Friday, February 04, 2022

META INCOGNITA: MISSIVE II (2019, Alia Syed, 53min, A+30)

 

META INCOGNITA: MISSIVE II (2019, Alia Syed, 53min, A+30)

 

1.ถือเป็นหนึ่งในหนังที่หนักข้อมากที่สุดเรื่องนึงเท่าที่เคยดูมาในชีวิตเลยนะ หนักข้อกว่า EXPEDITION CONTENT (2020, Ernst Karel, Veronika Kusumaryati), PERU TIME (2008, Chaloemkiat Saeyong) และ DOUBLE TIDE (2009, Sharon Lockhart) เสียอีก 555555

 

คำว่าหนักข้อในที่นี้หมายถึงว่า การดูหนังเรื่องนี้มันไม่ได้เพลิดเพลินหรือสบายใจมากเท่ากับหนังอีก 3 เรื่องข้างต้นน่ะ แต่เราว่ามันอาจจะเป็นความตั้งใจของผู้กำกับก็ได้นะ คือหนังเรื่องนี้เหมือนถ่ายชายหาดแห่งนึงตอนพระอาทิตย์ตกดินกับพระอาทิตย์ขึ้น ซึ่งเป็นชายหาดที่ดูแล้วไม่มีมนตร์เสน่ห์ดึงดูด หรือดูสวยงามแต่อย่างใด และเสียง voiceover ที่ได้ยินในหนังเรื่องนี้ก็มีสองเสียง เสียงนึงเป็นเหมือนรายงานทางการทหารว่ามีการทดสอบระเบิดอะไรตรงปากแม่น้ำในวันไหน ๆ หรือไม่ แล้วอีกเสียงนึงก็เป็นเสียงผู้หญิงที่เป็นกัปตันเรือขนส่งสินค้าเถื่อนที่แล่นเรือแถวขั้วโลกเหนือ (ถ้าเราเข้าใจไม่ผิด) โดยเสียงผู้หญิงในตอนแรกเหมือนเน้นพูดแต่อะไรที่คล้าย ๆ บันทึกการเดินเรือที่ไม่น่าสนใจ นั่นก็คือการรายงานเวลาที่ดวงตะวันโผล่พ้นขอบฟ้ากับเวลาที่ดวงตะวันลาลับขอบฟ้า, รายงานวิตถันดรกับทีรฆันดร, รายงานสถานที่ที่เรือแล่นผ่าน อย่างเช่น Chuckchi sea, Prince of Wales Strait, Frobisher Bay, etc. แต่ตอนหลังเธอเริ่มพูดถึงอะไรที่เป็นส่วนตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็เลยทำให้หนังน่าสนใจมากขึ้น

 

คือที่เราว่ามันอาจจะเป็นความตั้งใจของผู้กำกับให้หนังมันดูน่าเบื่อหรือดูน่าอึดอัด เพราะเราเข้าใจว่ามันเป็นหนังเกี่ยวกับโลก dystopia น่ะ เพราะฉะนั้นถ้าหากผู้กำกับต้องการนำเสนอว่าโลกในอนาคตมันดูเลวร้ายเพราะปัจจัยอย่างโน้นอย่างนี้ ผู้กำกับก็คงไม่อยากถ่ายภาพท้องทะเลที่สวยงามตระการตา และคงไม่ต้องการให้ผู้ชมดูหนังด้วยความเพลิดเพลินสนุกสนาน เพราะไม่งั้นมันคงไม่เข้ากับโลก dystopia ที่ต้องการนำเสนอ

 

คือเราคิดว่าปกติเราก็ดูหนังที่ถ่ายภาพ “ทะเล” หรือ “ชายหาด” เป็นเวลานาน ๆ มาแล้วหลายเรื่องนะ โดยเฉพาะ AGATHA AND THE UNLIMITED READINGS (1981, Marguerite Duras), BIRTH OF THE SEANEMA (2004, Sasithorn Ariyavicha), NO ONE AT THE SEA (2005, Tossapol Boonsinsukh), THE ETERNAL LIGHT (2008, Tulapop Saenjaroen) และ DOUBLE TIDE แต่เราว่าในหนังกลุ่มนี้ ชายหาดหรือทะเลถูกถ่ายให้ดูมีมนตร์เสน่ห์ตราตรึง มองได้ไม่รู้เบื่อน่ะ หรือถ้าหากในกรณีที่เราเบื่ออย่างใน DOUBLE TIDE เราก็จินตนาการอะไรไปเรื่อย ๆ ได้ เพราะจินตนาการของเราจะไม่ถูกรบกวนด้วยเสียง voiceover

 

คือเราเดาว่า META INCOGNITA มันจงใจสร้างความอึดอัดหรือน่าเบื่อด้วยแหละ เพราะนอกจาก “ภาพ” ของมันจะดูไม่ค่อยมีมนตร์เสน่ห์แล้ว (หรือเป็นเพราะเราดูผ่านทาง laptop เราก็ไม่แน่ใจ) เสียง voiceover ของมันในช่วงแรก ๆ ก็ไม่ช่วยกระตุ้นจินตนาการของเราด้วย เพราะเสียงการรายงานเรื่องระเบิดที่ปากแม่น้ำ หรือเรื่องวิตถันดรกับทีรฆันดรมันน่าจะเป็นการจงใจสร้างความน่าเบื่อ มากกว่าจะช่วยสร้างความเพลิดเพลินให้กับผู้ชม 55555

 

คือปัจจัยเรื่องเสียง voiceover นี่แหละที่เราว่ามันทำให้หนังเรื่องนี้หนักข้อกว่า EXPEDITION CONTENT และ PERU TIME เพราะถึงแม้ภาพใน PERU TIME จะดูนิ่ง ๆ และเราจะไม่เข้าใจ text ในหนังตั้งแต่ต้นจนจบ แต่เราว่าภาพใน PERU TIME มันก็ดูมีมนตร์เสน่ห์คล้าย ๆ กับหนังของ Duras เราก็เลยดูมันอย่างเพลิน ๆ ไปได้ เพราะเราไม่ถูกรบกวนด้วยเสียง voiceover หรืออย่างกรณีของ EXPEDITION CONTENT นั้น ถึงแม้เราจะต้องดูจอมืด ๆ แต่เสียงของหนังเรื่องนี้มันเป็นเสียงที่ช่วยกระตุ้นจินตนาการ และสร้างความเพลิดเพลินในแบบนึงให้กับเราน่ะ มันไม่ใช่เสียงที่ “จำกัดจินตนาการ” แบบในช่วงต้น ๆ ของ META INCOGNITA

 

เราก็เลยเดาว่าผู้กำกับของ META INCOGNITA อาจจะจงใจสร้างความอึดอัด เพราะเอาจริง ๆ แล้วเราสามารถดูภาพชายหาดอะไรแบบนี้อย่างเพลิดเพลินก็ได้นะ ถ้าหากหนังใช้เสียง voiceover ที่ช่วยกระตุ้นจินตนาการ อย่างเช่นเสียงสัมภาษณ์ชาวประมง, ชาวบ้านอะไรทำนองนี้ แต่พอหนังเรื่องนี้เลือกใช้เสียงแบบไร้อารมณ์ และไม่ค่อยมีน้ำเนื้อของความเป็นมนุษย์ในช่วงแรก ๆ เราก็เลยคิดว่าหนังมันจงใจไม่สร้างความเพลิดเพลิน 55555

 

2.แต่เสียง voiceover ของกัปตันเรือก็เพิ่มความน่าสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ นะในเวลาต่อมา โดยเฉพาะในช่วงท้าย ๆ ที่เธอเล่าประวัติชีวิตของเธอตั้งแต่เด็ก ที่เธอชอบไปจับงูในสวน หรือเก็บสิ่งต่าง ๆ ตามธรรมชาติเข้ามาในบ้าน เหมือนเธอเรียกตัวเองว่าเป็น the child of Mother Nature ด้วย และเธอน่าจะอยู่กับชายหาดมาตั้งแต่เด็ก เพราะเธอพูดว่า shore watching is my lineage และพอเธอโตขึ้น เธอก็ทำวิจัยเรื่อง frequencies อะไรสักอย่าง ที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันแห่งนึง แต่ตอนหลังเธอพบว่า สถาบันแห่งนั้นมีจุดประสงค์แอบแฝงที่ต้องการทำลายงานวิจัยของเธอ เธอก็เลยเหมือนกลายเป็นบุคคลใต้ดินที่พยายามหลบหนีการตามจับ หรืออะไรทำนองนี้ เราก็งง ๆ เหมือนกัน 55555 แล้วเธอก็กลายเป็นกัปตันเรือขนของเถื่อน และก็ชอบพูดย้ำว่า เธอ yearn for the plant I knew as a girl ซึ่งเราไม่แน่ใจว่าหมายความว่าอะไร หรือมันหมายความว่าในโลกอนาคตพืชบางอย่างมันสูญพันธุ์ไปแล้วเหรอ หรืออะไร

 

3.สรุปว่าเป็นหนังที่หนักข้อมาก ๆ สำหรับเรา ถือเป็นประสบการณ์ที่ท้าทายดี เพราะเราไม่ค่อยเจอหนังที่น่าจะจงใจสร้างความอึดอัดต่อผู้ชมแบบนี้มาก่อน คือถึงเราดูหนังทดลองมาเยอะ แต่ส่วนใหญ่มันเป็นหนังทดลองที่ “ถ่ายธรรมชาติให้ออกมาดูมีมนตร์เสน่ห์ ดูได้ไม่รู้เบื่อ” น่ะ แต่หนังเรื่องนี้น่าจะมีจุดประสงค์ที่แตกต่างจากหนังทดลองส่วนใหญ่ที่เราเคยดูมา

 

4.ดูแล้วก็คิดถึงหนังเรื่องอื่น ๆ โดยที่หนังเรื่องนี้ไม่ได้ตั้งใจด้วย 55555 อย่างเช่น

 

4.1 ถ้าหากหนังเรื่องนี้ตั้งใจสร้างความเพลิดเพลินให้ผู้ชม บางทีหนังเรื่องนี้อาจจะเลือกถ่ายท้องทะเลในขั้วโลกเหนือขณะเรือขนส่งสินค้าแล่นผ่าน แล้วมันอาจจะได้ภาพที่ตระการตา ประทับใจไม่รู้ลืมแบบในหนังเรื่อง LE CRABE-TAMBOUR (1977, Pierre Schoendoerffer)

 

4.2 พอดูหนังเรื่องนี้แล้วก็คิดว่า หนังเล่าเรื่องเกี่ยวกับทะเลส่วนใหญ่ที่เราเคยดูมา มันก็นำเสนอทะเลแบบ dramatic น่ะ มันไม่ได้นำเสนอตัวละครขณะนั่งจ้องทะเลไปเรื่อย ๆ เป็นเวลานานหลายชั่วโมง 55555 ทั้งหนังแบบ KON-TIKI (2012, Joachim Ronning, Espen Sandberg, Norway), LIFE OF PI (2012, Ang Lee), ALL IS LOST (2013, J.C. Chandor), THE LIGHTHOUSE (2019, Robert Eggers), UNDERWATER (2020, William Eubank), etc. คือเอาจริง ๆ แล้ว ตัวละครในหนังกลุ่มนี้อาจจะมี moment นั่งจ้องทะเลเป็นเวลานาน ๆ แบบใน META INCOGNITA ก็ได้นะ ทั้งตัวละครที่อยู่ในเรือกลางท้องมหาสมุทร, ในประภาคาร หรือในเรือดำน้ำใต้ทะเล เพียงแต่ว่า moments ดังกล่าวมันเป็น moments ที่ไม่เกิดเหตุการณ์น่าสนใจ มันก็เลยไม่ได้อยู่ในหนังเล่าเรื่อง ถึงแม้ว่า moments ดังกล่าวมันอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตตัวละครในหนังเหล่านี้ 55555

No comments: