SOLO SUNNY (1980, Konrad Wolf, Wolfgang Kohlhaase, East Germany, A+30)
หวีดร้อง ชอบหนังมากๆ หนังเล่าเรื่องของนักร้องสาวหัวแข็งในเยอรมันตะวันออก มีหนุ่มๆมาชอบเธอมากมาย แต่เธอก็ไม่อยากแต่งงานกับพวกเขา เธอดันไปหลงรัก "หนุ่มนักปรัชญา" เพราะชอบความคิดความอ่านของเขา แต่เขาก็ชอบ open relationship และไม่อยากจะแต่งงานผูกมัดกับเธอ
เราพยายามนึกว่า มีหนังเรื่องไหนอีกบ้าง ที่พระเอกมีเสน่ห์ดึงดูดนางเอก เพราะเขาเป็นนักปรัชญา นอกจากหนังเรื่องนี้ มันมีหนังของ Woody Allen บางเรื่องใช่ไหมที่มีพระเอกแบบนี้
ส่วนหนังไทยกับหนังเอเชียนั้น นึกไม่ค่อยออก ใครนึกออกก็บอกด้วยนะ
MEKONG 2030 (2020, A+15)
--SOUL RIVER (Kulikar Sotho, Cambodia, A+5)
--THE CHE BROTHER (Anysay Keola, Laos, A+15)
--THE FORGOTTEN VOICES OF THE MEKONG (Sai Naw Kham, Myanmar, A+25)
--THE LINE (Anocha Suwichakornpong, Thailand, A+30)
--THE UNSEEN RIVER (Pham Ngoc Lan, Vietnam, A+30)
1. ดู THE CHE BROTHER แล้วนึกถึงหนังไทยค่ายพระนครฟิล์มมากๆ 555 หนังเล่าเรื่องของหญิงชราที่เลือดของเธอสามารถใช้รักษาคนทั่วโลกได้ แต่ถ้าหากหญิงชราคนนั้นเป็นแม่ของเราเอง เราจะยอมเสียสละแม่ของเรามากน้อยแค่ไหนเพื่อช่วยคนทั้งโลก
รู้สึกว่าถ้าหากหนังมันปั้นประเด็นดีๆ มันจะเป็น dilemma ที่น่าสนใจมากๆ ดูแล้วนึกถึง WEATHERING WITH YOU (2019, Makoto Shinkai) ที่พูดถึง dilemma ระหว่างการเลือกระหว่างคนที่เรารักกับชาวโลกคล้ายๆกัน
2. ดู FORGOTTEN VOICES แล้วนึกถึงหนังกลุ่มเกี่ยวก้อยของไทยที่นำเสนอปัญหาสังคมได้ดีมากๆ แต่หนังเมียนมาร์เรื่องนี้เหมือนติดฟูมฟายไปหน่อยในช่วงท้าย
3.หนังเวียดนาม cinematic สุดๆ ชอบผู้กำกับคนนี้มากๆ เคยดูหนังเรื่อง ANOTHER CITY (2016, Pham Ngoc Lan) ของเขาแล้วก็กราบตีนเหมือนกัน
4. หนังของ Anocha ดูแล้วไม่เข้าใจอะไรเลย แต่ก็ชอบสุดๆ เหมือนมันช่วย balance หนังเรื่องอื่นๆในกลุ่มที่พูดถึงชาวบ้านในชนบท ส่วนหนังของ Anocha พูดถึงคนกรุงเทพที่เหมือนไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาการสร้างเขื่อนในชนบท คนกรุงเพียงแค่พูดคุยกันเล็กน้อยถึงปัญหาการเกือบจะสูญพันธุ์ของสัตว์, ปัญหาในการ represent แม่น้ำโขงในงานศิลปะ, การมีลูกหรือไม่มีลูก
แต่ THE LINE ช่วยกระตุ้นให้เราคิดถึงอะไรหลายๆอย่างโดยที่หนังอาจจะไม่ได้ตั้งใจ อย่างเช่น
4.1 กรุงเทพเป็นเจ้าอาณานิคมชนบทหรือไม่ เพราะกรุงเทพนำทรัพยากรจากชนบทมาใช้ปรนเปรอตนเอง
4.2 การมีชีวิตอยู่ตามปกติของเรา ในแง่นึงมันคือต้นเหตุของการสร้างเขื่อน, ปัญหาสิ่งแวดล้อม, ทรัพยากรหรือเปล่าเพราะทุกสิ่งที่เราซื้อ, กิน, ดื่ม, ใช้ ซึ่งรวมถึงไฟฟ้าและน้ำประปา มันคือต้นเหตุของปัญหาในชนบทหรือเปล่า
TO KILL A MOCKINGBIRD (1962, Robert Mulligan, A+30)
ทรงพลังมากๆ
NUMBERED (2012, Dana Doron, Uriel Sinai, Israel, documentary, A+30)
หนังสารคดีที่ตามสัมภาษณ์ชาวยิวที่รอดชีวิตจากค่ายกักกัน Auschwitz หนังเต็มไปด้วยเรื่องเล่าที่น่าสะเทือนใจมากมายเหมือนอย่างที่เคยคาดไว้ก่อนได้ดู
แต่สิ่งที่กระทบใจเรามากที่สุดคือจินตนาการของเราเองเกี่ยวกับชีวิตของผู้ชายคนนึงที่หนังไม่ได้เล่าตรงๆ
หนึ่งใน subject ของหนังเรื่องนี้คือหญิงวัยกลางคนคนนึงที่มีพ่อเป็นผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกัน เธอสักตัวเลขประจำตัวพ่อ (ที่เสียชีวิตไปแล้ว) ไว้ที่ข้อเท้าตัวเอง แต่ต่อมาเธอก็พบว่าตัวเลขที่เธอสักไว้นั้นมันผิด เธอก็เลยไปสักตัวเลขใหม่ให้มันตรงกับของพ่อเธอ แล้วก็ลบตัวเลขเก่าทิ้งไปด้วยการสักลายลูกกลมดำๆทับตัวเลขเก่า
แล้วเธอก็สงสัยว่าตัวเลขเก่าที่เธอลบไปนั้นเป็นตัวเลขของชาวยิวคนไหนในค่ายกักกัน เธอก็เลยไปค้นคว้าข้อมูลจนพบ เขาเป็นผู้ชายที่เสียชีวิตในค่ายในปี 1942 แล้วผู้ชมก็ได้เห็นภาพถ่ายของชายหนุ่มคนนึงที่น่าจะถ่ายก่อนเขาตายราว 10 ปี เป็นภาพถ่ายของชายหนุ่มที่ยิ้มแย้มอย่างมีความสุขมากๆ
หนังไม่ได้เล่าข้อมูลอะไรของชายหนุ่มคนนี้ แต่จุดนี้กลายเป็นจุดที่เราสะเทือนใจมากที่สุดในหนัง เพราะพอหนังไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรที่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับเขา เราก็เลยเอาจินตนาการของเราใส่เข้าไปได้เต็มที่ identify ตัวเองกับเขาได้เต็มที่
เพราะรอยยิ้มของเขามันดูเหมือนกับว่า เขามีความสุข ความพึงพอใจกับชีวิตของเขาในตอนนั้นมากๆน่ะ และมันไม่ได้แตกต่างอะไรไปจากรอยยิ้มของเราตอนถ่ายรูปต่างๆเลย
เขาจะรู้บ้างไหมนะ ว่าตอนที่เขายิ้ม ตอนที่เขามีความสุขสุดๆตอนที่ถ่ายรูปนั้น อีก 10 ปีต่อมา เขาจะตายอย่างทนทุกข์ทรมานในค่ายกักกันชาวยิว เขาคงไม่รู้ หรือนึกไม่ถึงว่าจะมีความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส รอคอยเขาและครอบครัวอยู่ในอนาคต
พวกเราเองก็เหมือนกัน ทุกครั้งที่เรายิ้มให้กล้องถ่ายรูป รู้สึกมีความสุขอย่างยิ่งยวดกับชีวิตของตัวเอง เราจะรู้ไหมนะว่า มันมีอะไรรอเราอยู่ในชีวิตข้างหน้าบ้าง
Monday, February 10, 2020
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment