Sunday, June 07, 2020

PRESENT PERFECT (2017, Anusorn Soisa-ngim, A+30)


PRESENT PERFECT (2017, Anusorn Soisa-ngim, A+30)
+ PRESENT STILL PERFECT (2020, Anusorn Soisa-ngim, A+25)

SPOILERS ALERT
--
--
--
--
--
--
--
--
--
--
1.รู้สึกว่าหนังมัน “ละเมียดละไม” กว่าที่เราคาดไว้มาก คือก่อนที่เราจะได้ดูหนังสองภาคนี้ เรานึกว่ามันจะเหมือนหนังไทยแนว romantic หรือ romantic comedy เรื่องอื่นๆที่เต็มไปด้วย “สถานการณ์ที่สนุกสนาน” น่ะ แต่พอได้ดูจริงๆ เรากลับพบว่า หนังมันไม่ได้เน้นสร้างความบันเทิงด้วยสถานการณ์สนุกๆ, อารมณ์หวือหวาอะไรเลย เพราะการไปเที่ยวของตัวละครในทั้งสองภาค แทบไม่มี “เหตุการณ์สำคัญ” อะไรเกิดขึ้นในแบบที่เราคาดเดาไว้ เนื้อหาส่วนใหญ่ในหนังมีแต่เพียง “การได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกันระหว่างคนรัก” ขณะไปเที่ยวพักผ่อน

คือพอหนังไม่พึ่งพาการสร้างสถานการณ์สนุกๆ แต่เลือกที่จะลงลึกไปในอารมณ์โรแมนติกของตัวละครขณะพูดคุยกัน และได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกัน เราก็เลยรู้สึกว่าหนังมันเลือกแนวทางที่เข้าทางเรามากกว่าหนัง romantic หลายๆเรื่อง และเราว่าการสร้างหนังแบบนี้มันยากด้วยแหละ เพราะมันต้องละเอียดอ่อนในการสร้างบทสนทนาระหว่างตัวละคร, การพัฒนาอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร โดยไม่มีเหตุการณ์ภายนอกมากระตุ้นเร้า และเราชอบอะไรแบบนี้มากๆ (แนวหนังที่ไม่เข้าทางเรา ก็คือแนวหนังแบบ FRIEND ZONE ที่นางเอกกระโดดเกาะป้าย หรือเหมือนมีเหตุการณ์ตื่นเต้น เอะอะ เกิดขึ้นตลอดเวลา ซึ่งไม่ใช่ว่าหนังไม่ดีนะ เพียงแต่มันไม่ใช่หนังที่เข้าทางเราจ้ะ)

2.ชอบฉากการสอนว่ายน้ำในภาคสองมากๆ ชอบที่มันลากยาว ถ่ายทอด moment อารมณ์ความรู้สึกของทั้งสองขณะอยู่ด้วยกันอย่างละเอียด ละเมียดละไมมากๆ รักฉากนี้มากๆ

3.ชอบการสอนวิธีกิน natto ที่ถูกต้อง และการพูดเรื่องความแตกต่างระหว่างสุกี้กับชาบูในภาคแรกด้วย

4.ชอบการแสดงของ Adisorn Tonawanik มากๆ โดยเฉพาะในภาคสองที่เขาต้องแบกหนังไว้เกือบทั้งเรื่อง

เราชอบที่หนังเลือกให้เขาเป็นคนที่ “อมทุกข์” ในทั้งสองภาคน่ะ และหนังมัน “จริงใจ” กับการอมทุกข์ของตัวละครมากๆ

คือเราว่าถ้าเป็นในหนัง romantic โดยทั่วไป ตัวละครมักจะต้องสดใสกว่านี้น่ะ และโดยเฉพาะในภาคสองนั้น เราว่าองค์ประกอบของหนังมันดูเป็น romantic comedy มากๆ โดยเฉพาะตัวละครเจ้าของรีสอร์ท (Darina Boonchu) ที่เหมือนมาเพื่อเป็น function ของหนัง romantic comedy โดยเฉพาะ

ซึ่งถ้าเป็นในหนังทั่วไปที่ต้องการจะเป็น romantic comedy ตัวละครพระเอกนางเอกก็มักจะถูกออกแบบมาเพื่อรองรับอารมณ์ romantic comedy ด้วย แต่หนังเรื่องนี้ไม่ทำแบบนั้น หนังมันจริงใจกับความทุกข์ใจของตัวละคร “เต้ย” จริงๆ คือตัวประกอบอื่นๆจะเป็น romantic comedy ก็เชิญเป็นไป แต่ตัวละครตัวนี้มันทุกข์ มันผิดหวัง มันสับสน และหนังก็เลือกที่จะไม่บิดมัน ไม่ฝืนมันให้เข้ากับความเป็น romantic comedy ของตัวละครตัวอื่นๆ และเราชอบอะไรแบบนี้สุดๆ เราว่านี่แหละคือความจริงใจกับตัวละคร แทนที่จะพยายามฝืนทุกอย่างให้เข้ากับ genre หนังแบบสำเร็จรูป

5.จุดเล็กๆอีกจุดที่ชอบมาก ก็คือ “อาการลังเล ไม่ค่อยเต็มใจที่จะร่วมยินดีไปกับคนอื่นๆ” ของตัวละครของ Darina Boonchu ในฉากที่ชายหาดช่วงท้ายเรื่อง อันนี้เราก็รู้สึกว่ามันคือความจริงใจกับตัวละครตัวนี้เช่นกัน

คือตอนแรกเราเสียดายความสามารถของ Darina ในหนังเรื่องนี้มากๆ เธอเป็นนักแสดงที่เราชอบสุดๆในหนังสั้นหลายๆเรื่อง แต่ในเรื่องนี้ ตอนแรกเธอโผล่มาเหมือนเป็นแค่ “องค์ประกอบสำเร็จรูป” ของหนัง romantic comedy เท่านั้นน่ะ บทของเธอในตอนแรกแทบไม่มีอะไรน่าสนใจเลยสำหรับเรา

แต่พอถึงฉากที่ชายหาดช่วงท้ายเรื่อง การที่เธอลังเลที่จะร่วมยินดีกับไปตัวละครคนอื่นๆ มันทำให้เรารู้สึกว่า หนังมันแคร์ความรู้สึกของตัวละครประกอบตัวนี้จริงๆว่ะ มันไม่ได้ treat ตัวละครตัวนี้เป็นแค่ function นึงของหนัง romantic comedy เท่านั้น แต่มันก็จริงใจกับตัวละครตัวนี้ด้วยเหมือนกัน และ Darina ก็เล่นได้ดีในฉากนี้

6.ในภาคสองนั้น เราชอบฉากพลอดรักที่ชายหาดด้วย แต่เสียดายที่มันตัดไปเป็นฉากเอากันต่อบนเตียงเลย เพราะจริงๆแล้วเราอยากให้ทำฉากพลอดรักที่ชายหาดให้มันยาวๆ เพื่อเป็นการ tribute ให้ฉากคลาสสิคอมตะนิรันดร์กาลใน FROM HERE TO ETERNITY (1953, Fred Zinnemann) 55555 คือเรายังไม่เคยดู FROM HERE TO ETERNITY นะ แต่เคยเห็นคลิปฉากคลาสสิคจากหนังเรื่องนั้นแล้วมันติดใจเรามาก

7.เราดูภาคแรกด้วยความรื่นรมย์ ไม่สะดุดอะไร ส่วนภาคสองเราก็ชอบมากๆ โดยเฉพาะฉากสอนว่ายน้ำ แต่ระดับความชอบของเราก็มา drop ลงนิดนึงในช่วงท้ายเรื่อง และส่งผลให้ในตอนนี้เราชอบหนังภาคสองแค่ในระดับเกือบสุดๆ เท่านั้น ยังไม่ถึงขั้นชอบสุดๆ

สาเหตุที่เราไม่ได้ชอบภาคสองในระดับสุดๆ ก็เป็นเพราะเรารู้สึกว่า ช่วงท้ายมัน too convenient เกินไปสำหรับเราน่ะ และมันทำให้เรานึกถึงหนังฮอลลีวู้ดที่เราเกลียดมากๆ อย่างเช่น SOMETHING’S GOTTA GIVE (2003, Nancy Meyers) และ THE WEDDING PLANNER (2001, Adam Shankman)  อะไรพวกนี้ เพราะหนังฮอลลีวู้ดพวกนี้ “พยายามกลบเกลื่อนความเจ็บปวดของตัวละครประกอบ” เพียงเพราะอยากให้ผู้ชมรู้สึกชื่นมื่นไปกับพระเอกนางเอกที่ตัดสินใจมาครองรักกันในตอนจบ โดยทิ้งคนรักอีกคนไปน่ะ

ซึ่ง PRESENT STILL PERFECT ปฏิบัติต่อตัวละคร “น้ำหวาน” ได้ดีกว่าหนังฮอลลีวู้ดข้างต้นมากแล้วนะ แต่ก็ยังไม่มากพอสำหรับรสนิยมของเรา 55555

คือพอดู PRESENT STILL PERFECT จบแล้ว เรากลับพบว่า เรารักตัวละคร “น้ำหวาน” มากๆ จนเราต้องมานั่งจินตนาการต่อเองว่า หนังแบบที่เข้าทางเราสุดๆ มันจะเป็นยังไง

ซึ่งอันนี้ไม่ได้ว่าหนังไม่ดีหรือหนังมีข้อบกพร่องนะ มันแค่ไม่ได้เข้าทางเราแบบสุดๆ และเราก็แค่จะอธิบายแหละว่า หนังแบบที่เราชอบสุดๆเป็นยังไง

ในจินตนาการของเรานั้น เราอยากให้หนังยาวขึ้นอีก 20 นาที และ 20 นาทีนั้นเน้นไปที่ตัวละคร “น้ำหวาน” น่ะ โดยใน 20 นาทีนั้นจะมีซีนต่อไปนี้

7.1 หลังจากน้ำหวานค้นพบความจริงใน chat ของสามีแล้ว เธอก็มานั่งนิ่งๆ กล้องจับไปที่ใบหน้าของเธอเป็นเวลา 10 นาที ในช่วงแรก เธอร้องไห้ ดวงตาและใบหน้าของเธอแสดงถึงความเสียใจและเจ็บช้ำ แต่พอผ่านไปได้สัก 3 นาที เธอก็ค่อยๆหยุดร้องไห้ เธอครุ่นคิด ดวงตาและใบหน้าของเธอแสดงถึงการใช้ความคิดอย่างหนักอีกสัก 5 นาที หลังจากนั้นเธอก็เหมือนตัดสินใจอะไรบางอย่างได้ ดวงตาของเธอมีความเด็ดเดี่ยวบางอย่าง และมีประกายแห่งความอ่อนโยน, ปลงตกอยู่ในนั้นด้วย

แน่นอนว่าการที่เราจินตนาการถึงฉากที่กล้องจับใบหน้าของตัวละครขณะ “คิด” โดยไม่บอกผู้ชมว่าตัวละครคิดอะไรเป็นเวลานาน 10 นาที เราได้รับแรงบันดาลใจมาจากฉากคลาสสิกของ Sandrine Bonnaire ในหนังเรื่อง SECRET DEFENSE ของ Jacques Rivette

คือเรามองว่า การที่น้ำหวานเปิดทางให้สามีโดยแทบไม่ได้แสดงความเสียใจอะไรเลย มัน too convenient เกินไปสำหรับเราน่ะ เราก็เลยจินตนาการฉากข้างต้นขึ้นมา คือเธอไม่ต้องเสียใจรุนแรงแบบ Miranda Richardson ใน DAMAGE (1992, Louis Malle) ก็ได้ แต่เราอยากให้หนังแสดงให้เห็นถึง moment ของการตัดสินใจของเธอน่ะ ซึ่งมีพัฒนาการทางอารมณ์จากเสียใจ, คิดไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน และเลือกที่จะตัดใจในที่สุด

7.2 อีกฉากที่เราจินตนาการก็คือ เราไม่อยากให้หนังจบด้วยฉากแต่งงานน่ะ คือฉากแต่งงานจะมีหรือไม่มีก็ได้สำหรับเรา แต่เราอยากให้หนังมีซีนที่ตัวละครน้ำหวานกับเต้ยคุยกันน่ะ เราอยากให้น้ำหวานคุยให้เต้ยฟังถึงชีวิตรักของเธอ และลูกของเธอ น้ำหวานกับเต้ยเดินคุยกันไปเรื่อยๆตามชายหาด ทั้งสองปรับความเข้าใจกัน เป็นมิตรกัน น้ำหวานยอมรับเต้ยในฐานะ “แม่เลี้ยงคนใหม่” ของลูกชายเธอ ทั้งสองคุยกันไปเรื่อยๆสัก 5 นาทีขณะเดินกันไปบนชายหาด แล้วโอ๊ตก็เข้ามาสมทบ

หลังจากนั้นเต้ย, โอ๊ต และน้ำหวาน ก็นั่งคุยกันไปเรื่อยๆ อีกสัก 5 นาทีที่ชายหาด นั่งมองแสงอาทิตย์ขณะค่อยๆลาลับขอบฟ้าไป   ใบหน้าของเต้ยและโอ๊ตมีความสุข ส่วนใบหน้าของน้ำหวานมีรอยยิ้ม แต่มีน้ำตาซึมออกมาจากตาของเธอ

คือสาเหตุที่เราจินตนาการถึงฉากเหล่านี้ขึ้นมา เป็นเพราะหนังมันทำให้เรารักตัวละครน้ำหวานมากๆนั่นแหละ มากจนทำให้เราแอบรู้สึกว่า เราอยากให้หนังมีฉากเหล่านี้ขึ้นมา เพื่อที่ตัวละครน้ำหวานจะได้ไม่กลายเป็นเพียงแค่ “อุปสรรคตามครรลองของหนัง romantic” เท่านั้น แต่เป็นมนุษย์ที่มีความเจ็บปวดและเลือดเนื้อของตัวเองจริงๆด้วย

สรุปว่า เรายังคงรักหนังภาคสองมากๆนะ เพราะมันมีหนังไม่กี่เรื่องหรอก ที่สร้างตัวละครที่น่าสนใจสุดๆอย่างน้ำหวานขึ้นมาได้ จนตัวละครตัวนั้นเข้าไปนั่งในใจเรา และกระตุ้นจินตนาการของเราได้มากแบบนี้









No comments: