Friday, December 29, 2023

SUPPOSED

 

ทำอันดับหนังบ้าบอเล่น ๆ แก้เครียด

 

เรียงตามลำดับความชอบ

 

1.MONSTER (2003, Patty Jenkins)

 

2.สัตว์ประหลาด (2004, Apichatpong Weerasethakul)

 

3.MONSTER (2023, Hirokazu Kore-eda, Japan)

 

4.MONSTERS (2010, Gareth Edwards)

 

5.MONSTERS, INC. (2001, Pete Docter, David Silverman, Lee Unkrich, animation)

 

สาเหตุที่ทำอันดับนี้ขึ้นมา เพราะอยู่ดี ๆ ก็นึกขึ้นมาได้ว่า ถึงแม้เราจะชอบ MONSTER ของ Kore-eda มาก ๆ แต่เราก็ชอบหนังเรื่องนี้น้อยกว่าหนังของ Patty Jenkins และ Apichatpong 55555 ไม่รู้มีใครชอบเหมือนเราบ้าง

 

3 อันดับแรกนี่เป็นหนัง queer หมดเลย

 ----

ภาพงานฉลองรัฐธรรมนูญในวันที่ 10 ธ.ค. 1932  ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาแรก ๆ ที่สามัญชนของไทยได้ชื่นชมกับ “ความเสมอภาค” อย่างไรก็ดี งานฉลองรัฐธรรมนูญถูกยกเลิกไปเมื่อมีการรัฐประหารในปี 1947 (พ.ศ.2490)

 

เกิดกบฏบวรเดชในปี 1933 แต่มีประชาชนจำนวนมากออกมาต่อต้านกบฏบวรเดชนี้

 

ภาพความเสียหายที่สถานีรถไฟหลักสี่ หลังจากกบฏบวรเดชถอนกำลัง

 

ภาพงานศพของทหารฝ่ายรัฐบาลที่เสียชีวิตในการปราบกบฏบวรเดชในปี 1933 โดยทางรัฐบาลได้จัดพิธีศพให้อย่างสมเกียรติที่สนามหลวงในฐานะวีรบุรุษของชาติ โดยมีประชาชนจำนวนมากมาร่วมงานศพด้วย โดยงานนี้ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการจัดงานศพของสามัญชนที่ “สนามหลวง”

 

From the exhibition MUSEUM 2032 by Charinthorn Rachuratchata at VS Gallery

 

ข้างล่างนี้เป็นข้อมูลจาก “ประชาไท”
ความสำคัญของหนังสือเรื่อง”กบฏบวรเดช”ของ ณัฐพล ใจจริง ได้เล่าเรื่องด้วยว่า ประชาชนจำนวนมากมีปฏิสัมพันธ์กับเหตุการณ์ โดยการแสดงการสนับสนุนฝ่ายรัฐบาล มีการตั้งพลเมืองอาสาสมัครปราบกบฏ และมีการบริจาคเงิน อาหาร และวัสดุอุปกรณ์จำนวนมาก เพื่อช่วยเหลือฝ่ายรัฐบาลในการรักษาระบอบใหม่ โรงพิมพ์หลายแห่งก็ช่วยพิมพ์คำแถลงฝ่ายรัฐบาลโดยไม่คิดมูลค่า 

https://prachatai.com/journal/2016/11/68800

 -----------

Edit เพิ่ม: เพิ่งเห็นว่าคุณนขสิทธิ์กำกับภาพยนตร์เรื่อง “เวลาที่คิดถึง” (2023, 10min, A+15) ด้วย ซึ่งอันนี้ไม่ใช่หนังบู๊ แต่เป็นหนังเกี่ยวกับหญิงสาวเพื่อนสนิท 2 คน

 -------------

พอเราได้ดูหนังสั้น 9 เรื่องจากโครงการ FILMLAB ที่ Peru ที่มี Apichatpong Weerasethakul เป็น mentor เราก็เลยย้อนนึกไปถึงโครงการหนังสั้น 52 เรื่องที่ Cuba ที่มี Abbas Kiarostami เป็น mentor ในปี 2016 เราไม่รู้ว่ามันคือต้นแบบของโครงการ FILMLAB หรือเปล่า แต่ที่นึกถึงโครงการเก่านี้ขึ้นมา เพราะเราจำได้ว่ามีคุณ Komtouch Napattaloong เป็นผู้เข้าร่วมโครงการนี้ด้วย เขาทำหนังสั้นเรื่อง EL CIELO ในโครงการนี้ และหนังเรื่องนี้ก็เคยเข้ามาฉายที่ Bangkok Screening Room ในช่วงปลายปี 2016 ด้วย โดยฉายควบกับ CASABLANCA (1942, Michael Curtiz, A+30) แต่เสียดายที่ตอนนั้นสภาพร่างกายเราไม่พร้อม เราก็เลยหลับไปตอนที่ดูหนังเรื่อง EL CIELO

 

จำได้ว่าเราได้ดูหนังสั้นของคุณ Komtouch อีกเรื่องในปี 2016 ด้วยเช่นกัน ซึ่งก็คือเรื่อง “ไกลโพ้น” MOTHERLAND (2015, A+15)

https://filmmakermagazine.com/97552-learning-by-making-with-abbas-kiarostami/

 -------------

หนึ่งในหนังที่ตั้งชื่อไทยได้น่าจดจำที่สุดตลอดกาล "สตรีที่โลกแกล้งให้แพงน้ำตา" เราได้ดูหนังเรื่องนี้ตอนมันมาเข้าฉายในไทยที่โรงภาพยนตร์ใน "ฮอลลีวู้ดสตรีท" (ตรงข้ามโรงแรมเอเชีย) ส่วน LITTLE TOYS (1933, Sun Yu) เราก็ชอบมาก ๆ และเราก็เคยดูหนังที่นำแสดงโดย Ruan Lingyu อีกเรื่อง ซึ่งก็คือ THE GODDESS (1934, Wu Yonggang, China, A+30) ที่เคยมาฉายที่ห้องสมุดมหาลัยธรรมศาสตร์ในโปรแกรมที่จัดโดยอ.ทรงยศ แววหงษ์

 

มีเพื่อนถามว่า หนังเรื่อง “สตรีที่โลกแกล้งให้แพงน้ำตา” CENTER STAGE (1991, Stanley Kwan, Hong Kong, A+30) เข้าฉายในไทยเมื่อไหร่ เพราะหนังเรื่องนี้เคยได้รับการจัดจำหน่ายในไทย และเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ใน “ฮอลลีวู้ด สตรีท” (ตรงข้ามโรงแรมเอเชีย) ซึ่งเราก็ตอบไม่ได้ เพราะในช่วงปี 1993 นั้น เราไม่ได้จด “วันที่” ที่ดูหนังไว้ด้วย จดไว้แต่รายชื่อหนังที่เราได้ดู

 

ในสมุดบันทึกของเราเขียนไว้แค่ว่า เราได้ดู “สตรีที่โลกแกล้งให้แพงน้ำตา” ในปี 1993 หลังจากเราได้ดูหนังเรื่อง MAD DOG AND GLORY (1993, John McNaughton) และก่อนที่เราจะได้ดูหนังเรื่อง INNOCENT BLOOD (1992, John Landis) และ “มือปืน 2 สาละวิน” (1993, Chatrichalerm Yukol) ซึ่ง มือปืน 2 สาละวิน เข้าฉายในไทยในวันที่ 22 พ.ค. 1993 เราก็เลยเดาว่า อาจจะมีความเป็นไปได้สูงที่ “สตรีที่โลกแกล้งให้แพงน้ำตา” อาจจะเข้าฉายในไทยในช่วงต้นเดือนพ.ค.ก็ได้มั้ง

 -----------

THE STORE (1983, Frederick Wiseman, documentary, 118min, A+30)

 

1.ดูแล้วอยากให้มีคนทำหนังสารคดีเกี่ยวกับ “ห้างอิมพีเรียลเวิลด์ สำโรง” มาก ๆ เพราะมันเป็นห้างสรรพสินค้าแถวกรุงเทพที่เราชอบบรรยากาศมากที่สุด มันมีความ “ตลาดแตก” มีความมีชีวิตชีวามากที่สุด อยากให้มีคนเก็บภาพบรรยากาศของห้างอิมพีเรียลเวิลด์ สำโรงเอาไว้

 

2. ดูหนังเรื่องนี้แล้ว nostalgic มาก ๆ เพราะมันเป็นหนังที่เก็บภาพแฟชั่นและบรรยากาศห้างร้านในช่วงต้นทศวรรษ 1980 เอาไว้

 

แต่เราก็ไม่ได้รู้สึก nostalgic มากเสียทีเดียวนะ เพราะห้างสรรพสินค้าในหนังเรื่องนี้คือห้าง Neiman Marcus ซึ่งเป็นห้างหรูน่ะ น่าจะเทียบกับได้ห้าง “ชาญอิสสระ” หรือ “เพนินซูล่า พลาซ่า” ของไทยในยุคนั้นเหรอ เราก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะเราแทบไม่เคยเดินห้างหรู 5555 ยุค 1980 เราก็เน้นเดินห้าง “บางลำพูสรรพสินค้า”, “ตั้งฮั่วเส็ง” กับ “มาบุญครอง” เป็นหลัก

 

เพราะฉะนั้นในหนังเรื่องนี้ถึงแม้มันจะนำเสนอ “ห้างสรรพสินค้า” ซึ่งน่าจะเป็นสถานที่ที่เราผูกพัน แต่พอมันนำเสนอ “ห้างหรู” หลาย ๆ อย่างในหนังก็เลยไม่ใช่สิ่งที่เราคุ้นชินโดยตรงน่ะ โดยเฉพาะบรรดาลูกค้าที่มาซื้อเสื้อโค้ทราคาราว ๆ 4 แสนบาท (เพิ่งรู้ว่าราคาเสื้อโค้ท 10 ตัวนี่น่าจะซื้อบ้านได้หลังนึงเลย) หรือลูกค้าที่มาซื้อเพชร

 

3.แต่ก็ชอบการได้สังเกตเหล่าลูกค้าคนรวยเหล่านี้นะ และชอบที่หนังแสดงให้เห็นวิธีการทำงานของพนักงานห้างด้วย ซึ่งไม่ใช่งานง่ายเลย เพราะเหมือนพนักงานถูกกดดันให้โทรศัพท์ไปหาลูกค้าด้วย, ต้องมาโฆษณาสินค้าให้ลูกค้าที่กำลังนั่งกินอยู่ในร้านอาหาร และพนักงานแต่ละคนก็ต้องมีความรอบรู้เป็นอย่างดีเกี่ยวกับสินค้าที่ตัวเองขาย

 

4.ชอบที่หนังสะท้อนภาพคนผิวสีในยุคนั้นด้วย เหมือนลูกค้าของห้างนี้มีคนดำไม่มากนัก แต่คนดำส่วนใหญ่จะแต่งตัวดีเวลามาเดินห้าง ในขณะที่คนขาวอาจจะมีแต่งตัวสบาย ๆ มาเดินห้างบ้าง และมีกลุ่มหญิงสาวเชื้อสาย Hispanic โผล่มาหน่อยนึง เหมือนพวกเธอมาแอบ ๆ ดูงานฉลองในห้างแล้วก็เดินจากไป

 

ส่วนกลุ่มคนเอเชียก็ปรากฏมาในฉากนึง ซึ่งน่าจะเป็นแผนกตัดเย็บในห้างนี้ เป็นแผนกที่มีหญิงเอเชียวัยกลางคนทำงานตัดเย็บกันอยู่เยอะมาก

 

5.ประวัติของ Stanley Marcus เจ้าของห้างนี้ ก็น่าสนใจสุด ๆ หนังเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า ถึงเขาจะเป็นคนรวย เป็นเจ้าของห้างหรู เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของ consumerism แต่เขาก็สนับสนุน free speech อย่างรุนแรง และเคยตบกับฝ่ายขวาจัดอย่างรุนแรงมาแล้วในยุคที่อเมริกาหวาดกลัวคอมมิวนิสต์อย่างหนักในสมัยทศวรรษ 1950 ถึงแม้การตบกับฝ่ายขวาจัดจะทำให้เขาต้องสูญเสียลูกค้าก็ตาม

https://www.dmagazine.com/publications/d-magazine/1995/april/the-soul-of-stanley-marcus/

 

6.ตอนแรกนึกว่าเราจะชอบหนังเรื่องนี้น้อยสุดของ Wiseman เพราะเป็นหนังที่เราดูทางจอเล็กผ่านเว็บไซท์ของ lecinemaclub.com แต่พอมันเป็นหนังที่พูดถึง “ห้างสรรพสินค้า” ซึ่งเป็นสิ่งคุ้นชินในชีวิตประจำวันของเรา, เป็นหนังที่สะท้อนภาพ consumerism และสะท้อนความดิ้นรนเพื่อหาเงิน เราก็เลยชอบหนังเรื่องนี้มาก ๆ

 

สรุปว่าตอนนี้เราได้ดูหนังของ Frederick Wiseman ไปแล้ว 5 เรื่อง ซึ่งได้แก่

 

6.1 THE STORE

 

6.2 LA DANSE (2009) ดูที่สมาคมฝรั่งเศสในกรุงเทพ

 

6.3 AT BERKELEY (2013) ดูใน “เทศกาลภาพยนตร์สารคดีศาลายา”

 

6.4 NATIONAL GALLERY (2014) ดูใน “เทศกาลภาพยนตร์สารคดีศาลายา”

 

6.5 EX-LIBRIS (2017) ดูที่ BACC

 

ซึ่งเราชอบ LA DANSE น้อยสุดใน 5 เรื่องนี้ เพราะ “วงการโอเปร่า” และ “วงการบัลเล่ต์” นี่ห่างเหินจากชีวิตประจำวันของเราจริง ๆ 5555 แต่อีก 4 เรื่องที่เหลือนี่ตัดสินไม่ได้จริง ๆ ว่าชอบเรื่องไหนมากที่สุด

 

7.ขำซับไตเติลของหนังเรื่องนี้ เพราะมันเป็นซับไตเติลอัตโนมัติที่แกะจากเสียงคนพูด มันก็เลยแปลคำว่า “กะรัต” เป็น carrot 55555

 ----------

เพิ่มเติมรายชื่อหนังที่มีอะไรใกล้เคียงกัน แล้วออกฉายในเวลาไล่เลี่ยกัน

 

67. A MONSTER CALLS (2016, J. A. Bayona)

+ I KILL GIANTS (2017, Anders Walter)

 ------------

SUPPOSED สมมติ (2023, Thanakorn Pongsuwan, A+30)

 

Spoilers alert

--

--

--

--

--

1.เราได้ดูหนังเรื่องนี้เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. แต่ไม่มีเวลาเขียนถึงเลย ตอนนี้ก็ลืมรายละเอียดในหนังไปเยอะแล้ว 555 แต่ก็ขอจดบันทึกไว้หน่อยแล้วกัน

 

จุดแรกที่แอบฮากับหนัง ก็คือ “ทรงผมยาวสยาย” ของ Pat Chayanit Chansangavej ในหนังเรื่องนี้ เพราะมันทำให้นึกถึงทรงผมของ อั้ม พัชราภา ไชยเชื้อ ใน FAKE โกหกทั้งเพ (2003, Thanakorn Pongsuwan) มาก ๆ และเหมือนหนังเรื่องนี้มันรักทรงผมของแพทมาก  ๆ เหมือนหนังมันรักความยาวสยายของมัน จนเราแอบสงสัยว่า นี่มันคือสเปคของผู้กำกับใช่ไหม เขาชอบผู้หญิงที่ไว้ผมทรงแบบนี้ใช่ไหม

 

2.เห็นด้วยกับเพื่อน ๆ มาก ๆ ที่บอกว่า มันเหมือนเป็น update version ของ FAKE โกหกทั้งเพ โดย SUPPOSED หันมาสะท้อนความสัมพันธ์ของคนในยุคปัจจุบัน ที่อาจจะรู้จักกันผ่านทาง social media และหนังก็เล่าเรื่องผ่านทางมุมมองผู้ชาย และทำให้ตัวละครนางเอกเป็น unattainable object of desire เหมือนกัน

 

อีกสิ่งหนึ่งที่เราชอบสุด ๆ ในหนังทั้งสองเรื่องนี้ ก็คือการคว้าจับบรรยากาศของบางสถานที่ในกรุงเทพเอาไว้ได้อย่างดีงามมาก ๆ ซึ่งใน FAKE ก็คือสถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรี ส่วนในหนังเรื่องนี้ คือสะพานลอยตรง “อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ”

 

ซึ่งเราชอบมาก ๆ ที่หนังเลือกใช้จุดนี้ เพราะเราไม่เคยมองว่า สถานที่ตรงนี้มันมีความโรแมนติกเลยน่ะ คือสะพานลอยตรงอนุสาวรีย์ชัยมันเป็นสิ่งที่เรามองว่า เต็มไปด้วยความพลุกพล่าน อะไรก็ไม่รู้ เต็มไปหมด และตรงอนุสาวรีย์ชัยก็เหมือนเป็นแหล่งอาชญากรรมด้วย เพราะเราชอบได้ยินคนเล่าว่า มีกะเทยร่างยักษ์ชอบมาไถตังค์คนตรงอนุสาวรีย์ชัย

 

เราก็เลย surprise มาก ๆ ที่ SUPPOSED เลือกให้พระเอกชอบไปยืนมองหาคนตรงจุดนี้ เพราะมันเป็นจุดที่เราไม่นึกว่าจะเป็นจุดสำคัญในหนัง romantic แต่จริง ๆ แล้วมันก็เป็นจุดที่เราเคยเดินผ่านบ่อย ๆ หลาย ๆ ครั้งในแต่ละปี เราก็เลยชอบที่หนังมันบันทึกภาพบรรยากาศตรงจุดนี้เอาไว้ด้วย

 

3.เราว่าหนังมันจริงใจกับตัวละครดีด้วย คือเหมือนมันสร้างตัวพระเอกนางเอกขึ้นมา โดยที่ทั้งสองตัวต่างก็มีจุดอ่อน มีข้อบกพร่อง มี limit ในชีวิตของตัวเอง มีทั้งส่วนที่เข้ากันได้ และเข้ากันไม่ได้กับอีกฝ่ายหนึ่ง มีทั้งจุดที่เติมเต็มให้กันได้ และมีทั้งจุดที่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรง และหนังก็ไม่พยายามฝืนตัวละครพระเอกนางเอกมากเกินไป เพื่อทำให้ทั้งสอง live happily ever after

 

เราก็เลยรู้สึกว่า ถึงแม้ตัวละครพระเอกนางเอกในหนังเรื่องนี้ จะไม่ใช่คนที่เรา identify ด้วยได้ หรือเป็นคนที่ห่างไกลจากเราในชีวิตจริงอยู่บ้าง แต่ตัวละครทั้งสองมันก็สะท้อนความจริงบางอย่างของมนุษย์ออกมาได้ดี และพอหนังมันไม่ฝืนตัวละครในความเห็นของเรา (เรารู้สึกว่า ถ้าหากเราเป็นนางเอก เราก็คงทิ้งพระเอกไปเช่นกัน แบบกูรำคาญคนที่ล้ำเส้นแบบนี้) เราก็เลยชอบหนังมาก ๆ

 

ชอบความขัดแย้งระหว่างทั้งสองคนนี้ด้วย เหมือนพระเอกเป็นตัวแทนผู้ชายรุ่นกลางเก่ากลางใหม่ ที่ยังไม่เสรีนิยมอย่างเต็มที่ ส่วนนางเอกเหมือนเป็นตัวแทนหญิงสาวรุ่นใหม่ที่เปิดเสรีทางเพศแล้ว และเราก็ชอบที่นางเอกไม่ได้รักพระเอกมากจนถึงขั้นที่จะยอมเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อเขา แต่นางเอกตัดสินใจแบบเดียวกับเรา นั่นก็คือทิ้งมึงไปเลย

 

4.ดูแล้วทำให้นึกถึงทั้งหนังของ Wong Kar-wai และ Philippe Garrel นะ ที่นึกถึงหนังของ Wong Kar-wai ก็เพราะว่า มันเป็นหนังโรแมนติกที่เก็บเกี่ยว “บรรยากาศ” เอาไว้ได้มากพอสมควร ถึงแม้ไม่มากเท่าหนังของหว่อง และสิ่งที่ทำให้นึกถึงหนังของ Philippe Garrel ก็คือว่า เราว่าหนังเรื่องนี้มัน “สะท้อนความเจ็บปวดรวดร้าวของความสัมพันธ์รัก” จนทำให้เรารู้สึกกับมันอย่างรุนแรงมาก ๆ ได้น่ะ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่าง “ผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า กับผู้ชายที่อายุมากกว่า” โดยที่ตัวละครฝ่ายชายมักจะเต็มไปด้วยข้อบกพร่องมากมาย แต่หนังเรื่องนี้ก็ไม่ได้มีความ spiritual หรือความมหัศจรรย์มากเท่ากับหนังของ Garrel แต่ก็ถือได้ว่าทำให้เรานึกถึงหนังของ Garrel ได้มากกว่าหนังไทยโดยทั่วไป (หนังไทยที่ทำให้เรานึกถึงหนังของ Philippe Garrel มากที่สุด ก็คือ TIME ACTUALLY PASSES SLOWER IN DREAM (2016, Alwa Ritsila, Lucy Day, Watcharapong Narongphine))

 

5.พอดูหนังเรื่องนี้ในเวลาไล่เลี่ยกับ SOLIDS BY THE SEASHORE (2023, Patiparn Boontarig, A+30) แล้ว เราก็พบว่า เราชอบ SOLIDS BY THE SEASHORE มากกว่าหนังเรื่องนี้ แต่เรารู้สึกว่า ตัวละคร “พระเอกนางเอก” ของหนังเรื่องนี้ ทำให้รู้สึกถึงความเป็นมนุษย์ ความรู้สึกเจ็บปวดของมนุษย์มากกว่าใน SOLIDS BY THE SEASHORE

 

คือถึงแม้ว่าตัวละครพระเอกนางเอกใน SUPPOSED จะสะท้อนความขัดแย้งทางความเชื่อและสไตล์การใช้ชีวิตระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ แต่เหมือนหนังไม่ได้ treat พระเอกนางเอกเป็นสัญลักษณ์ของคนแต่ละรุ่นน่ะ เหมือน “ความเชื่อของคนแต่ละรุ่น” เป็นเพียงส่วนหนึ่งในตัวของพระเอกนางเอก และตัวละครทั้งสองต่างก็มีลักษณะนิสัยอื่น ๆ ในชีวิตที่อาจจะไม่ได้เป็นภาพแทนหรือสัญลักษณ์ของอะไร เราก็เลยรู้สึกว่าเราสัมผัสได้ถึง “ความเป็นมนุษย์” ในตัวละครพระเอกนางเอกของหนังเรื่องนี้ มากกว่าตัวละครนางเอกทั้งสองใน SOLIDS BY THE SEASHORE ที่ในแง่หนึ่งก็เหมือนเป็นเครื่องมือเพื่อถูกใช้นำเสนอ “ประเด็น” อะไรบางอย่าง เราก็เลยรู้สึกห่าง ๆ จากตัวละครนางเอกใน SOLIDS BY THE SEASHORE ในระดับนึง ในขณะที่ฉากตัวละครพระเอกนางเอกใน SUPPOSED ทะเลาะกันนี่ เรารู้สึกถึงความเจ็บปวดของตัวละครไปด้วยมาก ๆ

 

และพอเราดู SUPPOSED ในเวลาไล่เลี่ยกับ FALLEN LEAVES (2023, Aki Kaurismaki, Finland, A+30) แล้ว เราก็พบว่า หนังสองเรื่องนี้เหมือนเติมเต็มให้กันได้ดี เพราะ FALLEN LEAVES เล่าเรื่องราวของชนชั้นล่าง ที่เต็มไปด้วยปัญหามากมายนอกเหนือจากความรัก ส่วน SUPPOSED เล่าเรื่องของชนชั้นกลาง ที่ดูเหมือนจะไม่มีปัญหาเรื่องการทำมาหากินแต่อย่างใด มีปัญหาอยู่แค่เรื่องความรัก

 

แต่ SUPPOSED ไม่มี wish fulfillment เพราะตัวละครพระเอก “ไม่ยอมพัฒนาตัวเองเพื่อนางเอก” เขาไม่ได้ทำให้ตัวเองดีขึ้น เขาก็เลยเสียนางเอกไป และนางเอกก็ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อพระเอกเช่นกัน  ส่วน FALLEN LEAVES นั้น เราว่ามันมี wish fulfillment เพราะพระเอกยอมพัฒนาตัวเองเพื่อนางเอกหรือเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น เขาก็เลยเลิกเหล้าได้สำเร็จ

 

เราก็เลยรู้สึกว่า หนังทั้งสองเรื่องนี้มัน “พาฝัน” สำหรับเราในคนละแบบ โดย SUPPOSED นั้น ชวน “พาฝัน” ในแง่การให้เราดูชีวิตหนุ่มสาวหน้าตาดี หาคู่นอนได้อย่างง่ายดาย และไม่มีปัญหาเรื่องการทำมาหากิน แต่ไม่ได้ “พาฝัน” เราในแง่การฝืนตัวละครให้มารักกันในตอนจบ ส่วน FALLEN LEAVES นั้น หนัง “พาฝัน” สำหรับเราในแง่ที่ว่า เราจะหาผู้ชายแบบพระเอกได้ง่ายไหมในชีวิตจริง คนที่จะยอมเลิกเหล้าเพื่อความรักแท้ที่มีต่อเรา เราเจอก็แต่ผู้ชายที่จะมานอนกับเราเพื่อหาเงินไปกินเหล้าเสียล่ะมากกว่า

 

6.หนังของคุณ Thanakorn ที่เราเคยดู เรียงตามลำดับความชอบ

 

6.1 FIREBALL (2009)

 

6.2 FAKE (2003)

 
6.3 SUPPOSED สมมติ (2023)

6.4 DEMON WARRIORS โอปปาติก เกิดอมตะ (2007)

 

6.5 เอ็กซ์แมน: แฟนพันธุ์เอ็กซ์ (2004)

 

ส่วน SINGLE LADY (2015) นั้น เหมือนเรายังไม่เคยดู

No comments: