที่ช่วยลดความเฝือของพล็อตหนังแบบสูตรสำเร็จของเส้นเรื่องหลักลงไปได้บ้าง

--
หลังจากได้ดูหนังไทยขนาดยาวหลายเรื่องในช่วงต้นปีนี้ ทั้งดรรชนีนาง, พี่ชาย (1951, เนรมิต), ANATOMY OF TIME, เพลงนี้พ่อเคยร้อง, บอกโลกให้รู้ว่ากูรักมึง และ ONE FOR THE ROAD ดิฉันก็สรุปได้อย่างง่ายดายที่สุดว่า ตัวละครที่ดิฉันขอจองรับบทก็คือบทดร.อิงก้าใน THE MAESTRO: A SYMPHONY OF TERROR ค่ะ 55555 คือดิฉันไม่ได้ชอบที่ตัวละครตัวนี้พูดจาดูถูกเหยียดหยามประเทศไทยนะคะ แต่ชอบบุคลิกของตัวละครตัวนี้อย่างสุด ๆ ชนะเลิศบุคลิกตัวละครหญิงทุกตัวในหนังเรื่องอื่น ๆ รวมถึงตัวละครหญิงทุกตัวใน ONE FOR THE ROAD ด้วย คือเห็นเธอแล้วรู้เลยว่าเธอ “บ่ยั่น” ของจริง บทแบบนี้เท่านั้นที่ดิฉันคู่ควร 55555
--
เราไม่ได้ไปดู PERSONA ที่หอภาพยนตร์วันนี้ แต่นึกถึง PERSONA ทีไรเราก็จะต้องนึกถึงเพื่อน ๆ มัธยมของเรา เพราะเพื่อนมัธยมบางคนชอบ role play ฉากจาก PERSONA กันบนศูนย์อาหารชั้น 6 มาบุญครองเมื่อราว ๆ 30 ปีก่อน บางทีเราก็รู้สึกเสียดายมาก ๆ ที่เมื่อ 30 ปีก่อนพวกเรายังไม่มี youtube และ tiktok ใช้ ไม่งั้นพวกเราก็คงได้บันทึกการ role play ฉากต่าง ๆ จาก PERSONA บนศูนย์อาหารมาบุญครองกันไปแล้ว 5555555 ไม่รู้คนอื่น ๆ ชอบ role play ฉากจากหนังเรื่องนี้เหมือนเพื่อนมัธยมของเราหรือเปล่า

พอพูดถึง Ingmar Bergman เราก็จะแอบสงสัยว่า หนึ่งในภาพยนตร์ไทยที่เราชื่นชอบที่สุดในชีวิต ซึ่งก็คือภาพยนตร์เรื่อง “ประสาท” (1975, เปี๊ยก โปสเตอร์) ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Ingmar Bergman หรือเปล่า เพราะ “ประสาท” เน้นการนำเสนอตัวละครหญิง 3 คนที่เหมือนมีอาการผิดปกติทางจิต และถือเป็นการประชันบทบาทครั้งสำคัญที่สุดของเปียทิพย์ คุ้มวงศ์, มยุรฉัตร เหมือนประสิทธิเวช และทัศน์วรรณ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา ฉากจบของหนังเรื่องนี้ที่เป็นการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างมยุรฉัตรกับทัศน์วรรณนี่ยังคงติดตาตรึงใจเรามาจนถึงทุกวันนี้

แต่บางทีคุณเปี๊ยกอาจจะไม่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Bergman ก็ได้นะ เราก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะเราเองก็ไม่ได้ดูหนังยุคนั้นหลาย ๆ เรื่อง แต่เข้าใจว่าหนังยุคนั้นก็มีหนังอย่าง IMAGES (1972, Robert Altman) และ THREE WOMEN (1977, Robert Altman) ที่เน้นสภาพจิตผู้หญิงเหมือน ๆ กัน และก็มีหนังอย่าง INTERIORS (1978, Woody Allen) ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Bergman โดยตรง
--
I NEED A HERO FIGHT SCENE (2021, Sirirattana Nualnum, video installation 3min, A+30) วิดีโอจัดแสดงที่ art4c รู้สึกว่ามันน่ารักมาก ๆ

--
ARUNA AND HER PALATE (2018, Edwin, Indonesia, A+30)

Serious Spoilers alert
--
--
--
--
--
1.เป็นหนังเรื่องที่ 12 ของ Edwin ที่เราได้ดู กราบ Edwin ของจริง คือเหมือนตอนที่เขาทำหนังอาร์ต เราชอบหนังของเขามาก ๆ แต่เหมือนมันอาจจะไม่ "เปรี้ยง" ในทางหนังอาร์ตมากเท่ากับ  Garin Nugroho หรือผู้กำกับระดับโลกคนอื่น ๆ คือเขาเหมือนเป็นผู้กำกับหนังอาร์ตแถวหน้าสุดของอินโดนีเซีย แต่อาจจะยังไม่ใช่แถวหน้าสุดของ Asia

แต่พอเราได้ดูหนังยุคหลังของเขา ซึ่งก็คือเรื่องนี้, POSSESSIVE (2017) กับ VENGEANCE IS MINE, ALL  OTHERS PAY CASH (2021) แล้ว เราก็รู้สึกว่าทั้ง 3 เรื่องนี้มันมีความ mainstream แล้วมันออกมาดีงามมาก ๆ เหมือนเขาเลือกพระเอกและนักแสดงชายได้ดีมาก ๆ และทำออกมาแล้วมันทั้งดูสนุกแบบหนัง mainstream แต่มันจริงใจกับตัวละคร และ treat ตัวละครได้ในแบบที่เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่เครื่องมือสำหรับ maipulate   อารมณ์ผู้ชมเพียงอย่างเดียวด้วย กราบบบบบบบ

2.เราว่าหนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จหมดเลยสำหรับเรา ทั้งในแง่

2.1 ความเป็นหนัง food porn คือเป็นหนังที่แนะนำอาหารทั่วอินโดนีเซียออกมาได้อย่างน่ากินสุด ๆ

2.2  ความเป็นหนัง romantic  ที่เอาจริง ๆ แล้วไม่ได้น่าสนใจมากเท่าความเป็น food porn แต่หนังหล่อเลี้ยงอารมณ์ตรงนี้ได้ดี และนักแสดงนำชายทั้งสองคนของเรื่อง ซึ่งก็คือ Oka Antara กับ  Nicholas Saputra ก็ตรงสเปคเรามาก ๆ ตอนดูหนังเรื่องนี้เราก็เลยมีอารมณ์ร่วมกับความ romantic ของมันมาก ๆ

2.3 การให้ความจริงจังกับอาชีพการทำงานของนางเอก ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีงามมาก ๆ

3.เหมือนหนังมันแม่นยำในจังหวะการเร้าอารมณ์ผู้ชมบางอย่างจนทำให้เราร้องไห้ได้ คือในหนังเรื่องนี้ นางเอกเดินทางไปทั่วอินโดนีเซียเพื่อตามหาสูตรอาหารสูตรนึง แล้วในช่วงท้ายนางเอกก็ค้นพบความจริงเกี่ยวกับสูตรอาหารนี้ในที่สุด แล้วตัวละครตัวนึงก็ถามนางเอกว่า"What else do you need?" ในขณะที่ผู้ชมเห็นพระเอกกำลังเดินเข้ามาในฉากพอดี

คือเราว่าจังหวะตรงนั้นของหนังมันเป๊ะมากน่ะ จนเราร้องไห้ออกมาเลย


รูปของ Oka Antara แต่ไม่ได้มาจากหนังเรื่องนี้
--






เมื่อวันอาทิตย์เพิ่งดูหนังเรื่อง SHOULD THE WIND DROP (2020, Nora Matirosyan, Armenia, A+30) ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสาธารณรัฐ Artsakh หรือสาธารณรัฐ Nagorno-Karabakh ไป สาธารณรัฐนี้เป็นดินแดนที่พยายามแยกตัวออกมาจากประเทศอาเซอร์ไบจัน แต่นานาชาติยังไม่ให้การยอมรับในฐานะประเทศ ถ้าเราเข้าใจไม่ผิด

เราประทับใจมาก ๆ เพราะเราแทบไม่เคยได้ดูหนังเกี่ยวกับสาธารณรัฐนี้มาก่อนเลย เข้าใจว่า SHOULD THE WIND DROP อาจจะเป็นหนังเรื่องที่สองเกี่ยวกับสาธารณรัฐนี้ที่เราเคยดู หลังจากที่เราเคยดูหนังเรื่อง THE ETERNALS (2017, Pierre-Yves Vandeweerd) ไปแล้ว ซึ่งก็เป็นหนังที่พูดถึงสาธารณรัฐ Nagorno-Karabakh เช่นกัน และหนังเรื่องนั้นก็ติดอันดับ 33 ประจำปีของเราในปี 2018

ปรากฏว่าตอนนี้มีหนังเกี่ยวกับสาธารณรัฐนี้เปิดฉายออนไลน์อยู่ด้วย ซึ่งได้แก่หนังเรื่อง BLACK BACH ARTSAKH (2021, Ayreen Anastas, Rene Gabri) ที่มีความยาวเพียงแค่ 150 นาที และเปิดฉายออนไลน์จนถึงวันที่ 15 ก.พ. กรี๊ดดดดดดดดดดดดดดดดดด ฉันจะมีเวลาดูทันไหม อยากมีเวลาดูหนังเรื่องนี้มาก ๆ แอบขำมากที่ฉากตัวอย่างจากหนังเรื่องนี้เป็นฉากเด็ก ๆ หลายคนถือถังใส่น้ำเดินไปเดินมา ซึ่งมันคล้ายกับกิจวัตรประจำวันของตัวละครนำใน SHOULD THE WIND DROP บางทีสิ่งนี้คงแสดงให้เห็นว่า ปัญหาด้านน้ำประปาในสาธารณรัฐ Nagorno-Karabakh นี้มันคงรุนแรงจริง ๆ

ดูหนังเรื่อง BLACK BACH ARTSAKH ได้จากลิงค์นี้นะ
https://www.e-flux.com/video/446268/black-bach-artsakh/

เหมือนในภูมิภาคนั้นมีสาธารณรัฐ Abkhazia ที่พยายามแยกตัวออกมาจากประเทศจอร์เจียด้วย และก็มีหนังเรื่อง LETTERS TO MAX (2014, Eric Baudelaire) ที่พูดถึงสาธารณรัฐ Abkhazia แต่เรายังไม่เคยดูหนังเรื่องนี้ อยากดูมาก ๆ เหมือนกัน

คือเรื่องของสาธารณรัฐ Abkhazia และสาธารณรัฐ Nagorno-Karabakh นี้เป็นอะไรที่เราสนใจมาก ๆ เพราะเราแทบไม่เคยมีความรู้เรื่องพวกนี้มาก่อนเลย เพราะเราเคยเรียน “ภูมิศาสตร์” ในทศวรรษ 1980 น่ะ ซึ่งเป็นยุคที่มันยังเป็นประเทศ “สหภาพโซเวียต” อยู่เลยค่ะ เราก็เลยไม่มีความรู้เกี่ยวกับประเทศหลายประเทศที่เพิ่งเกิดใหม่หรือเพิ่งเปลี่ยนชื่อใหม่ในทศวรรษ 1990 หรือหลังจากนั้น คือความรู้ด้านภูมิศาสตร์ของกูยังอยู่ในยุคที่มีประเทศ “เยเมนเหนือ”, “เยเมนใต้” และประเทศ “ซาอีร์” อยู่เลยค่ะ กูเพิ่งรู้ว่าซาอีร์เปลี่ยนชื่อประเทศเป็น Democratic Republic of Congo เมื่อไม่นานมานี้เอง 5555

เพื่อเป็นการช่วยให้ตัวเองไม่งง เราก็เลยขอจดไว้กันลืมเลยดีกว่าว่า มันมีประเทศเหล่านี้เกิดขึ้นหลังสหภาพโซเวียต และเราเคยดูหนังเรื่องไหนที่เกี่ยวกับประเทศนั้นไปแล้วบ้าง (แต่ไม่ได้จดชื่อหนังทุกเรื่องที่เคยดูเอาไว้นะ เพราะไม่มีเวลา)

1.UKRAINE
GAMER (2011, Oleh Sentsov) ที่เคยมาฉายที่เอสพลานาด รัชดา

2.BELARUS
ALEXEI AND THE SPRING (2002, Seiichi Motohashi, documentary) เคยมาฉายที่เอ็มโพเรียม

3.MOLDOVA
PALMS (1994, Artour Aristakisian, documentary)

4.UZBEKISTAN
TO THE ENDS OF THE EARTH (2019, Kiyoshi Kurosawa)

5.KAZAKHSTAN
KILLER (1998, Darezhan Omirbayev)
LITTLE MEN (2003, Nariman Turebaev)
SCHIZO (2004, Gulshat Omarova)
TULPAN (2008, Sergei Dvortsevoy)
NIGHT GOD (2018, Adilkhan Yerzhanov)

6.KYRGYZSTAN
THE SONG OF THE RAIN (2011, Aygul Bakanova)

7.TAJIKISTAN
THE FLIGHT OF THE BEE (1998, Jamshed Usmonov, Min Byung-hun) เราเคยดูตอนมันมาฉายที่ศาลาเฉลิมกรุง

8.TURKMENISTAN
ยังไม่เคยดูหนังเกี่ยวกับประเทศนี้เลย

9.GEORGIA
A CHEF IN LOVE (1996, Nana Dzhordzhadze)

10.AZERBAIJAN
THE CHAIRS (2018, Orkhan Aghazadeh, Azerbaijan/UK)

11.ARMENIA
I AM NOT ALONE (2020, Garin Hovannisian, documentary)

12.LITHUANIA
THE CORRIDOR (1995, Sharunas Bartas)

13.LATVIA
FALLEN (2005, Fred Kelemen)

14.ESTONIA
KINNUNEN (2007, Andri Luup)
--


พอได้ยินข่าวว่ารายการ BIG CINEMA ทางช่อง 7 จะอำลาจอ เราก็ใจหายเหมือนกัน เพราะในช่วงทศวรรษ 1980 กับต้นทศวรรษ 1990 เราก็ได้ดูหนังดี ๆ เยอะมากจากรายการนี้

ถ้าหากเราจำไม่ผิด เราได้ดูหนังเหล่านี้จากรายการ BIG CINEMA นี่แหละ

1.DUNE (1984, David Lynch)

2.EVIL UNDER THE SUN (1982, Guy Hamilton)

3.HALLOWEEN II (1981, Rick Rosenthal)

4.LADY BEWARE (1987, Karen Arthur)

5.MANHUNTER (1986, Michael Mann)

6.MARIA’S LOVERS (1984, Andrey Konchalovskiy)

7.ON GOLDEN POND (1981, Mark Rydell)

8.ORDEAL BY INNOCENCE (1984, Desmond Davis)

9.PELLE THE CONQUEROR (1987, Bille August, Denmark)

10.WILD AT HEART (1990, David Lynch)
--
SYSTEM K (2019, Renaud Barret, France/Democratic Republic of Congo, documentary, A+30)

หนังสารคดีเกี่ยวกับ performance artists ใน DR CONGO ที่เน้นแสดงตามท้องถนน ซึ่งตัว artists แต่ละคนก็สร้างผลงานออกมาได้ดีงามและทรงพลังมาก ๆ แต่สิ่งที่เราว่าหนักมาก ๆ คือสภาพบ้านเมืองท้องถนนและหน้าตาของประชาชนแต่ละคนที่ไม่ได้เบาไปกว่าตัว artists คือแค่ดูหน้าตาหรือลีลาชาวบ้านแต่ละคนในหนัง เราก็รู้สึกว่ามันรุนแรงมาก ๆ แล้ว 55555 โดยเฉพาะฉากสาวแอฟริกันเต้นในบาร์ที่นึกว่ารุนแรงในระดับมากกว่าหรือเท่ากับกะเทยเต้นหน้าฮ่าน

แล้วคือชาวบ้านแต่ละคน ไม่รู้ฝึกกันมายังไงตั้งแต่เด็ก คือสามารถเทินของสูงราวสามวาสองศอกเอาไว้บนหัวของตัวเอง แล้วเดินไปเดินมาตามท้องถนนน่ะ คือฉากแรก ๆ เรานึกว่านี่คือ artists ปรากฏว่าไม่ใช่ค่ะ นี่คือชาวบ้านธรรมดาในประเทศนี้ 555

Artist คนนึงที่เหมือนเป็นลูกครึ่ง หล่อน่ารักมาก สงสารเขามาก ๆ เพราะเขาเหมือนเป็นคนไร้บ้าน ต้องนอนตามอาคารร้าง ๆ

--
SPECIAL DELIVERY (2022, Park Dae-min, South Korea, A+30)

1.ชอบมาก ๆ ดูแล้วนึกถึง GLORIA (1980, John Cassavetes) มาก ๆ ชอบตัวละครหญิงที่แข็งแกร่งแบบนี้

2.ชอบประวัติของนางเอกมาก ๆ ด้วย ที่บอกว่าร่างเธอโชกไปด้วยเลือดขณะที่เธอเป็นผู้รอดชีวิตเพียงคนเดียวขณะหลบหนีออกมาจากเกาหลีเหนือ คือนึกว่าเธอมาเพื่อปะทะกับนางเอกของ  SHIRI (1999, Kang Je-kyu) 555
--
IN PLAIN VIEW (2021,Luiz Palomino Benitez, Thailand, short documentary, A+30)

subjects ของหนังน่าสนใจดี ที่เป็นชายตาบอดกับชายหูหนวกที่อยู่ใกล้ ๆ กันในสีลม


--

NIGHTMARE ALLEY (2021, Guillermo del Toro, A+30)

1.ชอบสุดขีด สิ่งที่ชอบที่สุดคงเป็นงานด้านภาพที่ถูกจริตเรามาก ๆ รู้สึกว่าแสงเงาและสีสันของภาพโดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังมันเจิดจรัส สุกสกาว พิลาสพิไลมาก ๆ สำหรับเรา นึกถึงความตื่นตะลึงของเราตอนที่ดูหนังอย่าง ALL THAT HEAVEN ALLOWS (1955, Douglas Sirk) แล้วพบว่าสีสันในหนังมันเข้าทางเราอย่างสุด ๆ จริง ๆ

เราแทบไม่เคยดูหนัง film noir มาก่อน ก็เลยไม่รู้ว่าหนังเรื่องนี้มันใช้งานด้านภาพแบบ film noir  หรือเปล่า คือเนื้อเรื่องมันเป็น film noir ก็จริง แต่งานด้านภาพมันดูมีความฟุ้งฝัน เหมือนเอาเนื้อเรื่องแบบ film noir มาระบายสีใหม่ ลงสีใหม่แล้วมันออกมาเข้าทางเรามากที่สุด หรือเหมือนเป็นการนำเสนอเนื้อเรื่องแบบ film noir ผ่าน filter ที่เกิดจาก "ความถวิลหาถึงความงดงามของหนังในอดีต" ด้วย มันเลยออกมาดูพิลาศพิไลมาก ๆ

2.แต่ชอบเนื้อเรื่องช่วงครึ่งแรกมากกว่านะ เพราะช่วงครึ่งแรกเรายังไม่รู้ว่าหนังจะออกมาใน genre ไหนกันแน่ 5555 เพราะฉะนั้นเราก็เลยรู้สึกราวกับว่าตัวละครมันยังมีศักยภาพที่จะเป็นอะไรก็ได้อยู่ ตอนแรกเรานึกว่ามันจะเป็นหนังแบบ FREAKS (1932, Tod Browning) ด้วย

แต่พอเข้าช่วงครึ่งหลัง ที่มันเริ่มชัดว่าเนื้อเรื่องจะเป็นแบบ film noir เราก็เลยรู้สึกว่า "ศักยภาพในการที่จะเป็นอะไรก็ได้" ของตัวละคร มันเหมือนถูกจำกัดลง เราก็เลย enjoy กับเนื้อเรื่องในช่วงครึ่งหลังน้อยกว่าครึ่งแรก แต่ชอบงานด้านภาพในช่วงครึ่งหลังมาก ๆ

3.ชอบตัวละครของ Dr.Lilith ของ Cate Blanchette ด้วย แต่เป็นการชอบที่ออร่าของตัวละคร ไม่ใช่สิ่งที่ตัวละครทำ เพราะเรารู้สึกว่าออร่าเธอเข้าทางเราอย่างสุด ๆ และเหมาะที่จะเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในโลกจินตนาการของเราได้

ปัจจัยนึงที่ทำให้ถูกโฉลกกับตัวละครตัวนี้มากเป็นพิเศษ เพราะออร่าของเธอเหมือน "เปล่งรัศมีของการฆ่าฟัน" ออกมาน่ะ ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วเธอไม่ได้ฆ่าใคร 555 และสิ่งที่สำคัญก็คือว่า เธอไม่ได้เน้นความ sexy ยั่วยวน แบบ femme fatales ตัวอื่น ๆ คือเราชอบผู้หญิงที่มีรังสีของการฆ่าฟันแผ่ออกมาจากตัว แต่ไม่ได้ชอบผู้หญิง sexy น่ะ เพราะฉะนั้นเราก็เลยรัก femme fatale ตัวนี้ มากกว่าตัวละครที่ดู sexy แบบ ลิ้มเซียนยี้ ใน "ฤทธิ์มีดสั้น", ตัวละครของอังคณา ทิมดีใน  THE DUMB DIE FAST, THE SMART DIE SLOW (1991, Manop Udomdej) หรือตัวละครของ Kim Basinger ใน L.A. CONFIDENTIAL (1997, Curtis Hanson)

แต่ถ้า Lilith ไม่มีออร่ารุนแรงขนาดนี้ ตัวละครตัวนี้ก็จะไม่น่าสนใจสำหรับเราเท่าไหร่นะ เพราะสิ่งที่เธอทำไม่ได้อะไรรุนแรงหรือน่าสนใจมากนักน่ะ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับ femme fatales ตัวอื่น ๆ  แบบตัวละครของ Linda Fiorentino ใน THE LAST SEDUCTION (1994, John Dahl) หรือ Malkina (Cameron Diaz) ใน THE COUNSELOR (2013, Ridley  Scott) ที่โหดเหี้ยมจริง ๆ

4.นอกจาก Lilith แล้ว เราก็ถูกโฉลกกับตัวละคร Zeena ของ Toni Collette มาก ๆ ด้วย และรักตัวละครของ Mary Steenburgen อย่างรุนแรงที่สุด นี่แหละตัวละครหญิงแบบที่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ในโลกจินตนาการของเรา 555

ส่วนตัวละคร Molly (Rooney Mara) นั้นเป็นตัวละครที่ดีงาม แต่เราไม่ค่อยสนใจ คือถ้าหากเธออยากมาใช้ชีวิตอยู่ในโลกจินตนาการของเรา เธอต้องฝึกช็อตไฟฟ้าจนร่างกายของเธอสามารถปล่อยสายฟ้าฟาดออกมาใส่ผู้คนได้ อะไรทำนองนี้ 555

5.ปัจจัยส่วนตัวมาก ๆ ที่ทำให้เราชอบหนังยุคหลังของ Guillermo del Toro คือความ nostalgia น่ะ โดยเฉพาะเรื่องนี้ คือเรารู้สึกว่าทั้ง PACIFIC RIM (2013), CRIMSON PEAK (2015), THE SHAPE OF WATER (2017) และเรื่องนี้ เป็นการเอา genres หนังเกรดบีในอดีตมาทำใหม่ในแบบรักใคร่หลงใหล ไม่เน้นความพลิกแพลงน่ะ เพราะฉะนั้นมันจะอ่อนด้อยด้านความคิดสร้างสรรค์ เมื่อเทียบกับหนังของ Quentin Tarantino หรือ Robert Rodriguez (ที่ทำ film noir แบบ SIN CITY) แต่มันงดงามมากสำหรับคนแก่อย่างเราที่มีความ nostalgia

คือดู NIGHTMARE ALLEY แล้วนึกถึงรายการ SHOCK CINEMA ทางช่อง 7 สมัยปลายทศวรรษ 1970 ถึงต้น 1980 มาก ๆ เพราะรายการนั้นชอบนำหนังผี,หนังฆาตกรรมของฮอลลีวู้ดยุคทศวรรษ 1930-1960 มาฉาย ถ้าเราจำไม่ผิด และเราก็ชอบดู SHOCK CINEMA มาก ๆ ตอนเด็ก ๆ แต่ตอนนั้นเราเป็นเด็กอนุบาลและประถมต้นอยู่น่ะ ก็เลยจำเนื้อหาหนังและชื่อหนังที่ดูไม่ได้เแล้ว จำได้แต่ฉากบางฉากที่มันติดตาอยู่

และพอเราดู  NIGHTMARE ALLEY เราก็เลย nostalgia อย่างรุนแรง นึกถึงหนังที่เคยดูทางช่อง 7 เมื่อ 40 กว่าปีก่อนอย่างมาก ๆ

--
UNDINE (2020, Christian Petzold, Germany, A+30)

SPOILERS ALERT
--
--
--
--
--
1.ดูแล้วรู้สึกเหมือนหนังแยกเป็นสองส่วน ซึ่งก็คือส่วนที่เป็นชีวิตรักของนางเอก กับส่วนที่เป็นชีวิตการทำงานของนางเอกที่น่าสนใจมาก ๆ แต่ไม่แน่ใจว่าสองส่วนนี้มันเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนอะไรกันหรือเปล่า

การแยกเป็นสองส่วนแบบนี้ทำให้นึกถึง YELLA (2007, Christian Petzold) มาก ๆ เพราะหนังเรื่องนั้นก็ให้ความสำคัญกับทั้งชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานของนางเอก

2. ในส่วนของชีวิตรักต้องคำสาปของนางเอกนั้น ชอบการตัดสินใจของนางเอกมาก ๆ  เพราะถ้าหากเธอต้องฆ่าผู้ชายที่หมดรักเธอ เธอก็ขอเลือกไม่ต้องรักใครอีกต่อไปดีกว่า

3.แต่แอบรู้สึกว่าชีวิตการทำงานของนางเอกน่าสนใจกว่าชีวิตรัก เพราะชีวิตการทำงานของเธอเหมือนเกี่ยวข้องกับประวัติผังเมือง และสิ่งก่อสร้างสำคัญต่าง ๆ ในกรุงเบอร์ลิน ซึ่งเราไม่มีความรู้มาก่อน แต่เหมือกับว่าในช่วง 100 กว่าปีที่ผ่านมา "แนวคิดทางการเมือง" เข้ามามีส่วนอย่างมากต่อการปลูกสร้างสิ่งต่าง ๆ ในเมืองนี้

เหมือนกับว่า climax ของหนังในส่วนนี้คือการพูดถึง HUMBOLDT FORUM ซึ่งเราเข้าใจว่ามันเป็นที่ตั้งของปราสาทราชวังมาก่อน แต่พอมันโดนระเบิดเสียหายใน WW II และมันดันตั้งอยู่ในเขตของเบอร์ลินตะวันออก รัฐบาลคอมมิวนิสต์เลยถือโอกาสทำลายวังทั้งหมด แล้วใช้พื้นที่ตรงนั้นในการทำอะไรสักอย่างที่สอดคล้องกับแนวคิดคอมมิวนิสต์มั้ง

แต่พอมีการรวมชาติเยอรมนี รัฐบาลเลยพยายามสร้างอาคารคล้ายวังขึ้นมาอีกครั้ง โดยจะใช้มันเป็นพิพิธภัณฑ์

ไม่แน่ใจว่าหนังเรื่องนี้มีความเห็นอย่างไรกันแน่ต่อ HUMBOLDT FORUM แต่เหมือนนางเอกจะพูดในทำนองที่ว่า การที่รัฐบาลสร้างอาคารนี้ขึ้นมาใหม่แบบนี้แสดงให้เห็นว่า  There is no progress

4.สรุปว่า ดูแล้วงง ๆ เล็กน้อยว่าชีวิตการทำงานของนางเอกกับชีวิตรักของนางเอกมันส่องสะท้อนกันยังไง แต่ก็ชอบหนังมาก ๆ ในระดับนึง





No comments: