Tuesday, February 01, 2022

POMPO: THE CINÉPHILE (2021, Takayuki Hirao, Japan, animation, A+30)

 

เมื่อกี้เขียนถึงหนังเรื่อง “บอกโลกให้รู้ว่ากูรักมึง” แล้วเราเขียนว่าเราต้องการตัวละครที่มีสโลแกนว่า “I’M SHAMELESS” เราก็เลยขอจดบันทึกความทรงจำของตัวเองไว้เล็กน้อยว่า ประโยค I’M SHAMELESS ที่เราชอบมาก ๆ นี้ มันมีที่มาจากชื่ออัลบั้มเพลงในจินตนาการของเพื่อนเราเมื่อ 31 ปีก่อน คือตอนนั้นเป็นปี 1990 แล้วเรากับเพื่อน ๆ ก็ชอบจินตนาการว่า ตัวเองเป็นศิลปินเพลง แต่ละคนมีการตัดซิงเกิล ออกอัลบั้ม เปิดคอนเสิร์ต LIVE IN BOMBAY อะไรต่าง ๆ นานา คือกิจกรรมหลักอันนึงของเรากับเพื่อน ๆ ในปี 1990 คือการสร้างโลกจินตนาการขึ้นมาร่วมกัน แล้วแต่ละคนก็จินตนาการรายละเอียดกันว่า ถ้าหากตัวเองเป็นศิลปินเพลง แต่ละคนจะทำอะไรกันบ้าง ตัดซิงเกิลอออกอัลบั้มเพลงอะไรกันบ้าง

 

โดยในส่วนของอัลบั้ม I’M SHAMELESS นั้น จะมีเพลงอยู่ 9 เพลง ซึ่งประกอบไปด้วย

 

1.SHAME

2.SEX IS GONNA GIVE YOU SOME FUN

3.YOUR BODY BELONGS TO ME

4.HAVE A SEX WHILE WE’RE DANCING

5. 3-2-1 SEX GO!

6.MORE THAN SEX CAN DO

7.QUEEN OF FREE-SEX LAND

8.HOW BIG YOU ARE?

9. มีเพลงที่ 9 อยู่ในอัลบัมด้วย แต่มันมีชื่อเพื่อนเราอยู่ในชื่อเพลง เราเลยปิดไว้ไม่ให้เห็น 555555

 

ฮือ คิดถึง “โลกจินตนาการ” ของเรากับเพื่อน ๆ เมื่อ 30 ปีก่อนมาก ๆ คิดว่าแต่ละคนคงเคยมีประสบการณ์ต่าง ๆ ในวัยเด็กแบบนี้มาบ้างแล้ว ความทรงจำถึงความสุขในวัยเด็กที่ไม่อาจหวนคืนมาอีก แต่นึกถึงทีไรก็มีความสุข

 --------------

POMPO: THE CINÉPHILE (2021, Takayuki Hirao, Japan, animation, A+30)

 

1.หนังญี่ปุ่นนี่มันคือหนังญี่ปุ่นจริง ๆ 55555 เหมือนญี่ปุ่นถนัดในการสร้างหนัง, หนังสือการ์ตูน, ละครทีวีเกี่ยวกับ “อาชีพ” ต่าง ๆ มาก ๆ น่ะ และในหนัง/หนังสือการ์ตูน/ละครทีวีเหล่านี้ เราจะได้เห็นตัวละครพระเอกหรือนางเอกที่พยายามสู้จนสุดฤทธิ์เพื่อจะได้ประสบความสำเร็จในอาชีพของตนเอง ซึ่งจะแตกต่างจากหนังไทย/นิยายไทย/ละครทีวีไทยที่เราเคยดูตอนเด็ก ๆ ในทศวรรษ 1980 ที่ไม่ค่อยมีอะไรแบบนี้เท่าไหร่ นาน ๆ ถึงจะมีหลุดมาทีแบบหนังเรื่อง APP WAR (2018) ไม่รู้เหมือนกันว่าสิ่งนี้มันสะท้อน mindset ที่แตกต่างกันอย่างรุนแรงระหว่างคนไทยกับคนญี่ปุ่นหรือเปล่า คือเหมือนทำไมความสำเร็จของนางเอกใน fiction ไทยยุคเก่า ๆ คือการได้ผัวรวย แต่ไม่ใช่ความสำเร็จด้านอาชีพการงาน อย่างไรก็ดี เราไม่ได้ดูละครทีวีไทยมา 20 กว่าปีแล้ว และเรามั่นใจว่าละครทีวีไทยยุคปัจจุบันมีความหลากหลายกว่าในยุคทศวรรษ 1980ที่เราเคยดูมาอย่างมาก ๆ และมีการพัฒนาขึ้นมาก ๆ (อันนี้คงต้องให้คนดูละครทีวีไทยยุคปัจจุบันมาตอบค่ะ)

 

ดีใจที่ตอนนี้มีหนังญี่ปุ่นเกี่ยวกับการทำงานในอาชีพ “ผู้กำกับภาพยนตร์” ออกมาแล้ว ซึ่งเราก็โอเคกับหนังมาก ๆ นะ เหมือนแนวคิดในหนังมันก็มีตรงกับเราบ้าง และไม่ตรงกับเราบ้างเป็นเรื่องธรรมดาน่ะ แต่ชอบมาก ๆ ที่หนังมันให้ความสำคัญกับ “ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์” และ “นายธนาคาร” ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่เคยรู้มาก่อน เพราะเราไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับการสร้างหนังใหญ่น่ะ เราดูแต่หนังอย่างเดียว และเราไม่ได้เรียนด้านภาพยนตร์มาด้วย หนังเรื่อง POMPO: THE CINEPHILE ก็เลยเหมือนให้ความรู้กับเราด้วยถึงความยุ่งยากบางอย่างในการสร้างหนังใหญ่ โดยเฉพาะการขอกู้เงินจากธนาคาร

 

2.แต่หนังก็มีความ overly optimistic อยู่บ้างนะ แต่มันเป็นเรื่องปกติใน fiction ญี่ปุ่นที่เกี่ยวกับ “การประกอบอาชีพ” น่ะ มันอาจจะขาดความสมจริงตรงนี้ไปบ้าง แต่เราคิดว่ามันเป็นลักษณะเฉพาะของ genre นี้ เราก็เลยมองข้ามมันไปได้

 

3.ส่วนแนวคิดของหนังเรื่องนี้ที่ไม่ตรงกับเรา ก็คือการที่ตัวละครนางเอกในหนังเรื่องนี้รักหนังที่ยาวไม่เกิน 90 นาทีน่ะ 555555 ซึ่งตรงข้ามกับเรามาก ๆ เพราะเรารักหนังยาว ๆ แบบหนังของ Lav Diaz และ Jacques Rivette แต่ตัวละครนางเอกก็มีเหตุผลของตัวเองนะ เพราะเธอเหมือนถูกปู่บังคับให้ดูหนังยาว ๆ ตั้งแต่เด็กน่ะ และเราเข้าใจดีว่า “การถูกบังคับ” มันย่อมต้องนำมาซึ่ง “ความเกลียดชัง” เป็นเรื่องธรรมดาน่ะ

 

4.ส่วนแนวคิดของหนังเรื่องนี้ที่ตรงกับเราครึ่งนึงคือการให้คุณค่ากับหนังเกรดบี เพียงแต่ว่าหนังเกรดบีใน POMPO: THE CINEPHILE มันเน้นไปที่หนังสัตว์ประหลาดที่ขายความ sexy ของนักแสดงหญิง ซึ่งเราไม่ใช่แฟนหนังกลุ่มนี้น่ะ แต่เราเป็นแฟน “หนังสยองขวัญ” เกรดบีอะไรแบบนั้นมากกว่า

 

แต่ก็ชอบการให้คุณค่ากับหนังเกรดบีมาก ๆ แหละ คือเราว่าลักษณะสำคัญของ cinephiles ที่เราชื่นชอบส่วนใหญ่ คือการไม่แบ่งแยกระหว่างหนังเกรดบี, หนังตลาด, หนังออสการ์, หนังอาร์ต, หนังทดลองน่ะ การไม่แบ่งแยกในที่นี้คือหมายความว่า cinephiles ที่เราชื่นชอบส่วนใหญ่ถ้าจะชอบหรือไม่ชอบหนังแนวไหน ก็เกิดจากรสนิยมส่วนตัวนะ ไม่ได้เกิดจากการไปเหยียดชั้นของมัน  อย่างเช่นเราอาจจะไม่ชอบหนังคาวบอย, หนังบู๊ภูธร, หนังเพลง เพราะเราดูแล้ว “ไม่อินเป็นการส่วนตัว” แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่ชอบเพราะเราไปดูถูกมันว่ามันเป็น “หนังที่ไม่ได้เข้าชิงรางวัลจากสถาบันอันทรงเกียรติ” อะไรทำนองนี้

 

5.คิดว่าตัวละครสำคัญคนนึงในหนัง น่าจะมี ref มาจาก Robert De Niro เพราะฉะนั้นตัวละคร “ผู้กำกับรุ่นเดอะ” อีกคนในหนังเรื่องนี้ ก็เลยทำให้เรานึกถึง Martin Scorsese ไปโดยปริยาย

 

หนังเรื่องนี้มีการพาดพิงถึง CINEMA PARADISO ด้วย ซึ่งเรายังไม่เคยดู และหนังเรื่องนี้เหมือนมีการพาดพิงถึงหนังคลาสสิคเรื่องไหนสักเรื่องที่มีตัวละคร “หญิงสาวสวมมงกุฎดอกไม้อยู่กลางทุ่งหญ้า” ด้วย ซึ่งเราไม่รู้ว่ามันคือหนังคลาสสิคเรื่องอะไรน่ะ มีใครรู้บ้างว่ามันคือหนังคลาสสิคเรื่องอะไรที่ถูกพาดพิงถึงใน POMPO: THE CINEPHILE คือตอนแรกเรานึกว่ามันพาดพิงถึง BROTHER SUN, SISTER MOON (1972, Franco Zeffirelli) หรือไม่ก็ THE SONG OF BERNADETTE (1943, Henry King) แต่เราลอง google รูปจากหนังสองเรื่องนี้ดูแล้ว ก็ไม่มีฉากหญิงสาวสวมมงกุฎดอกไม้ (แน่นอนว่ามันไม่ได้ ref ถึง MIDSOMMAR แน่ ๆ 55555)

 

6.สรุปว่าชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุด ๆ ถือว่าเอาคำว่า cinephile มาใช้ในชื่อหนังได้อย่างไม่เสียของ ถึงแม้ว่ามันจะเน้นไปที่ “หนังกระแสหลัก” มากกว่าหนังนอกกระแสแบบที่เราสนใจจริง ๆ ก็ตาม

 

7.ขอบันทึกความทรงจำไว้นิดนึงแล้วกันว่า fiction ของญี่ปุ่นเกี่ยวกับการประกอบอาชีพต่าง ๆ ที่เราชอบมาก ก็มีเช่น

 

7.1 ละครทีวีเกี่ยวกับ “นักกีฬา” มากมาย โดยเฉพาะ “ยอดหญิงชิงโอลิมปิก” และ “เงือกสาวเจ้าสระ”

 

7.2 การ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง “หน้ากากแก้ว” ของ Suzue Miuchi เกี่ยวกับวงการละครเวที

 

7.3 การ์ตูนเรื่อง “ตากล้องยอดรัก”

 

7.4 การ์ตูนเรื่อง “ยอดรักจอแก้ว” เกี่ยวกับการไต่เต้าในอาชีพ “พิธีกรรายการโทรทัศน์”

 

7.5 การ์ตูนเรื่อง “สู้เขามายูโกะ” เกี่ยวกับอาชีพช่างตัดผม

 

7.6 ละครทีวีเกี่ยวกับอาชีพดีไซเนอร์, แอร์โฮสเตส, ตำรวจหญิง, การตั้งวงดนตรี

 

7.7 BAKUMAN (2015, Hitoshi One) เกี่ยวกับนักวาดการ์ตูน

No comments: