Thursday, July 28, 2022

ON THE OTHER SIDE (2021, Iván Guarnizo, Colombia/Spain, documentary, A+30)

 

ON THE OTHER SIDE (2021, Iván Guarnizo, Colombia/Spain, documentary, A+30)

 

ติดอันดับประจำปีแน่นอน ชอบอย่างสุดขีดคลั่ง ดูแล้วร้องห่มร้องไห้อย่างรุนแรง ผู้กำกับหนังเรื่องนี้พยายามสืบหากลุ่มบุคคลที่เคยจับแม่กับญาติของเขาไปเรียกค่าไถ่ในโคลอมเบียเมื่อหลายปีก่อน แล้วกักขังแม่ของเขาไว้ในป่านานหลายเดือน ก่อนจะปล่อยตัวออกมา

 

หลังจากนั้นอีกนานหลายปีแม่ของเขาก็เสียชีวิต และเขาก็ได้อ่านบันทึกความทรงจำของแม่ของเขา เขาก็เลยสนใจกลุ่มนักเรียกค่าไถ่/กองกำลังปฏิวัติ FARC ที่ยึดลัทธิ Marxist-Leninist กลุ่มนี้ เพราะแม่ของเขาดูเหมือนจะสนิทกับหนุ่มนักเรียกค่าไถ่คนหนึ่งมาก ราวกับว่านั่นเป็นลูกชายอีกคนของเธอ

 

การสืบหาตัวกลุ่มนักเรียกค่าไถ่กลุ่มนี้ก็ทำได้ยากมาก เพราะถึงแม้ FARC จะสลายตัวไปแล้ว เมื่อมีการทำข้อตกลงสันติภาพกับรัฐบาล แต่หลังจากนั้น อดีตสมาชิก FARC ก็ทยอยถูกลอบสังหารไปเรื่อย ๆ ทีละคน ทีละคน จนยอดรวมเกือบเป็น 100 คน(ไม่รู้ว่าเพื่อเป็นการแก้แค้นต่อสิ่งที่พวกเขาเคยทำในอดีตหรือเปล่า) อดีตสมาชิก FARC ที่เหลือก็เลยไม่ค่อยอยากเปิดเผยตัวกัน ผู้กำกับหนังเรื่องนี้ก็เลยประสบความยากลำบากในการแกะรอยหาตัวคนกลุ่มนี้

 

แต่ในที่สุดเขาก็ตามหาจนเจอ Güérima ชายหนุ่มนักเรียกค่าไถ่ที่สนิทกับแม่ของเขา ครึ่งหลังของหนังเลยเป็นการเดินทางเข้าไปหา Güérima ที่บ้านของเขาที่เหมือนตั้งอยู่กลางป่า และสนทนากับ Güérima

 

ช่วงหลังของหนังสร้างความรู้สึกซาบซึ้งสุดขีดให้กับเรา ชอบบางจังหวะที่ Güérima เหมือนจะพูดอะไรบางอย่าง แต่ก็ถูกอารมณ์ถั่งท้นขึ้นมาจนพูดไม่ออก แล้วหนังก็ตัดภาพไป, จังหวะที่ Güérima ร้องไห้ หรือแม้แต่การที่กล้องจับแค่ใบหน้าของ Güérima เฉย ๆ เราก็รู้สึกว่ามันทรงพลังมากแล้ว เพราะ Güérima เหมือนเป็นคนที่ผ่านชีวิตที่หนักมาก ๆ มาแล้ว และมันเป็นคนจริง ๆ ที่ผ่านชีวิตที่รุนแรงสุดขีดมาแล้ว ไม่ใช่นักแสดงที่เล่นเป็นตัวละครแบบนั้น

 

เอาจริง ๆ แล้วเราก็รู้สึกว่า สาเหตุที่ทำให้เราชอบหนังเรื่องนี้แบบสุดขีดคลั่ง มันคือสาเหตุเดียวกับที่ทำให้เราชอบหนังเรื่อง HER LOVE BOILS BATHWATER (2016, Ryota Nakano) 555555 เพราะเรามักจะไม่อินกับหนังที่ตัวละครรักกันในแบบที่สอดคล้องกับบทบาททางสังคม (อย่างเช่น พ่อรักลูก, แม่รักลูก, ลูกรักพ่อแม่, เด็กรักยาย, ปู่รักหลาน, เมียรักผัว) แต่เรามักจะอินกับหนังที่ตัวละครรักกันหรือมีความสัมพันธ์กันในแบบที่ไม่ค่อยสอดคล้องกับบทบาททางสังคม เพราะฉะนั้น HER LOVE BOILS BATHWATER ก็เลยเข้าทางเราอย่างสุด ๆ เพราะมันเป็นหนังที่ “แม่เลี้ยงรักลูกเลี้ยง”, “ลูกเลี้ยงรักแม่เลี้ยง” คือตรงข้ามกับ stereotype ตัวละครแบบซินเดอเรลลา,สโนว์ไวท์ ที่แม่เลี้ยงกับลูกเลี้ยงต้องเกลียดชังกัน

 

 

ON THE OTHER SIDE ก็เลยเข้าทางเราอย่างสุดขีดด้วยเหตุผลเดียวกัน เพราะตัวละครทั้งสองฝ่ายต่างก็เหมือนมีความขัดแย้งกับบทบาทของตนเอง ผู้กำกับหนังเรื่องนี้กับ brother ของเขา (ไม่แน่ใจว่าเป็นพี่ชายหรือน้องชายของผู้กำกับ) ควรจะเกลียดชังคั่งแค้นกลุ่มคนที่จับตัวแม่ของเขาไปกักขังในป่าเพื่อเรียกค่าไถ่เป็นเวลานานหลายเดือน แต่ผู้กำกับก็เหมือนจะหาทางก้าวพ้นความเกลียดชังนั้นได้ และพูดคุยปรองดองทำความเข้าใจกับ Güérima ได้อย่างซาบซึ้งกินใจมาก ๆ

 

Güérima เองก็มีความขัดแย้งกับบทบาทหน้าที่ของตนเองตั้งแต่แรก เพราะองค์การ FARC ของเขาสั่งให้เขาฆ่าแม่ของ Iván ทิ้งเมื่อใดก็ตามที่กองทหารโคลอมเบียเข้ามาใกล้สถานที่กักขัง แต่ Güérima ก็ไม่ทำ เหมือนพอเขาได้เจอกับแม่ของ Iván เขาก็ตั้งใจที่จะช่วยปกป้องเธอให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เขาก็เลยใช้วิธีอพยพพาหน่วยของเขาหนีออกไปไกลจากกองทหารโคลอมเบีย แล้วไม่ยอมติดต่อกับหัวหน้าของเขาจนกว่าพวกเขาจะหนีจากกองทหารไปได้ไกลแล้ว เขาก็เลยเหมือนขัดคำสั่งของหัวหน้าของเขาถึงสองครั้งที่ต้องการให้ฆ่าแม่ของ Iván ทิ้ง และการที่เขาดูแลเหยื่อการเรียกค่าไถ่เป็นอย่างดีก็ดูเหมือนเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับบทบาทของนักเรียกค่าไถ่โดยทั่วไปเช่นกัน

 

หนังเรื่องนี้ก็เลยเข้าทางเราอย่างสุด ๆ เพราะความสัมพันธ์ระหว่าง แม่ของ Iván กับ Güérima ก็ไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่ธรรมดา และความสัมพันธ์ระหว่าง Iván กับ Güérima ก็ไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่ธรรมดาเช่นกัน

 

อีกสิ่งที่ซึ้งสุดขีดในหนัง ก็คือเรื่องเข็มเย็บผ้าที่ทำจากกระสุนปืน เพราะตอนที่แม่ของ Iván ถูกจับตัวไป Güérima ได้เอากระสุนปืนไปหล่อเป็นเข็มเย็บผ้า แล้วให้แม่ของ Iván ใช้เข็มเย็บผ้านี้เย็บสิ่งต่าง ๆ ให้พวกเขา อย่างเช่นสายห้อยปืนไรเฟิลหรืออะไรทำนองนี้มั้ง

 

พอ Iván ได้ไปพบปะพูดคุยกับ Güérima เขาก็เลยให้ Güérima สาธิตวิธีหล่อเข็มเย็บผ้าจากกระสุนปืนให้ดูต่อหน้ากล้อง

 

อันนี้ก็เป็นจุดที่ดูแล้วร้องห่มร้องไห้ของจริง เหมือนวัตถุชิ้นนี้มันเป็นสัญลักษณ์แทนความสัมพันธ์ที่ไม่ธรรมดาของคนกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะกระสุนปืนมันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อปลิดชีวิตคน มันมีอยู่ตั้งแต่แรกเพื่อให้ Güérima ใช้ฆ่าเหยื่อของเขา กระสุนปืนนี้มันน่าจะเป็นสิ่งที่ใช้แทน “ความเกลียดชัง” ที่คนสองกลุ่มนี้ควรจะมีให้แก่กัน แต่เมื่อ Güérima เอากระสุนปืนที่ควรจะใช้ปลิดชีวิตคนไปหล่อเป็นเข็มเย็บผ้า มันก็เลยคล้าย ๆ กับสิ่งที่เขาเป็นจริง ๆ เพราะเขาเลือกที่จะไม่ฆ่าเหยื่อ แต่กลับพยายามปกป้องเหยื่อ และสร้างความสัมพันธ์อันดีกับเหยื่อ “เข็มเย็บผ้าที่หล่อขึ้นจากกระสุนปืน” ก็เลยเหมือนเป็นสัญลักษณ์แทนความสัมพันธ์ที่ไม่ธรรมดาระหว่างครอบครัวของ Iván กับ Güérima ได้อย่างดีงามมาก ๆ

 

ถ้าหากเราเข้าใจไม่ผิด ผู้กำกับหนังเรื่องนี้น่าจะทำงานในวงการโทรทัศน์มั้ง เขาก็เลยอาจจะเข้าใจวิธีเร้าอารมณ์ซึ้ง ๆ จากคนดูได้เป็นอย่างดี เพราะในช่วงท้ายของหนังที่เป็นการนำเสนอภาพ home video เก่า ๆ ของแม่ของเขานั้น มันดูแล้วก็รู้สึกว่าจงใจทำซึ้งนะ แต่มันก็ซึ้งมากจริง ๆ นั่นแหละ ดูแล้วยอมเลย ร้องห่มร้องไห้เลย

 

แน่นอนว่าดูแล้วนึกถึง MEMORIA เพราะเป็นหนังโคลอมเบียเหมือนกัน และ ON THE OTHER SIDE นี่เจาะลึกประวัติศาสตร์บาดแผลจริง ๆ ของโคลอมเบียด้วย ซึ่งเป็นบาดแผลที่หนักหน่วงรุนแรงมาก ๆ ไป ๆ มา ๆ มีสิทธิว่าเราอาจจะชอบหนังเรื่องนี้มากกว่า MEMORIA อีก เหมือน MEMORIA เป็นหนังที่ “กระทบจิต” แต่ ON THE OTHER SIDE เป็นหนังที่เหมือนมีคนเอามีดมาแทงใจเราจนเลือดไหลทะลักออกมา

 

No comments: