CUBE (2021, Yasuhiko Shimizu, Japan, A+5)
1.เราเคยดูต้นฉบับ CUBE (1997, Vincenzo Natali, Canada, A+30) มาแล้ว ตอนดูต้นฉบับเมื่อ 20 กว่าปีก่อน รู้สึกว่ามันสนุกสุด ๆ แต่พอเวอร์ชั่นนี้เนื้อเรื่องมันคล้ายเดิมมาก ๆ เราก็เลยเฉย ๆ กับมัน นึกซะว่าเข้ามาดูความหล่อของ Masaki Okada กับ Takumi Saitoh
2. ถ้าจำไม่ผิด สิ่งที่เพิ่มเข้ามาใน new version นี้ ไม่ใช่สิ่งที่เราชอบ ซึ่งก็คือ "ความซาบซึ้งตามสไตล์หนังญี่ปุ่น" ดูแล้วก็ต้องบอกว่า ญี่ปุ่นนี่มันญี่ปุ่นจริง ๆ เหมือน original version มันไม่มีความซาบซึ้งแบบนี้นะ 55555
3.สิ่งที่หนังอาจจะไม่ได้ตั้งใจ แต่เรานึกถึงตอนที่ดูหนังเรื่องนี้ ก็คือเรานึกถึงวิวัฒนาการของมนุษย์น่ะ เหมือนมนุษย์ยุคดึกดำบรรพ์ก็คงคล้าย ๆ กับตัวละครในเรื่อง ต้องลองผิดลองถูกกับสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติไปเรื่อย ๆ กินเห็ดนี้แล้วตาย กินปลานี้แล้วตาย ยางต้นไม้นี้มีพิษ กินอันนี้แล้วขี้แตก ส่งเสียงดังแล้วจะโดนสัตว์นี้มาทำร้าย เอาหมามุ่ยทาจู๋แล้วคันจู๋ etc. เหมือนมนุษย์ยุคก่อนคงต้องมีคนเสียสละตายไปเพราะสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติน่ะ เพื่อให้ survivors เรียนรู้ที่จะหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นอันตราย และหาทางรับมือกับสิ่งต่าง ๆ ใน envionment กันได้ต่อไป สั่งสมความรู้จากรุ่นสู่รุ่นกันต่อไป
และสิ่งสำคัญที่ช่วยให้มนุษย์พัฒนาขึ้นได้ เอาชนะธรรมชาติได้ ใช้ชีวิตสะดวกสบายขึ้นมาก ก็คือความรู้ทางคณิตศาสตร์น่ะ เหมือนกับตัวละครในหนังเรื่องนี้ที่ค้นพบว่ามันมีคณิตศาสตร์อยู่ในสิ่งแวดล้อม (ธรรมชาติ) และพอเราสังเกตเห็นคณิตศาสตร์ในสิ่งแวดล้อม คิดกับมัน เรียนรู้จากมัน มนุษย์ก็สามารถพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ มาได้ตามมา วิวัฒนาการขึ้นได้ รอดชีวิตกันได้มากขึ้น สบายกันมากขึ้น
แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ธรรมชาติเท่านั้นที่คร่าชีวิตคนได้ คนก็ฆ่ากันเองได้เช่นกัน
--
GHOSTBUSTERS: AFTERLIFE (2021, Jason Reitman, A+25)
1.เราเกลียด GHOSTBUSTERS ภาคแรก เราก็เลยไม่ดูภาคสอง แต่พอเห็นว่าภาคนี้กำกับโดย Jason Reitman เราก็เลยเสี่ยงเข้าไปดู แล้วก็ไม่ผิดหวัง เพราะชอบมากกว่าภาคแรกเยอะ
2.ช่วงแรกรู้สึก "เบื่อ" แต่ไม่ได้เกลียดนะ ที่เบื่อเพราะรู้สึกว่าหนังมัน "ใส" มาก ๆ เหมือน "made-for-tv movies" ของดิสนีย์ที่เคยมาฉายทางช่อง 5 ทุกเช้าวันเสาร์น่ะ เป็นหนังที่เหมาะสำหรับเด็กประถมดู
3.แต่ช่วงท้ายเรารู้สึกว่ามันซึ้งมาก ๆ เป็นหนังของ Jason Reitman จริง ๆ เหมือนเขาถนัดทำอะไรซึ้ง ๆ แบบนี้
4.แต่ก็ชอบหนังเรื่องนี้น้อยที่สุดในบรรดาหนัง 5 เรื่องของ Jason Reitman ที่เราเคยดูมานะ และยังคงชอบ TULLY (2018) มากสุด
5.เห็นด้วยมาก ๆ ที่มีคนบอกว่าตัวหัวหน้าปีศาจเหมือน Pat Benatar + Sheena Easton
--
WHO'S SACRIFICE (2021, Waret Khunacharoensap, video installation, about 5mins, A+30)
วิดีโอที่ชั้น 2 BACC เกี่ยวกับรัฐประหารในไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มันอาจจะไม่ลึกซึ้งอะไร แต่ดูแล้วสะใจสุด ๆ จนน้ำตาไหล
--
สรุปว่าตอนนี้ใช้บัตร M PASS ดูหนังไปแล้ว 100 เรื่อง คุ้มที่สุด ประทับใจ เราซื้อบัตร M PASS ในวันที่ 23 ส.ค. 2020 ในราคา 4800 บาท ใช้ดูหนังได้ทุกเรื่องใน 1 ปี แต่เนื่องจากโรงหนังปิดทำการไปนานหลายเดือนในช่วง LOCKDOWN บัตรของเราเลยได้รับการต่ออายุอัตโนมัติไปจนถึงราวกลางเดือนก.พ. 2022
เราใช้บัตรนี้ดูหนังเรื่องแรกคือ THE HUNT (2020, Craig Zobel, A+30) ในวันที่ 23 ส.ค. 2020 และใช้บัตรนี้ดูหนังเรื่องที่ 100 ในวันนี้ ซึ่งก็คือ HOUSE OF GUCCI (2021, Ridley Scott, A+25) สรุปว่าเราจ่ายค่าตั๋วหนัง 100 เรื่องนี้ในราคาเรื่องละ 48 บาทเท่านั้นในช่วงที่ผ่านมา และเดี๋ยวค่าเฉลี่ยคงลดลงไปอีก เพราะเรายังใช้มันดูหนังเรื่องอื่น ๆ ต่อได้อีกราว 14 วัน
มีความสุขกับสิ่งนี้มาก ๆ ค่ะ 555
---
TWO OF US (2019, Filippo Meneghetti, France, A+30)
1.ดีใจสุด ๆ ที่ได้เห็น Barbara Sukowa (จาก BERLIN AKEXANDERPLATZ เวอร์ชั่น Fassbinder) ปล่อยของเต็มที่ในหนังเรื่องนี้ ชอบที่ตัวละครของเธอเป็นเลสเบียนวัยชราที่ร้าย มีพิษสง คลั่งรัก เห็นแก่ตัว ทำอะไรโง่ ๆ อารมณ์รุนแรง และมีความสีเทา ไม่ใช่ตัวละครแบบที่เราจะเห็นด้วยกับการกระทำของเธอไปซะทั้งหมด
2.ชอบมากที่ได้เห็น Lea Drucker ในหนังเรื่องนี้ด้วย เพราะชอบเธอมาก ๆ จาก JUST BEFORE LOSING EVERYTHING (2013, Xavier Legrand) และ CUSTODY (2017, Xavier Legrand)
การได้เห็น Barbara Sukowa ปะทะกับ Lea Drucker ในหนังเรื่องนี้ เลยเหมือนได้เห็นผู้หญิงสองคนที่ผ่านสงครามชีวิตอย่างโชกโชนมาปะทะกัน โดยที่หนังเรื่องนี้ไม่ได้ตั้งใจ
3.ดีใจสุดขีดที่เห็นชื่อ Florence Vignon ร่วมเขียนบทหนังเรื่องนี้ เพราะเราชอบหนังเรื่อง LE BLEU DES VILLES (1999, Stephane Brize) ที่เธอร่วมเขียนบทและนำแสดงอย่างมาก ๆ
--
DEMONIC (2021, Neill Blomkamp, A+30)
ว้าย ฉันอินมาก ๆ 5555 ชอบไอเดียของมันมาก ๆ ด้วยที่เป็น THE CONJURING ผสมกับ INCEPTION + THE CELL + ร่างทรง นึกว่าเอาจิตของคนที่ถูกผีสิงเข้าไปใส่ในจักรวาลนฤมิต
เหมือนหนังมันยังไปไม่สุดนะ แต่เราชอบหนังไซไฟหลาย ๆ เรื่องที่มันเป็นการเริ่มต้นสำรวจไอเดียที่น่าสนใจต่าง ๆ น่ะ แม้ในเชิงดราม่ามันไปไม่สุด แต่ถ้าไอเดียมันเข้าทางเรา เราก็ชอบสุด ๆ แล้ว
--
THE AUDITION (2019, Ina Weisse, Germany, A+30)
Spoilers alert
--
--
--
--
--
1.กราบการแสดงของ Nina Hoss ในหนังเรื่องนี้
2. ทำไมมนุษย์มันถึงซับซ้อนอย่างนี้คะ ชอบมาก ๆ ที่เราตัดสินไม่ได้เลยว่า นางเอกกำลังทำถูกหรือทำผิดในแต่ละฉาก, เราควรรู้สึกอย่างไรกับนางเอก, นางเอกหรือตัวละครอื่น ๆ คิดหรือรู้สึกอะไรอยู่ในใจ เหมือนมนุษย์จริง ๆ หลาย ๆ คนที่เวลาคิดอะไรจะไม่แสดงออกทางใบหน้าให้คนอื่น ๆ ได้รับรู้
คือเหมือนหนังหลาย ๆ เรื่องจะพยายามทำให้คนดูเข้าใจความคิดและความรู้สึกของตัวละคร แต่หนังเรื่องนี้ทำให้เราไม่เข้าใจหรือไม่แน่ใจในตัวละครเลย แต่เรารู้สึกว่าคนจริง ๆ มันก็ซับซ้อนรุนแรงแบบนี้มาก ๆ
3. ตัวละครที่หนักที่สุด คือตัวละครเด็กน้อยที่พยายามช่วยชีวิตปลาจำนวนมากในลำธาร เพราะเขาไม่อยากให้มนุษย์จับปลาเหล่านี้ไปกิน แต่พอเด็กคนนี้เกลียดขี้หน้าใคร เขากลับพยายามทำร้ายคนคนนั้นจนเกือบถึงแก่ความตาย ทั้ง ๆ ที่คนคนนั้นไม่ได้ทำอะไรผิดเลย
คือถ้าหนังมันสร้างตัวละครเด็กโรคจิตไปเลย มันจะไม่เปรี้ยงแบบนี้น่ะ แต่พอหนังมันสร้างตัวละครเด็กผู้มีเมตตาเปี่ยมล้นต่อสัตว์โลก แต่อยากฆ่าหรือทำร้ายคนบริสุทธิ์แบบนี้ เราเลยรู้สึกว่ามนุษย์ในหนังเรื่องนี้มันซับซ้อนสุด ๆ
--
AMULET (2020, Romola Garai, UK/UAE, A+30)
ชีปีศาจ
SPOILERS ALERT
--
--
--
--
--
1.นึกว่าเป็นไตรภาค BRITISH METOO HORROR ควบกับหนังเรื่อง LAST NIGHT IN SOHO (2021, Edgar Wright) และ THE POWER (2021, Corinna Faith) เพราะหนังทั้ง 3 เรื่องนี้เป็นหนังสยองขวัญอังกฤษเหมือนกัน และพูดถึงประเด็นการกดขี่ผู้หญิงเหมือน ๆ กัน 55555 แต่ LAST NIGHT IN SOHO เล่าจากมุมมองของผู้เห็นเหตุการณ์บางส่วน, THE POWER เล่าจากมุมมองของเหยื่อ ส่วน AMULET เล่าจากมุมมองของผู้กระทำ
ชอบหนังทั้ง 3 เรื่องนี้ในระดับ A+30 เท่ากันนะ และตอนนี้บอกไม่ได้ว่าชอบเรื่องไหนมากสุด เหมือนทั้ง 3 เรื่องนี้มีจุดเด่นแตกต่างกันไป
2. จุดเด่นจุดนึงใน AMULET คือการที่หนังเรื่องนี้เหมือนกินขอบเขตด้าน SPACE AND TIME มากกว่าอีกสองเรื่อง เพราะหนังเรื่องนี้ทำให้นึกถึงสงครามบอสเนีย ที่ทหารเชื้อสาย Serb ข่มขืนผู้หญิงบอสเนียจำนวนมาก เพราะฉะนั้นหนังเรื่องนี้ก็เลยเหมือนกินขอบเขตด้าน space มากกว่าอีกสองเรื่อง
และ AMULET ก็ทำให้เราเดาว่า เทวนารี (หรือปีศาจ?) ในหนังเรื่องนี้ มาจากยุคตั้งแต่ก่อนคริสตกาลด้วย หนังเรื่องนี้ก็เลยเหมือนกินขอบเขตด้านเวลามากกว่าหนังอีก 2 เรื่อง เพราะผีใน LAST NIGHT IN SOHO กับ THE POWER ดำรงอยู่มาไม่นานนัก
3.ชอบการสร้างตัวละครแบบเทวนารีในหนังเรื่องนี้อย่างสุด ๆ เราว่ามันขลังมาก ๆ และเราหลงใหลเรื่องลี้ลับตั้งแต่ก่อนคริสตกาลพวกนี้มาก ๆ
ดูแล้วนึกถึงนิยายของจินตวีร์ วิวัธน์มาก ๆ ด้วย ในแง่บ้าน GOTHIC, ปีศาจยุคโบราณ และนึกถึงหนังเรื่อง THE LAIR OF THE WHITE WORM (1988, Ken Russell, UK) ด้วย
4.เราว่าตัวเทวนารีนี้ออกแบบมาน่าสนใจดี เพราะมันมีเครื่องสวมหัวเป็นเปลือกหอย มันเลยเป็นเหมือนด้านกลับหรือด้านตรงข้ามของ Venus ในภาพวาดของ Botticelli
คือราวกับว่าในขณะที่บรรดาผู้ชายหลงใหลได้ปลื้มกับเทพธิดาแห่งความรัก เราก็ขอสร้างเทพธิดาแห่งการแก้แค้นและการลงทัณฑ์ขึ้นมาในหนังเรื่องนี้บ้าง
5.ชอบฉากนางเอกเต้นในผับมาก ๆ นึกว่าเธอเต้นหน้าฮ่าน
--
No comments:
Post a Comment