FATHER, SON AND HOLY WAR (1994, Anand Patwardhan, India,
documentary, A+30)
+ WAR AND PEACE (2002, Anand Patwardhan, India, documentary, A+30)
1.ขอจดบันทึกถึงหนังสองเรื่องควบกันไปเลย
เพราะไม่มีเวลา 555
สิ่งที่ประหลาดใจมากๆในการดูหนังสองเรื่องนี้ก็คือว่า เรารู้สึกว่า
โดย “เนื้อหา” แล้ว หนังสองเรื่องนี้มันเป็นการบันทึก “ความเลวร้าย”
ต่างๆนานามากมายในอินเดีย ทั้งความเชื่อเรื่องสตี, การคลั่งชาติ, การคลั่งศาสนา,
การสังหารหมู่, การปลุกปั่นยุยงความเกลียดชัง, การเหยียดเพศ, ความยากจน,
ความทุกข์ระทมต่างๆ แต่พอดูหนังแต่ละเรื่องจบแล้ว เรารู้สึกเหมือนได้รับ “พลังบวก”
สูงมากน่ะ แต่เราหาไม่เจอว่าไอ้ความรู้สึกพลังบวกนี้มันมาจากจุดใดในหนังกันแน่
เราก็เลยเดาว่า มันน่าจะมาจากอะไรบางอย่างในตัวผู้กำกับโดยตรง
เหมือนผู้กำกับอาจจะมีพลังบวกในตัวเองสูงมาก
หรือมีความเชื่อมั่นในการต่อสู้เพื่อสังคมสูงมาก
เขาก็เลยอาจจะถ่ายทอดมันใส่ไปในหนังได้โดยที่แม้แต่ตัวเขาก็อาจจะไม่รู้ตัวเองก็ได้
และมันก็ส่งผ่านมาถึงคนดูอย่างเรา
โดยที่เราก็ไม่รู้ว่าไอ้ความรู้สึกพลังบวกนี้มันมาจากองค์ประกอบอะไรในหนังกันแน่
ซึ่งไอ้ความรู้สึกแบบนี้มันแตกต่างจากหนังของผู้กำกับสารคดีเพื่อสังคมคนอื่นๆนะ
เหมือนหนังของ Michael Moore กับ Jung Yoon-suk ก็ไม่ได้ให้พลังบวกแบบนี้น่ะ
ส่วนหนังบางเรื่องของ Patricio Guzman นั้นอาจจะให้ “พลังบวก”
อยู่บ้าง แต่ก็เป็นพลังบวกที่เกิดจากวิวทิวทัศน์, การตระหนักถึง “พลังจักรวาล”
อะไรแบบนี้ ซึ่งจะแตกต่างจากพลังบวกในหนังของ Anand Patwardhan
2.เหมือนหนังสองเรื่องนี้ช่วย decode หนังบอลลีวู้ดหลายเรื่องที่เราดูมาน่ะ
เหมือนมันช่วยถอดรื้อให้เราเห็นว่า หนังบอลลีวู้ดหลายๆเรื่องที่เราดูมา มันแอบแฝงแนวคิดอะไรไว้ภายใน
หรือมันถูกสร้างขึ้นมาภายในสังคม/วัฒนธรรมที่ถูกหล่อเลี้ยงด้วยแนวคิดอะไร อย่างเช่น
2.1 แนวคิดเชิดชูพิธีสตี ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับหนังอย่าง PADMAAVAT (2018, Sanjay Leela
Bhansali) คือเราว่า PADMAAVAT มันอาจจะไม่ได้ส่งสารเชิดชูพิธีสตี
มันแค่ทำให้คนดูต่างชาติอย่างเรารู้ว่า เคยมีตำนานอะไรแบบนี้ในอินเดียด้วย
แต่การดู FATHER, SON AND HOLY WAR ทำให้เราตระหนักว่า จริงๆแล้วตำนานแบบนี้มันมีความหมายอะไรสำหรับคนอินเดียบ้าง
2.2 ความ propaganda ของหนังอย่าง
THACKERAY (2019, Abhijit Panse)
2.3 หนังบอลลีวู้ดหลายๆเรื่องที่มองปากีสถานในฐานะผู้ร้าย
หรือหนังบอลลีวู้ดหลายๆเรื่องที่เป็นพระเอกออกไปปราบผู้ก่อการร้าย
คือการดูหนังสารคดีสองเรื่องนี้มันทำให้เราตระหนักถึงแนวคิดชาตินิยม,
ความคลั่งศาสนา ที่อาจจะมีส่วนหล่อเลี้ยงการสร้างหนังบอลลีวู้ดกลุ่มนี้
2.4 ทำไมพระเอกหนังบอลลีวู้ดส่วนใหญ่ ถึง “ล่ำบึ้ก”
กว่าพระเอกหนังชาติอื่นๆ
ยกเว้นหนังบู๊แอคชั่นอเมริกันที่เน้นพระเอกล่ำบึ้กเหมือนกัน คือพอดู FATHER, SON AND HOLY WAR แล้วก็เลยสงสัยว่า แนวคิดเรื่อง “ความเป็นชาย” ในสังคมอินเดีย
มันมีส่วนในการกำหนดภาพลักษณ์ของพระเอกหนังบอลลีวู้ดให้ดูล่ำบึ้กมากเป็นพิเศษหรือเปล่า
ซึ่งจริงๆแล้วเราก็ชอบพระเอกล่ำบึ้กนะ อยากให้พระเอกหนังทุกชาติล่ำบึ้ก
555 แต่เราว่าหนังบอลลีวู้ดอินเดียใช้พระเอกล่ำบึ้กไม่คุ้มค่าน่ะ คือพระเอกล่ำจริง,
มีฉากถอดเสื้อก็จริง แต่กล้องของหนังมันไม่ได้ถ่ายเรือนร่างพระเอกเพื่อสนองราคะคนดูอย่างเราเท่าไหร่น่ะ
มันเหมือนกับความแตกต่างระหว่างวิธีการใช้กล้องในหนังของพจน์ อานนท์ กับหนังของ Anucha Boonyawatana น่ะ
คือกล้องของผู้กำกับสองคนนี้อาจจะถ่ายพระเอกล่ำบึ้กก็จริง แต่กล้องในหนังของพจน์
อานนท์ + หนังบอลลีวู้ดอินเดีย ถ่ายแล้ว “ไม่ทำให้เกิดอารมณ์” ในขณะที่กล้องในหนังของ
Anucha ถ่ายแล้ว “ทำให้เกิดอารมณ์” มากๆ
2.5 ทำไมถึงไม่ค่อยเห็นพระเอกที่มีลักษณะแบบ “คานธี” ในหนังบอลลีวู้ด
คือ “คานธี” ดูเป็นวีรบุรุษของประเทศอินเดีย
แต่หนังบอลลีวู้ดกลับเต็มไปด้วยพระเอกล่ำบึ้กที่พร้อมจะต่อยตีกับผู้ร้ายตลอดเวลา ไม่มีความอหิงสาอะไรทั้งสิ้น
ยกเว้นหนังแบบ PK หรือหนังที่ฉายตามเทศกาลภาพยนตร์
3.เราว่าโครงสร้างหนังของเขาก็น่าสนใจดีนะ ชอบที่เขาจับเอาหลายๆประเด็นมาใส่ไว้หนังเรื่องเดียวกัน
เพื่อสะท้อนปัญหาของประเทศชาติ ในแง่นึงดูแล้วก็นึกถึงหนังบางเรื่องของ Michael Moore 55555
แต่โทนอารมณ์ในหนังของ Anand กับของ Michael Moore มันแตกต่างกันมาก เหมือนหนังของ Michael Moore มันมีการชี้นำ,
ปลุกเร้าคนดู, สอนสั่งโดยตรง ในขณะที่หนังของ Anand มันไม่มีอะไรแบบนั้น
เราว่าการจับเอาหลายๆประเด็นมาร้อยเรียงเข้าด้วยกันในหนังของเขา มันแตกต่างจากหนังของผู้กำกับคนอื่นๆด้วย
คือมันไม่ได้มีความเป็นกวีแบบหนังของ Alexander Kluge และไม่ได้มี “ความพิศวง”
แบบหนังบางเรื่องของ Harun Farocki แต่มันดูมีความ organic
ดีน่ะ
คือจริงๆแล้วโครงสร้างการเล่าเรื่องของเขาไม่ค่อยแน่นนะ คือตอนที่ดู FATHER, SON AND HOLY WAR เราจะนึกถึงหนังสารคดีเรื่อง BONTOC, RAPELESS (2014, Leste Valle,
Philippines) มากๆ เพราะ BONTOC, RAPELESS มันเป็นการวิเคราะห์ประเด็นเรื่อง
gender ในสังคมสังคมหนึ่งเหมือนกัน แต่ BONTOC,
RAPELESS โครงสร้างมันแน่นมากๆ เพราะมันนำเสนอว่าในสังคมชนเผ่านี้
มันไม่เคยมีการข่มขืนเลย เพราะเหตุผล 10 ประการด้วยกัน หรืออะไรทำนองนี้ แล้วหนังก็ค่อยๆชี้แจงเหตุผลไปทีละข้อ
ทีละข้อ
คือการดูหนังแบบนี้แล้วเหมือนเราได้อ่านรายงานวิจัยของนักมานุษยวิทยาที่ต้องการนำเสนอประเด็นอะไรอย่างนึง
แล้วหาเหตุผลที่หนักแน่น 10 อย่างมาสนับสนุนประเด็นของตัวเองน่ะ
ส่วน FATHER, SON AND HOLY WAR มันก็เป็นการสะท้อนประเด็นเรื่อง
gender ในสังคมสังคมหนึ่งเหมือนกัน
แต่มันดูไหลเลื่อนจากเรื่องหนึ่งไปเรื่องหนึ่งเรื่อยๆ ซึ่งเราก็ชอบนะ มันดู organic
เป็นธรรมชาติดี มันดูเหมือน “การเข้าไปใช้ชีวิต” ในสังคมสังคมหนึ่งน่ะ
สังคมที่ไม่ได้มีแค่ปัญหาเหยียดเพศ
แต่เป็นสังคมที่มีปัญหาเหี้ยห่าอะไรไม่รู้พัวพันยุ่งเหยิงกันไปหมด
สรุปว่าเราก็ชอบหมดทุกวิธีน่ะแหละ มันเหมือนมีข้อดีแตกต่างกันไป
หนังแบบ BONTOC, RAPELESS มันเหมือนทำให้เราได้รับความรู้แน่นๆแบบการอ่านรายงานวิจัยที่เขียนมาอย่างเป็นระเบียบ,
หนังของ Anand มันทำให้เราสัมผัสได้ถึง “การใช้ชีวิตอยู่ในสังคมนั้นๆ”
ของคนในหนัง ส่วนหนังของ Harun Farocki + Alexander
Kluge มันกระตุ้นความคิดของเราและสะเทือนใจเราผ่านทาง “สิ่งที่อธิบายไม่ได้ในโครงสร้างการเล่าเรื่อง”
ด้วย
คือเราว่าหนังของ Anand มันก็สะเทือนใจเรานะ
แต่มันสะเทือนใจเราผ่านทาง “เนื้อเรื่อง” เป็นหลักน่ะ
และเหมือนมันสะเทือนใจเราผ่านทางเนื้อเรื่องที่เป็นรูปธรรม อธิบายได้ แต่มี “พลังบวกที่อธิบายไม่ได้”
อยู่ในหนัง ส่วนหนังของ Kluge + Farocki มันมีความเป็นกวีอะไรบางอย่าง
มันก็เลยเหมือนมีพลังความงามแบบนามธรรม อธิบายไม่ได้อยู่ในหนังด้วย
No comments:
Post a Comment